เรื่องเล่าจากชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูโรงเรียนวรพัฒน์ที่ใช้การศึกษาชั้นเรียน (Lesson study) เพื่อพัฒนาชั้นเรียนคณิตศาสตร์แบบเปิด (Open approach)


เรื่องเล่าจากชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูโรงเรียนวรพัฒน์ที่ใช้การศึกษาชั้นเรียน (Lesson study) เพื่อพัฒนาชั้นเรียนคณิตศาสตร์แบบเปิด (Open approach)

ดร.วรลักษณ์ ชูกำเนิด

โรงเรียนวรพัฒน์เป็นโรงเรียนเอกชน ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดการศึกษาระดับปฐมวัยและประถมศึกษา นับย้อนไปปีการศึกษา ๒๕๕๖ ครูหมู หรือ ดร.วรลักษณ์ ชูกำเนิด กรรมการบริหารโรงเรียนวรพัฒน์ ได้มีโอกาสเยี่ยมชมการเปิดชั้นเรียนของคณะครูโรงเรียนรุ่งอรุณ โดยมี ผศ.ดร.ไมตรี อินทรประสิทธิ์พร้อมด้วยทีมนักศึกษาปริญญาโทมาร่วมการสังเกตและสะท้อนชั้นเรียน การเยี่ยมชมครั้งนั้นทำให้ตระหนักชัดว่าโรงเรียนวรพัฒน์เรายังขาดการพัฒนาชั้นเรียนอย่างระบบโดยเฉพาะการพัฒนาชั้นเรียนผ่านการพัฒนาครู หรือการพัฒนาครูผ่านชั้นเรียนที่มีประสิทภาพที่เชื้อเชิญให้ผู้เรียนเพลินกับการขบคิด เรียนรู้ และเผยวิธีคิดของตนเองออกมา อย่างเป็นธรรมชาติ หรือที่น่าจะเรียกกันว่าชั้นเรียนแบบเปิด การเรียนรู้ของครูและเด็กจึงส่งผลต่อกัน แบบ Two-ways & Double loop learning กลไกนี้หากทำสำเร็จจะสามารถเกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้และพัฒนาตนเองของทีมครูร่วมกันบนฐานชั้นเรียนจริง มันจะเป็นสัมผัสรับรู้ทั้งองคาพยพที่ติดลึกอยู่ในตัวครูได้มากว่าการอบรมเชิงความรู้ที่ห่างไกลความจริงของชั้นเรียน นี่คือหัวใจสำคัญของการพัฒนาขั้นต่อไปของโรงเรียนวรพัฒน์ ราวกับพบเจอจิ๊กซอที่ขาดหายไป และเป็นคำถามต่อมาว่า “แล้วเราจะต้องเริ่มต้นอย่างไร?”

มันเริ่มจากการโดนกระแทกที่ใจจากความรู้สึกที่ว่า “อยู่เฉยอย่างนี้ไม่ได้แล้ว” แล้วไปลงมือชวนกันทำทันที “ก็ไม่รู้จะบ่นกับการศึกษาบ้านเราไปอีกนานแค่ไหน เลิกบ่นแล้วลงมือทำกันเลยดีกว่า” อีกทั้งสิ่งที่ประสบทั้งการศึกษาชั้นเรียน ห้องเรียนแบบเปิด และหนังสือเรียนคณิตศาสตร์แบบญี่ปุ่น มันทำให้ใจเรามีความหวังแบบไม่เคว้งคว้าง อยากกลับไปทำชั้นเรียนทันที เมื่อที่ใดมีคนเริ่มจะทำ ก็เหมือนดั่งจัดสรร ครั้งนั้นเราพบเจอ ดร.เกษม เปรมประยูร และ ดร.สุวรรณี เปลี่ยนรมย์ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ลูกศิษย์ ผศ.ดร.ไมตรี อินทรประสิทธิ์ มาช่วยจุดประกายภายในโรงเรียนทั้งทีมผู้บริหาร ทีมครูคณิตศาสตร์ การเริ่มต้นของพวกเราจึงเกิดขึ้น โดยทำงานแบบทำไปค่อย ๆ แกะทางกันไปตามโจทย์ใหม่โจทย์เก่า ดังนี้

โจทย์แรก คือ ทำอย่างไรให้เรื่องนี้กระแทกใจทีมครูและผู้บริหาร?

เราก่ออิฐฐานแรกตัวนี้อยู่นานหลายเดือนกว่าจะสัมผัสได้ว่าเรื่องคณิตศาสตร์แบบเปิดเริ่มเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริหารและครู เนื่องจากโรงเรียนวรพัฒน์เองก็มีหลายนวัตกรรมที่นำมาใช้โดยเฉพาะการใช้นวัตกรรมการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน หรือ BBL (Brain-based learning) การผลีผลามนำเสนอตรง ๆ อาจทำให้เกิดการต่อต้านได้ เพราะครูจะรู้สึกว่า “ของเก่ายังไม่เห็นผลนี่จะเปลี่ยนอีกแล้ว” ประเด็นสำคัญคือ เราต้องศึกษาแนวทางของ BBL ก่อนว่ามันมีจุดเชื่อมโยงที่พัฒนาร่วมกันไปได้ และเรามองว่า Open approach และ Lesson study จะสามารถทำให้เกิด BBL เชิงลึก อย่างได้ผล เพราะ BBL อธิบายการเรียนรู้ของสมอง ส่วน Open approach เสมือนกระบวนการที่ทำให้เราเห็นผลว่าเด็กมีวิธี หรืออาการเรียนรู้ นั่นคือสิ่งที่สะท้อนให้ครูเข้าใจว่า “อ๋อ..สมองเด็กเรียนรู้ แสดงออกมาแบบนี้นี่เอง” ทำไปเห็นอาการเด็กไป สิ่งที่ทำให้เราเห็นชัดเจนที่สุดคือการเข้าใจสมองของเด็กแต่ละคนจนกระทั้งสามารถทำนายวิธีคิดของเด็กแต่ละคนได้ นี่คือวิธีการกระแทกใจจากจุดเดิมให้เพิ่มความศรัทธา

โจทย์ที่สอง คือ ทำอย่างไรให้เกิดความรู้สิึกมิตรที่อยากทำงานและมีเป้าหมายร่วมไปด้วยกันได้ระยะยาว ๆ ?

การเริ่มเข้าไปหาครูด้วยท่าทีเข้าอกเข้าใจ ไม่เอาความคาดหวังของผู้ริเริ่มไปกดดัน หรือโจมตีวิธีเดิมที่ครูสอนให้ครูรู้สึกเป็นทั้งภาระและความขัดแย้ง นี่คือจุดสำคัญที่เราต้องระวังตัวเอง ทีม ดร.เกษม ดร.สุวรรณี และ ดร.วรลักษณ์ พวกเราทั้งสามคน ใช้วิธีการเข้าไปแบบเนียน ๆ ต่อเนื่องแบบไม่มีพิธีรีรอง เราสัมผัสรู้ทันทีว่าการลุยครั้งนี้เราเบาบางกับอัตตาของตัวเราเองแต่มีเป้าหมายร่วมเป็นอุดมการณ์ที่ใช้เดินทางไปด้วยกัน การใช้ความเป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพนำภาพความเป็นนักวิชาการ อีกทั้งคลุกคลีในงานจริงเพื่อเข้าใจเพื่อนครู นำหนังสือเรียนคณิตศาสตร์แบบญี่ปุ่นไปนำเสนอ ชวนไปดูชั้นเรียนโรงเรียนอื่น เปิดวิดิโอร่วมกันดูไปคุยไป ชวนคุยรแบ่งปันความทุกข์ในใจของครูที่ประสบกับปัญหาการเรียนรู้ที่พวกเราและครูต่างประสบกันมา และส่งผลถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน ของเรา ในโจทย์ข้อนี้ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับชุมชนวรพัฒน์ เพราะเรามีวัฒนธรรมความเป็นเพื่อน พี่น้อง ร่วมกันในการทำงาน เราคุยกันได้ อย่างสบาย ๆ กินไปคุยไป ถามไถ่กันเป็น ถือเป็นวิถีการอยู่ร่วมกันที่สบาย ๆ แต่เหนียวแน่นจากข้างในแต่ก็เปิดรับคนข้างนอกพอควร

โจทย์ที่สาม คือ ทำอย่างไรให้เกิดความรู้สึกเชื่อมั่นว่าชั้นเรียนแบบนี้เป็นไปได้และมีอนาคต?

อุปสรรคสำคัญคือ เราใหม่กับเรื่องนี้มาก การสอนคณิตศาสตร์แบบเปิด ในขณะที่เราถูกเรียนให้จำกันมาตลอดชีวิต มันเป็นเรื่องที่ทีมเรารู้ว่ามันดีนะ แต่นึกการสอนคณิตศาสตร์แบบนี้ไม่ถึงแก่น เห็นบทเรียนทีไรมันก็นึกกลับไปที่เคยเรียน เรียกได้ว่าเหมือนโดนเขย่ากรอบที่เคยเรียนมา แน่นอนครูหลายคนมีคำที่พูดออกมาว่า “จะไหวหรือเปล่า” “มันยากนะเนี่ย” “มันคิดไปไม่ถึง” “ไม่แน่ใจใช่หรือเปล่า” สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะแรกมันเกิดการคลี่คลายด้วยเรื่องเล่าที่พื้นที่อื่นเริ่มทำ เราต่างได้รับกำลังใจว่า “ตอนเริ่มทำที่นั้น ที่นี่ ที่โน้นก็เป็นแบบนี้แหล่ะ พอทำไปเรียนรู้ไปมันเห็นผลที่เด็กจริง ๆ …..” อีกทั้งพวกเราได้รับโอกาสให้ไปศึกษาดูชั้นเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นบ้าง ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นบ้าง การได้สัมผัสการสอนและชั้นเรียนที่มีพลังมันทำให้เราเห็นภาพว่าชั้นเรียนแบบเปิด และการศึกษาชั้นเรียน มันออกฤทธิ์กับแววตา บุคลิกภาพการว่องไว กล้าคิด และเพลินเรียนรู้ร่วมกัน มันน่าทึ่งมาก บุคลิกภาพของครูที่เหมือนมีสัมผัสว่องไวในชั้นเรียนมันเป็นศิลปะการสอนที่ทำให้ห้องเรียนงดงามมาก ประสบการณ์เช่นนี้ทำให้เราแรงบันดาลใจ และแรงขับลึก ๆ ทางวิชาชีพของครู ถึงแม้ไม่มีคำพูดออกมาแต่ก็สัมผัสได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในของครูอนุวัฒน์ ครูวัลลิกา และครูเสาวลักษณ์

โจทย์ที่สี่ คือ แล้วเราจะเริ่มต้นเข้าใจเพื่อทำเรื่องนี้อย่างไร?

พวกเราเริ่มจากการทำ Workshop ภายในโรงเรียนและเชิญชวน โรงเรียนหวังดี โรงเรียนศิริพงษ์วิทยามาร่วมด้วย เพื่อความเข้าใจไปด้วยกันในเชิงเนื้อหาทางคณิตศาสตร์ ครั้งนี้เราได้คำแนะนำจาก ผอ. ครูพัฒน์ มาศนิยม แนะวิธีการโดยให้เราจัดทัพแบบทั้งโรงเรียน แต่จัดทีมหลัก Core team คือครูคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา ทีมสนับสนุน คือ ทีมวิชาการระดับประถมศึกษา และอีกทีมคือครูระดับอนุบาลที่ขอมารู้ไปด้วยกันแบบเดินทัพทั้งโรงเรียน เพื่อจะได้เห็นภาพไปด้วยกันว่าเราจะทำอะไร แบบไหน อย่างไร มันดีแค่ไหน และยังช่วยเป็นพลังสื่อสารทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนโดยเฉพาะผู้ปกครอง โดยมี ดร.เกษม และ ดร.สุวรรณี รับโจทย์นำจัด Workshop เป็นเวลา 2 วันที่โรงเรียนวรพัฒน์ ครั้งนั้นทำให้เกิดการเผยศักยภาพของครูอนุวัฒน์ จากการสาธิตจากบทเรียนที่ศึกษาในสถานการณ์ห้องเรียนจริง จากครูอนุวัฒน์ ผู้ที่ดูเฉื่อยชากับการพัฒนาชั้นเรียนตนเองในสายตาเพื่อนร่วมงาน แต่ครั้งนี้ครูอนุวัฒน์ กลับเผยให้เห็นบุคลิกภาพในการสอนที่มีจังหวะไปพร้อม ๆ กับนักเรียน ไม่นำจนเป็นอำนาจบังคับเด็ก และไม่ปล่อยจนนักเรียนหลงทาง อีกทั้งการสะท้อนชั้นเรียนตนเองได้คม และเห็นประเด็นแนวคิดทางคณิตศาสตร์ ภาพการเรียนรู้ชั้นเรียนตนเองของครูในวันนั้นถือเป็นการเห็นสิ่งเล็ก ๆ ที่เริ่มงอกเงยออกมาจากชุมชนครูวรพัฒน์ที่เริ่มกล้าจะทำชั้นเรียน

โจทย์ที่ห้า คือ เราจะเริ่มศึกษาชั้นเรียนคณิตศาสตร์แบบเปิดในชั้นเรียนจริงของเราได้อย่างไร?

เมื่อเหล็กร้อนต้องรีบตี เราจึงเริ่มต่อยอดจากการเผยตนของครูอนุวัฒน์ และลึก ๆ ของครูหลายคนที่มีวงพูดคุยกันต่อเนื่องจากบทเรียนที่พวกเราศึกษาร่วมกัน และออกแบบร่วมกัน เราต่างรู้สึกอยากลองว่าจะเห็นผลที่เด็กเช่นไร คุยไปคุยไป ครูเสาวลักษณ์ และครูอนุวัฒน์ ขออาสาลองทำดูโดยความร่วมมือร่วมใจกันของทีมพวกเรา โดยเราเลือกที่จะแกะหนังสือแบบเรียนญี่ปุ่น และออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ และสื่อการสอน โดยมี ดร.เกษม มาช่วยนำอยู่บ้างเป็นบ้างครั้งบางคราว เริ่มจากเลือกหน่วยที่พวกเรามองว่าเป็นหน่วยที่อาศัยการเชื่อมโยงจากพื้นฐานที่ต้องต่อยอดมาน้อยที่สุด นั้นคือ รูปทรง แผนผัง และปฏิทิน วันเวลา เป็นต้น เรียกได้ว่าทำกันอย่างมวยวัดที่ค่อย ๆ คลำกันไป โดยมีหนังสือแบบเรียนญี่ปุ่น ทีมงานทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ที่ขาดไม่ได้คือใจที่อยากทำอยากพิสูจน์ว่ามันจะเห็นผลจริงหรือไม่ ทำไปเราก็ผลัดกันไปสังเกต ไปดูชั้นเรียน และมาคุยสะท้อนกัน แรก ๆ ทำแบบไม่เป็นระบบนึกจะทำก็ทำไป ทำไปจนกระทั้งเกิดการท้าทายครูซึ่งกันและกันว่า ทำแล้วเรามาลองเปิดชั้นเรียนดูกัน ซึ่งการเปิดชั้นเรียนครั้งนี้แล้วแต่ว่าครูคนไหนจะรับคำท้า และการเปิดครั้งนี้เราถือว่าไม่ได้โชว์ชั้นเรียน แต่เพื่อท้าทายตนเองให้กล้าที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เราจึงเปิดให้โรงเรียนต่าง ๆ ที่เป็นเพื่อนร่วมทางของเรา และผู้ปกครอง รวมถึงคณะอาจารย์ด้านการสอนคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทักษิณ มาร่วมสังเกตการและสะท้อนชั้นเรียน เพื่อโอกาสการพัฒนาวิชาชีพของพวกเรา ดังนั้นในปีแรกเราไม่มีการประกาศการใช้แบบเรียนแบบญี่ปุ่น แต่เราใช้การแทรกบางหน่วย และบูรณาการหน่วย ผลที่ตามมาคือ เราพบว่าพื้นฐาน Concept มันเหมือนการต่อยอดหากฐานไม่แน่นยากที่จะต่อสูงขึ้นไป นอกจากนั้นการทำบางหน่วยยากต่อการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมชั้นเรียนให้มีบรรยากาศแบบเปิด และมีวินัยในการเรียนรู้ร่วมกัน เพราะนักเรียนรับรู้และยอมอยู่ในกรอบที่ครูสร้างแบบชั้นเรียนแบบเดิมขึ้นมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นในปีที่สองพวกเราจึงประกาศใช้หลักสูตรคณิตศาสตร์แบบญี่ปุ่นแบบทั้งหลักสูตรตั้งแต่ ป.๑ ถึง ป.๔ ซึ่งพวกเรายอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน เราใช้วิธีการพูดบอกผู้ปกครองให้น้อยในระดับ ป.๒-๖ แต่ทำให้เห็นเยอะ พิสูจน์จากวิธีคิด การบอกเล่าของนักเรียน และภาพชั้นเรียน ในระยะยาว ๆ นั่นคือสิ่งที่เราทำ แน่นอนกระแสการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เราก็เผชิญกับความสั่นไหวของตนเอง และความกลัวของผู้ปกครองอยู่ไม่น้อย สิ่งที่ประคองให้ลุยทำต่อไปคือทีมงานของเราที่คอยให้กำลังใจกันและกัน และการยืนหยัดเดินหน้าของทีมผู้บริหาร รวมไปถึงทีมภายนอกที่คอยดูแลใส่ใจเราอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยทักษิณ

โจทย์ที่หก คือ ระบบสนับสนุนคอยช่วยให้การศึกษาชั้นเรียน และการพัฒนาชั้นเรียนแบบเปิด เติบโตงอกงามที่โรงเรียนวรพัฒน์และเพื่อนร่วมทางของเราเป็นอย่างไร ?

นี่คือโจทย์ล่าสุด เรายกร่างระบบหลักระบบย่อย ผ่านการศึกษาเก็บเกี่ยวจากชุมชนการเรียนรู้ของเรา อนึ่งมันอาจจะยังไม่มากพอที่จะไปถึงระบบที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเรามองว่าการพัฒนาระบบคงต้องเป็นเรื่องระยะยาวที่ ยกร่าง และ ปรับพัฒนากันไปเรื่อย ๆ แล้วแต่บางเรื่อง แบ่งคร่าว ๆ เป็นระบบหลัก และระบบสนับสนุน ดังนี้

๑) ระบบหลัก เราให้น้ำหนักความสำคัญที่การพัฒนาวิชาชีพครูผ่านการพัฒนาชั้นเรียนแบบเปิด ตั้งแต่วิเคราะห์หรือเราเรียกว่าแกะแบบเรียนคณิตศาสตร์ของญี่ปุ่นรวมทั้งสื่อ ในปีแรกเราใช้แบบตรงไปตรงมายังโดยฐานความเชื่อว่าสิ่งที่ได้วิจัยมาถึง ๑๐๐ กว่าปีแล้วให้เราจึงลองใช้ตามก่อนเมื่อเข้าใจและเห็นความเชื่อมโยงลึกพอก็ถึงเวลาประยุกต์ใช้ในปีต่อ ๆ ไป นอกจากนั้นเรามีระบบทำงานแบบ Double loop learning แบบ ๔ ขั้นตอนหลักเริ่มจาก คลี่ —สังเกต — สะท้อนผล —เก็บเกี่ยวโจทย์พัฒนาชั้นเรียน เพื่อร่วมกันเรียนรู้ต่อยอดความเข้าใจ Concept และสื่อทางคณิตศาสตร์ ภาพชั้นเรียน แนวคิดนักเรียน ธรรมชาติการเรียนรู้ของนักเรียนในขณะนั้น และต่อบทบาทตนเองของครู โดยทั้ง ๔ ขั้นตอนข้างต้นเป็นการดำเนินการโดยการทีมคณิตศาสตร์ และบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกันแบบชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่มีเป้าหมายร่วมกันและมีความเป็นมิตรทางวิชาการที่ กล้าคุย กล้าคิด กล้านำเสนอ และกล้าเปลี่ยนแปลง ที่มีทั้งการจัดวาระให้มาทำงานเรียนรู้ร่วมกัน และวาระแบบไม่เป็นทางการ ทำไปคุยไป ให้กำลังใจ และสะท้อนผลกันไปในงานร่วมกัน

๒) ระบบสนับสนุน เรามีวัตถุประสงค์สำคัญของระบบสนับสนุนที่สามารถส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชั้นเรียน การเปลี่ยนแปลงชุมชนการเรียนรู้ของเรา รวมไปถึงการเกิดเครือข่ายผู้ปกครองและเพื่อนร่วมวิชาชีพในโรงเรียนอื่น ๆ ที่สนใจร่วมพัฒนาชั้นเรียนแบบเปิด โดยมีระบบที่ร่างและพัฒนาคร่าว ๆ ในปีการศึกษา ๒๕๕๘ ดังนี้

๒.๑) ระบบศูนย์สื่อเรียกว่า BRC (Brain-based learning Resource Centure) ทำหน้าที่ช่วยการสะสมวัสดุเพื่อผลิต ใช้ พัฒนา ซ่อมแซม และจัดเก็บให้สะดวกใช้หน่วยต่อหน่วยในปีต่อ ๆ ไป

๒.๒) ระบบสารสนเทศ โดยใช้พื้นที่เสมือนเป็นหลักเพื่อกระจายให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทั่วถึงและรวดเร็ว รวมไปถึงการแบ่งปันแชร์การเรียนรู้ไปสู่ชุมชนต่าง ๆ ทั้งครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และบุคคลทั่วไปทั้งภายใน-ภายนอกโรงเรียน เช่น พื้นที่ Facebook กลุ่มปิด ใช้เพื่อการสะท้อนแผนการสอน สื่อการสอน ภาพชั้นเรียน และบทเรียนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการศึกษาบทเรียน อีกทั้งการจัดระบบจัดเก็บข้อมูลแผนการสอนที่ใช้และสะท้อนเพื่อการพัฒนาแล้ว ในระบบ Google drive ที่สามารถใช้ร่วมกันได้ง่ายและจัดระบบกลุ่มข้อมูลได้เป็นระเบียบมากขึ้น

๒.๓) ระบบการเปิดชั้นเรียน (Open class) เพื่อพัฒนาวิชาชีพครูและเครือข่ายร่วมกัน เรามีการแบ่งการเปิดชั้นเรียนแบบเป็นทางการ กล่าวคือ แบบแรกเป็นการเปิดชั้นเรียน ปีการศึกษาละ ๒ ครั้งเป็นอย่างน้อย โดยที่อนุญาตให้บุคคลภายนอกทั้งผู้เชี่ยวชาญ ครูที่สนใจจากโรงเรียนต่าง ๆ และผู้ปกครอง แบบที่สองเป็นการเปิดชั้นเรียนแบบไม่เป็นทางการเดือนละ ๑ ครั้งเป็นอย่างน้อย กล่าวคือ เปิดชั้นเรียนแบบครูภายในโรงเรียนและคู่วิชาชีพมาคลี่ สังเกต และสะท้อนผล ด้วยกัน

๒.๔) ระบบการสร้างขวัญกำลังใจการพัฒนาตนเองของครู ด้วยการสร้างแรงจูงใจส่งเสริมให้ครูมีโอกาสเผยศักยภาพตนเองในเวทีต่าง ๆ และการเปิดโอกาสให้ครูได้ร่วมเรียนรู้กับเครือข่ายสถานศึกษาที่ร่วมพัฒนาชั้นเรียนแบบเปิดทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุดโรงเรียนสนับสนุนทุนการศึกษาดูงานชั้นเรียนแบบเปิดที่ประเทศญี่ปุ่นร่วมกับทางคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

จากที่กล่าวมาทั้งหมดยังเป็นการเริ่มต้นเดินทางของทีมวิชาชีพทีมหนึ่งในภาคใต้ของเราถือได้ว่ายังเพียรคลำหาหนทาง เรียนรู้จากโจทย์จริงสำเร็จบ้างล้มเหลวบ้างก็เป็นการเดินทางที่ยังท้าทายในระยะยาวว่าการตัดสินใจเพื่อพิสูจน์ชั้นเรียนแบบเปิดนี้จะเป็นผลเช่นไรกับเด็ก ๆ ของเรา และพวกเราเองในระยะเวลาพิสูจน์เรื่องนี้กันว่ามั่นน่าจะออกดอกเป็นผลเห็นเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับวัฒนธรรมชั้นเรียน วัฒนธรรมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพของพวกเรา สะท้อนออกมาที่บุคลิกภาพใหม่ทั้งเด็กและครูที่จะอยู่ในโลกศตวรรษที่ ๒๑ อย่างมีความว่องไวในการรับรู้และเรียนรู้ได้ ในปีการศึกษา ๒๕๖๓

หมายเลขบันทึก: 592646เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2015 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2015 22:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท