หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

ไม่รู้..ก็รอให้ต้นไม้สอนเหอะ


จะฟื้นฟูป่า ให้ปลูกไม้ยืนต้นหลายชนิดคละระดับเรือนยอดระหว่างสูงเกิน ๑๐ เมตรและไม่ถึง ๘ เมตรไปพร้อมกับปลูกไม้คลุมดิน ต้นไม้จะได้ช่วยกันรักษาความชื้นไม่ให้ระเหยไปในอากาศ....เลือกพันธุ์พืชไม้ท้องถิ่นและพันธุ์ไม้ไม่ผลัดใบแทรกเข้าไปในป่าเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดิน

ต้นไม้ทำให้เกิดความชื้นในอากาศด้วยการคายน้ำที่รากดูดจากดินออกมาเป็นไอน้ำหรือหยดน้ำทางปากใบ อุณหภูมิ ความเข้มแสง ลม ความชื้นสัมพัทธ์ จำนวนใบของพืช จำนวนปากใบที่ใบของพืช ความมันของใบ ไขที่เคลือบใบ และปริมาณน้ำในดินล้วนมีผลต่อการคายน้ำของต้นไม้

ดินมีน้ำน้อย อากาศร้อน ความชื้นสัมพัทธ์สูง ใบเป็นมัน ใบมีไขเคลือบ ลมแรง ความเข้มแสงต่ำ มีผลให้พืชคายน้ำน้อย จำนวนใบเยอะ มีลมพัดอ่อนๆ อากาศเย็น ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ มีผลให้พืชคายน้ำได้มาก

ในดงยอป่ามีร่มเงา แสงแดดลอดผ่านได้ถึงพื้น พื้นใต้ร่มเงาที่โดนแดดตรงๆมีอยู่บ้างแต่น้อย มีลมโชยบ้างเป็นพักๆ ทรงพุ่มโปร่ง พุ่มใบไม่แน่น ทรงใบเล็กบาง พื้นใต้ต้นส่วนใหญ่ไม่มีหญ้าคลุมทั้งในหน้าฝนและหน้าแล้ง สิ่งที่เห็นบอกว่าในดินมีน้ำน้อย ความชุ่มชื้นในดงไม้มีน้อย

ในหย่อมแต้วป่า แดดส่องถึงดินได้ทั่ว ไม่ให้ร่มเงา ทรงพุ่มแคบ โปร่ง ทรงใบเล็กหนา พุ่มใบไม่แน่น พื้นใต้ต้นมีหญ้าคาคลุมดินทั้งในหน้าฝนและหน้าแล้ง สิ่งที่เห็นบอกว่าดินใต้ต้นแต้วป่าก็มีน้ำน้อย ความชุ่มขื้นโดยรอบก็น้อยเช่นกัน

ป่าที่ชุมชื้น จะเกิดไฟป่ายาก ข้อมูลข้างบนช่วยชี้จุดปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มให้ชัดเจนขึ้น ดินมีน้ำน้อย จะเลือกไม้พันธุ์ไหนมาปลูกดีละ

ตามหาคำแนะนำก็พบเพิ่มมาเรื่องหนึ่ง.....ให้ปลูกไม้ยืนต้นหลายชนิดคละระดับเรือนยอดระหว่างสูงเกิน ๑๐ เมตรและไม่ถึง ๘ เมตรไปพร้อมกับปลูกไม้คลุมดิน ต้นไม้จะได้ช่วยกันรักษาความชื้นไม่ให้ระเหยไปในอากาศ....เลือกปลูกพันธุ์พืชไม้ท้องถิ่นและพันธุ์ไม้ไม่ผลัดใบแทรกเข้าไปในป่าเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดิน

ไม้ที่เรือนยอดสูงเกิน ๑๐ เมตรเป็นพวกนี้ ประดู่ ตะแบก ชงโค เหมือดโลด รกฟ้า จั๊กจั่น ตีนนก หนามข้าวเบือ ไม่นึกเลยว่าประดู่ ชงโค ตะแบกที่ชินตาริมถนน จะเป็นไม้ป่าด้วย ไม้ที่เรือนยอดไม่ถึง ๘ เมตร ก็เป็นพวกนี้ มะขามป้อม มะกอก เลียง แคราย แก่นเทา ตับเต่า

คิดว่าไม้พันธุ์หญ้าที่ปลูกง่าย ตายยากอย่างตะไคร้หอม ตะไคร้บ้าน น่าจะพอเป็นไม้คลุมดินใต้ร่มเงายอได้ ก็ปลูกลงไป ผลคือเดี้ยง ปลูกซ้ำอีกรอบก็เดี้ยง เปลี่ยนเป็นปลูกหญ้าแฝก ก็เดี้ยงเหมือนกัน ยืนยันว่าในดินมีน้ำน้อยจริงๆ

อะไรทำให้ดินมีน้ำน้อยลองค้นหาดู ก็เจอว่ามีเนินดินที่ลาดเทลงมา เมื่อน้ำฝนไหลมาก็ชะหน้าดิน พาอินทรีย์วัตถุลงไปกองในที่ต่ำกว่า ลมที่พัดผ่านลอดใต้พุ่มพาความชื้นออกไปทำให้ดินแห้งเป็นฝุ่น ความชื้นหน้าดินต่ำ

ดินมีน้ำน้อย พืชที่เหมาะจะปลูกไว้ช่วยรักษาความชื้นเป็นพันธุ์ไหนบ้าง ไม่ลองก็ไม่รู้ พอดีมีพันธุ์ไม้พวกนี้ มะกอกป่า หลุมพอ สะเดา ทุ้งฟ้า หูกวาง มะตูม อยู่ราวต้นสองต้น จึงปลูกลงไปลองดู

ตามลุ้นกับการงอกของต้นไม้อยู่ระยะหนึ่ง พบอย่างนี้ มะกอกป่ากว่าจะงอกช้า ทิ้งใบกว่าปีจึงผลิใบสวยๆให้ชื่นใจ ทุ้งฟ้าชอบแดด ชอบน้ำ ปลูกในร่มเงาพอได้ แต่กว่าจะแข็งแรง ก็ทิ้งใบแล้วทิ้งใบอีก แล้วค่อยๆโต สะเดาอยู่ใต้ร่มเงาที่มีแสงน้อย อากาศไม่ร้อน สูงช้า กว่าจะแข็งแรงผลิใบงามก็ใช้เวลาพอๆกับทุ้งฟ้า หลุมพออยู่ใต้ร่มเงาที่มีแสงน้อย ความชื้นน้อย ก็ทิ้งใบพักต้นไประยะหนึ่ง ฝนมาก็ผลิใบ หลังจากนั้นโตไว มะตูม ไม่ทิ้งใบหลังปลูก โตช้า หูกวาง ไม่ทิ้งใบหลังปลูก โตช้ากว่าพันธุ์ไม้อื่นๆ

หลุมพอเป็นไม้ตระกูลถั่ว ทุ้งฟ้าเป็นไม้ตระกูลลีลาวดี มะกอกเป็นไม้ตระกูลมะม่วง หูกวางเป็นไม้ตระกูลสมอ สะเดาเป็นไม้ตระกูลกระท้อน มะตูมเป็นไม้ตระกูลส้ม

ว้าว ต้องการไม้โตไว ปลูกไม้ตระกูลถั่วเติมเหอะเหมาะที่สุดแล้ว ต้องการไม้ไม่ผลัดใบก็ปลูกไม้ตระกูลมะม่วง สมอ กระท้อน ส้มหรือลีลาวดีรอดได้หมด

หมายเลขบันทึก: 593889เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2015 00:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2015 12:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท