ข้อคิดฝึกตนเองช่วงเข้าพรรษา


เพียงแค่รู้ว่าจะต้องทำอะไรไปตามความรู้สึกของตัวเองนั้น ไม่ได้ชื่อว่ารู้จักตนเอง แต่การระลึกรู้ถึงความรู้สึกสดๆร้อนๆที่เกิดในขณะนั้นก่อนที่จะทำอะไรลงไปคือการเป็นผู้เรียนรู้ตัวเองแล้ว การที่เราได้ดูตัวเองอยู่เช่นนี้ผลที่ได้รับก็คือใจของเราจะสงบเร็วกว่าที่เคยเป็น ใจที่เคยฟุ้งซ่านไร้ทิศทางก็จะเริ่มสงบลงทีละน้อย


วันเข้าพรรษาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลา ๓ เดือนคือตั้ง แต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑เหตุที่ทรงอนุญาตเช่นนี้ก็เพราะในช่วงเวลาดัง กล่าวเป็นช่วงฤดูฝน คนอินเดียในสมัยนั้นส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาและในช่วงต้นพรรษาเป็นช่วงที่ข้าวกล้าในนากำลังแตกใบแตกยอดอ่อน พระภิกษุทั้งหลายได้เดินทางไปในที่ต่างๆจากภูเขาลูกนี้สู่ภูเขาลูกโน้นจากป่านี้สู่ป่าโน้น จากหมู่บ้านนี้สู่หมู่บ้านโน้น เพื่อแสวงหาสถานที่ ที่เหมาะสมกับตนเองเพื่อบำเพ็ญเพียรภาวนาตามอัธยาศัย

การเดินทางของท่านในช่วงเวลานี้ทำให้บางครั้งก็ไปเหยียบข้าวกล้าของชาวนาเสียหาย พวกชาวบ้านจึงพากันบ่นว่า ธรรมดาในช่วงฤดูฝนนี้แม้เหล่าวิหคนกกาทั้งหลาย ก็ยังหยุดการเดินทาง แม้นักบวชของศาสนาอื่นๆก็ยังหยุดประจำที่ใดที่หนึ่ง ไฉนหนอนักบวชในพระพุทธศาสนาจึงพากันเดินทางไม่หยุดหย่อน ความเรื่องนี้ทราบไปถึงพระพุทธองค์เข้า ท่านจึงทรงให้ภิกษุทั้งหลายอยู่จำพรรษา ณ อาวาสที่เหมาะสมแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นเวลา ๓ เดือนดังกล่าว

เมื่อพระภิกษุอยู่ประจำที่ใดที่หนึ่ง ๓ เดือนก็ทำให้เกิดการเรียนการศึกษาธรรมะเกิดขึ้นเพราะความเป็นพุทธบริษัทที่ดี ก็คือความเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษา ตราบใดที่เรายังไม่พ้นทุกข์ เราก็ยังไม่จบในเรื่องการศึกษาฉันนั้น ในทางโลกบอกว่าถ้าใครเรียนจบถึงปริญญาเอกเมื่อไรก็เป็นอันว่าจบการศึกษาในขั้นสูงสุดในสาขานั้นๆ แต่ความสำเร็จการศึกษาในทางธรรม เราใช้ความทุกข์เป็นเครื่องชี้วัด ถ้ายังมีความทุกข์อยู่ ก็แสดงว่ายังไม่จบการศึกษา การศึกษาตลอดชีวิตจึงมาจากแนวความคิดนี้

ดังนั้นในฤดูกาลเข้าพรรษา ๓ เดือนนี้ จึงเป็นห้วงเวลาที่เหมาะสม ที่ชาวพุทธทุกๆท่านจะได้หันมาศึกษาธรรมะกัน มีพระบางรูปในสมัยพุทธกาล ตั้งใจถึงขนาดอธิษฐานจิตไม่ยอมนอนเลย ตลอดระยะเวลา ๓ เดือน คืออยู่ด้วยอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง เท่านั้น ไม่ยอมนอนแล้วท่านก็ได้บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์ใน ๓ เดือนนั้นเอง

ผู้เขียนจึงขอเสนอเป็นข้อคิด ในการตั้งใจฝึกตนเองในช่วงเข้าพรรษาที่ใกล้เข้ามานี้ มีอยู่ ๓ ข้อคือ

ข้อที่ ๑ ตั้งใจที่จะฝึกในเรื่องของการให้

ข้อที่ ๒ ตั้งใจที่จะฝึกในเรื่องของการการรักษาศีลและเพิ่มคุณธรรม

ข้อที่๓ ตั้งใจที่จะฝึกในเรื่องของการพัฒนาสติและปัญญา

ข้อที่ ๑ ตั้งใจที่จะฝึกในเรื่องของการให้

คนเราส่วนมากมักจะเข้าใจว่าถ้าเราถวายของกับพระแล้วจะได้บุญ หรือการบริจาคสิ่งของแก่คนเดือดร้อนแล้วจะได้บุญ เราชาวพุทธเรารักในบุญ เพราะรู้ว่าว่า บุญทำให้ประสบความสำเร็จได้โดยง่าย แม้พระพุทธองค์เองก็เคยตรัสไว้ว่า “คำว่าบุญนั้นเป็นชื่อของความสุข” แต่ความจริงการทำบุญนั้นไม่ต้องใช้สตางค์ก็มี เช่นการเสียสละแรงกายทำความสะอาดวัดก็ได้บุญ การฟังธรรมก็ได้บุญ หรือ การประพฤติอ่อนน้อมก็ได้บุญเช่นเดียวกัน

ในเรื่องของบุญที่เกิดจากการให้นั้นนอกจากเราจะให้วัตถุสิ่งของแล้ว ท่านกล่าวไว้ว่าการให้อภัยหรืออภัยทานนั้นเป็นทานที่มีผลมากกว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าอภัยทานนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากเป็นการสละความรู้สึกภายในจิตใจ แต่เราในฐานะที่เป็นชาวพุทธ ถึงจะยากอย่างไรเราก็ต้องฝึกและเมื่อฝึกไปมากเข้าก็จะทำง่ายขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งการดำเนินชีวิตภายในครอบครัวและในสังคมการทำงาน

อภัยทานนี้ทำได้ง่ายไม่เสียอะไร และก็ไม่ต้องไปบอกใครว่าเราเลิกถือโกรธคนโน้นคนนี้แล้ว ไม่จำเป็นเลย เรารู้แต่ในใจของเราคนเดียวก็พอ บางคนอาจจะสงสัยว่า บางทีถ้าเรายอมเขาหมดมันก็ไม่ยุติธรรม ข้อนี้ตอบว่าการให้อภัยนั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องยอมเขาไปหมด จริงๆไม่เป็นเช่นนั้น ทุกอย่างยังใช้เหตุผลเหมือนเดิม แต่อภัยทาน มุ่งถึงการกำจัด บรรเทา เบาบางความรู้สึกโกรธ ขุ่น เคือง ที่มีอยู่ภายในใจของเราให้มีเมตตาธรรม เปิดใจรับฟังในความเห็นและการกระทำของบุคคลอื่น ๆ ซึ่งอาจจะมีทั้งถูกบ้างผิดบ้าง หากความคิดเห็นใดๆ ที่เราเห็นว่าถูกต้องควรกระทำและมีประโยชน์แก่ทุกฝ่ายเราก็สามารถยอมตามได้โดยไม่มีความรู้สึกที่จะให้โทษแก่ผู้ใดซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้สติปัญญาของเราทำงานได้อย่างเต็มที่

เมื่ออภัยทานเราทำได้แล้ว อามิสทานคือทานที่เป็นวัตถุสิ่งของก็เป็นเรื่องที่ง่าย บางคนให้วัตถุสิ่งของแล้วยังทำใจไม่ได้ก็มี เกิดเสียดายขึ้นมาทีหลัง เวลาบุญส่งผลให้ไปเกิดเป็นเศรษฐี ก็เป็นเศรษฐีที่ตระหนี่มาก ของดีๆไม่ได้กินไม่ได้ใช้เพราะกลัวหมดเปลือง สุดท้ายเมื่อตายลง สมบัติทั้งหมดก็ตกเป็นของลูกหลาน มีสมบัติก็เหมือนไม่มีเพราะไม่ยอมใช้ ดังนั้นเมื่อคิดจะให้อะไรใครแล้ว ให้แล้วก็ให้ขาดจากใจไปเลย อย่าไปคิดเสียดายในภายหลัง เพราะจะได้บุญไม่เต็มที่

ข้อที่ ๒ ตั้งใจที่จะฝึกในเรื่องของการรักษาศีลและเพิ่มคุณธรรม

ศีลที่เป็นพื้นฐานของมนุษย์คือศีล ๕ เป็นคุณธรรมประจำโลก ส่วนของเทวดา นางฟ้ามีเหมือนกันแต่เราไม่เรียกว่าศีล เราเรียกว่าธรรม คือคุณธรรมของเทวดาหรือเทวธรรม มีอยู่ ๒ ข้อคือหิริและโอตัปปะ หิริแปลว่าความละอายต่อบาป ส่วนโอตัปปะแปลว่าความเกรงกลัวต่อบาป คนที่มีคุณธรรม ๒ ข้อนี้ จะไม่กล้าทำความชั่วทั้งต่อหน้าและลับหลัง ถ้าใครมีหิริโอตัปปะนี้แม้จะยังเป็นมนุษย์อยู่ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นเทวดาตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ แม้ตายก็จะไปอยู่ร่วมกับพวกเทวดาทั้งหลายเพราะมีคุณธรรมเสมอกัน หิริโอตัปปะนี้นับว่าเป็นธรรมที่สูงกว่าการรักษาศีล ๕ ซึ่งเน้นที่การรักษากายกับวาจาให้อยู่ในครรลองที่ถูกต้อง แต่หิริและโอตัปปะจะมุ่งไปถึงการรักษาความเป็นปรกติของใจโดยตรง

ส่วนคุณธรรมของพระพรหมนั้นก็มีเช่นเดียวกัน มีอยู่ ๔ ข้อคือ ๑.เมตตา๒.กรุณา๓. มุทิตา๔. อุเบกขา

เมตตา คือความหวังดี ความเป็นมิตรมีน้ำใจ ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข เราชาวพุทธจะคุ้นเคยกับคำนี้ดี คนรุ่นปู่รุ่นย่ามักจะสอนให้ลูกหลานแผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายก่อนนอนหรือมีการแผ่เมตตาหลังสวดมนต์เสร็จก็นิยมทำกัน ทำแล้วผู้ทำก็รู้สึก เย็นกาย เย็นใจและมีความสุข

กรุณา คือความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นจากทุกข์ คล้ายๆกับเมตตา แต่ว่าเมตตามุ่งเน้นให้ผู้อื่นมีความสุข ส่วนกรุณานี้เน้นให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ กรุณาจึงเป็นธรรมที่มีอานุภาพที่แรงกว่า เพราะการที่จะมองเห็นความทุกข์ของใครได้นั้นต้องเป็นคนมีปัญญา ใส่ใจและสนใจในชีวิตผู้ อื่นจึงจะสามารถมองเห็นความทุกข์ของเขาได้ ความกรุณานี้เมื่อเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้วจะทำให้ผู้นั้นไม่สามารถนิ่งเฉยอยู่ได้ จะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือคนที่ประสบเคราะห์กรรมนั้น

มุทิตา คือความพลอยยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดิบได้ดี เป็นคุณธรรมชั้นสูง จะเรียกว่าเป็นคุณสมบัติของคนที่เก็บเกี่ยวความสุขได้ง่าย และมีภูมิป้องกันความทุกข์ที่ยอดเยี่ยมก็ว่าได้ แต่คุณสมบัติเหล่านี้จะเกิดมีขึ้นได้ก็ต้องฝึกฝนไม่ใช่เกิดได้เอง

ขั้นแรกก็รู้จักให้แบ่งปันกันก่อน พอใจมีความสุขความสบายก็หัดแผ่เมตตา ทำไปๆมุทิตาก็เริ่มเจริญงอกงามในจิตใจของเรา นี้เป็นงานทางใจ ที่มนุษย์เราควรทำเป็นอย่างยิ่ง งานทางใจนี้ทำแล้วไม่ได้เสียเวลาทำมาหากิน แต่กลับส่งเสริมให้เราเป็นคนมีสุขภาพจิตดีขึ้น โรคเครียดโรคประสาท โรคนอนไม่หลับก็แก้ได้ การทำงานจะได้ผลดี บรรยากาศในบ้านและที่ทำงานก็น่าอยู่น่าอาศัยและที่สำคัญงานทางใจนี้ สามารถติดตัวข้ามไปภพชาติหน้าได้

อาจสงสัยว่าว่าทำไมถึงสามารถเอาคุณสมบัติที่ดีๆ(หรือไม่ดี)ทางใจติดตัวไปได้ ตอบว่าเพราะแม้ร่างกายเราจะตายแต่จิตนั้น ไม่ได้ตายไปด้วย เมื่อเรายังไม่สิ้นกิเลสก็ต้องไปเกิดในภพภูมิต่างๆแม้ว่าเราจะจำไม่ได้ว่าชาติที่แล้วเราเคยเกิดเป็นอะไร แต่นิสัยที่ดีๆหรือความคุ้นเคยที่ดีๆที่เราเคยทำไว้ก็ยังเป็นคุณสมบัติของจิตเช่นเดิม และในความเป็นจริงไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่ดีเท่านั้นที่จะเอาไปได้ แม้ความคุ้นเคยหรือการกระทำที่ไม่ดีใดๆ จิตก็จำเอาไว้แล้วส่งผลออกมาเป็นนิสัยใจคอ ของเราในภพชาติต่อไปได้เช่นเดียวกัน อย่างคนแม้จะเป็นพี่น้องกันหรือฝาแฝดกันแต่มีนิสัยใจคอแตกต่างกัน นี้ก็เป็นผลจากการสั่งสมนิสัยและการกระทำของชาติในอดีตต่างกันนั่นเอง

อุเบกขา คือความวางใจเป็นกลางหรือปล่อยวาง แต่ไม่ใช่วางแบบเฉยเมยไม่รู้ไม่ชี้ แต่เป็นการหยุดดูรอดูท่าทีชั่วคราว เพราะบางเรื่องก็ยังไม่ถึงเวลาที่จะช่วยเหลือ และบางเรื่องถ้าช่วยเหลือแล้วก็จะเดือดร้อนทั้งคนช่วยและคนถูกช่วย แท้จริงอุเบกขาก็คือ ท่าทีของคนมีเมตตาและกรุณาแต่ว่ามีปัญญาเข้ามากำกับวิธีการช่วยเหลือด้วยนั่นเอง ตอนนี้เราอาจคิดแล้วว่ายังให้ไม่ได้แต่ใจที่คิดจะให้นั้นยังไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าหากกาลเวลาและสถานการณ์เปลี่ยนไป และโอกาสมาถึงก็ยินดีให้ความช่วยเหลือใหม่ได้

ท่านจึงกล่าวว่าคุณธรรมคือพรหมวิหาร ๔ นี้เป็นธรรมของผู้ใหญ่ คำว่าผู้ใหญ่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคนมีอายุมากเท่านั้น ผู้ใหญ่ที่กล่าวนี้ก็คือ ผู้ที่เป็นหลักของสังคม ใครเข้าใกล้ก็ร่มเย็น พูดอะไรออกมาคนทั้งหมู่บ้าน คนทั้งตำบลก็ให้ความเคารพเชื่อถือ เป็นเสมือนไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาแก่คนเป็นจำนวนมาก สำนวนไทยท่านเรียกคนชนิดนี้ว่า “ร่มโพธิ์ ร่มไทร” นั่นเอง

ข้อที่ ๓ ตั้งใจที่จะฝึกในเรื่องของการพัฒนาสติและปัญญา

พระพุทธเจ้าทรงกล่าวไว้ว่า สตินั้นจำปรารถนาในที่ทั้งปวง ส่วนปัญญานั้นเป็นแสงสว่างในโลก หมายความว่า ผู้ใดมีสติและปัญญาแล้ว ชีวิตนี้ย่อมไม่พบทางตัน ย่อมแสวงหาความสุขและความก้าวหน้าในชีวิตได้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เช่นไร สติและปัญญานั้นมีหลายระดับถ้าใครสนใจรายละเอียดให้ศึกษาในแนวทางของมงคลชีวิต๓๘ ก็จะได้รายละเอียดมากขึ้น แต่ในที่นี้จะขอพูดถึงสติและปัญญาในแนวทางเพื่อการรู้สึกตัวและเรียนรู้ตัวเราก่อน

สติเพื่อการรู้สึกตัวก็คือการเอาใจของเรามาระลึกรู้ที่การเคลื่อนไหวของร่างกายของเรานี่เอง ดูเฉยๆ ดูง่ายๆแต่ได้ผลอันน่าอัศจรรย์ เช่นเห็นร่างกายเดิน ร่างกายกำลังกิน ร่างกายนั่ง เห็นมือ ที่เหยียดออกไปหยิบของ ฯลฯ ให้เราเห็นร่างกายในอิริยาบถต่างๆเหล่านี้ทุกครั้งที่เราเคลื่อนไหว แค่เห็น แค่รับรู้เฉยๆสบายๆอย่าเพ่งหรือจ้องหรือดักรอดู ให้รู้เท่าที่รู้ได้ เมื่อจำเป็นต้องคิดเรื่องงานก็ไม่ต้องดู แต่เมื่อใดที่ไม่ต้องใช้ความคิดก็ดู ก็รู้สึก ทำได้ทั้งวันเช่นตอนอาบน้ำ ตอนทานข้าว ตอนไปทำไร่ทำนาเป็นต้น

เมื่อทำบ่อย ๆจะได้ความรู้สึกตัวที่เป็นอัตโนมัติ ขณะดูร่างกาย ใจก็จะไม่ฟุ้งซ่านไปคิดโน่นคิดนี่ สมาธิจะเริ่มเกิดเล็กๆน้อยๆขึ้นมาก่อน ความสุขอันใจรับรู้ได้ ก็เริ่มให้เราได้เห็นเป็นระยะๆ ปัญญาที่จะรู้จักตัวเราเองที่แท้จริงจะแจ่มแจ้งขึ้นเรื่อยๆ

หรืออีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำไปพร้อมๆกันได้ก็คือการมาดูความรู้สึกทางใจ เช่นรู้ว่าความโกรธเกิดขึ้นแล้วนะ ความอยากได้เกิดขึ้นแล้วนะ ความไม่สบายใจเกิดขึ้นแล้วนะ ให้รู้สึกเอา โดยไม่ไปบังคับควบคุมใดๆทั้งสิ้น ดูแบบเป็นผู้สังเกตการณ์ การดูการเข้าไปเรียนรู้ความรู้สึกตรงๆเช่นนี้ จะทำให้เราได้เริ่มรู้จักตัวเอง และได้ความสงบใจเป็นขณะๆ

เราอย่าคิดว่าเรารู้จักตัวเองแล้ว ในความเป็นจริง น้อยคนนักที่จะรู้จักตนเอง เพราะในทันทีที่เราลืมตาตื่นขึ้นมา เราก็เห็นคนอื่นนึกถึงคนอื่นหรือเรื่องราวอื่นๆที่ไม่ ใช่ตัวเรา บางทีความคิดของเราก็ล่องลอยออกไปไกลถึงเรื่องราวเก่าๆ เรื่องที่ยังมาไม่ถึง หรือเรื่องเพ้อฝันที่ไม่อาจเป็นจริง แล้วจะบอกว่าเรารู้จักตัวเองได้อย่างไร แค่การรู้ว่าตอนนี้ต้องไปกินข้าวเพราะหิวแล้ว ใจก็ไปอยู่ที่จานข้าว ไม่รู้ว่าความรู้สึกอยากกินกำลังเกิดที่ใจ หรือต้องทำงานให้ทันเพราะกลัวเจ้านายบ่นแต่ไม่เรียนรู้ที่จะดูความรู้สึกกลัว หรืออารมณ์เสียใส่ลูกเพราะหงุดหงิด แต่ไม่เรียนรู้ที่จะดูความหงุดหงิดที่กำลังเกิด

เพียงแค่รู้ว่าจะต้องทำอะไรไปตามความรู้สึกของตัวเองนั้น ไม่ได้ชื่อว่ารู้จักตนเอง แต่การระลึกรู้ถึงความรู้สึกสดๆร้อนๆที่เกิดในขณะนั้นก่อนที่จะทำอะไรลงไปคือการเป็นผู้เรียนรู้ตัวเองแล้ว การที่เราได้ดูตัวเองอยู่เช่นนี้ผลที่ได้รับก็คือใจของเราจะสงบเร็วกว่าที่เคยเป็น ใจที่เคยฟุ้งซ่านไร้ทิศทางก็จะเริ่มสงบลงทีละน้อย โรคที่เป็นกันมากเช่น โรคคิดมาก โรคนอนไม่หลับ โรคสมาธิสั้น โรคย้ำคิดย้ำทำ คิดซ้ำคิดซาก คิดมากจนปวดหัวเพราะหยุดคิดไม่ได้หรือโรคทำอะไรๆก็เครียดไปหมดก็จะค่อยๆลดลงไปโดยที่ไม่ต้องไปหาหมอ มันดีขึ้นก็เพราะว่าเราเข้าไปเห็นความรู้สึกของเราตรงๆเข้านั่นเอง เมื่อเรารู้ เราเห็น ใจก็จะเริ่มหยุดคิดตัดความรู้สึกแย่ๆเช่นนั้นจะขาดช่วงขาดตอนลงไป เมื่อเรารู้บ่อยๆซ้ำๆ มันก็จะต่อกันไม่ติด เราก็จะกลายเป็นคนใหม่ที่ควบคุมอารมณ์ร้อนๆได้เร็วและเป็นสุขง่ายขึ้น

การเรียนรู้ตัวเองเช่นนี้ แท้จริงแล้วคือการปฏิบัติธรรมที่เรียกว่า การเจริญสติ เป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง ความสุขนั้นอยู่ไม่ไกล คือแค่รู้สึกตัวนี่เอง แล้วก็เป็นทั้งความสุขและเสมือนเพื่อนแท้ที่เราเรียกหาได้ตลอดเวลา แม้ยามเจ็บยามป่วยจะต้องตายในวินาทีนี้แล้วก็ตาม เพราะยามใดที่มีสติจิตก็ผ่องใส จิตผ่องใสก็มีสุขคติเป็นที่ไป

ทั้ง๓ข้อนี้อาจเป็นแนวทางอย่างกว้างๆได้ แต่หากใครมีเป้าหมายในใจที่ดีอยู่แล้วก็ทำตามนั้นเถิด เข้าพรรษาปีนี้เริ่มในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ขอให้โชคดีมีความสุขทุกคน

หมายเลขบันทึก: 592866เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2015 19:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2015 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท