​ICT สู่ชุมชนแบบมีส่วนร่วม : อีกหนึ่งความสำเร็จเล็กๆ ของการศึกษาเพื่อรับใช้สังคม


กระบวนการขับเคลื่อนทั้งปวง เน้นกระบวนการเรียนรู้คู่บริการแบบมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยกับชุมชน นับตั้งแต่การเรียนรู้บริบทชุมชน สืบค้นทุนทางสังคม วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของชุมชนและศักยภาพของแต่ละหลักสูตร กระทั่งนำไปสู่การ “ออกแบบกิจกรรม” และร่วมปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมสำคัญๆ

ภาพรวมการขับเคลื่อน

ICT สู่ชุมชน เป็นงานวิชาการรับใช้สังคมที่ต่อยอดจากงานวิจัยรับใช้สังคมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (วิจัย มมส เพื่อชุมชน) ในชื่อ “การพัฒนารูปแบบศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน” ซึ่งดำเนินการเมื่อปีงบประมาณ 2556 ณ ชุมชนตำบลหนองบัว อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ก่อนขยายพื้นที่เป้าหมายการเรียนรู้คู่บริการมายังโรงเรียนบ้านดอนจำปาดอนสวรรค์ ต.โพนงาม อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม โดยบูรณาการศาสตร์ทั้ง 6 หลักสูตรลงสู่ชุมชนทั้งที่เป็นโรงเรียนและชุมชนบ้านดอนจำปาดอนสวรรค์ ประกอบด้วยสารสนเทศศาสตร์ นิเทศศาสตร์ เทคโนโลยีและสารสนเทศ วิทยาการคอมพิวเตอร์ ภูมิสารสนเทศ คอมพิวเตอร์แอนนิเมชันและเกม



ภาพรวมวัตถุประสงค์ คือการนำเทคโนโลยีเข้าไปหนุนเสริมการพัฒนาโรงเรียนและหมู่บ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะมิติทางสังคม ที่ยึดโยงกับการศึกษา ประเพณี วัฒนธรรม รวมถึงการมุ่งปรับทัศนคติเด็กและเยาวชนให้มีกระบวนทัศน์และทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของครูให้สามารถนำเทคโนโลยีสานเทศเข้าสู่การยกระดับการเรียนรู้ของครูและนักเรียน




นิสิต-นักเรียนกับการถ่ายทำ คลิป-หนังสั้น


ภายใต้หลักคิดอันเป็นหนึ่งเดียวคือการ “เรียนรู้คู่บริการ” อันหมายถึงขับเคลื่อนแบบไม่แยกส่วน เน้นการมีสวนร่วม และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน กระบวนการของการพัฒนาโจทย์จากพื้นที่จึงเต็มไปด้วยความเข้มข้น มีการประชุมร่วมทุกหลักสูตรกับชุมชน และองค์กรท้องถิ่น เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการสะท้อนปัญหา ปรับความคาดหวัง และออกแบบกิจกรรมเพื่อตอบโจทย์ของการเรียนรู้คู่บริการ ซึ่งก็ตอบสนองโจทย์ของชุมชนและศักยภาพของมหาวิทยาลัยไปอย่างเสร็จสรรพ เสมือนการย้ำเน้นถึงหลักคิดของการเชื่อมประสานความเป็น “ภูมิปัญญากับเทคโนโลยี” เข้าเป็นหนึ่งเดียวกันผ่านระบบและกลไกของ“การศึกษาเพื่อรับใช้สังคม” หรือการขับเคลื่อนงานวิชาการเพื่อสังคม


ภาพรวมของกิจกรรม

กระบวนการขับเคลื่อนทั้งปวง เน้นกระบวนการเรียนรู้คู่บริการแบบมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยกับชุมชน นับตั้งแต่การเรียนรู้บริบทชุมชน สืบค้นทุนทางสังคม วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของชุมชนและศักยภาพของแต่ละหลักสูตร กระทั่งนำไปสู่การ “ออกแบบกิจกรรม” และร่วมปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมสำคัญๆ เช่น

  • พัฒนาห้องสมุดและส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน
  • การสื่อสารเพื่อรู้เท่าทันสื่อของเยาวชนโรงเรียนดอนจำปาสรรค์
  • พัฒนาสื่อประกอบการสอนแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนบ้านดอนจำปาดอนสวรรค์
  • พัฒนาเว็บไซต์โรงเรียนบ้านดอนจำปาดอนสรรค์ด้วยระบบฐานข้อมูลแบบไดนามิก
  • พัฒนาระบบเครือข่ายและระบบสารสนเทศ
  • พัฒนาแบบจำลองพื้นที่ให้บริการของโรงเรียนและความเสี่ยงของการเดินทางของนักเรียนตำบลโพนงาม ด้วยระบบภูมิสารสนเทศ




เวทีการคืนข้อมูลชุมชน -บูรณาการศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม


ผลพวงการเรียนรู้คู่บริการเมื่อปี 2557 ปรากฏเด่นชัดเป็นรูปธรรมในหลายหลักสูตร ยกตัวอย่างเช่น “การผลิตหนังสั้น” ที่นักเรียนสามารถถ่ายทำทุกกระบวนการด้วยตนเอง สามารถดึงครูและชาวบ้านมาเป็นตัวละครในเรื่อง ซึ่งประเด็นของเรื่องก็มาจากการสร้างเวทีระดมความคิดเพื่อหา “โจทย์” ของการเรียนรู้และพัฒนานักเรียนและชุมชนควบคู่กันไป โดยโจทย์ที่ได้มาล้วนเป็นเรื่องที่ชุมชนกำลังถูกคุกคามในระบบเทคโนโลยีแห่งยุคสมัยทั้งสิ้น และยังได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สสส. อีกจำนวนหนึ่งเพื่อการขับเคลื่อนเรื่องสื่อดังกล่าว


เช่นเดียวกับกิจกรรม “พัฒนาระบบห้องสมุดและการเรียนรู้ของนักเรียน” ซึ่งเน้นนักเรียนเข้าสู่กระบวนการ เสมือนการสร้างจิตสำนึกรักษาสถานศึกษาควบคู่ไปกับการเรียนรู้ผ่านระบบการอ่านการเขียนในระบบห้องสมุดและไอทีมิติต่างๆ จนส่งผลให้ห้องสมุดโรงเรียนดอนจำปาดอนสวรรค์ได้รับการพิจารณาจากจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม เขต 3 ให้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม "โรงเรียนส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและพัฒนาห้องสมุด 3 D (3 ดี) ปีการศึกษา 2557"

รวมถึงกิจกรรมการ “พัฒนาสื่อการสอนของครู” ที่มุ่งไปยังเรื่องหนังสืออิเล็กทรอนิกส์และแอนนิเมชันและเกม ได้ช่วยให้โรงเรียนมีสื่อที่หลากรูปแบบในการเรียนรู้ และที่สำคัญคือเป็นสื่อที่มุ่งใช้วัตถุดิบในชุมชนมาทำเป็นสื่อ เพื่อให้สมจริงกับระบบการเรียนรู้ที่ใช้ความเป็นจริงของชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้



การเกิดประโยชน์ร่วมกันแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1.ระดับมหาวิทยาลัย

1.1 เกิดการบูรณาการงานวิจัยสู่การเรียนการสอน การบริการวิชาการแก่สังคมและการทำนุศิลปวัฒนธรรม (4 In 1)

1.2 เกิดการเรียนการสอนและการบริการวิชาการแก่สังคมในแบบบูรณาการศาสตร์ภายในคณะ ช่วยให้นิสิตแต่ละหลักสูตรได้เรียนรู้เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของหลักสูตรภายในคณะต้นสังกัด

1.3 เกิดกระบวนการเรียนรู้ในมิติการศึกษารับใช้สังคม โดยใช้นิสิตและชุมขนเป็นศูนย์กลาง ทั้งระบบของการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้แบบกลุ่ม-ทีม

1.4 เกิดนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ที่นิสิตและชุมชน (นักเรียน ครู และชาวบ้าน) ได้ร่วมกันรังสรรค์ขึ้นหลากรูปแบบ



1.5 เกิดพื้นที่ หรือองค์กรรองรับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพแก่นิสิตในแต่ละหลักสูตร โดยไม่จำเป็นต้องมุ่งเข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพในกรุงเทพฯ หรือตลาดงานใหญ่ๆ

1.6 เกิดกระบวนการปรับปรุงการเรียนการสอนโดยการมีส่วนร่วมของนิสิตและชุมชน ผ่านการปฏิบัติการ หรือกิจกรรมการบริการวิชาการแก่สังคม

1.7 เกิดกระบวนการจัดการเรียนการสอนในแบบบูรณาการศาสตร์ โดยนิสิตในแต่ละหลักสูตรได้เรียนรู้ร่วมกัน ช่วยให้นิสิตได้ใจศาสตร์แต่ละศาสตร์ในสังกัดคณะวิทยาการสารสนเทศ

1.8 เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างประเทศ โดยศาตราจารย์ Royal Donald Colle จากมหาวิทยาลัย Cornell สหรัฐอเมริกา มาเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ชุมชนองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว อันเป็นพื้นที่ “วิจัย มมส เพื่อชุมชน” ส่งผลให้ผู้รับผิดชอบหลักฯ ได้รับเชิญไปนำเสนอการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 3- 6 มิถุนายน 2557



2.ระดับชุมชน/โรงเรียน

2.1 นักเรียนสามารถผลิตสื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น หนังสั้น

2.2 ครูสามารถผลิตสื่อการสอนด้วยตนเอง เช่น หนังสืออิเล็กทรอนิกส์และแอนนิเมชันและเกม

2.3 ชุมชนค้นพบพื้นที่ความเสี่ยงเกี่ยวกับการเดินทางของนักเรียนมายังโรงเรียนอย่างหลากมิติ

2.4 เกิดฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ในชุมชนที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาโรงเรียนและชุมชน เช่น พื้นที่ความเสี่ยง ปัญหาเด็กและเยาวชน สถานที่สำคัญในชุมชน

2.5 โรงเรียนได้รับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา เช่น ห้องสมุด (ระบบยืม-คืน และการจัดตกแต่งห้องสมุด) เว็บไซต์ ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แบบจำลองพื้นที่ความเสี่ยง


การเกิดการเรียนรู้ร่วมกันและเกิดผลงานวิชาการ

1.เกิดชุดความรู้เรื่องการผลิตสื่อ (หนังสั้น) บนฐานข้อมูลของชุมชนเพื่อชุมชนแบบมีส่วนร่วม

2.เกิดชุดความรู้เรื่องการผลิตสื่อการสอนในระบบอิเล็กทรอนิกส์และแอนนิเมชันและเกมแบบมีส่วนร่วม

3.เกิดชุดความรู้เรื่องการพัฒนาระบบห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

4.เกิดชุดความรู้ว่าด้วยระบบและกลไกการทำงานวิชาการรับใช้ในสังคมในแบบบูรณาการศาสตร์แบบมีส่วนร่วม

5.เกิดชุดความรู้ในมิติของนิสิตในแบบเรื่องเล่าเร้าพลัง (storytelling)

6.เกิดงานวิจัยในระดับคณะ (วิจัย มมส เพื่อชุมชน) เรื่อง “โครงการศึกษาระบบเพื่อพัฒนากระบวนการดำเนินงานบริการวิชาการแก่สังคม คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” (ผศ.ดร.ฉัตรเกล้า เจริญผล)

7.เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ในระดับชุมชนจากชุมชนตำบลหนองบัว อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคามมายังชุมชนตำบลโพนงาม อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม



การเกิดผลกระทบกับสังคมที่ประเมินได้

1.เกิดโรงเรียนต้นแบบในมิติการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้

2.เกิดห้องสมุดที่มีมาตรฐานและได้รับรางวัลยอดเยี่ยม "โรงเรียนส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและพัฒนาห้องสมุด 3 D (3 ดี) ปีการศึกษา 2557" จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม เขต 3

3.เกิดแผนพัฒนาท้องถิ่นในระดับตำบล โดยอาศัยข้อมูลจากกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการไปสู่การบริหารจัดการด้านสาธารณูปโภค และการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน

4.เกิดการพัฒนาหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาแบบมีส่วนร่วม


นี่คือภาพสะท้อนความสำเร็จเล็กๆ ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามในมิติการปฏิรูปการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน ตามเอกลักษณ์ (การเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) อัตลักษณ์นิสิต (ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) หรือปรัชญามหาวิทยาลัย (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) ซึ่งมุ่งสู่การเรียนรู้ หรือการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมที่บูรณาการภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยฯ สู่การเป็นงานวิชาการเพื่อสังคมอย่างภาคภูมิ ยังผลให้เกิดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง


หมายเหตุ :

ต้นเรื่อง : ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา และทีม / ชุมชนหนองบัว (ตำบลหนองบัว) มชน ดอนจำปาดอนสวรรค์ (ตำบลโพนงาม)
เรียบเรียง : พนัส ปรีวาสนา
ภาพ : คณะวิทยาการสารสนเทศ

หมายเลขบันทึก: 593358เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2015 09:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2015 09:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ช่วงหลังนี้ อาจารย์ลุยกิจกรรมมากเลยนะครับ

เป็นกำลังใจให้ครับ

..

ด้วยความระลึกถึง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท