(105) Knowledge-Sharing Mode!


เหลียวมองผู้คนรอบกาย แต่ละคนล้วนก้มหน้ามองโทรศัพท์ในมือของตนเอง ... ถ้าเราช่วยให้เขาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน smart phone การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันไปโดยปริยาย

ในการประชุมตลาดนัดความรู้ KM ของหน่วยงาน เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 58 ที่ผ่านมา ดิฉันรู้สึกคับข้องใจอย่างมาก กับบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ไม่น่าจะเรียกว่า KM เพราะมีผู้ร่วมงานน้อยมาก ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่เป็นผู้นำเสนอผลงาน ซึ่งถูกกะเกณฑ์ให้มาในบทบาทใดบทบาทหนึ่ง จังหวะสั้นๆ ในระยะเวลา 2 วันเต็มที่มีผู้ร่วมงานรวมกันหนาแน่นที่สุด(ทุกบทบาท) รวมกันประมาณ 20 คน จากบุคลากรทั้งหมดมากกว่า 500 คน หรือไม่ถึงร้อยละ 5 ถึงกระนั้น ดิฉันก็ยังหวังลมๆ แล้งๆ รอคอยอย่างใจจดใจจ่อว่าจะเห็นผู้ร่วมงานที่มาโดยสมัครใจสักกลุ่มหนึ่ง

ถึงวันนี้ก็ล่วงเลยมาสองสัปดาห์แล้ว ดิฉันยังรู้สึกค้างคาใจ ..

กลับมาค้นหาบทความ KM ใน gotoknow เพื่อค้นหาว่าหน่วยงานอื่นๆ แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร จึงพบ 'ข้อเท็จจริง' ที่น่าสลดใจ อย่างเช่น คุณ Thawat เขียนถึงความไม่ชัดเจนของตัวชี้วัดในการทำงาน KM และตั้งข้อสังเกตว่า ยิ่งตัวชี้วัด KM ชัดเจนขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งดึงคนออกจากงานมากขึ้นเท่านั้น คนลุกลี้ลุลนทำ KM จนทำให้งานงอกขึ้น พะรุงพะรัง แทนที่จะเป็นการเสริมงานประจำให้ง่ายขึ้น (http://www.gotoknow.org/posts/48239) ดิฉันเห็นด้วยค่ะ เพราะหน่วยงานของดิฉันก็ประมาณนี้ แต่อัจฉริยะกว่า เพราะผู้รับผิดชอบจะใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ในการเขียนเรื่องราวการพัฒนาให้เสร็จ ทันเวลากำหนด เพื่อแลกกับคะแนนประเมินทุก 6 เดือน

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กล่าวถึงตัวชี้วัดที่บอกได้ว่าหน่วยงานทำ KM มาถูกทางหรือไม่ ตั้งแต่บทบาทและความรับผิดชอบ ที่ยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ วัฒนธรรมการเพ่งภายนอก (outward looking) การให้คุณค่ากับการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ฯ ที่สะท้อนความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่งกลุ่มและภายในทีม การแบ่งปัน (sharing) .. (http://www.gotoknow.org/posts/104568) ดิฉันอ่านแล้วยิ่งรู้สึกท้อแท้ใจ ทั้งที่ไม่ได้เป็นกรรมการ KM ของหน่วยงานแต่อยางใด

ไม่อยากคิดเลยว่า 10 ปีที่ผ่านมา KM บ้านดิฉันจะวกวนอยู่ที่เดิม ในขณะที่อะไรๆ เปลี่ยนไปจนไม่มีเค้ารูปเดิมแล้ว ..

ใช่แล้วค่ะ! ลองเหลียวมองผู้คนรอบกาย แต่ละคนล้วนก้มหน้ามองโทรศัพท์ในมือของตนเอง ถ้าเราช่วยให้เขาเหล่านั้นได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน smart phone การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้โดยปริยาย .. ชักรู้สึกท้าทายแล้วนะคะ

เอ๊ะ! หรือเขากำลังแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ..

เหมือนที่ดิฉันกำลังเขียนบทความผ่านโทรศัพท์ และบางท่านก็กำลังอ่านบทความนี้จากโทรศัพท์ค่ะ (ฮา)

หมายเลขบันทึก: 591238เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2015 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2015 12:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขออภัยนะคะ ดิฉันรู้สึก 'อุกอั่ง' มาก เขียนบทความนี้เพื่อบรรเทาตนเอง เขียนเสร็จจึงรู้สึก 'ส่วง' ส่วงมากพอจะอ่านบทความอื่นได้ จึงมาเห็นบันทึกที่ 591221ของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ..ก็ปลอบใจตนเองว่า อย่างน้อยดิฉันก็ยังอยู่ในกระแส ไม่ตกยุค แนะนำให้อ่านบทความของ ศ.นพ.วิจารณ์ ต่อนะคะ จะได้ประโยชน์มากค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ส่วนใหญ่ใน Smartphone เป็นความเห็นมากกว่าค่ะ แต่ก็ท้าทายจริงนะคะพี่ ถ้าทำช่องทาง KM ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท