คุยกับศาสตราจารย์ด้านการศึกษาของฝรั่งเศส



เที่ยงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๘ ผมมีโอกาสรับประทานอาหารกับศาสตราจารย์ Todd Lubart, ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยปารีส ซอร์บอนน์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี นพ. สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. เป็นเจ้าภาพ มี ดร. ไกรยส ภัทราวาท แห่ง สสค. และ ดร. ธันยวิช วิเชียรพันธ์ แห่งมหาวิทยาลัยศรีปทุม ร่วมด้วย โดยที่ตอนเช้าวันนั้น ท่านได้นำเสนอเรื่องการวัดความริเริ่มสร้างสรรค์ ด้วยเครื่องมือ EPoC

ท่านเล่าเรื่องการรับนักศึกษาของฝรั่งเศสว่า แต่ละสาขาจะรับนักศึกษาได้มากที่สุดตามจำนวนที่นั่ง ในห้องบรรยายใหญ่ในมหาวิทยาลัย อย่างจิตวิทยาห้องบรรยายรับได้ ๑,๒๐๐ คน ก็ได้แค่นั้น แม้จะมีคนสมัคร มากกว่านั้น ก็ต้องเลือกและคัดออก

ระบบการศึกษาของเขาเป็นแบบแพ้คัดออก ตอนปลายปีที่หนึ่งอาจารย์จะทำให้นักศึกษาตกออกเสีย ประมาณครึ่งหนึ่ง ปลายปีที่สองตกออกอีกร้อยละ ๓๕ และปลายปีที่สามตกออกอีกร้อยละ ๒๐ ดังนั้น นักศึกษาที่เข้ามหาวิทยาลัยจะประสบความสำเร็จได้รับปริญญาตรี เพียงประมาณร้อยละ ๒๐ เท่านั้น เพราะมหาวิทยาลัยจะถูกทางการประเมินผลงานตามอัตราการได้งานของบัณฑิต คุณภาพของบัณฑิตจึงต้องสูง ตรงตามความต้องการของนายจ้างจริงๆ

ค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยของเขาปีละ ๒๐๐ ยูโรเท่านั้น ใครๆ ก็มีจ่าย แต่จ่ายแล้วจะรอดไป ชั้นสูงขึ้นหรือไม่ อยู่ที่ความสามารถ และความตั้งใจเอาจริงเอาจัง ในการเรียน

ผมถามท่านว่า การศึกษาของฝรั่งเศสก็เป็นแบบ Lecture-based ใช่ไหม ท่านบอกว่าใช่ แต่ก็มีชั้นเรียน แบบฝึกหัด ห้องละ ๔๐ คน มี นศ. ป. เอก เป็นผู้ช่วยสอน

เมื่อจบปริญญาตรี นักศึกษาก็ต่อไปเรียนปริญญาโททันที เพื่อเตรียมพร้อมสู่ตลาดแรงงาน ของผู้จบปริญญา

ส่วนคนที่สอบตกปี ๑ ก็สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่อีก ๑ ครั้ง หากสอบเข้าเรียนได้ แต่สอบปี ๑ ตกอีกเป็นครั้งที่สอง ก็หมดสิทธิ์เข้ามหาวิทยาลัยอีก ต้องไปหางานตามวุฒิชั้นมัธยม

ท่านบอกว่า ฝรั่งเศสมีข้อมูลตัวเลขด้านการศึกษาและด้านความต้องการแรงงานอย่างดี และเอาตัวเลข สองฝ่ายมาใช้ในการจัดสรรงบประมาณ ยกตัวอย่างครู คณะศึกษาศาสตร์จะได้รับงบประมาณผลิตครูเท่าจำนวน ที่ต้องการเท่านั้น คือเท่าจำนวนครูที่เกษียณอายุและลาออก ที่ผ่านการตรวจสอบว่าสมควรจัดครูทดแทนเท่านั้น

สาขาใดความต้องการของตลาดลดลง อาจถูกปิดภาควิชา แต่อาจารย์มีความมั่นคงในตำแหน่งงาน ยังคงเป็นอาจารย์ แต่ต้องดิ้นรนหาวิชาสอนเอง หากหาไม่ได้ ก็จะถูกปลดออก

ท่านบอกว่า เวลานี้ตัวเลขคนตกงานของฝรั่งเศสประมาณ 15% (ของสเปนกว่า 40%) คนที่ตกงานเป็นคนที่วุฒิต่ำกว่าปริญญา

ผมฟังไปซักไป และคิดไป ว่าเขามีระบบ manpower planning เอามาใช้กำกับการให้งบประมาณในการ ผลิตกำลังคนระดับสูง เพราะตระหนักว่า ทรัพยากรมีจำกัด ต้องใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่ของเราไม่มี การจัดระบบ ไม่มีการทำตัวเลขข้อมูลสำหรับนำมาใช้วางแผนการผลิตกำลังคน

เพราะไร้ระบบนี่เอง ระบบอุดมศึกษาของเราจึงใช้ทรัพยากรสูญเปล่าอย่างมากมาย มีการผลิตบัณฑิต ตามกำลังของฝ่ายผลิต แทนที่จะผลิตตามความต้องการของประเทศ


วิจารณ์ พานิช

๑๑ มิ.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 592956เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2015 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2015 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท