อวดดี


ผมนึกถึงหนังไทยประเภทนางเอกเป็นคนรับใช้ หรือพระเอกต่ำต้อยด้อยการศึกษา จะมีตัวละครบางตัวที่แสดงเป็นคุณนาย เมื่อผู้ต่ำต้อยเถียงเพื่อยืนยันความเป็นจริง นางก็จะพูดขึ้นว่า "อย่ามาอวดดีกับฉันนะ" ข้อความนี้มีความหมายว่า (๑) ผู้ใหญ่ (อายุมากกว่า) ทำอะไรก็ไม่ผิด สิ่งที่เชื่อแล้วคือสิ่งที่ไม่ผิด ดังนั้น แม้ผู้มีอายุน้อยกว่า (อาบน้ำร้อนทีหลัง) จะถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่แม้จะเข้าใจผิดก็ให้ถือว่าถูก (๒) ความดีเป็นสิ่งที่อวดกันไม่ได้ ประเด็นนี้ ผมมีกลอนชุดหนึ่งที่จำอยู่ในใจ แต่ไม่มั่นใจว่าถูกต้องหรือไม่ และไม่ทราบที่มาเพราะเป็นการฟังจากครูบาอาจารย์ที่สอนมาอีกทีหนึ่ง และครูที่สอนมานั้นก็ไม่ได้บอกที่มาว่าใครเป็นผู้แต่ง ต้องขออภัยผู้แต่งในกลอนนี้ด้วย ถึงอย่างไร ครูบาอาจารย์ทีแต่งกลอนแนวนี้ั เขาไม่ค่อยหวงผลงาน หากนำผลงานไปใช้ให้เกิดประโยชน์ กลอนนี้คือ "อันที่จริงเขาอยากให้เราดี แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้ ทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครเขาอยากเห็นเราเด่นเกิน" สิ่งที่น่าคิดจากกลอนนี้คืออย่าอวดดี

เดี๋ยวนี้ความคิดแบบ (๑) แม้จะผ่านมานานโขแล้ว แต่น่าเสียดาย มันไม่ได้หมดไปจากประเทศไทย เพราะเมื่อหลายคนก้าวไปสู่ระดับผู้นำ ผู้นำจำนวนหนึ่ง จะสร้างอัตตาให้กับตัวตนหนักขึ้น เพราะตำแหน่งที่สังคมสมมติขึ้นนั่นเอง ดังนั้น ผู้นำบางคนเราจึงเถียงไม่ได้ ภาษิตไทยอีกอันหนึ่งที่น่าคิดคือ "พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง" น่าจะสนับสนุนความคิดดังกล่าวนี้ได้ ส่วน (๒) นั้น ดูเหมือนจะค่อยๆ หมดไป แม้จะยังมีอยู่ แต่ดูเหมือนการอวดหรือโชว์ให้สังคมรับรู้จะกลายเป็นที่ยอมรับมากกว่า ซึ่งเราจะเห็นได้จากหน้า line และ เฟสบุ๊ค ผมขอยกตัวอย่าง บางคนไปกินข้าว มีอาหารอะไรบ้าง ก็จะนำมาลงเพื่อแลกเปลี่ยนให้เพื่อนๆได้รับรู้ แต่ที่น่าเห็นใจคือ บางคนไปกินเหล้า กินกระท่อม ก็ยังนำมาอวดทางสื่อ อันนี้น่าคิด อย่างไรก็ตาม คำว่า "ดี" นั้นอธิบายยาก เพราะในกลุ่มผู้ดื่มของมึนเมา เขาจะมองว่า สิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดี ขณะที่ในกลุ่มขายบริการก็จะมองว่าการขายบริการสินค้าเป็นสิ่งดี ในกลุ่มนักบริโภคก็จะมองว่าการบริโภคเป็นสิ่งดี ในกลุ่มนักประดิษฐ์ก็แสดงให้ดูว่าการประดิษฐ์เป็นสิ่งดี จึงมองว่า "ดี" ของแต่ละคนนั้นอธิบายยาก

การโฆษณาก็คือการอวดนั่นเอง ทุกวันนี้เราต้องโฆษณา เพื่อชี้แจงให้โลกรับรู้ว่าเรามีดีอะไร หากนั่งปิดทองหลังพระอยู่ คนเขาไม่รู้โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในการประเมิน (สำหรับองค์กรที่ต้องได้รับการประเมิน) ที่สายตาสั้น ไม่ได้ทำตัวเหมือนผู้นำที่หนีออกจากวังไปตรวจดูความสุขทุกข์ของประชาชนในยามค่ำคืน (จำเนื้อเรื่องไม่ได้ เป็นข้อความที่ติดมาจากการแปลในคัมภีร์ทางศาสนา) เขาเหล่านี้จะไม่รู้หรอกว่า "คุณมีดีอะไร" ดังนั้น เมื่อมีดีอะไร ก็ต้องแสดงให้ดูว่าดีอะไร อย่างไร เช่น การร้องเพลงเก่งเป็นต้น อย่างไรก็ตาม โชว์ดีดีกว่าโชว์ร้ายเป็นแน่แท้ กลอนก็น่าจะเขียนใหม่ประมาณนี้ว่า

เมื่อมีดีลองตรองดูรู้ว่าดี...แสดงให้ดูกันสักทีดีแค่ไหน...ดีที่มีดูแล้วดีมีเพียงใด...ยังดีกว่าโชว์ท่วงท่าไร้ค่าดีฯ น่าจะประมาณนี้ละมั้ง

ขอบคุณหลาย

๐๗.๔๓ น.

วันศุกร์ที่ ๑๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 594640เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2015 07:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2015 07:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท