เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง : ๒๒. โรงเรียนเกษตรกร



บันทึกชุด “เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ๒๖ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Transformative Learning in Practice : Insight from Community, Workplace, and Higher Education เขียนโดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor and Associates ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2009

ภาค ๔ ของหนังสือ เป็นเรื่องการใช้ TL สร้างความเป็นชุมชนและการเปลี่ยนแปลงสังคม ประกอบด้วยบทที่ ๑๗ - ๒๓

ตอนที่ ๒๒ นี้ ได้จากการตีความบทที่ 21 Farmer Field Schools : A Platform for Transformative Learning in Rural Africa เขียนโดย Deborah Duverkog (เคยเป็นที่ปรึกษาของ FAO ในโครงการ FFS เป็นเวลา ๑๐ ปี ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาเอก Swedish University of Agricultural Sciences), และ Esbern Friis-Hansen (นักวิจัย, Danish Institute for International Studies)

สรุปได้ว่า เป็นเรื่องราวของการจัด KM เกษตรกรในอัฟริกาตะวันออก เพื่อปลดปล่อยออกจาก วิถีเกษตรกรรมแบบเดิมๆ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า โรงเรียนเกษตรกร (Field Farmer School - FFS) ได้ผลในระดับหนึ่ง คือสามารถเปลี่ยนแปลงเกษตรกรคนจนในชนบทที่เฉื่อยชา ให้กลายเป็นพลเมือง ที่เอาการเอางาน (active citizen) ได้ แต่การขยายผลให้กว้างขวางมีข้อจำกัดด้านสังคมการเมืองเรื่องอำนาจ

เรื่องราวของตอนที่แล้ว เกิดขึ้นในอัฟริกาตะวันตก เรื่องราวของตอนนี้เกิดในอัฟริกาตะวันออก และต้องการเปลี่ยนความคิดคน ให้หลุดพ้นจากความครอบงำเดิมๆ ที่ทำให้ตกอยู่ในบ่วงแห่งความยากจน เป้าหมายคือเกษตรกรรายย่อย ดำเนินการโดย FFS – Farmer Field School

เป็นเรื่องราวของการออกจาก “การเรียนรู้แบบครอบงำ” ที่เกษตรกรพึ่งพิงและปฏิบัติตามความรู้ จากภายนอก สู่ “การเรียนรู้เพื่อการปลดปล่อย” ที่เกษตรกรเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของตนเอง

อ่านแล้วผมนึกถึง โรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ สุพรรณบุรี ที่มีรายละเอียดใน บันทึกชุดนี้


แนวทางของ FFS

แนวทาง FFS (Farmer Filed School) ได้มาจาก FAO โดยพัฒนาขึ้นที่อินโดนีเซีย ในช่วงทศวรรษ 1980 เพื่อทดแทนวิธีการเผยแพร่ความรู้แบบเก่าที่ใช้ไม่ได้ผล และ FAO นำไปใช้ในอัฟริกาตะวันตกตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา และใช้อยู่ในมากกว่า ๑๕ ประเทศ

อ่านวิธีการแล้ว ผมสรุปกับตนเองว่า นี่คือวิธีการ KM (Knowledge Management - การจัดการความรู้) นั่นเอง โดยเขาบอกว่า ยึดหลักการศึกษาผู้ใหญ่ เรียนจากการปฏิบัติ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่ม นำมาซึ่งการพัฒนาทักษะการตัดสินใจ ต่อปัญหาการเกษตรที่ซับซ้อน และผมขอเติมว่า เป็นปัญหาจำเพาะ บริบทนั้นๆ

“นักเรียน” ของ FFS พบกันทุกสัปดาห์ (หรือทุกสองสัปดาห์) เพื่อมาเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน ที่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในฟาร์มของตน โดยมีการเก็บข้อมูลจากฟาร์มของตน นำมาร่วมกันตีความหาความหมาย สำหรับนำไปดำเนินการแก้ปัญหาหรือปรับปรุงการทำการเกษตรของตน โดยมี “คุณอำนวย” (facilitator) ทำหน้าที่เอื้ออำนวยกระบวนการเรียนรู้ เป็นครูที่ไม่สอน และไม่เฉลยความรู้ ฝึกมาให้มีทักษะในการตั้งคำถาม เพื่อให้สมาชิกที่มาเข้าเรียนเห็นทางออกในทางปฏิบัติ หรือลู่ทางทดลองแก้ปัญหาเอง

“คุณอำนวย” อาจเป็นนักส่งเสริมการเกษตร หรือเป็นชาวบ้านก็ได้ แต่ต้องผ่านการฝึกทักษะ “คุณอำนวย”

จัดนักเรียนเป็นทีมละ ๔ - ๕ คน ก่อนวันนัด แต่ละทีมต้องลงแปลงนา ไปเก็บข้อมูลตามที่ตกลงกัน และเตรียมตัวแทนมานำเสนอข้อมูลและการตีความต่อที่ประชุมใหญ่ หัวข้อการเรียนตอนแรกๆ เป็นประเด็นแคบๆ ด้านเทคนิคในการทำการเกษตร แล้วค่อยๆ ขยายกว้างขึ้นสู่ระบบเกษตร และชีวิตความเป็นอยู่ และการจัดการสุขภาวะชุมชน


ผลลัพธ์สร้างการเปลี่ยนแปลง

มีผลการวิจัยผลของการใช้ FFS สร้างการเปลี่ยนแปลงในอัฟริกาตะวันออกที่เผยแพร่แล้ว เช่น หนังสือเล่มนี้


เปลี่ยนนิสัย

การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงมีเป้าหมายดึงผู้เรียนออกมาจากความเคยชินเดิมๆ ผลลัพธ์ที่สังเกตและวัดได้คือ รู้จักปลูกพืชหลายชนิดขึ้น แทนที่จะปลูกข้าวโพดเพียงอย่างเดียว ตามที่เคยทำกันต่อๆ มา รู้จักใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ประยุกต์วิธีจัดการดิน และจัดการแมลง รู้จักคิดกำไรขาดทุน รู้จักนำผลิตผลไปขายให้ได้ราคาสูงขึ้น และมีการรวมตัวกันเป็นสหกรณ์การเกษตร เพื่อสร้างการต่อรองในการขายผลผลิต เป็นต้น


เปลี่ยนโลกทัศน์

Mezirow บอกว่า การเปลี่ยนโลกทัศน์ (perspective transformation) หมายถึง ความตระหนักใน สมมติฐานของตนเองต่อการมองโลก ซึ่งผมตีความว่า ตระหนักว่า ในเรื่องต่างๆ นั้นมองได้หลายมุม และสวมแว่นได้หลายสี และการตรวจสอบสมมติฐานของตนเองต่อสิ่งต่างๆ และต่อวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ คนเราต้องสวมวิญญาณ critical thinking / critical reflection และฟังคนอื่นเป็น

ที่สำคัญคือมีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ เป็นของตนเอง


เปลี่ยนเชิงสังคม และการรวมตัว

เปาโล แฟร์ กล่าวว่า การศึกษาเพื่อการปลดปล่อย ต้องช่วยให้เข้าใจปัจจัยด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ที่ขัดแย้งกัน ในโลกส่วนใหญ่ การศึกษานำไปสู่การครอบงำ เอาเปรียบกัน การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงมีเป้าหมายเพื่อการปลดปล่อยคนที่อยู่ในฐานะเสียเปรียบในสังคม ให้เข้าสู่โลกทัศน์ใหม่ วิธีคิดใหม่ ที่ปลดปล่อยออกจากการถูกครอบงำ

นักเรียนโรงเรียนเกษตรกรที่เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นผลจากกระบวนการคิดทบทวนใคร่ครวญ ไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง หลังปฏิบัติการเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน เก็บเอาข้อมูลมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และไตร่ตรองร่วมกัน นำไปสู่การวางแผนปฏิบัติ และต่างก็นำไปปฏิบัติ แล้วเก็บข้อมูลนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นวัฏจักรที่ไม่รู้จบ ท่านที่จินตนาการกระบวนการไม่ออก ให้อ่าน บันทึกชุดนี้

สมาชิกของ FFS แต่ละกลุ่ม เห็นคุณค่าของการรวมตัวกันเรียนรู้ และประกอบสัมมาชีพ มีการรวมตัวกันตั้งสมาคม เช่นสมาคมผลิตมันฝรั่ง เพื่อขายมันฝรั่งตรงไปยังผู้บริโภค มีการตั้งสหกรณ์ร้านค้าผลิตภัณฑ์ ลดการถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง เรื่องราวนี้ทำให้ผมนึกถึง กลุ่มเกษตรกรการทำสวนยาง ตำบลไม้เรียง นำโดยลุงยงค์


กระบวนการเรียนรู้ด้วยการใคร่ครวญไตร่ตรอง

มีหลักการที่ “คุณอำนวย” จะต้องใช้ เพื่อให้กลุ่มเรียนรู้ FFS เกิด การมีส่วนร่วม การสานเสวนา และการใคร่ครวญไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง ได้แก่

  • เกษตรกรเป็น “ผู้รู้” (expert) คือรู้บริบทจริงของการทำเกษตรกรรม การเรียนรู้ใน FFS เน้นการเอาความรู้จากการปฏิบัติมาตีความร่วมกัน มีการเก็บข้อมูลจากแปลงนามา หาความหมาย
  • ทุ่งนาคือ “ห้องเรียน” เพราะคนที่เป็นผู้ใหญ่ถนัดเรียนจากการปฏิบัติในชีวิตจริง ผู้เรียนดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง รวมทั้งการวาดภาพ เขียนฟลิพชาร์ต (ผมว่าสมัยนี้ต้องถ่ายรูปด้วยสมาร์ทโฟนด้วย)
  • เอื้ออำนวย (facilitate) ไม่ใช่สอน (teach) “คุณอำนวย” ทำหน้าที่เอื้ออำนวย ไกด์ ให้ผู้เรียนจัดการเรียนรู้กันเอง หาคำตอบกันเอง ไม่ตั้งตัวเป็น “ผู้รู้” แต่มีวิธีท้าทายให้ผู้เรียนตรวจสอบความเชื่อเดิมๆ

FFS มีเครื่องมือช่วยการเรียนรู้ เช่น

- AESA (Agro-Ecosystems Analysis) ช่วยให้ผู้เรียนวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างเชื่อมโยง จากการปฏิบัติ การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ และนำไปปฏิบัติ เป็นวงจรไม่รู้จบ

- Discovery-based Exercises Forn ช่วยชี้นำกรอบความคิดให้เป็นระบบ

ในการเรียนรู้แบบนี้ บรรยากาศที่เป็นอิสระ ปลอดภัย และเอื้ออาทรต่อกัน มีความสำคัญมาก จึงต้องมีกิจกรรมผ่อนคลาย เช่นร้องเพลง เต้นรำ และเล่าเรื่องหรือเล่นละคร รวมทั้งเล่าเรื่องขำขันเพื่อสะกิดใจต่อเรื่องที่ตามปกติคนไม่พูดกัน เป็นความลับดำมืด และก่อผลเสียต่อสังคม เช่นเรื่องติดเหล้า เล่นการพนัน HIV/AIDS ความรุนแรงในครอบครัว


อิทธิพลของบริบท

กระบวนการเรียนรู้ด้วย FFS มีผลให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม และเปลี่ยนโลกทัศน์ของผู้เข้าร่วม อย่างแน่นอน สามารถเปลี่ยนชาวนาที่ไม่เอาไหน มาเป็นพลเมืองที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างแข็งขัน หรือเข้าร่วมในกิจกรรมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น แต่จะเปลี่ยนมากน้อย หรือกว้างขวางแค่ไหน ขึ้นกับบริบทหรือสภาพแวดล้อม ตัวอุปสรรค ที่สำคัญที่สุดคือสังคมอำนาจนิยม ที่เน้นการสั่งการจากเบื้องบน

ในสังคมที่ไม่มีความโปร่งใส มีคอร์รัปชั่นโกงกิน กิจกรรม FFS ขยายตัวได้ยาก

สิ่งที่ต้องการ คือการดำเนินการให้เกิดสถาบันที่จัดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ ของประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่รวมถึงการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของ “คุณอำนวย” และของผู้บริหารโปรแกรมนี้ด้วย


ไตร่ตรองสะท้อนคิด

กิจกรรมส่งเสริมการเกษตรในอัฟริกา มีการเปลี่ยนแปลงจาก จัดโดยภาครัฐที่ควบคุมโดยส่วนกลาง ไปสู่กิจกรรมแบบ demand-driven และเป็นบริการของภาคเอกชน มากขึ้น (ทำไมของไทยยังย่ำเท้าอยู่กับที่ก็ไม่รู้ - หนังสือเล่มนี้พิมพ์เมื่อ ๖ ปีมาแล้ว)

ผลของโครงการตามที่เล่าในบทความนี้ บอกเราว่า กิจกรรมเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงสามารถเปลี่ยน คนจนในชนบท ให้กลายเป็นพลเมืองที่มีความเข้มแข็งได้ แต่ก็มีปัจจัยถ่วงหรือต้านที่ต้องการให้สังคมคงอยู่ แบบเดิม ดังนั้น ถ้าไม่ระมัดระวัง คนที่ทำงานสร้างการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงอาจไปท้าทายอำนาจเก่า

สังคมอำนาจนิยม มีแนวโน้มที่จะทำให้ “คุณอำนวย” แสดงบทเป็น “คุณอำนาจ” หรือเป็น “ผู้รู้” แทนที่จะเป็น “ผู้ถาม”

คนจนคุ้นกับการได้ของฟรี ได้รับการหยิบยื่น โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม คนจำนวนหนึ่งจึงไม่เข้าร่วม FFS เพราะจะต้องลงมือทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง

การใช้ FFS ในอัฟริกาตะวันออกยังใช้ในความมุ่งหมายที่แคบ คือเพื่อเพิ่มฐานะและผลิตภาพ ของเกษตรกร ยังไม่ได้ใช้ในเป้าหมายที่กว้าง คือเพื่อพูนพลังของความเป็นมนุษย์ (human empowerment)

ผมขอเพิ่มการไตร่ตรองสะท้อนคิดส่วนตัวของผม เปรียบเทียบตอนนี้กับตอนที่แล้ว ตอนนี้การดำเนินการมีเครื่องมือที่จำเพาะชัดเจน ในขณะที่ตอนที่แล้วมีเป้าหมายกว้างๆ เน้นการพูนพลังสตรีในชนบท และมีการดำเนินการแบบ “ด้นกลอนสด” มากกว่า ผลในเชิง “ผุดบังเกิด” จึงเกิดขึ้น แต่การผุดบังเกิดจะไม่เกิดขึ้นในกิจกรรมที่มีแบบแผนตายตัวชัดเจน อย่างในบทนี้



วิจารณ์ พานิช

๒๗ ก.พ. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 593362เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2015 12:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2015 12:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท