​เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง : ๒๖. AAR



บันทึกชุด “เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ๒๖ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Transformative Learning in Practice : Insight from Community, Workplace, and Higher Education เขียนโดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor and Associates ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2009

ตอนที่ ๒๖ ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายนี้ เป็นการทบทวนสะท้อนคิดของผมเอง เกี่ยวกับการเรียนรู้แบบ เรียนเพื่อเปลี่ยนแปลง ชนิดที่เปลี่ยนทั้งเนื้อทั้งตัว เปลี่ยนความคิด ความเชื่อ และความมุ่งมั่น ที่เรียกว่า Transformative Learning (TL)

ผมสรุปว่า การเรียนแบบนี้ ต้องเป็นการเรียนตามปกติ ตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก อนุบาล ประถม มัธยม อุดม บัณฑิตศึกษา ไปจนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในปัจจุบันตัวผมเองก็หมั่นเรียนรู้ฝึกฝนในแนวนี้

ผมพบว่า สาระในหนังสือ มาพ้องกับเรื่องการจัดการความรู้ อย่างน่าแปลกใจ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ การเรียนรู้ทุกมิติ รวมทั้งด้านจิตใจ ซึ่งต้องอยู่ในบรรยากาศที่เป็นอิสระและปลอดภัย ไว้เนื้อเชื่อใจกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังกันอย่างไม่ตัดสิน ไม่ด่วนสรุป ที่เรียกว่า สุนทรียสนทนา (dialogue)

การเขียนหนังสือ Transformative Learning in Practice เล่มนี้ สะท้อนวิธีสร้างทฤษฎีจากหลักการ ที่พอมี แต่ไม่ชัดเจน ทำได้โดยอธิบาย แล้วเปิดโอกาสให้คนตีความ นำไปปฏิบัติในต่างบริบท และต่างการตีความ แล้วนำประสบการณ์มาเล่า ดังในหนังสือเล่มนี้ ทำให้ความรู้ความเข้าใจ Transformative Learning แตกกิ่งก้าน สาขาออกไปมาก

ผมตีความว่า TL เป็น “ศักยภาพที่ซ่อนเร้น” ของมนุษย์ ที่ใครเข้าถึงได้ ชีวิตจะเป็น “ชีวิตอันประเสริฐ” จะค้นพบความลี้ลับแห่งชีวิต ความลี้ลับแห่งการเรียนรู้ ความลี้ลับแห่งการเปลี่ยนแปลงตัวตน และความลี้ลับ ของโลก ของจักรวาล อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นชีวิตที่สนุก และประเทืองปัญญา

การเข้าถึง TL ไม่ใช่เรื่องยากหรือพิเศษมหัศจรรย์ เป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ย้ำว่า ไม่ใช่แค่คนที่มีอัจฉริยภาพพิเศษเท่านั้น ที่เข้าถึงได้ มนุษย์ธรรมดาๆ สามารถเข้าถึงได้ โดยใช้ “วิธีการ ๓ ขั้นตอน” คือ (๑) ตั้งเป้าหมายว่าจะเรียนรู้อะไร (Goal setting), (๒) ลงมือปฏิบัติกิจกรรมหรืองานเพื่อบรรลุ เป้าหมายของ กิจกรรม/งาน และเรียนรู้ตามเป้าหมาย จะดีกว่าหากปฏิบัติเป็นทีม (Action), (๓) นำประสบการณ์ การปฏิบัติกิจกรรม/งาน มาไตร่ตรองสะท้อนคิด (ร่วมกัน) ตอบคำถาม เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเรียนรู้ที่ต้องการ (Reflection)


วิจารณ์ พานิช

๑๑ ก.ย. ๕๗ ปรับปรุง ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๘


หมายเลขบันทึก: 594538เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2015 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กันยายน 2015 16:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท