ดงแต้วป่ามีต้นไม้หลายชนิดกว่าดงยอ มีไม้ตระกูลถั่วอย่างกระถินงอกขึ้นด้วย มีไม้เถาอย่างรสสุคนธ์ป่าออกดอกงาม มีต้นไม้สมาชิกใหม่ดอนญ่าขาวงอกแทรกมา ไม้คลุมดินมีน้อย สาบแร้งสาบกามาขึ้นให้เห็นอยู่แว๊บนึงแล้วหายไป กลุ่มหญ้ามีหญ้าที่คล้ายๆหญ้าอ้อใหญ่อยู่กอหนึ่ง แปลว่าเมื่อมีปลวกคอยย่อยอินทรีย์วัตถุทิ้งไว้ในดิน อินทรีย์วัตถุแม้น้อยก็เปลี่ยนดินจนต้นไม้ตระกูลเข็มอย่างดอนญ่างอกง่ายขึ้น
เขาว่าดินปลวกเป็นดินเหนียวเกาะยึดกันเองและเกาะยึดกับสารอื่นได้ดีมาก ไม่ร่วนซุย เมื่อเปียกเหนียวเหนอะหนะและพองตัว เมื่อแห้งจับกันเป็นก้อนแข็ง ระบายน้ำได้ช้า ปลวกทำให้ใต้ดินเป็นโพรง พืชรากตื้นล้มได้เมื่อโดนลมแรงๆโยกต้น อืม งั้นแถบดงแต้วนี้ก็ควรปลูกพืชรากลึกแทรกซิน่า แล้วก็ควรเป็นพืชที่งอกขึ้นในดินเหนียวได้เก่งด้วย มีคนให้กล้ามะม่วงเพาะเมล็ดมาปลูก เห็นชาวบ้านในหมู่บ้านปลูกขึ้นได้ ต้นไม่สูง อยากได้มะม่วงแบบต้นไม่สูง ลองปลูกลงไว้น่าจะพอไหว
ไปตามล่าหาความรู้ก่อนปลูก ก็ได้คำยืนยันจากผู้เคยปลูกว่ามะม่วงเป็นหนึ่งในบรรดาต้นไม้ที่ปรับตัวได้ดีเมื่อปลูกในดินเหนียว ต้นไม้อื่นที่ปรับตัวกับดินเหนียวได้ดีมีพวกพืชในตระกูลชมพู่ (หว้า ฝรั่ง ทุ สะเหม็ด ชมพู่) มะละกอ ส้ม (มะนาว ส้ม มะกรูด มะตูม มะสัง แก้ว ละมุด พิกุล) กลุ่มไม้ยืนต้นที่ชอบดินเหนียว เป็นพวกตระกูลสารภี ( แต้ว ชะมวง มะดัน กระทิง บุนนาค สารภี ) มะกอกน้ำ
ตะไคร้ ตะไคร้หอม ข้าว ไผ่ กล้วยน้ำว้า เผือก หมากเป็นพืชรากตื้นที่ปลูกในดินเหนียวได้ หมากเป็นพืชท้องถิ่น แถบนี้ไม่มีต้นมะเดื่อ ตั้งใจปลูกไผ่และกล้วยไว้เพิ่มอินทรีย์วัตถุกับความชื้นแบบค่อยเป็นค่อยไปอยู่แล้ว ในเมื่อเข้ากับดินได้ก็ปลูกซะเลยทั้งไผ่ กล้วย และหมาก
กระถินต้นแม่อยู่ไกลจากแต้วป่าดงนี้มาก เมล็ดปลิวมาตกก็ขึ้นได้ แสดงว่าพืชตระกูลถั่วที่ออกฝักงอกแถวนี้ง่าย ที่คิดว่าจะปลูกขี้เหล็กลงไปตรงนี้เปลี่ยนใจไม่ปลูก ด้วยนักวิชาการป่าไม้บอกว่าปลวกไม่ชอบใบขี้เหล็ก หาพืชตระกูลถั่วอื่นมาลองปลูกแทน ก็ได้มะขามเพาะจากเมล็ดและเพกาที่มีเหลือมาลงดินไว้ ยั้งใจว่าปลูกต้นเหรียงด้วยจะดีหรือเปล่า สุดท้ายเปลี่ยนใจเลือกไม้แดงมาปลูกหนึ่งต้น
แถบนี้มีไม้เถาขึ้นเองได้ ความชื้นในดินก็พอมีให้เมล็ดพืชงอกได้ มีหญ้าคาอยู่ มีตะไคร้หอมอยู่ ลมพาเมล็ดกระถินจากต้นแม่ที่อยู่ไกลมาถึงได้ เคยมีต้นสาบแร้งสาบกางอกขึ้นมา เจ้าต้นนี้อยู่ในตระกูลเดียวกับสาบเสือ ผักแครด ปล่อยให้ลมทำหน้าที่เลือกพืชคลุมดินต่อไปน่าจะดี
ไม่มีความเห็น