Generation Volunteer คนรุ่นใหม่หัวใจอาสา (Gen V) หนุนเยาวชนบ้านม้าร้องรับมือภัยพิบัติ


การทำงานของกลุ่มเยาวชนบ้านม้าร้องถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยสังเกตได้จากการมีส่วนร่วมของชาวบ้านทุกเพศทุกวัยที่มาร่วมกิจกรรมด้วยความสนุกสนานครื้นเครง ความสำเร็จส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากผู้นำหมู่บ้าน รวมทั้งรากฐานในการจัดการชุมชนที่เข้มแข็ง อันเป็นต้นทุนสำคัญที่ช่วยให้ทุกๆ กิจกรรมในบ้านม้าร้องประสบความสำเร็จ


ที่ศาลาประชาคมของหมู่บ้าน ชาวบ้านทั้งเด็ก หนุ่มสาว ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ กว่า 40 คน มารวมตัวกันตามที่นัดหมายกันไว้ วันนี้ชาวบ้านม้าร้อง ต.พงศ์ประศาสน์ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะร่วมกันเรียนรู้ ฝึกฝน และซักซ้อม เพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 4 จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาเป็นวิทยากรหลักในการให้ความรู้

บ้านม้าร้องมักจะประสบกับปัญหาน้ำท่วมแทบทุกปี เนื่องจากเป็นที่ลุ่ม ยามใดฝนตกติดต่อกันหลายวัน ก็จะเกิดน้ำฝนสะสม น้ำจากคลองบางสะพานจะล้นตลิ่ง บวกกับน้ำทะเลหนุนจะทำให้เกิดการระบายช้าลง น้ำจึงเอ่อท่วมบ้านเรือน เรือกสวนที่ทำกิน และถนนเข้าหมู่บ้าน สร้างความเสียหายและไม่อาจติดต่อกับภายนอกได้ ชาวบ้านจึงร่วมกันเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นอีก

กิจกรรมเตรียมความพร้อมดังกล่าว เป็นหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมตามโครงการ “เยาวชนคนม้าร้อง ชวนพี่น้องรับมือภัยพิบัติ (น้ำท่วม)” ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆ โครงการย่อยในชุดโครงการชุมชน คนรุ่นใหม่ เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน โดยส่งเสริมให้เยาวชนในท้องถิ่นรวมตัวกันดำเนินกิจกรรมให้ความรู้และเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น

“น้องเกด” หรือ พจนาฏ ยงยศ ผู้เป็นหัวหน้าโครงการเยาวชนคนม้าร้อง ชวนพี่น้องรับมือภัยพิบัติ เล่าว่า เธอได้ชักชวนเพื่อนๆ เยาวชน พี่ๆ และน้องๆ ในหมู่บ้านประมาณ 30 คน มาเป็นอาสาสมัครหรือคนทำงานนี้ร่วมกับเธอ จากนั้นก็แยกย้ายกันไปหาข้อมูลภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน ว่าแต่ละครอบครัวได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

“เราไปชักชวนเขา ชวนเขาคุยเรื่องน้ำท่วม และบอกว่า น้ำท่วมนะ หนูอยากแก้ไขไม่ให้มันท่วมอีก หรือถ้าจะท่วม เราก็พร้อมจะรับมือกับมัน มาร่วมอบรมกับหนูนะ คือเราอยากจะได้รับความร่วมมือกับผู้ใหญ่เยอะๆ” น้องเกด ว่า

จากการลงไปพูดคุยกับชาวบ้าน พบว่า บ้านม้าร้องมีทั้งหมด 7 คุ้ม ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก 5 คุ้มบ้าน แต่จะท่วมหนักๆ มีอยู่ 2 คุ้ม แต่ละปีจะมีครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจนสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินประมาณ 30 ครัวเรือน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ กลุ่มเยาวชนคนทำโครงการได้คืนข้อมูลแก่ชุมชน และเสนอให้ทำแผนรับมือภัยพิบัติ โดยนำเข้าไปบรรจุไว้ในแผนชุมชนด้วย

การทำงานของกลุ่มเยาวชนบ้านม้าร้องถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยสังเกตได้จากการมีส่วนร่วมของชาวบ้านทุกเพศทุกวัยที่มาร่วมกิจกรรมด้วยความสนุกสนานครื้นเครง ความสำเร็จส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากผู้นำหมู่บ้าน รวมทั้งรากฐานในการจัดการชุมชนที่เข้มแข็ง อันเป็นต้นทุนสำคัญที่ช่วยให้ทุกๆ กิจกรรมในบ้านม้าร้องประสบความสำเร็จ

บ้านม้าร้องมีโครงสร้างบริหารจัดการชุมชนที่น่าสนใจ คือมีสภาผู้นำชุมชนคอยขับเคลื่อนให้ชุมชนเดินหน้าไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ซึ่งสมาชิกสภาผู้นำชุมชน จะมาจากตัวแทนคุ้ม ตัวแทนกลุ่มอาชีพ ตัวแทนจากผู้สูงอายุ ตัวแทนจากกลุ่มเยาวชน รวมทั้งหมด 34 คน โดยน้องเกด พจนาฏ หัวหน้าโครงการเยาวชนคนม้าร้อง ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกสภาผู้นำชุมชนด้วย

“เวลาหนูจะทำอะไร ก็จะขอความคิดเห็นจากที่ประชุมสภาก่อนทุกๆ วันที่ 3 ของเดือน อย่างโครงการภัยพิบัตินี้ เวลาไปประชุมมาก็จะบอกให้รู้ หรือถ้ามีอะไรเกินกำลังของเรา ก็จะปรึกษากันหรือขอความช่วยเหลือไปทางผู้ใหญ่ ให้ช่วยอีกทางหนึ่ง” น้องเกด เล่า

ทุกกิจกรรมจึงราบรื่น เหมือนมีลมใต้ปีกคอยพยุงให้กลุ่มเยาวชนบ้านม้าร้องมีความสุข สนุกกับการทำงาน ทำให้แต่ละกิจกรรมประสบความสำเร็จตามเป้าหมายอย่างน่าพอใจ ซึ่งคนที่อยู่เบื้องหลัง ก็คือ ประวิทย์ รัตนพงศ์ ผู้ใหญ่บ้านม้าร้อง นั่นเอง

“บางเรื่องที่เป็นทางการ เช่น การประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ จากภายนอกหมู่บ้าน อย่าง ปภ.ที่มาช่วยอบรมชาวบ้านในครั้งนี้ ก็เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่เป็นคนช่วยอำนวยความสะดวกให้ หากให้เด็กๆ เยาวชนทำกันเองอาจจะล่าช้า เพราะหน่วยงานก็ต้องย้อนมาถามผมอีก” ผู้ใหญ่ประวิทย์ กล่าว และชี้แจงเพิ่มเติมว่า สมาชิกสภาผู้นำชุมชนที่เป็นเยาวชนและรับผิดชอบเกี่ยวกับโครงการรับมือภัยพิบัตินี้ จะรายงานทุกครั้ง หากมีกิจกรรมผู้ใหญ่บ้านในฐานะประธานสภาฯจะมอบหมายให้สมาชิกแต่ละคนช่วยทำงานด้วย

ผลของการจัดโครงการการบริหารจัดการชุมชนที่เปิดโอกาสให้สมาชิกทุกกลุ่มในหมู่บ้าน เข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ปัจจุบันบ้านม้าร้องเป็นหมู่บ้านต้นแบบ เป็นสถานที่ดูงาน โดยเฉพาะเรื่องสภาผู้นำชุมชน และยังเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องธนาคารชุมชนที่มีเงินทุนหมุนเวียนมากกว่า 17 ล้านบาทอีกด้วย

ที่สำคัญบ้านม้าร้อง คือหมู่บ้านตัวอย่างที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้ใช้ศักยภาพตนเองทำงานเพื่อชุมชนตนเองอย่างเต็มที่ ซึ่งต่อไป “เยาวชนคนม้าร้อง” ที่ชวนพี่น้องในหมู่บ้านเตรียมรับมือภัยพิบัติ-ในวันนี้ จะเป็นแกนหลักสำคัญในการบริหารจัดการชุมชนรุ่นต่อไป

หมายเลขบันทึก: 594534เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2015 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กันยายน 2015 14:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท