beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

การออก Mobile Unit ให้อะไรมากกว่าที่คุณคิด


ถ้าตีค่าประสบการณ์ครั้งนี้เป็นเงิน ผมว่าเงิน 1 แสน หาซื้อไม่ได้

    พูดถึงการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ หรือ Mobile Unit มา 2 ตอนแล้ว ต่อไปนี้อยากจะทบทวนความหลังถึงการที่ผมได้ออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ครั้งแรกแล้วประทับใจ จึงออกหน่วยฯต่อมาอีกหลายครั้ง เผื่อจะมีอะไรไปเปลี่ยนใจคนที่ยังไม่เคยออกหน่วยให้ได้ทราบบ้าง ดังบทความที่ผมเขียนดังต่อไปนี้

การออก Mobile Unit ให้อะไรมากกว่าที่คุณคิด

     ผมได้มีโอกาสเดินทางออกไปให้บริการเคลื่อนที่เพื่อพัฒนาสุขภาพและอาชีพประชาชน  ของ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นครั้งแรกในชีวิต (จริง ๆ)   เมื่อวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2548   การที่ต้องออกให้บริการในครั้งนี้ มาจากเหตุที่อาจารย์วิจิตร อุดอ้าย ซึ่งอยู่คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเคมี ได้ปรารภว่า”เหนื่อย”  เนื่องจากต้องเป็นตัวแทนของคณะฯ ไปออกให้บริการเกือบทุกครั้ง (ใน 12 เดือน แถมยังเป็นคนแรกๆ ของคณะฯ ที่ไปให้บริการ)   จึงขอให้ช่วยไปให้บริการกันบ้าง ซึ่งปี 2548 นี้ผมได้รับการขอร้องแกมบังคับ จากหัวหน้าภาควิชาชีววิทยา ให้เป็นตัวแทนของภาควิชา ออกไปให้บริการในนามคณะวิทยาศาสตร์ แต่ผมก็ไม่พร้อมสักที จนกระทั่งครั้งนี้ผมออกไปให้บริการในฐานะ ผู้ออกไปสังเกตการณ์
      วันแรกผมได้ไปสังเกตการณ์จริง ๆ คือ พาแต่ตัวเองไป ไม่ได้เตรียมสิ่งของไปให้บริการเลย สถานที่ออกให้บริการคือ โรงเรียนโพธิธรรมสุวัฒน์ ตำบลโพทะเล จังหวัดพิจิตร  พอขึ้นรถบัสปรับอากาศของคณะแพทย์ศาสตร์ ซึ่งออกเดินทางประมาณ 6.40 น. ก็ได้รับบริการนม 1 กล่อง น้ำ 1 ขวด จากผู้ประสานงาน (คุณวิภา เพิ่มผลนิรันดร์ = แอ๊ว)  ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ  ถึงสถานที่ให้บริการ ลงจากรถ สังเกตดูสถานที่ซึ่งเจ้าหน้าที่อาสาสมัครประจำหมู่บ้านหรือ อสม เขาจัดไว้ให้ รู้สึกว่าได้รับความสะดวกสบายพอสมควร บุคลากรที่เคยออกหน่วย ต่างรู้หน้าที่กันดี ได้จัดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ พอประมาณ 8.00 น. เศษ รับประทานข้าวต้ม ผมได้รับประทานอาหารมังสะวิรัต ซึ่งทางผู้ประสานงานได้จัดเตรียมไว้ให้ (ผู้ประสานงานก็ทานอาหารมังสะวิรัตด้วย) 
       พอถึงเวลาให้บริการ ซึ่งจัดแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ให้บริการด้านสุขภาพอนามัยแก่ประชาชน  และกลุ่มวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  ให้บริการด้านอาชีพแก่ประชาชน ผมสังเกตว่ามีชาวบ้านมาใช้บริการน้อย (ภายหลัง ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร ได้ปรารภว่า ชาวบ้านมาน้อยที่สุดตั้งแต่ให้บริการมา) แสดงว่าจะต้องมีข้อผิดพลาดบางประการในการจัดครั้งนี้ ผมสังเกตว่าผู้ที่เกี่ยวข้องในการประสานงานออกให้บริการครั้งนี้ หน้าตาไม่ค่อยสบาย ผมจึงพยายามให้กำลังใจ (ในใจ แต่ไม่ทราบว่าผู้ประสานงานจะทราบหรือไม่)  ผมชอบคิดด้านบวก ได้คุยกับผู้ประสานงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องว่า ถ้าการออกให้บริการนี้มีวัตถุประสงค์ในการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย   ถือว่าคุ้มแล้วกับงบประมาณที่ลงทุน (คุ้มในความรู้สึกของผม เพราะความคุ้มหรือไม่คุ้ม มันขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน)  ได้ทราบภายหลังว่า การออกให้บริการแต่ละครั้ง 2 วัน ถ้าไปเช้า-เย็นกลับ ใช้งบประมาณ 6 หมื่นบาท แต่ถ้าต้องจัดที่พักค้างคืนใช้งบประมาณครั้งละ 1 แสนบาท
       ในความคิดเห็นส่วนตัวของผมแล้ว การออกให้บริการประชาชนในครั้งนี้ ผมได้แง่คิดมุมมองและประสบการณ์ตรงอย่างมาก  (ถึงสามารถนำมาถ่ายทอดหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดังที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี่ไง)  ในสถานการณ์ที่บางคนอาจคิดว่าเป็นวิกฤต แต่ผมกลับเห็นเป็นโอกาส ถ้าตีค่าประสบการณ์ครั้งนี้เป็นเงิน ผมว่าเงิน 1 แสน หาซื้อไม่ได้  ซึ่งผมจะสรุปให้ฟังในตอนท้ายว่าผมได้อะไรจากการออกไปให้บริการในครั้งนี้

       วันที่สองของการออกหน่วย ผมคิดว่า ควรจะต้องทำอะไรมากกว่าการมาสังเกตการณ์  ผมจึงจัดให้ความรู้ในหัวข้อ “น้ำผึ้งแท้-น้ำผึ้งปลอม”  โดยผมนำน้ำผึ้งแท้และน้ำผึ้งปลอมอย่างละ 1 ขวดไปให้ความรู้กับประชาชนถึงวิธีทดสอบเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นน้ำผึ้งแท้โดยวิธีทางกายภาพ อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบด้วย ไม้ขีดไฟ กระดาษชำระ  แก้วน้ำดื่มพร้อมน้ำสะอาด ผู้ที่มารับบริการ (6 ท่าน) และที่ขาดไม่ได้คือน้ำผึ้งแท้และปลอม (ซึ่งผมจะไม่ขอกล่าวถึงวิธีพิสูจน์ในที่นี้)  แม้ว่าผมจะสถาปนาตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องผึ้งและน้ำผึ้ง แต่ผมขอสารภาพว่าผมพึ่งมาถึงบางอ้อในวันนี้เองว่า น้ำผึ้งที่ผมรู้ว่าปลอมแต่ยังไม่สามารถจับให้มั่นคั้นให้ตายว่าปลอม (เพราะเขามี Brand name)  ผมสามารถค้นพบวิธีการพิสูจน์ในวันนี้เองครับ ซึ่งผมจะเขียนเป็นเอกสารเผยแพร่ต่อไป 
        เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนเวลาในการอ่านจนเกินไป ผมขอสรุปสิ่งที่ผมได้ในวันนี้ จากการสังเกตพบปะพูดคุยผนวกกับประสบการณ์ของผมดังนี้

  1. ได้เห็นภาพการทำงานของผู้ที่สละความสุขส่วนตัว แทนที่จะได้พักผ่อนอยู่กับบ้านในวันหยุด และมีบุคลากรบางท่านต้องอดข้าวเพราะทำงานเพลิน  แต่กลับไม่ได้ยินเสียงใครบ่นสักคำ

  2. ได้เห็นความมีน้ำใจของผู้ที่ร่วมออกให้บริการ เช่น การช่วยยกของ หรือช่วยทำความสะอาด

  3. ได้เห็นและให้กำลังใจกับผู้ที่ทำงานปิดทองหลังพระ

  4. ได้รับความสุขจากการทำงาน และได้ลดกิเลสจากการให้วิทยาทาน

  5. ได้ทราบข้อมูลความคิดของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ถึงเหตุที่ต้องตัดสินใจเลือกทิศทางของมหาวิทยาลัย เป็น “มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย” และต้องได้อันดับ 1 ใน 10 ของการประเมินภายในระยะเวลา 5 ปี ต่อไปนี้              และคาดการณ์เอาเองว่าหากบุคลากรของ มหาวิทยาลัย ไม่ปรับแนวคิดหรือเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน อาจจะต้องลำบากในอนาคต เพราะรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้ตามผลของงาน จากการประเมินของหน่วยงานที่เป็นกลาง

  6. ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของการให้บริการเคลื่อนที่แก่ประชาชนในปี 2549 ซึ่งขอโอกาสขยายความดังนี้

       ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ ซึ่งดูแลงานวิจัย งานประกันคุณภาพฯ และ คลินิกเทคโนโลยี ของมหาวิทยาลัย มีแนวคิด (ซึ่งใช้คำว่ายุทธศาสตร์ แต่ผมขอเรียกว่า “กุศโลบาย”)  ที่จะปรับเปลี่ยนการดำเนินงานการให้บริการเคลื่อนที่ โดยใช้หลักการบูรณาการความรู้หน่วยงานที่กำกับดูแล ผนวกกับการทำงานเป็นทีมเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายองค์ความรู้ของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยและ/หรือหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง โดยใช้หลักการ KM หรือ การจัดการความรู้ เป็นตัวนำ กล่าวโดยสรุปว่า ในปี 2549 และปีต่อไป   การให้บริการเคลื่อนที่ฯ จะเลือกพื้นที่ออกให้บริการเพียง 12 แห่ง (ตำบล) ใน 9 จังหวัดพื้นที่บริการของมหาวิทยาลัย (ซึ่งจะเวียนซ้ำออกให้บริการในพื้นที่เดิม 12 แห่งในปีถัดไป วนเวียนกันเช่นนี้)     โดยเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพในการจัดการความรู้อันดับต้น ๆ ที่จะประสบความสำเร็จ  เพื่อร่นระยะเวลาการประสบความสำเร็จให้เร็วขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นกำลังให้กับทีมงานผู้ให้บริการ (ซึ่งเป็นวิธีการที่หลายหน่วยงานกำลังใช้ในปัจจุบัน)  โดยจะระดมทรัพยากรบุคคลและงบประมาณ รวมทั้งเครือข่ายการวิจัย ร่วมทำงานในพื้นที่อย่างมีระบบและสามารถพัฒนาเป็นโมเดล เพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

        หมายเหตุ แนวนโยบายนี้อาจไม่ทันใช้ในปี 2549

หมายเลขบันทึก: 5922เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2005 21:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท