เจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ ครูฝรั่งแต่งแบบเรียนไทย


เมื่อวันศุกร์ ที่ผ่านมา โรงเรียนได้พา เด็กๆ ไปชมภาพยนตร์เรื่อง ฟ.ฮีแลร์ เด็กๆ กลับมาเล่าให้ฟังว่า

เป็นหนังที่ดูแล้วชวนติดตามจนจบ สนุก เนื้อหาดีมาก ยิ่งได้ไปดูด้วยกันกับเพื่อนๆ ด้วยแล้ว สุดยอดเลย

คุ้มมากที่ได้ดูเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นหนังแนวอัตชีวประวัติแต่ทำให้เด็กๆ รู้สึกสนุกจนจบเรื่อง ถือว่าเยี่ยม

ตัวหนังถ่ายทอด เรื่องราว ด้านความสามารถ ความเพียรพยายาม ความเสียสละและความรักที่ท่าน

ภราดาฟ.ฮีแลร์มีต่อการศึกษาไทย

ผู้เขียนเคยเรียนดรุณศึกษาเมื่อสมัยเรียนชั้นประถม แต่ไม่เคยทราบว่า ท่านผู้แต่งหนังสือ ดรุณศึกษา

ที่เด็กไทยหัดอ่าน หัดเขียน มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2453 จนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่คนไทย แต่เป็น ชาวฝรั่งเศสที่รู้จักกันใน

นาม ฟ.ฮีแลร์ หรือ ฟร็องซัว ตูเวอเนท์ ผู้ได้รับสมญานามว่า “ปราชญ์แห่งอัสสัมชัญ”


วิชาเหมือนสินค้า

วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล

ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา

จงตั้งเอากายเจ้า เป็นสำเภาอันโสภา

ความเพียรเป็นโยธา แขนซ้ายขวาเป็นเสาใบ

นิ้วเป็นสายระยาง สองเท้าต่างสมอใหญ่

ปากเป็นนายงานไป อัชฌาสัยเป็นเสบียง

สติเป็นหางเสือ ถือท้ายเรือไว้ให้เที่ยง

ถือไว้อย่าให้เอียง ตัดแล่นเลี่ยงข้ามคงคา

ปัญญาเป็นกล้องแก้ว ตรวจดูแถวแนวหินผา

เจ้าจงเอาหูตา เป็นล้าต้าฟังดูลม

ขี้เกียจคือปลาร้าย จะทำลายให้เรือจม

เอาใจเป็นปืนคม ยิงระดมให้จมไป

จึงจะได้สินค้ามา คือวิชาอันพิศมัย

จงหมั่นมั่นหมายใจ อย่าได้คร้านการวิชา


หมายเลขบันทึก: 592856เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2015 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2015 10:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อรุณชัย วิสุกมล AC27462 ACS2635

“วิชาเหมือนสินค้า…” แต่ทว่า ฟ.ฮีแลร์ไม่ได้แต่งผู้เขียน : วัฒภูมิ ทวีกุล

“วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกลต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา…

……….. ………..

จึงจะได้สินค้ามา คือวิชาอันพิสมัยจงหมั่นมั่นหมายใจ อย่าได้คร้านการวิชา”[1]

ท่องได้กันไหมครับ ท่อนตรงกลางที่เว้นไว้ท่องต่อว่าอะไรเอ่ย…

        ใช่ครับ บทกลอนวิชาเหมือนสินค้าอันโด่งดังจนแทบจะเรียกได้ว่า ผ่านฝีปาก ทำนองเสนาะ อาขยานของเด็กไทยมาแล้วแทบทุกคน ฟ. ฮีแลร์ ไม่ได้แต่งครับ

แต่เดี๋ยวก่อน ผมมีหลักฐาน และหลักฐานนี้ก็เป็นสิ่งที่ ฟ. ฮีแลร์จงใจทิ้งไว้ให้เรารับทราบกันด้วย

        ฟ.ฮีแลร์ได้แต่งบทร้อยแก้ว บทร้อยกรองต่าง ๆ ไว้มากมายใน “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” รวมทั้งใน “อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย” และงานเขียนต่าง ๆ ความสามารถด้านกวีของท่านเป็นที่เลื่องลือในสมัยนั้น เช่น เมื่อคราวที่สมัคยาจารย์สมาคม จัดประกวดบทกวีนิพนธ์ ฟ.ฮีแลร์ก็ส่งบทกลอนของตนเข้าประกวดด้วย ซึ่งคณะกรรมการได้ลงความเห็นให้บทกลอนของ ฟ.ฮีแลร์ได้รับรางวัลชนะเลิศ[2] รวมทั้งยังได้รับเชิญจากสมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพเข้าเป็นสมาชิกของวรรณคดีสมาคมในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย[3]        แต่กระนั้นการเป็นยอดกวี ก็ไม่ได้หมายความว่ากลอนทุกบทใน “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” จะมี ฟ.ฮีแลร์เป็นผู้ประพันธ์ เช่นกันกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้นำมาจัดทำเป็น “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” กลอนหลายบทก็มาจากการรวบรวมบทประพันธ์ที่มีอยู่แล้ว อันที่จริง ฟ.ฮีแลร์ระมัดระวังมากที่จะให้เกียรติผู้ประพันธ์ดั้งเดิม โดยระบุที่มา หรือผู้ประพันธ์เอาไว้ในบรรทัดล่างสุด ภายหลังสิ้นสุดบทกลอนที่ยกมา เช่น

นะโม มอบ พระ ผู้ เสวย สวรรค์,แขน มอบ ถวาย ทรงธรรม์ เทิด หล้า,ดวง ใจ มอบ เมีย ขวัญ และ แม่,เกียรติศักดิ์ รัก ของ ข้า มอบ ไว้ แก่ ตัว.

(สมเด็จ พระ รามาธิบดี ที่ หก)[4]

ตัวอย่างกลอน นกยูง รำแพน หาง ลงท้ายกลอนว่า “ดัดแปลงจากนิทานสุนทรภู่”นิทานที่ว่านี้ก็คือเรื่อง นกยูงกับกา ในเรื่อง จันทโครพ

ที่มา : ดรุณศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หน้า 56 ฉบับปรับปรุงใหม่พิมพ์ 4 สี พ.ศ. 2556 (พิมพ์ครั้งที่ 44)

        มิหนำซ้ำ ฟ.ฮีแลร์ระมัดระวังถึงขนาดบทกลอนที่ดัดแปลงมาจากผู้ประพันธ์คนอื่น ก็จะระบุไว้อย่างชัดเจน เช่นใน นก ยูง รำแพน หาง ระบุท้ายกลอนว่า ดัด แปลง จาก นิทาน สุนทร ภู่[5] ในขณะที่กลอนซึ่ง ฟ.ฮีแลร์ได้เป็นผู้ประพันธ์ขึ้นเอง เช่น ใจ เปน เรือ[6], พระอาทิตย์ ส่อง ทั่ว โลก[7], ความ เพียร[8] และ พูด ดี เปน เงิน เปน ทอง[9] เป็นต้น จะไม่มีการลงท้ายกลอนแต่อย่างใด

แต่มีกลอนจำพวกหนึ่งที่ ฟ.ฮีแลร์ไม่อาจหาที่มาได้

        อาจจะฟังจากการท่องปากเปล่าต่อ ๆ กันมาภายในสังคม ซึ่งทราบได้ว่ามีผู้ประพันธ์ไว้อยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่ปรากฏชื่อผู้ประพันธ์นั้น ฟ.ฮีแลร์ก็จะระบุไว้ท้ายกลอนว่า ของ เก่า หรือ ของ บุราณ[10] เช่น กลอน นก วิวาท[11], โคลง ไม้ ป่า[12], มี ปัญญา ถ้า ไม่ เพียร เรียน ไม่ รู้[13] รวมทั้งกลอนบทสำคัญอย่าง ยาน นาวา วิเศษ[14] หรือกลอน “วิชาเหมือนสินค้า…” ที่เป็นที่รู้จักกันดีนั่นเอง ซึ่งกลอน ยาน นาวา วิเศษนี้หลายคนได้เข้าใจผิดว่า ฟ.ฮีแลร์เป็นผู้ประพันธ์มาโดยตลอด[15] แม้ว่าใต้กลอน ฟ.ฮีแลร์จะระบุว่า ของ บุราณ ไว้อย่างชัดเจนก็ตาม

กลอนวิชาเหมือนสินค้า ระบุไว้ท้ายกลอนว่า ของ บุราณ

ที่มา : ดรุณศึกษา ตอน กลาง พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2463 (พิมพ์ครั้งที่ 51), หน้า 84

        แม้ว่า ฟ.ฮีแลร์จะเป็นผู้ที่ได้นำกลอนมุขปาฐะมารวบรวมจัดพิมพ์ แต่ ฟ.ฮีแลร์เองก็ดำรงจรรยาบรรณของนักวิชาการไว้ ด้วยการไม่นำกลอนที่ตนเองไม่ได้ประพันธ์มาเป็นผลงานของตน แต่เป็นการให้เกียรติต่อทั้งตัวเอง และผู้ประพันธ์ที่ไม่อาจทราบชื่อได้ ด้วยการระบุว่าเป็น ของ บุราณ   สำหรับที่มากลอน "วิชาเหมือนสินค้า" สุภาพร คงศิริรัตน์ ได้ศึกษาเอาไว้ และพบว่า เป็นบทกลอนจากวรรณกรรมสอนอ่านเรื่อง "ศรีสวัสดิวัตร" แต่งโดย "นายมี"   ซึ่งน่าจะเป็นคนเดียวกับ "นายมี หมื่นพรหมสมพัตสร" โดยสุภาพรตั้งข้อสันนิษฐานการศึกษาเชิงวรรณกรรมเปรียบเทียบ   สุภาพรยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า กลอนวิชาเหมือนสินค้า ไม่น่าจะเป็นผลงาน ฟ.ฮีแลร์ เพราะกลอนท่อนที่ว่า "สองเท้าต่างสมอไม้" เพราะในสมัย ฟ.ฮีแลร์ (ราวปี พ.ศ. 2444 - 2453 / ค.ศ. 1900 - 1910) เรือทั่วไปใช้สมอเหล็กกันหมดแล้ว แถมยังเป็นยุคสมัยของเรือกลไฟ ซึ่งชาวยุโรปได้ใช้สมอเหล็กกันมาเทียบได้กับตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว จากจดหมายเหตุลาลูแบร์   ส่วนที่ว่า นายมี คือใครนั้น, ธนิตย์ อยู่โพธิ์ สันนิษฐานว่า นายมี มีภูมิลำเนาอยู่บริเวณวัดโพธิ์ เข้าบวชเรียนที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มีความรู้ถึงขั้นมหาเปรียญ ได้รับพระราชทาย "นิจภัต" ซึ่งเป็นเงินที่พระมหากษัตริย์ พระราชทานเป็นรายเดือนให้พระภิกษุที่ได้เปรียญธรรม 4 ประโยคขึ้นไป   นายมี ยังเป็นผู้แต่งหนังสือแบบหัดอ่านเรื่อง พระสุบิน ก กา ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือหัดอ่านระดับกลาง เมื่อลาสิกขาบทแล้ว นายมีรับราชการฝ่ายอาลักษณ์ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว   จนกว่าจะมีงานศึกษาทางวิชาการที่เกี่ยวข้องออกมาล้มหลักฐานชิ้นนี้ได้ ในวันนี้เราต้องยอมรับเสียก่อนว่า ฟ.ฮีแลร์ ที่แม้เราจะรู้ว่าท่านมีความเก่งกล้าสามารถด้านภาษาสักปานใด ฟ.ฮีแลร์ก็มิใช่ผู้แต่งกลอนวิชาเหมือนสินค้าอย่างแน่นอน   และการที่ ฟ.ฮีแลร์ระบุไว้ท้ายกลอนว่า ของ บุราณ ก็เป็นการให้เกียรติผู้แต่งดั้งเดิม ที่แม้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แต่ง แต่ ฟ.ฮีแลร์ก็มิได้แอบอ้างเอาผลงานของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง ดังนั้นการที่เรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัสสัมชนิก จะยกให้ ฟ.ฮีแลร์เป็นเจ้าของผลงานวิชาเหมือนสินค้า ก็คงไม่ต่างอะไรกับการทำลายคุณค่า และจรรยาบรรณของตัว ฟ.ฮีแลร์เอง ---

บรรณานุกรม

[1] อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลาง. 2463. โดย ฟ.ฮีแลร์, หน้า 62.[2]บทความเรื่อง เติมเกร็ดชีวิต ฟ.ฮีแลร์ จากหนังสือ สวนหนังสือ เขียนโดย ช.พ.พ. (นามแฝง) ปีที่ 2 ฉบับที่ 14 หน้า 34.[3]บทความเรื่อง ประวัติเจษฏาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ จากหนังสือ อัสสัมชัญอุโฆษสมัย ฉบับที่ระฤกวันมรณภาพครบ 1 ปี เขียนโดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ไม่ปรากฏเลขหน้า[4]อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลาง. 2463. โดย ฟ.ฮีแลร์, หน้า 78[5]อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลาย. 2464. โดย ฟ.ฮีแลร์, หน้า 101[6]เรื่องเดียวกัน, หน้า 64[7]เรื่องเดียวกัน, หน้า 105.[8]อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลาง. 2463, หน้า 67.[9]เรื่องเดียวกัน, หน้า 29.[10]ของ โบราณ[11]อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลาง. 2463, หน้า 142.[12]เรื่องเดียวกัน, หน้า 102.[13]เรื่องเดียวกัน, หน้า 48.[14]เรื่องเดียวกัน, หน้า 62.[15] วิกิซอร์ซ. (2556). “วิชาเหมือนสินค้า” สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2558. สืบค้นจากhttps://th.wikisource.org/wiki/วิชาเหมือนสินค้า[16] สุภาพร คงศิริรัตน์. “วิชาเหมือนสินค้า” : วรรณกรรมของนายมีที่ไม่เป็นที่รู้จัก. ใน วารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 มกราคม - เมษายน พ.ศ. 2556

Author: วัฒภูมิ ทวีกุลอัสสัมชนิกเลขที่ 47985 รุ่น 126

http://assumptionmuseum.com/th-th/content/ว-ชาเหม-อนส-นค-า-แต-ทว-า-ฟฮ-แลร-ไม-ได-แต-ง/

===

AC ฟ.ฮีแลร์ ยานนาวาวิเศษ วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล

ยาน นาวา วิเศษ.

วิชา เหมือน สินค้า อัน มี ค่า อยู่ เมืองไกล.ต้อง ยาก ลำบาก ไป จึง จะ ได้ สินค้า มา;จง ตั้ง เอา กาย เจ้า เปน สำเภา อัน โสภา.ความ เพียร เปน โยธา, แขน ซ้าย ขวา เปน เสา ใบ.

นิ้ว เปน สาย ระยาง, สอง เท้า ต่าง สมอไม้;ปาก เปน นาย งาน ไป. อัชฌาศรัย เปน เสบียง;สติ เปน หาง เสือ ถือ ท้าย เรือไว้ ให้ เที่ยง,ถือ ไว้ อย่า ให้ เอียง ตัด แล่น เลี่ยง ข้าม คงคา.

ปัญญา เปน กล้อง แก้ว ส่อง ดู แถว แนว หิน ผา,เจ้า จง เอา หู ตา เปน ล้าต้า ฟัง ดู ลม.ขี้ เกียจ คือ ปลา ร้าย จะ ทำลาย ให้ เรือ จม.เอา ใจ เปน ปีน คม ยิง ระดม ให้ จมไป

จึง จะ ได้ สินค้า มา คือ วิชา อัน พิศมัยจง หมั่น มั่น หมาย ใจ อย่า ได้ คร้าน การ วิชา.

(ของ บุราณ)

===

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท