หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

เลือกไม้ปลูกนำ


เมื่อดินเริ่มดีขึ้น ก็ถึงเวลาแบ่งหน้าที่ช่วยกันทำ หน้าที่ฟื้นฟูป่าเป็นของนก ตัวเองปลูกป่า หน้าที่สำคัญ คือ คัดสรรพืชต่างถิ่นที่จะนำเข้ามาปลุูกเติมเพิ่มพื้นที่สีเขียว ไตร่ตรอง ใคร่ครวญเส้นทางการสร้างว่าจะเป็นไปในเชิงป่าเกษตรกรรมหรือไม่ แบบใด ที่จะทำให้การอยู่ร่วมระหว่างคนกับธรรมชาติในพื้นที่นี้อยู่ในสมดุลแห่งการพึ่งพาอาศัยกัน

หลังจากตามล่าหาข้อมูลพืชทนไฟ พืชตระกูลถั่วได้แล้วก็ใคร่ครวญไตร่ตรองการเดินหน้า เท่าที่สำรวจดูในพื้นที่แทบจะหาเมล็ดพันธุ์ไม้พื้นถิ่นได้ยากยิ่ง จึงละส่วนหย่อมยอป่า แต้วป่าไว้ให้ธรรมชาติคัดสรรพันธุ์พืชเอง มีนกพาตัวมาช่วย ได้ต้นไม้ที่นกปลูกมาหลายต้นล้วนเป็นพืชทนแล้งทั้งนั้นเลย มะเดื่อ ชาดัด ฝรั่งขี้นกไส้เหลือง ยอ ข่อย

สิ่งที่ระแวดระวังระหว่างก้าวเดินไม่ได้มีแค่ไฟป่า คำนึงและระวังกับเรื่องพวกนี้ไปด้วย อุณหภูมิ น้ำและความชื้น แสงสว่าง มลภาวะ ดิน ความเป็นกรด-ด่าง ซึ่งในแต่ละเวลาที่มีเรื่องไปยุ่งเกี่ยว พันธุ์พืชที่เคยมีก็เปลี่ยนด้วย ที่เห็นชัดเป็นไม้ล้มลุกคลุมดิน มีบางอย่างหายไป บางอย่างโผล่มา

พืชใหม่ที่โผล่มาให้เห็นมีต้นชุมเห็ดเทศ ผักแครด มะม่วงหิมพานต์ บานไม่รู้โรยสิงคโปร์ ไมยราบยักษ์ ณ จุดต่อแดนกับบ้านชาวบ้าน ชุมเห็ดเทศขึ้นมาหรอมแหรมตรงเนินดินที่มีน้ำจากบ้านชาวบ้านไหลเข้ามา มีมะม่วงหิมพานต์ต้นอ่อนงอกใต้ร่มของต้นแม่อยู่ใกล้ๆ ผักแครด บานไม่รู้โรยสิงคโปร์ไม่รู้มาจากไหนขึ้นมาแทนที่อ่อมแซบตรงเนินดินใกล้ร่องน้ำ ไมยราบยักษ์งอกขึ้นริมถนนแล้วขยายลงไปเพิ่มจำนวนในร่องน้ำ

หญ้าเนเปียร์ข้ามพื้นที่มางอกใกล้แดนหญ้าคา สาบเสืองอกคลุมหญ้าคาและดงขลู่ใหญ่มะเฮิ่ม บังแดดไม้ทั้งสองพันธุ์จนเดี้ยง ยอมทิ้งพื้นที่ไป ต้นเล็บเหยี่ยวเริ่มกระจายยึดพื้นที่ใต้ต้นยอป่าที่ขึ้นโดดๆและใต้กอสาบเสือ

ต้องการให้พืชที่ปลูกรอดได้สูง เปลี่ยนแปลงพันธุ์พืชที่ดำรงอยู่ไม่มาก ให้ดินที่โทรมกลับมาเป็นดินที่เหมาะสำหรับให้ต้นไม้งอก แต่ดินโทรมมีหลายประเภท เมื่อลองปลูกแล้วขี้เหล็กป่าและพะยูงรอดโลด จึงเใช้ขี้เหล็กป่าปลูกนำ และรอเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลง

ปลูกขี้เหล็กป่าไว้ใต้ต้นยอป่าที่ขึ้นเดี่ยวๆ เพื่อเรียนรู้การทนร่มจุดหนึ่ง ปลูกตรงดินลาดใกล้ร่องน้ำเพื่อเรียนรู้ความสามารถยึดดินของรากจุดหนึ่ง และปลูกกลางดงขลู่เพื่อเรียนรู้ความสามารถในการเติบโตในดินที่มีหินปนเยอะอีกจุดหนึ่ง

ใช้เวลาตัดสินใจอยู่นานกับไม้ลองปลูกรุ่นแรกอย่างพะยูง ลังเลกับการนำเข้ามาสู่พื้นที่ ด้วยเห็นกับตาแล้วว่าแค่เติมกิ่งไม้หักลงบนดินก็สามารถเปลี่ยนผ่านสภาพของพื้นที่ไปเป็นสภาพใหม่ นี่นำไม้เป็นๆทั้งต้นเข้ามาฝากไว้เชียวนะ กังวลว่าจะกลายเป็นผู้นำพืชเอเลี่ยนเข้ามาในพื้นที่อ่ะ

ปลูกพะยูงแล้วทึ่ง ปลูกทิ้งไว้ไม่เหลียวแลก็โตได้ เป็นไม้หัวแข็ง ปลูกง่าย ที่น่าทำความรู้จักให้มากขึ้น ไม้ต่างถิ่นตระกูลถั่วพันธุ์นี้จึงเป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้ที่จะสะสมต้นกล้าแล้วนำมาปลูกไว้ลองดู

เมื่อดินเริ่มดีขึ้น ก็ถึงเวลาแบ่งหน้าที่ช่วยกันทำ ตั้งใจมอบหน้าที่ฟื้นฟูป่าให้นก ส่วนตัวเองก็ปลูกป่า ทำหน้าที่คัดสรรพืชต่างถิ่นที่จะนำเข้ามาปลุูกเติมเพิ่มพื้นที่สีเขียว เรียนรู้และไตร่ตรอง ใคร่ครวญเส้นทางการสร้างว่าจะเป็นไปในเชิงป่าเกษตรกรรมหรือไม่ แบบใด ที่จะทำให้การอยู่ร่วมระหว่างคนกับธรรมชาติในพื้นที่นี้อยู่ในสมดุลแห่งการพึ่งพาอาศัยกัน

หมายเลขบันทึก: 593710เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2015 15:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2015 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท