เมื่อผมไปออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ ครั้งที่ 10/2548 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับการสำรวจว่าน่าจะเอาความรู้เรื่องการประหยัดพลังงานไฟฟ้า จากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าไปออกหน่วยฯ ด้วย ซึ่งก็ได้รับการขานตอบโดย นำเอกสารจาก ศูนย์ประชาสัมพันธ์ "รวมพลังหาร 2" มาแจกให้ผู้สนใจทั่วไปขอไปอ่านกัน
ผมได้หยิบเอกสารเรื่อง "ตู้เย็นพาณิชย์" มาอ่านดู เรื่องราวของการประหยัดไฟ แต่ให้มาสงสัยเรื่องข้อความที่ว่า "ตามปกติเรามักจะเรียกขนาดบรรจุของตู้เย็นเป็น ลูกบาศก์เดซิเมตร (ลบ.ดม.) หรือคิว เช่น ตู้เย็นขนาด 113 ลบ.ดม. (4 คิว) หรือ ตู้เย็นขนาด 142 ลบ.ดม. (5 คิว) เป็นต้น"
ผมอ่านดูแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเขาคิดกันอย่างไร จึงต้องหาคำตอบให้ได้ ดังนี้ครับ คำว่า "คิว" นี้คือ คิวบิกฟุต หรือ ลูกบาศก์ฟุต 1 ลบ.ฟุต หรือ 1 คิว มีขนาดเท่ากับ ขนาดของไม้บรรทัด 1 ฟุต ซึ่งมีด้านกว้าง ด้านยาว และ ด้านสูง
ถ้าเราใช้ กว้างxยาวxสูง จะกลายเป็นปริมาตร ดังนั้น เราจะเทียบมาตรอังกฤษ เป็นมาตรเมตริกนะครับ คือ 1 ฟุต ยาวเท่ากับ 12 นิ้ว แต่ 1 นิ้ว ยาวเท่ากับ 2.54 เซนติเมตร ดังนั้น 1 ฟุตเท่ากับ 2.54 ซม. x 12 นิ้ว = 30.48 ซม.
ดังนั้น 1 ลบ.ฟุต หรือ 1 คิว มีปริมาตรเท่ากับ 30.48 x 30.48 x 30.48 = 28,316.85 ลูกบาศก์เซนติเมตร (ลม.ซม.)
ส่วน 1 ลบ.ดม. เท่ากับ (1 เดซิเมตร เท่ากับ 10 เซนติเมตร) 10 x 10 x 10 = 1,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร
สรุปว่า 1 ลูกบากศก์ฟุตหรือ 1 คิวบิกฟุต มีค่าเท่ากับ 28,316.28/1,000 เท่ากับ 28.32 ลูกบาศก์เดซิเมตร
-
ถ้าตู้เย็นขนาด 5 คิว จะมีปริมาตร 5 x 28.32 = 141.6 หรือ 142 ลบ.ดม.
-
ถ้าตู้เย็นขนาด 5.5 คิว จะมีปริมาตร 5.5 x28.32 = 155.76 หรือ 156 ลบ.ดม.
-
ถ้าตู้เย็นขนาด 6 คิว จะมีปริมาตร 6 x 28.32 = 169.92 หรือ 170 ลบ.ดม.
คงถึงบางอ้อกันแล้วนะครับ....อยากจะสรุปว่ายิ่งใช้ตู้เย็นใหญ่ ยิ่งจ่ายค่าไฟมากครับ