เทคนิคการสอนแนวคิด...ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


ในส่วนของครูเอง หากผลงานการสอน การผลิตสื่อ นวัตกรรม หรือเทคนิควิธีการใหม่ๆขึ้นมา ถ้าตอบคำถาม เชื่อมโยงถ้อยคำสำคัญ ได้ว่า ทำอย่างไร (พอประมาณ) ทำไมถึงทำ(เหตุผล) และได้รับผลอะไรบ้างจากการทำ(ภูมิคุ้มกัน) ..จะถือเป็นผลงานวิชาการ..ที่มีคุณค่า ง่ายและงดงามยิ่ง

โรงเรียนเป็นสถานศึกษาต้นแบบพอเพียงมาหลายปี และผมก็ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการประเมินสถานศึกษาพอเพียงหลายครั้ง ณ โรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาที่สังกัดอยู่ และนอกสังกัด..ทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก กลางและขนาดใหญ่ ..

พบเห็นผลงานอันหลากหลายของโรงเรียน ที่เกิดจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่ครูและนักเรียน ตลอดจนชุมชนท้องถิ่น มีส่วนร่วมด้วยช่วยกันพัฒนา จนเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะผลิตผลด้านงานเกษตร มีความชัดเจนและนำเสนอให้คณะกรรมการรับชมอย่างจริงจัง..มากที่สุด จนผมรู้สึกเป็นงงสงสัย และคิดไปว่า..โรงเรียนต่างๆ จะเข้าใจกันผิดหรือเปล่า..ไม่ใช่แต่งานเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่หมายถึง..ความพอเพียง..แท้จริง..คืองานทุกงานในโรงเรียนนั่นแหละ

ข้อสังเกตที่พบเหมือนๆกัน..เริ่มจากครูก่อน..พอคณะกรรมการฯ เริ่มตรวจเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับซักถาม การดำเนินงาน..จัดทำแผน ที่มาที่ไป และผลงานการเรียนการสอน ครูจะรู้สึกอึดอัด ไม่ค่อยอยากตอบคำถาม..ภาระจึงตกอยู่ที่ครูบางท่านที่เป็นแม่งาน หรือครูวิชาการ..นั่นเอง

ครูหลายท่านทราบดี..ว่า ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไขมีอะไรบ้าง แต่พอให้ยกตัวอย่าง การสอน การใช้ชีวิตประจำวันของตัวครูเอง หรือบอกแนวคิด กรณีตัวอย่างใดก็ได้ ครูกลับคิดไม่ออก..จึงเป็นเรื่องง่ายๆ ทีอาจคิดไปได้ว่าบางทีเรื่องนี้..จะไม่สามารถลงถึงตัวเด็กได้

ในส่วนของนักเรียน ได้มีโครงงาน จัดแสดงนิทรรศการผลงานเอาไว้ให้คณะกรรมการได้รับชม พร้อมนำเสนอเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม นักเรียนจะพูดจาได้ฉะฉานว่า โครงงานที่เขาทำ มีวิธีการทำอย่างไร ใช้อะไรเป็นส่วนประกอบ...แต่พอคณะกรรมการซักถามว่าสิ่งที่เขาทำนั้น มีความเชื่อมโยงกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร..

นักเรียนหลายคนตอบไม่ได้ ส่วนที่ตอบได้ก็พยายามใช้ความคิดอยู่นาน หรือบางทีก็ใช้คำพูดแบบท่องจำกันมาในรูปแบบคล้ายๆกัน ไม่กล้าคิดนอกกรอบ..อย่างไรก็ตามก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่บกพร่องแต่อย่างใด

ผมคิดว่า..ถึงเวลาแล้ว..ที่จะต้องหันมาทำความเข้าใจกับเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ ถึงแม้ว่า..หลายโรงเรียนได้รับการรับรองให้เป็นสถานศึกษาต้นแบบไปแล้ว และอีกมากมายหลายโรงกำลังรอรับการประเมิน ให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๐..

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็น..แนวคิด..ไม่ใช่สาระวิชา..เป็นส่วนที่สอดแทรกได้ในสาระวิชาต่างๆ และใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์และสร้างคุณค่าให้ชีวิต ใช้แนวคิดนี้ได้ทุกเพศทุกวัย

วิธีสอนที่จะให้นักเรียนเข้าถึง แนวคิด..ต้องเริ่มจากกิจกรรมที่นักเรียนทำ ทุกวิชา..นักเรียนต้องมีชิ้นงานในห้องเรียน เมื่อนักเรียนออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน นักเรียนต้องมีผลงานจากการปฏิบัติ..ครูต้องถามให้นักเรียนตอบ(เขียน) ว่านักเรียนทำอย่างไร (พอประมาณ) ทำไมนักเรียนถึงทำงานชิ้นนี้ออกมา (เหตุผล) และนักเรียนได้อะไรจากการทำงานนี้ (ภูมิคุ้มกัน)

นักเรียนชั้น ป.๑ - ๒ อาจจะต้องให้พูดออกมา ป.๓ - ๔ เขียนได้แล้ว ครูระบุคำว่า พอประมาณ..แล้วบอกนักเรียนว่า ให้อธิบายว่างานนี้ทำอย่างไร...ครูระบุคำว่า เหตุผล นักเรียนต้องเขียนอธิบายว่า ทำไมถึงต้องทำ และเมื่อครูระบุว่า ภูมิคุ้มกัน นักเรียนต้องเขียนว่าได้อะไรจากการทำงาน...

ส่วนป.๕ - ๖ ผมคิดว่า..ถ้านักเรียนเข้าใจ ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องและพูด(เขียน)อยู่เสมอ ก็จะเขียนได้เลย โดยไม่ต้องมีคำว่า พอประมาณ เหตุผล และภูมิคุ้มกัน...

ผมขอยกตัวอย่างที่โรงเรียน..ผมแจกกระดาษให้นักเรียน ป.๖ คนละแผ่น ตรงกลางหน้ากระดาษให้นักเรียนเขียนว่า..ปุ๋ยหมักใบไม้..จากนั้นให้นักเรียนเขียนแผนภูมิความคิด หรือกรอบความคิด โดยรอบคำว่า..ปุ๋ยหมัก..เริ่มจาก..ปุ๋ยหมักทำอย่างไร...ทำไมถึงต้องทำปุ๋ยหมัก...ทำแล้วนักเรียน..โรงเรียนได้อะไร ...

เพื่อนครูลองนึกดูนะครับ ถ้าเราให้นักเรียนพูดและเขียน ให้เข้าถึงแนวคิด เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง โดยให้ทำบ่อยๆ ในทุกรายวิชา นักเรียนจะมีทักษะและเข้าใจได้ไม่ยาก จนเป็นส่วนหนึ่งของความคิดในชีวิตประจำวัน

นักเรียนทำงานสหกรณ์..นักเรียนช่วยโครงการอาหารกลางวัน นักเรียนทำโครงงานวิทยาศาสตร์..ใช้เทคนิคนี้ได้ทั้งหมด รวมทั้งนักเรียนประดิษฐ์ชิ้นงานอะไรสักชิ้น ก็ให้อธิบายตามนี้ ไม่เฉพาะเจาะจงแต่งานเกษตรเท่านั้น

ครับ..ในส่วนของครูเอง หากผลงานการสอน การผลิตสื่อ นวัตกรรม หรือเทคนิควิธีการใหม่ๆขึ้นมา ถ้าตอบคำถาม เชื่อมโยงถ้อยคำสำคัญ ได้ว่า ทำอย่างไร (พอประมาณ) ทำไมถึงทำ(เหตุผล) และได้รับผลอะไรบ้างจากการทำ(ภูมิคุ้มกัน) ..จะถือเป็นผลงานวิชาการ..ที่มีคุณค่า ง่ายและงดงามยิ่ง..ครับ

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๑ กันยายน ๒๕๕๘


หมายเลขบันทึก: 594243เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2015 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กันยายน 2015 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หวัดดีท่าน ผอ.คนเก่ง

มีกระแตไต่ไม้หน้าตึก สพฐ.๔ มาฝากจ้าา


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท