ชีวิตที่พอเพียง : 2470a. ผลิตมหาบัณฑิตสาขาบริหารการศึกษาเพื่ออะไร


ชีวิตที่ดี ต้องยึดคุณค่าเพื่อผู้อื่นเป็นประทีปนำทาง

ชีวิตที่พอเพียง : 2470a. ผลิตมหาบัณฑิตสาขาบริหารการศึกษาเพื่ออะไร

วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๘ ในการประชุมสภาวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการนำเสนอหลักสูตร ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา หลักสูตรปรับปรุง

ผมถามท่านอาจารย์ที่เป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร และมาชี้แจงต่อสภา ว่าคาดหวังว่าผู้เรียนจบหลักสูตรนี้ จะมีพฤติกรรมแตกต่างจากผู้จบหลักสูตรเดียวกันจากสถาบันอื่นอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่ impact ของหลักสูตรนี้ต่อการ เปลี่ยนแปลงระบบบริหารการศึกษาไทย ที่ผมคิดว่าต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง เพื่อให้คุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้น ซึ่งวัดที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน

คำตอบที่ได้รับคือ มอ. เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย การเรียนในหลักสูตรนี้จึงเน้นการวิจัยในทุกรายวิชา ผู้เรียนจะจบไป พร้อมกับทักษะด้านวิชาการ เป็นลักษณะเด่นของบัณฑิตจากหลักสูตรนี้ เป็นคำตอบที่ดี และผมเดาว่าตรงกับที่คณาจารย์ปฏิบัติ

แต่ผมมีมุมมองที่ต่าง

หากให้ผมตอบ (คำถามของผมเอง) ผมจะตอบว่า คาดหวังว่า มหาบัณฑิต จะไปทำหน้าที่บริหารสถานศึกษา/เขตพื้นที่ฯ ให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ (learning outcome) ของนักเรียน ดีขึ้น คือผมมองไปที่ เป้าหมายปลายทาง มองไปให้สุด ที่เป้าหมายสุดท้าย มุ่งเป้าที่ผู้เรียน

ผมมีข้อสังเกต หรือตีความ ว่าวงการศึกษาไทยมักจะคิดไม่ถึงเป้าหมายปลายทาง มักหยุดหรือวนเวียนอยู่ที่ เป้าหมายรายทาง คือผลประโยชน์ของผู้บริหาร ครู และบุคลากรการศึกษา หากการตีความของผมผิดพลาด ผมก็ขออภัย และขอคำชี้แนะด้วย

การคิด วางเป้าหมาย วางยุทธศาสตร์การปฏิบัติ ไม่สุด ไม่ไปถึงเป้าหมายที่ทรงคุณค่าอย่างแท้จริงนี่แหละ ที่ปิดกั้นความเจริญก้าวหน้าของสังคม

มองอีกมุมหนึ่ง เป้าหมายที่ ๑ ของการศึกษา (ในที่นี้คือมหาบัณฑิตสาขาบริหารการศึกษา) ต้องอยู่ที่ฝึกอุดมการณ์ เป้าหมาย และทักษะ ในการทำเพื่อผู้อื่น (ซึ่งในที่นี้คือนักเรียน) มากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งควรเป็นเป้าหมายที่สอง

ไม่ว่าวงการใด หากเป้าหมายไปไม่สุด ไปไม่ถึงเป้าหมายที่ทรงคุณค่าต่อสังคม วงการนั้นจะตกต่ำ

ชีวิตที่ดี ต้องยึดคุณค่าเพื่อผู้อื่นเป็นประทีปนำทาง

วิจารณ์ พานิช

๙ ส.ค. ๕๘

หมายเลขบันทึก: 593265เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2015 09:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2015 09:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท