698. เรียนรู้ศาสตร์ OD จาก "สามก๊ก" (ตอนที่ 28)


ผมเคยอ่านเรื่องของเบ้งเฮ็กตั้งแต่สมัยเด็ก เห็นคนวิจารณ์ว่าเป็นบรรพบุรุษคนไทยบ้าง โน่นนี่นั่น ผมคงไม่วิจารณ์อะไรเพิ่มเติมในประเด็นนั้น เบ้งเฮ็กเป็นตัวละครที่มีสีสันตัวละครหนึ่ง ที่ขงเบ้งพยายามปราบปรามเพราะเบ้งเฮ็กก่อกบฏ อยู่ในอาณาเขตแถบชายแดนภาคใต้ของจ๊กก๊ก เอาเป็นว่าต้องใช้ความพยายามอยู่ถึงหกครั้ง และหลายครั้งจะเห็นว่านอกจากเบ้งเฮ็กจะแพ้ด้วยกลยุทธ์อันแยบยลของขงเบ้งแล้ว แต่ก็มีอีกหลายครั้งเบ้งเฮ็กแพ้เพราะคนของตัวเองแท้ๆ ที่เข้ามาให้ข้อมูลลับกับขงเบ้ง

ข้อมูลลับแต่ละเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ทั้งสิ้น เรียกว่าถ้าขงเบ้งไม่รู้ ต้องบินได้เท่านั้นถึงจะเข้าไปรบกับเบ้งเฮ็กได้ หรือบางช่วงถ้าไม่รู้ก็อาจถึงขั้นตายแบบไม่รู้ตัว ต้องเกิดใหม่เท่านั้นถึงจะรู้

แต่ขงเบ้งดูเหมือนโชคดีเพราะแม่ทัพของเบ้งเฮ็กลักลอบมาบอกความลับ และในตอนหนึ่งที่หลงป่า และทหารต้องเผชิญกับพิษร้าย ก็มีนักพรตมาบอกทางแก้ให้ โดยนักพรตคนนั้นเองก็คือพี่ชายของเบ้งเฮ็กนั่นเอง บางตอนมันกว่านั้นเบ้งเฮ้กแพ้ เพราะทหารตนเองจับเบ้งเฮ็กไม่มอบให้ขงเบ้งซะเอง

ดูเหมือนชัยชนะเกินครึ่งของขงเบ้ง มาจากความช่วยเหลือของคนฝั่งเบ้งเฮ็กเท่านั้น

ดูเหมือนทัพของเบ้งเฮ็กมีปัญหามากๆ และดูคนส่วนใหญ่ไม่อยากรบกับข้งเบ้ง หลายคนใช้คำว่า “ถูกเกณฑ์มา..” นักพรตพี่ชายก็บอกว่าเบ้งเฮ็กดื้อรั้นมาก เอาแต่ตัวเอง

ดูเหมือนทั้งนายพล พี่ชาย ทหารไม่ว่าจะตำแหน่งเล็กใหญ่ ไม่อยากร่วมเป็นร่วมตายกับเบ้งเฮ็ก มีอยู่ในสัดส่วนที่สูงมาก ดังนั้นตอนแรกจึงดูเหมือนเบ้งเฮ็กจะรบชนะ แต่ไม่นานก็พลิกผันเป็นพ่ายแพ้ติดๆกัน เรียกว่าที่สุดต้องยอมสวามิภักดิ์ ต่อขงเบ้งด้วยความเต็มใจ

ปรากฏการณ์ความพ่ายแพ้ของเบ้งเฮ้กนี้ผมให้ความสนใจมาก เพราะเบ้งเฮ้กดูเหมือนมีข้อได้เปรียบ และสิทธิได้ชัยชนะได้ไม่อยาก แต่ชัยชนะดังกล่าว ข้อได้เปรียบดังกล่าวกับไม่ทำให้เบ้งเฮ็กได้ชัยชนะอย่างยั่งยืน

ผมว่าเราต้องวิเคราะห์เรื่องนี้กัน เริ่มจากวิธีการทำงานของทั้งสองคนนี้ก่อน

คุณจะเห็นวิธีการทำงานของทุกฝ่ายเป็นอย่างแผนภาพข้างบนครับ คือเริ่มจากเห็นปัญหา ก็จะมาวางแผนกัน (Plan) จากนั้นก็จะเริ่มลงมือปฏิบัติ (Act) จากนั้นก็จะสังเกต (Observe) ว่าแผนที่ได้ทำได้จริงไหม เกิดอะไรขึ้นบ้าง ได้ผลไม่ได้ผลยังไงก็จะมาใคร่ครวญ (Reflection) ว่าที่ทำไปทำไป ต้องปรับปรุงแก้ไขตรงไหน เพื่อจะได้ทำให้งานดีขึ้น ที่สุดเมื่อตกลงกันได้ ก็จะเริ่มวางแผนแก้ปัญหา (Revised Plan) ต่อไป ทำอย่างนี้เป็นวงจรไปเรื่อยๆ จนกว่าจะแก้ปัญหาลุล่วงได้ วงจรนี้ใช้คล้ายคลึงกับสิ่งที่ศาสตร์ด้านการพัฒนาองค์กรยุคใหม่เรียกว่า Action Research ยิ่งนัก..

Action Research มีความหมายตรงๆ ว่าทำไปเรียนรู้ไป ค้นคว้าไป ทำให้ผลงานดีขึ้น ต่างจากทำไปตามความเคยชิน การทำอะไรตามความเคยชินเรียกว่า Action เพราะทำอะไรตามความเคยชินอาจไม่มีอะไรดีขึ้นเลยก็ได้

จะว่าไปเราจะเห็นเบ้งเฮ็กทำ Action Research หกเจ็ดรอบ ขงเบ้งก็ทำหกเจ็ดรอบ แต่ขงเบ้งกลับชนะเป็นส่วนใหญ่ แถมไม่พอที่เบ้งเฮ็กแพ้ เพราะแพ้ตัวเองเป็นส่วนใหญ่ครับ มาดูกันว่าคนเราคิดแล้วทำเหมือนๆกัน ทำไม่แพ้

น่าวิเคราะห์ครับ เพราะวงจร Action Research ที่เหล่าผู้นำในสามก๊กใช้คือตัวเดียวกันกับที่มนุษย์ คนทำงาน หรือผู้นำในยุคปัจจุบันก็ใช้กันอยู่ แต่น่าจะไม่พอครับ เพราะดูเหมือนเดินตามวงจรเดียวกัน แต่มีคนชนะอีกคนแพ้ มีอะไรมากกว่านั้นไหม

คำตอบคือมีครับ นักปราชญ์ด้าน Action Research เคยว่าไว้ว่า จะทำ Action Research ให้ได้ผล ต้องมีตัวคุมอยู่ห้าตัว คือ

1. มุ่งผลลัพธ์ (Outcome Validity) การพัฒนาอะไรก็ตามต้องเน้นที่การทำให้เห็นผลลัพธ์ ไม่ใช่หยุดแค่ข้อเสนอเท่านั้น

2. เน้นการมีส่วนร่วม (Democratic Validity) คนที่เข้ามาในโครงการต้องเต็มใจ พวกเขาทราบดีว่าต้องพบกับอะไรบ้าง และตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมด้วยหรือไม่ ในระดับใด

3. วัดผลด้วยหลายวิธีการ (Process Validity) ต้องใช้วิธีการวัดหลายๆ แบบ เพื่อหลีกเลี่ยงอคติ

4. เรียนรู้ร่วมกัน (Catalytic Validity) คนทำโครงการ และผู้เข้าร่วมโครงการต้องได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นจากโครงการ ไม่ใช่คนทำโครงการพัฒนาองค์กรรู้อยู่คนเดียว

5. ปรึกษาหารือกับผู้รู้ (Dialogic Validity) เพื่อหลีกเลี่ยงอคติที่อาจเป็นอุปสรรคต่องาน ควรปรึกษาผู้รู้ เพื่อช่วยมองโครงการด้วย


จะเห็นว่าทั้งเบ้งเฮ้กและขงเบ้งสอบผ่านครับในข้อแรกคือทั้งสองเน้นผลลัพธ์ มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำอะไร นั่นคือสงคราม เบ้งเฮ็กต้องการชนะสงคราม ขงเบ้งต้องการชนะใจ ชัดครับ Outcome Validity ผ่าน

เน้นการมีส่วนร่วม ดูเหมือนเบ้งเฮ็กตกครับ คนส่วนใหญ่ที่มาร่วมงานกับเบ้งเฮ็ก ไม่เต็มใจ ถูกเกณฑ์มา จะว่าไปคนของขงเบ้งก็ถูกเกณฑ์มา แต่ขงเบ้งพยายามอธิบายให้ทุกคนเข้าใจเป้าหมายแต่แรก ซึ่งต่างจากเบ้งเฮ็กมากๆ ที่ไม่พยายามใช้เหตุผล ดูตามความเป็นจริง ไม่อธิบายอะไรมาก ที่สุดคนไม่อยากร่วมงานด้วย ผมเลยนึกถึงเหตุการณ์หนึ่งพ่อแม่อยากให้ลูกเป็นหมอ ทั้งๆที่ลูกก็เฉยๆ เป็นตามพ่อกับแม่ก็แล้วกัน มันก็มาเป็นหมอจริงๆ ถึงเวลามาทำงานก็ทำไปงั๊นๆ ไม่อยากท้าทายอะไรในชีวิต กลายเป็นหมอเส็งเคร็ง เพื่อนหมอไม่อยากร่วมงานด้วย เพราะไม่เอาอะไรเลย ตอนนี้ไปทำอย่างอื่นแล้ว

วัดผลหลายวิธีการ Process Validity เบ้งเฮ็กไม่พยายามดูความรู้สึกคน ไม่สังเกตความไม่พึงพอใจที่ก่อตัวขึ้นกับคนรอบๆ ตัว ตรงนี้แหละครับ เหมือนคุณสอนหนังสือลูกศิษย์คุณอาจได้เกรดดี แต่เขาอาจเกลียดคุณไม่สนใจต่อยอดวิชานั้นด้วยเหตุที่คุณเอาแต่บังคับขู่เข็ญเขา แน่นอนเขาทำได้ดี แต่เมื่อจบก็จบเลย เพราะฉะนั้นต้องหมั่นดูความรู้สึกของคนด้วยว่าไปด้วยกันหรือไม่

เรียนรู้ร่วมกัน Catalytic Validity จะเห็นว่าเล้งเฮ็ก คิดเองทำเองไม่เน้นถามใครมากๆ เอาอคติ ไม่มานั่งวิเคราะห์มาก บทเรียนจากที่ผ่านๆมาไม่มีการนำไปคิดวิเคราะห์ หรือหากจะวิเคราะห์ก็แค่ “ที่แพ้ไม่เพราะว่าข้าไม่มีฝีมือหรอกนะ ที่แพ้เพราะคนของข้าทรยศต่างหาก” ก็จริงครับ นี่ไม่หารากเหง้าของปัญหาเลย ที่สุดเบ้งเฮ็กก็ไม่ฉลาดขึ้น ลูกน้องก็ไม่ฉลาดขึ้น นี่ต่างจากขงเบ้งที่ทำกระบวนการนี้อยู่ตลอด คือวิเคราะห์นี่ลงลึก ใครอยู่ด้วยก็ฉลาดขึ้น

สุดท้ายเรื่องปรึกษาหารือกับผู้รู้ (Dialogic) เบ้งเฮ้กใช้แต่อารมณ์ ไม่สนใจผู้รู้ ส่วนขงเบ้งถามไถ่ปรึกษาหารือจากทั้งคนในและคนนอก ที่สุดก็มีความฉลาด มีกลยุทธ์รู้เรื่องราวเฉพาะด้านของท้องถิ่นนั้น เอาเป็นว่าเบ้งเฮ็กไม่รู้อะไรเกี่ยวกับขงเบ้ง แต่ขงเบ้งยิ่งนานวันยิ่งรู้เรื่องเบ้งเฮ็กมากยิ่งขึ้น

เลยยิ่งเห็นว่ามนุษย์เราทำงานด้วยกระบวนการแทบจะเหมือนกันทุกอย่าง แต่กลับให้ผลไม่เหมือนกัน

คนขยันไม่ได้ดีเสนอไปจริงไหมครับ เขาเรียกว่าขยันจนเจ๊งนั่นเอง ถ้าไม่มองหาข้อนี้ หมั่นคิด มั่นทบทวนว่าสิ่งที่ท่านตั้งหน้าตั้งตาทำอยู่นั้น อยู่ในปัจจัยคุมห้าประการนี้หรือไม่ เป้าหมายชัดชนิดเป็นรูปธรรม คนเต็มใจมามีส่วนร่วมไหม วัดผลหลายทางไหม เรียนรู้ร่วมกันไหม สุดท้ายปรึกษาหารือผู้รู้บ้างไหม

แค่ตัวสุดท้าย บางคนทำอะไรไม่ปรึกษาหารือใครเลย เก่งก็จริงแต่อาจไปไม่รอด เช่นขงเบ้งถ้าไม่ถามผู้รู้ด้วยคิดว่าตัวเองหยั่งรู้ดินฟ้าได้ ก็คงต้องเกิดใหม่เท่านั้นครับถึงจะรู้ความลับในพื้นที่ของขงเบ้ง เพราะบางเรื่องมันต้องคนพื้นที่เท่านั้นที่รู้

วันน้ีรู้สึกชีวิตได้รับการเติมเต็มอีกครั้ง เพราะได้กลับไปดูเรื่องราวของเบ้งเฮ็ก ที่ก็ให้บทเรียนที่น่าสนใจมากๆ

วันนี้พอเท่านี้ เพียงเล่าให้ฟัง ลองเอาไปพิจารณาดูนะครับ

ด้วยรักและปรารถนาดี

ดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์ www.aithailand.org


Reference เรื่อง Action Research/Validity:

http://www.amazon.com/The-Action-Research-Disserta…


Reference รูป:

http://www.informationr.net/ir/1-1/paper2.html

http://www.su-usedbook.com/product.detail_15674_th...


Note: ภาพชั้นเรียนสามก๊กแนวที่ใช้ Appreciative Inquiry (เป็น Action Research ตัวใหม่) มาเป็นกระบวนการเรียนการสอนครับ

หมายเลขบันทึก: 593706เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2015 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 สิงหาคม 2015 06:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับอาจารย์สำหรับแนวทางดีดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท