699. เรียนรู้ศาสตร์ OD จาก "สามก๊ก" (ตอนที่ 29)


สามก๊กให้แง่คิดอะไรมากมาย ที่ขุดมาพูดได้ไม่จบ เรื่องหนึ่งที่ให้ได้คิดก็คือเรื่องลูกหลาน รุ่นพ่อเสี่ยงชีวิต ลุยสร้างอาณาจักรให้มั่นคง เล่าปี่ ซุนกวน โจโฉ แต่ที่สุดพออาณาจักรส่งต่อไปถึงรุ่นลูก ทั้งสามอาณาจักรกลับตกเป็นของตระกูลสุมา ฟังแล้วเจ็บไหมครับ สู้กับนไปมาหกสิบปี ฐานะมั่นคงมีอำนาจ ประสาทกินอยู่บ่อยครั้ง ตั้งตัวได้ก็จริง แต่ทุกสิ่งกลับสูญหายไปเพียงข้ามรุ่น

และเมื่อมองเล่าปี่จะเห็นชัดมากๆ คุณจะเห็นเล่าเสี้ยนนี่ไม่ได้เรื่อง ดูไม่มีความคิดความอ่านอะไรทั้งสิ้น ดูเหมือนยังกับเล่าปี่เป็นเทวดา แต่ได้ปลวกมาเป็นลูก ปานนั้น ถามว่าโทษเล่าปี่ได้ไหม ก็ได้นะ ผมรู้สึกว่าเล่าปี่ไม่ได้เตรียมเล่าเสี้ยนไว้ดีพอครับ เหมือนไม่ได้คิดเลยว่าต่อไปเล่าเสี้ยนต้องกลายมาเป็นฮ่องเต้ อย่างน้อยต้องเตรียมฝึกไว้

ถ้าสมัยใหม่ก็ต้องได้เรียนนายร้อย ได้ไปฝึกงานกินตำแหน่งคล้าย Prince of Wales ของอังกฤษ ดูเหมือนอังกฤษจะได้รัชทายาทที่ผ่านการเตรียมความพร้อมมาอย่างดี ในสมัยอยุธยาสมเด็จพระเนรศวรก็ได้ฝึกการทหารการปกครองด้วยการไปปกครองเมืองพิษณุโลก สองแคว ในมุมมองของผม เมืองนี้คือที่ฝึกกษัตริย์ในอนาคต ไม่แปลกเราจึงมีมหาราชที่เข้มแข็ง แสดงว่าพระมหาธรรมราชามองขาด มีวิสัยทัศน์ คุณจะเห็นว่าหลังมหาราขชองเรารบชนะศึกยุทธหัตถีนี่ ส่งผลให้ประเทศไทยอยู่รอดปลอดภัย พม่าไม่กล้าทำอะไรไป 160 ปี สุดยอดไหมครับ

คุณไม่เห็นอะไรอย่างนี้เกิดขึ้นกับเล่าเสี้ยนเลย ผมว่าโจโฉก็พอกัน แต่บังเอิญลูกโจโฉฉลาดโดยธรรมชาติ แต่ก็ที่สุดครับ ก็ดูเหมือนไม่เตรียมการอยู่ดี ซุนกวนก็วางทายาท ฝึกทายาทไม่ได้ดีนัก อ่อนแอไปหมด

ส่วนสุมาอี้ เอาลูกสองคนมาฝึกงานด้วย ออกรบด้วยกันตลอด เลยมีความเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สุดเมื่อเหล่าผู้นำรุ่นใหม่อ่อนแอ ทุกอย่างสั่นคลอน ตระกูลสุมาก็แข็งแกร่งสุด ที่สุดก็ครองแผนดินได้ ดูเหมือนสุมาอี้จะวางรากฐานได้ดีมากๆ

เรื่องนี้ทำให้ผมต้องคิดเลยครับ ทรัพย์สมบัติมหาศาล อำนาจล้นฟ้าไม่ได้เป็นสิ่งรับประกับความอยู่รอดของลูกหลานได้

ในแง่ของการพัฒนาองค์กรยุคใหม่ เราเรียกว่าความยั่งยืนครับ ทำไงมั่นจะยั่งยืน ภาษาด้านการพัฒนาองค์กรเราเรียกว่า Institutionalisation คือไม่ว่าคุณจะทำอะไรอยู่ส่ิงที่คุณต้องตั้วคำถามอยู่ตลอดก็คือ จะทำอย่างไร ถ้าคุณไม่อยู่แล้ว สิ่งที่คุณเพียรพยายามพัฒนาขึ้นมาจะยังคงเติบโตต่อไปโดยไม่ต้องมีคุณอยู่ตรงนั้น

องค์กรยุคใหม่นั้นต้องการนักพัฒนาองค์กร เข้าไปช่วยพัฒนาคน พัฒนาองค์กรกันครับ สิ่งที่นักพัฒนาองค์กร (OD Consultant) อย่างผมต้องคิดอยู่เสมอคือ จะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงที่คุณเข้าไปสร้างสรรค์ขึ้นมานั้น ยังคงอยู่ มีการเติบโตไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องมีคุณ ไม่ใช่คุณออกมาแล้ว ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม ต้องทำ Institutionalisation ครับ แล้วทำอย่างไร

1. มองหาต้นแบบองค์กรดีๆ (Role Model) ที่เป็นต้นแบบ ประมาณว่าลองมองหาร่องรอยจากองค์กรดีๆ ว่าเขาทำอะไร อาจตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่ทำส่งผลในทางบวกต่อเนื่อง โดยที่องค์กรนั้นไม่ต้องอยู่ตรงนั้นตลอด อาจมองหาหลายๆ องค์กร หาสักสามสี่แห่ง

2. ถอดแบบวิธีการ แนวคิด แล้วเอามาพัฒนาเป็นวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์หรือกิจกรรม

3. ลองดำเนินการตามนั้น แล้วลองดูว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย

เรื่องนี้ตอนเรียนปริญญาเอกด้าน OD ไกล้จะจบ ที่ปรึกษาของผมดร.ริต้า อโลนี่ จะถามผมว่า อะไรคือ Institutionalisation ของโครงการของคุณ เรื่องนี้ผมใช้ความพยายามในการตอบมากๆ ซึ่งเป็นอะไรที่ตอบยากมากที่สุด ยากก็การพัฒนาองค์กร ยากกว่าการใช้เครื่องมือใดๆ ที่ผมว่าผมก็เรื่องที่ทันสมัยที่สุดในโลกแล้วนั่นคือ Appreciative Inquiry (AI) ซึ่งคือการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก

เจอเรื่องนี้แล้วต้องคิดแล้วครับ เนื่องจากผมทำการพัฒนาองค์กรในเครือข่ายของผมเอง คือ Thailand Appreciative Inquiry Network (www.aithailand.org) ผมเองต้องการเผยแพร่ความรู้ด้าน AI ให้คนทุกระดับ ทุกเศรษฐานะในประเทศไทย และในระดับโลกเข้าในเครื่องมือที่แสนวิเศษตัวนี้ ผมตั้งชมรมขึ้นมา รุ่นแรกเผยแพร่ทำให้เขาทำ AI เป็นไป 33 คน

ตอนผมทำ Institutionalisation ผมมองหาองค์กร/แบบอย่างที่ชื่นชอบสี่แห่ง แล้วเอามาผูกเป็นวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ ผมจะไม่พูดหมดเราตัวอย่างแค่ Mission ก็พอ

ตัวอย่างการทำ Mission ของผมมีดังนี้

อย่างแรกเลยผมได้รับแรงบันดาลใจจาก Barefoot College หรือวิทยาลัยคนยาก ในอินเดีย ที่นี่สอนให้คนไม่รู้หนังสือได้รับความรู้เอาไปพัฒนาท้องถิ่นตนเอง เช่นสอนวิธีการออกแบบเซลล์พลังแสงอาทิตย์ให้ชาวบ้านยากจน เขาสามารถทำให้คุณยายอายุมาก ไม่รู้หนังสือกลายเป็น Solar Engineer ได้ สามารถฝึกคนให้เป็นหมอฟันแบบชาวบ้านได้ คนเหล่านี้สามารถกลับไปพัฒนาท้องถิ่นได้จริง โดย Barefoot College ไม่ต้องตั้งอยู่ตรงนั้นตลอดเวลา

ผมมองแล้วว่าการถ่ายทอดทักษะ การสร้างคนน่าจะเป็นอะไรที่ยั่งยืนมากกว่าอาคาร ผมเลยพัฒนาพันธกิจ (Mission) องค์กรของผมขึ้นมาเป็นข้อแรก คือ เน้นการ “สร้าง” คน คนนี่แหละจะทำให้ AI เผยแพร่ไปเอง โดยไม่มีผม ผมจะสร้างคนที่ทำ AI เป็นให้มากที่สุด ในทุกวงการ

อย่างที่สอง ผมได้แรงบันดาลใจจาก OpenEcology ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วโลกร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือการเกษตรต้นทุนต่ำ ทำมือได้ ประมาณว่าเครื่องมือการเกษตรมันแพง ที่นี่เลยพาคนทั่วโลก มาเจอกัน มาร่วมกันออกแบบเครื่องมือราคาถูกแล้วเปิดเผยให้คนเอาไปใช้ได้ฟรี ผมรู้สึกว่าที่นี่สุดยอดมากๆ การเปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วม สานให้คนมาเจอกันอย่างนี้ ทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ โดยคุณไม่ต้องอยู่ตรงนั้นตลอด ถ้าทำจนชิน การเติบโตจะเกิดได้เลย เห็นอย่างนี้ผมเลยสร้าง Mission องค์กรของผมขึ้นมาคือ “สาน” ผมจะพยายามสานให้คนเก่งๆมาเจอกันเพื่อนำ AI ไปพัฒนางานในด้านต่างๆ ให้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยผมอาจไม่ต้องอยู่ตรงนั้นก็ได้

ต่อมาผมก็รู้สึกชอบวัดโพธิ์ครับ วัดนี้เขาว่ากันว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย ที่ล้นเกล้ารัชการที่ 3 โปรดให้นำความรู้ วิทยาการระดับสุดยอด เช่นการแพทย์ ฤาษีดัดตนไปสลักไว้ ใครใคร่เรียนไปเรียนเลย นี่ก็สุดๆ ท่านไม่อยู่ตรงนั้น แต่ความรู้ทางการแพทย์ของไทยก็ถูกส่งต่อกันมา ไม่รู้รักษาคนไปกี่ล้าน แสดงว่าการ “สลัก” เผยแพร่ความรู้นี่จะทำให้เกิด Institutionalisation ได้ไปยาวนานเลย

เผมเลยตั้ง Mission องค์กรของผมว่า ผมจะ “สลัก” เมื่อผมไปสอน AI ที่ไหนมา แล้วลูกศิษย์นำไปเขียน จะขออนุญาตเอามาแขวนที่ web www.aithailand.org ตอนนี้มีกรณีศึกษาเพียบครับ ที่ผมค้นพบว่ามีผู้สนใจเอาไปต่อยอดโดยที่ผมไม่ต้องอยู่ตรงนั้น มีเยอะครับตั้งแต่การศึกษา โรงงานแกะกุ้ง ร้านกาแฟ ด้านวิศวกรรม

สุดท้ายผมว่าความรู้จะเติบโต เปลี่ยนแปลงมากๆ ต้องให้ความรู้เป็นทานครับ เรื่องนี้ระยะหลังผมได้แรงบันดาลใจจากเรื่องเศรษญกิจพอเพียงของในหลวง พระโพธิสัตว์ของเรา ท่านมีความรู้ดีๆ ก็มาแบ่งปันประชาชน ดูสิครับตอนนี้เกิดศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ท่านไม่อยู่ตรงนั้นแต่คนก็ไปเรียนรู้แล้วพลิกชีวิตไปก็มาก ตัวอย่างเช่นอาจารย์ยักษ์ได้แรงบันดาลใจจากท่านเอาไปทดลองจริง ได้ชีวิตใหม่ กลายเป็นปูชนียะคนหนึ่งในสังคม ผมจึงว่าเมื่อเรามีความรู้เราจะ “สละ” ความรู้ให้เป็นทาน ที่สุด AI จะเติบโต โดยที่ผมไม่ต้องอยู่ตรงนั้นอีกต่อไป

Reference ภาพ: http://www.krusarawut.net/wp/?p=7321

ตอนนี้ผมได้พันธกิจในองค์กรของผมชัดมากๆ ผมไม่ได้ไปแข่งกับใคร เพียงแต่ผมต้องคิดไกลให้เกิดสิ่งที่ผมทำได้สำเร็จในปัจจุบัน นั้นคือ “สร้าง สาน สลัก สละ” ของผมนั่นเอง

นี่เรื่ององค์กรครับ ส่วนเรื่องส่วนตัวไว้โอกาสต่อๆไป ผมจะมาเล่าเรื่องการส่งต่อเรื่องดีๆ มรดกดีๆไปที่ลูกหลาน แน่นอนครับทรัพย์สมบัติล้นฟ้าไม่ใช่คำตอบ

ผมเองไม่ทราบว่าทำถูกหรือยัง แต่ด้วยต้นแบบดีๆ ผมก็อุ่นใจไปครึ่งหนึ่งแล้วครับ และก็เห็นผลมาหลายปีแล้ว ว่าผมไม่ได้อยู่ตรงที่ผมทำงานอยู่ตลอดเวลา แต่ AI ที่ผมรัก ก็มีคนเข้ามาเรียนรู้ แบ่งปัน ส่งต่อไปเรื่อยๆ อย่างนึกไม่ถึง ล่าสุดมีคุณหมอท่านหนึ่งมาหาถึงขอนแก่น มาขอพบผมบอกว่าท่านศึกษา AI ด้วยตนเองจาก web ผม ท่าอ่านหมด จำได้หมด พอมานั่งคุยท่านเข้าใจหมดจริงๆ ทำ ขยายผลมาจริง โดยที่ผมไม่ต้องไปสอนท่านเลย จริงๆ เราทำงานกันคนละที่ ที่สุด Mission ของผมมันทำงานด้วยตัวมันเองครับ

แต่ถามว่าสุดไหม ผมว่าเรายังต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ

มีอะไรที่เราอยากทิ้งไว้ให้โลก ให้ลูกหลาน ต้องคิดกันเดี๋ยวนี้ครับ ไม่ใช่ตอนแก่ ค่อยคิด ไม่อย่างนั้นตระกูลของคุณ องค์กรของคุณจะไม่เหลืออะไรไว้แม้กระทั่งความทรงจำครับ

สำหรับบทความนี้ต้องบอกว่า “เสียดายที่เล่าปี่ไม่ได้อ่าน” ครับ

คุณล่ะคิดอย่างไร

ด้วยรักและปรารถนาดี

วันนี้พอเท่านี้ เพียงเล่าให้ฟัง ลองเอาไปพิจารณาดูนะครับ

AI Thailand

สร้าง สาร สลัก สละ

www.aithailand.org



หมายเลขบันทึก: 593811เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2015 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2015 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท