วิชาพัฒนานิสิต (๒๖) : ว่าด้วยจิตสาธารณะ


ท้ายการบรรยายและเล่าเรื่อง ผมขมวดประเด็นอีกครั้งอย่างง่ายๆ ชวนให้นิสิตคิดตามว่า จริงหรือไม่ที่คำว่า “จิตสาธารณะ” สอดคล้องและสัมพันธ์กับหมุดหมายการเรียนรู้ หรือหมุดหมายของการบ่มเพาะความเป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ในแบบ “เก่ง ดี มีสุข”

การเรียนการสอนรายวิชาพัฒนานิสิตเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ เป็นประเด็นเรื่องจิตสาธารณะ ซึ่งผมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บรรยาย หรือจัดกระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียนผมเลือกที่จะบรรยายกึ่งการเล่าเรื่อง เรียนรู้ผ่านสื่อวีดีทัศน์ โน้มน้าว หรือหนุนเสริมให้ผู้เรียนได้ “คิดตาม” หรือแสดงออกทางความคิดร่วมกันเป็นระยะๆ


คลิปนำเข้าสู่การเรียนรู้


ผมเลือกที่จะใช้คลิปเรื่อง “รองเท้า ค(รั)บพ่อ” เป็นสื่อนำเข้าสู่การเรียนรู้ สื่อดังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ของโครงการ true ปลูกปัญญา ซึ่งมีเนื้อหาน่าสนใจหลายประเด็น ทั้งเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิถีความสัมพันธ์ในครอบครัว นิเวศวัฒนธรรมอันเป็นความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติ ค่านิยมที่ว่าด้วยการเรียนรู้และเรียนแบบของเด็กและเยาวชน ฯลฯ



เมื่อนิสิต (ผู้เรียน) ได้ดูคลิปดังกล่าวเสร็จสิ้นลง ทีมกระบวนกร (คุณรุ่งโรจน์ แฉล้มไธสง) ก็ออกไปทักทายในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” ชักชวนให้นิสิตได้ “ถอดบทเรียนผ่านสื่อ” ผ่านวาทกรรมที่คุ้นชินง่ายๆ กว้างๆ ประมาณว่า “เห็นอะไรในสื่อดังกล่าวบ้าง”

การถามทักกว้างๆ เช่นนี้ ผมมองว่ามีจุดแข็งคือไม่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกอึดอัด เพราะสิ่งที่เห็น อาจไม่จำเป็นต้องคิดมากหยั่งลึกปวดขมับถึงขั้น “ได้แนวคิดใดจากเรื่องที่ดู (บ้าง)” ทว่าการถามทักเช่นนั้น เป็นการถามทักแบบเนียนๆ เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ หรือจัดการความรู้แบบเนียนๆ ซึ่งในที่สุดผมก็ชื่อว่าคำตอบที่ได้มา ก็คือ “แก่นสาร” หรือ “แนวคิด” ในสื่ออยู่วันยังค่ำ




ถามซ้ำ
: ถามทักความทรงจำเดียวกับคลิป


ครั้นกระบวนการนำเข้าสู่การเรียนรู้จบสิ้นลง คราวนี้ถึงคิวผมบ้างล่ะที่ต้องเข้าไปจัดการเรียนรู้ โดยเริ่มจากการทวนซ้ำอีกรอบว่าสื่อที่เพิ่งเปิดไปสดๆ ร้อนๆ ชื่ออะไร – และมาย้ำเน้นด้วยการเชิญชวนให้ผู้เรียนได้หวนกลับไปทบทวนความทรงจำของตนเองผ่านเรื่องราว-ประสบการณ์ชีวิตคล้ายๆ กับที่ปรากฏในคลิปที่เพิ่งเปิดไป


ผมถามทักเช่นนั้น เพื่อต้องการบอกกับผู้เรียนว่า การเรียนรู้จากโลกภายนอกสมควรต้องเดินทางควบคู่กับกับโลกภายในของเราเอง อย่างน้อยที่สุดเมื่อเราได้สัมผัสเจอกับชุดบทเรียนจากโลกภายนอกแล้ว หากไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ควรทบทวนตัวเองบ้างว่าเคยมีประสบการณ์ในทำนองเดียวกับเรื่องราวสัมผัสพบบ้างหรือไม่ –

ครับ, ไม่มีอะไรพิเศษนัก แค่อยากให้ผู้เรียนได้ฝึกการทบทวนชีวิต (ถอดบทเรียนชีวิต) หรือถอดรหัสความรู้จากสิ่งรอบกายเท่านั้นเอง - เป็นการทบทวนชีวิตควบคู่ไปกับการฝึกทักษะการคิดเชื่อมโยงไปในตัวอย่างเสร็จสรรพตามแบบฉบับของผม





เอาอะไรมาเรียนบ้าง

ถัดจากนั้นผมสร้างกระบวนการเรียนรู้ง่ายๆ ด้วยการชวนให้นิสิตทุกคนชู หรือแสดงอุปกรณ์การเรียนรู้พร้อมๆ กัน นับตั้งแต่ให้ชูปากกา > ชูใบงาน > ชูหนังสือ > ชูสมุดจดบันทึก และสุดท้ายก็หยิกแซวว่า “หัวใจล่ะเอามาด้วยไหม...” หรือ “พร้อมที่จะเรียนรู้ด้วยหัวใจหรือยัง...”




ประเด็นของการเรียนรู้


หลักๆ แล้ววันนี้ประเด็นที่ต้องเรียนรูร่วมกัน ทั้งผู้สอนกับนิสิต และนิสิตกับนิสิตก็คือเรื่อง “จิตสาธารณะ” ซึ่งผมเริ่มต้นจากการทบทวนจุดมุ่งหมายรายวิชาการพัฒนานิสิต นั่นก็คือ “พัฒนานิสิตให้เป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์”

ประเด็นดังกล่าวนี้ ผมชวนนิสิต “คิดและคุย” เชื่อมโยงไปยังวาทกรรมอันเป็นหลักคิดสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับ “ลักษณะที่พึงประสงค์” เช่น ในระดับชาติ (เก่ง ดี มีสุข) และวาทกรรมอันเป็นหมุดหมายของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นั่นก็คือ

•การศึกษาเพื่อรับใช้สังคม : เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

ปรัชญามหาวิทยาลัยฯ (พหูนํ ปญฺทิโต ชีเว) : ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน

•เอกลักษณ์มหาวิทยาลัยฯ : เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน

อัตลักษณ์นิสิต : เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน



ถัดจากนั้นจึงค่อยๆ บรรยายและเล่าเรื่องเกี่ยวกับเรื่อง “จิตสาธารณะ” โดยเน้นการสื่อสารสองทาง ชวนคิดชวนคุยไปเรื่อยๆ มีหยิกหยอกสร้างบรรยากาศเป็นระยะๆ ในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” นับตั้งแต่การแลกเปลี่ยนความคิดร่วมกันว่า “จิตสาธารณะ คืออะไร” หรือมีวาทกรรมใดมีความหมายในทำนองเดียวกันกับ “จิตสาธารณะ” บ้าง ?


แน่นอนครับ-ผมอยากฝึกให้นิสิตได้ทบทวนความรู้ตนเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ อยากให้นิสิตนิยามความหมายคำว่าจิตสาธารณะตามความเข้าใจของตนเอง เพราะยังไงเสีย นิสิตก็สามารถหวนกลับไปอ่านทบทวนเนื้อหาในหนังสือได้อยู่ดี แต่ในเวทีนี้ ผมอยากให้นิสิตได้เรียนรู้ร่วมกันโดยไม่ติดยึดกับกรอบแนวคิดภาคทฤษฎีจากตำราเรียนมากจนเกินเหตุ...

ซึ่งในที่สุดแล้ว ผมก็สะท้อนมุมมองว่าด้วยความหมายของจิตสาธารณะ (Public Mind) คือ การตระหนักรู้ในเรื่อง “บทบาทและหน้าที่” ของตนเองที่มีต่อการรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม หรือ “สาธารณะ”ให้ได้มากที่สุด พร้อมๆ กับการทิ้งท้ายให้นิสิตได้ไปอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับรากศัพท์ของจิตสาธารณะ หรือรากศัพท์ของคำว่า สาธารณะ (Public)



จิตสาธารณะ คือคุณธรรมประเภทหนึ่ง

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นที่ผมหยิบมาแลกเปลี่ยนกับนิสิตอย่างหนักแน่นก็คือ “จิตสาธารณะ ถือเป็นคุณธรรมปะเภทหนึ่ง” เป็นคุณธรรมของการจรรโลงสังคมให้ผาสุก เป็นคุณธรรมแห่งการจรรโลงชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ พร้อมๆ กับการหยิบยกหลักคิด หรือหลักธรรมในศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม หรือศาสนาพุทธมาให้นิสิตได้ขบคิด เช่น

สังคหวัตถุ 4 ได้แก่ ทาน (การให้ การแบ่งปัน) ปิยวาจา (มีวาจาที่เรียบร้อย) อัตถจริย (การกระทำที่เป็นประโยชน์) สมานัตตา (ความเสมอต้น เสมอ ปลาย)

•ฆราวาสธรรม ได้แก่ สัจจะ (ความซื่อสัตย์ ซื่อตรงต่อกัน) ทมะ (ความข่มใจ) ขันติ (ความอดทน) จาคะ (การบริจาค เสียสละและแบ่งปัน)

พรหมวิหาร 4 ได้แก่ เมตตา (ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข) กรุณา (ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์) มุทิตา (ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี) อุเบกขา (การวางเฉย)


นอกจากนั้นยังปักหมุดอย่างแน่นหนักอีกรอบว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” คืออีกหนึ่งของคุณธรรม และเป็นอีกหนึ่งมิติของ “จิตสาธารณะ” โดยการตั้งประเด็นในนิสิตได้คิดตามว่า “เกี่ยวโยงกันอย่างไร”




The Tree: คั่นเวลาหนุนเสริมด้วยคลิปจิตสาธารณะ

ช่วงหนึ่งของการบรรยายกึ่งเล่าเรื่อง เมื่อนิสิตเริ่มเห็นภาพความเป็น “จิตสาธารณะ” ในนิยาม หรือมิติต่างๆ แล้ว ผมถือโอกาสชวนให้นิสิตได้ดูสื่อ/คลิปสั้นๆ ในชื่อ “The Tree” ซึ่งเด่นชัดมากๆ เกี่ยวกับเรื่องสภาวะของจิตสาธารณะ รวมถึงความแหลมคมของการเสียดเย้ยสภาวะจิตสาธารณะของผู้คนหลากวัยในสังคม ที่มองว่า “ธุระไม่ใช่....” หรือ “ละเลยต่อบทบาทและหน้าที่” ของตนเอง



ครั้นดูคลิปกันเสร็จ ผมก็ทิ้งประเด็นเสวนาเล็กๆ ทางความคิดกลับไปอีกรอบว่า “เห็นอะไรบ้าง” หรือ “ได้เรียนรู้อะไรบ้าง”

เช่นเดียวกับการชวนขบคิดถึงวาทกรรมอันเป็นสุภาษิต คำพังเพย สำนวนไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องจิตสาธารณะ หรือเรื่องคุณธรรมจริยธรรม หรือที่เกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือกระทั่งที่ไม่เกี่ยว หากแต่เป็น “หลุมดำ” ของเรื่องเหล่านั้น ซึ่งที่ผมยกตัวอย่างให้นิสิตฟังก็มีประมาณว่า

  • ทำอะไรตามใจเป็นไทยแท้
  • ธุระไม่ใช่
  • อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น
  • ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์
  • น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า
  • ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน



มมส กับ จิตสาธารณะ


ท้ายการบรรยายและเล่าเรื่อง ผมขมวดประเด็นอีกครั้งอย่างง่ายๆ ชวนให้นิสิตคิดตามว่า จริงหรือไม่ที่คำว่า “จิตสาธารณะ” สอดคล้องและสัมพันธ์กับหมุดหมายการเรียนรู้ หรือหมุดหมายของการบ่มเพาะความเป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ในแบบ “เก่ง ดี มีสุข” หรือกระทั่งโดยเฉพาะหมุดหมายของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ประกอบด้วย

ปรัชญามหาวิทยาลัยฯ (พหูนํ ปญฺทิโต ชีเว) : ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน

•เอกลักษณ์มหาวิทยาลัยฯ : เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน

อัตลักษณ์นิสิต : เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน

ค่านิยมนิสิต (MSU FOR ALL : พึ่งได้) : พึ่งพาตนเองได้ และเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้



สรุปการเรียนรู้และมอบหมายงาน

ก่อนแยกย้ายกลับ ผมทดเวลาไว้ร่วมๆ ๒๐ นาทีให้ทีมกระบวนกรกลับเข้ามาสรุปการเรียนรู้ร่วมกับนิสิต โดยให้นิสิตเขียนสรุปการเรียนรู้ลงใน “ใบงาน” พร้อมๆ กับการมอบหมายงาน (๑๐ คะแนน) ให้นิสิตไปออกแบบการเรียนรู้เรื่องจิตสาธารณะด้วยตนเอง โดยการไปเข้าร่วมกิจกรรมที่คิดว่าเป็นจิตสาธารณะ หรือเป็นกิจกรรมบ่มเพาะความเป็นจิตสาธารณะทั้งที่มีต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งจะเข้าร่วมเชิงบุคคล หรือเป็นกลุ่มก็ได้ จากนั้นให้สรุปผลการเข้าร่วมกิจกรรมในรูปของ “คลิป” หรือ “หนังสั้น”

แน่นอนครับ – บางครั้งการบ่มเพาะเรื่องจิตสาธารณะย่อมมีกติกาเงื่อนไขเป็นธรรมดา มันก็ไม่ต่างอะไรจากการถูกพ่อแม่ปู่ย่าตายายบังคับกะเกณฑ์ให้ไปวัดบ่อยๆ หรือไม่ก็บังคับกะเกณฑ์ให้ช่วยงานบ้าน สิ่งเหล่านี้คือต้นทุน หรือกระบวนการต้นน้ำของการบ่มเพาะ หรือเรียนรู้สู่การเป็นผู้มีจิตสาธารณะดีๆ นั่นเอง

ส่วนเรื่องของสื่อ (คลิป) นั้น ไม่มีอะไรซับซ้อนซ่อนปมหรอกนะครับ แค่อยากให้นิสิตได้ฝึกทักษะการสร้างสื่อ หรือการสื่อสารสร้างสรรค์ผ่าน "ไอที" ที่พวกเขากำลังหลงใหลมันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเท่านั้นเอง

แน่นอนครับ - เป็นการให้เขาเรียนรู้การผลิตสื่อด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องสอน หรืออบรมทฤษฎี หรือปฏิบัติการใดๆ ให้เสียเวลา




(หรือ ไม่ จริง !)

หมายเลขบันทึก: 593785เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2015 08:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2015 12:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เข้า web มาพบบทความนี้พอดี อยากบอกคุณ

อยากบอกคุณแผ่นดินว่าติดตามคุณมาตลอด copy บทความแบบ OFF LINE เป็น series ไว้ดูเองและเผยแพร่ในหน่วยงานด้วย ขอบคุณนะคะ

สวัสดีครับ พี่ดารนี ชัยอิทธิพร

ต้องกราบขอบพระคุณมากๆ ครับที่ให้เกียรติติดตามบันทึกที่ผมเขียน
ผมเองไม่ค่อยได้ไปทักทายใครเลย
ได้อ่านเป็นระยะๆ แต่ก็แทบไม่ได้ทิ้งรอยใดๆ ไว้เป็นรูปธรรม

แต่ยอมรับว่า โกทูโน คือพื้นที่ชีวิตของผมโดยแท้ ครับ

มาส่งดอกไม้จ้าา ท่านอาจารย์

... ตามมาให้กำลังใจ ค่ะ ... นศ. ดูมีความสุข ฟังกันแบบคั้งใจด้วย

นะคะ ...


ขอบคุณอาจารย์ค่ะ ได้อ่าน ได้คิด ได้เห็นภาพ ขอนำสิ่งดีๆ ไปต่อยอดสู่นักศึกษาอีกหนึ่งแรงค่ะ ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท