ศาสตร์พระราชา _ ๐๑ : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (๑)


วันที่ ๒๕-๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘ มีโอกาสเรียนรู้แบบดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ในการมาร่วมค่าย "พอเพียงจิตอาสา" ที่มูลนิธิยุวสถิรคุณ เป็นเจ้าภาพจัดเพื่อคัดเลือกนักเรียนทุนเศรษฐกิจพอเพียง ปีที่ ๕ (ดูได้ที่นี่) ผมได้เรียนแบบครบ จบในจุดเดียว เกี่ยวกับตัวอย่างตัวอย่างของการนำ "ศาสตร์พระราชา" มาแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงอยากจะนำมาบันทึกไว้เผื่อมีประโยชน์ต่อไป อย่างน้อยคือใครที่อยากรู้เรื่องนี้ ก็มาเริ่มคลิกจากที่นี่ได้เลย

ศาสตร์พระราชา คืออะไร?

ตามที่ผมสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต พบว่า ผู้ให้คำนิยามคำว่า "ศาสตร์พระราชา" คือ ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิสกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ท่านใช้คำว่า "ศาสตร์พระราชา" แทน "องค์ความรู้ของในหลวง" ในที่นี้ ผมตีความว่า ท่านเน้นหมายถึง องค์ความรู้ที่เป็นปัญญาจากกระบวนการทรงงานในโครงการพระราชดำริต่างๆ ซึ่งมีกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ดูแลอยู่ เช่นดังตอนหนึ่งที่ท่านบอกว่า

"...ศาสตร์พระราชา คือ การลงไปศึกษาเรียนรู้จากชุมชน ให้ชุมชนบอกว่าปัญหาคืออะไร ความต้องการของชาวบ้านคืออะไร พระเจ้าอยู่หัวทรงทำให้เห็นมาตลอด..." (คลิกอ่านที่นี่ และนที่นี่ครับ)

ท่านเรียกองค์ความรู้จากโครงการพระราชดำริขององค์สมเด็จย่าว่า "ศาสตร์สมเด็จย่า" และเช่นเดียวกันท่านเรียก "ศาสตร์พระราชินี" และ "ศาสตร์สมเด็จพระเทพฯ" กับโครงการตามพระราชดำริของแต่ละพระองค์

ผมอ่านบทสัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.ดิศนันดา ดิสกุล แล้วสังเคราะห์เกี่ยวกับ ศาสตร์พระราชาในการลงไปช่วยแก้ปัญหาของประชาชน ที่ท่านเน้นย้ำมากๆ ดังนี้

  • ต้องลงไปดูก่อนว่าปัญหาของชาวบ้านคืออะไร ความต้องการคืออะไร
  • เมื่อรู้ปัญหาของเขา ให้เราเป็นเสนาธิการให้เขา เป็นลูกน้องชาวบ้าน คือให้เรานำมาคิด เอาศาสตร์ต่างๆ มาแก้ไข มาศึกษาอย่างถ่องแท้
  • เมื่อศึกษาข้อมูลอย่างถ่องแท้แล้ว ก็นำผลการศึกษาส่งคืนให้ชุมชนว่า จากศาสตร์พระราชา สมเด็จย่า พระราชินี หรือศาสตร์สมเด็จพระเทพฯ น่าจะแก้ปัญหาอย่างนี้ๆ ดังตัวอย่างโครงการนี้ แล้วถามว่า คุณเชื่อไหม? คุณเอาไหม?
  • ุถ้าชาวบ้านเอา ก็พาเขาไปดูโครงการของพระองค์ท่าน ให้ได้ไปเห็น ไปสัมผัส ให้ได้ตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ ... ท่านบอกว่า ชาวบ้านไม่โง่ ต้องบอกว่า "โคตรฉลาด" เพียงแต่ขาดโอกาสในการเรียนรู้


โดยสรุป คำว่า "ศาสตร์พระราชา" ก็คือองค์ความรู้ของพระราชา คือองค์ความรู้ของในหลวง ที่ทรงช่วยเหลือปวงชนคนไทย ผู้อ่านควรเริ่มศึกษาศาสตร์พระราชา จากข้อมูลที่ กปร. สรุปไว้ที่นี่ ตั้งแต่แนวคิดและทฤษฎี ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักการทรงงาน ขั้นตอนการทรงงาน และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหมด


กรณีตัวอย่าง "ศาสตร์พระราชา" ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา (ห่างจากกรุงเทพฯ

เพียง ๑:๓๐ นาที ห่างจากมหาสารคามประมาณ ๕ ชั่วโมง) ผมฟังความเห็นจากผู้ใหญ่หลายท่านบอกตรงกันว่า ที่นี่เป็นศูนย์ศึกษาพัฒนาการที่สมบูรณ์พร้อมสำหรับการเรียนรู้ศาสตร์พระราชามากที่สุด เนื่อง ณ ที่นี้มีผลลัพธ์เชิงประจักษ์ให้เห็นกับตาว่า ศาสตร์พระราชาสามารถช่วยฟื้นสภาพจาก "ป่าหาย น้ำแห้ง ดินเลว" กลายเป็นสวนป่าสีเขียว เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศธรรมชาติเป็นแหล่งเรียนรู้การนำศาสตร์สากลมาหนุนนำศาสตร์ชุมชนจนผู้คนประชาชนในพื้นที่ได้รับ "ประโยชน์สุข" กันถ้วนทั่ว


วิทยากรเล่าว่า แต่ก่อนโน้นเมื่อ ๗๐ - ๘๐ ปีที่แล้วแถวนี้เป็น่าที่อดุมสมบูรณ์มาก เรียกว่าป่าพนมสารคามเทียบเท่ากับเขาใหญ่ในสมัยนี้ทีเดียว มีพื้นที่ติดกับนหนองพอกอ่างลือไนที่มีป่ามีช้างเกือบ ๓๐๐ ตัว ต่อมามีการสัมปทานป่าไม้ไม้ขนาดใหญ่ถูกทำลายอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านเข้ามาถากถางจับจองพื้นที่ตัดไม้ขนาดกลางแล้วเผาเอาพื้นที่เพาะปลูก ปลูกอะไรๆ ก็งาม ข้าวโพดผักใหญ่ปลูกมันสัมปะหลังหัวใหญ่ไม่ต้องใส่ปุ๋ย เมื่อเวลาผ่านไปพื้นที่นี้กลายเป็นดินเสื่อมโทรม เป็นดินปนทราย แม้แต่มันสัมปะหลังยังปลูกไม่ขึ้น ดังเรื่องเล่าที่ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ที่มูลนิธิยุวสถิรคุณได้ถอดเทปออกเผยแพร่ ตอนหนึ่งว่า...


"....สมัยก่อนที่นั่นเป็นดินปนทราย ปลูกได้อย่างเดียว คือ มันสัปะหลัง แล้วสมัย ๓๐ ปีก่อนโน้น ถ้าปีไหนราคามันต่ำกว่าบาทนึง ชาวบ้านเขาบอกผมเองครับเขาบอกว่าต้องปล้นกินครับ ใครขับรถผ่านก็เอาปืนแก๊บไปยิงให้รถคว่ำ แล้วก็เอาของในรถ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้วทำตามโครงการพระราชดำริที่ไปช่วยชาวบ้าน ผมไปเยี่ยมชาวบ้าน เขาบอกว่าเดี๋ยวนี้ผมส่งลูกเรียนมัธยม เรียนอุดมศึกษาได้แล้วครับโดยเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้...."



ปี ๒๕๒๒ กำนันผู้ใหญ่บ้านและราษฎรรวม ๗ ราย ได้รวมตัวกันถวายที่ดินผืนแรก ๒๖๔ ไร่ ให้กับในหลวง ด้วยหวังให้ทรงสร้างเป็นพระตำหนักที่ประทับเพราะคุยกันว่าในหลวงเสด็จไปที่ใดที่นั่นจะเจริญรุ่งเรือง ทรงถามราษฎรผู้ถวายว่า "ถ้าไม่สร้างพระตำหนักแต่จะสร้างเป็นสถานที่ที่จะศึกษาเรื่องการเกษตรจะเอาไหม เขาตอบว่าก็ยินดี..." จึงทรงให้สร้างเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนา เกิดเป็นแหล่งสาธิตศาสตร์พระราชา ทรงใช้เวลา ๑๕ ปีทำให้เกิดศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่อุดมสมบูรณ์แผ่ขยายออกไปถึงไกลกว้างถึง ๑,๘๙๕ ไร่ เช่นทุกวันนี้

(อ่านประวัติความเป็นมาอย่างละเอียดได้ที่นี่ครับ)

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ เป็นตัวอย่างของการทำงานอย่างเป็น "องค์รวม" มองทุกอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยง ส่งเสริม สนับสนุน สร้างทุนให้พื้นที่ทั้งป่าไม้ ดิน น้ำ จนสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน การทำงานร่วมกันของ ๔ กระทรวง ๑๒ หน่วยงาน ได้แก่ พัฒนาที่ดิน วิชาการเกษตร ส่งเสริมและพัฒนา ส่งเสริมสหกรณ์ ส่งเสริมการเกษตร ปศุสัตว์ งานประมง งานชลประทาน งานสวนพฤษาศาสตร์ สวนรุกขชาติ งานเพาะชำกล้าไม้ งานพัฒนาชุมชน และวิทยาลัยการเกษตร หรือเรียกหลักการทรงงานนี้ว่า One Stop Service คือ เบ็ดเสร็จในที่เดียว เป็นทั้งแหล่งผลิต ศึกษา วิจัย และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจให้ผู้มาพักท่องเที่ยว

ตลอดการเข้าค่าย ผมตั้งคำถามในใจหลายข้อ เพื่อคลายความสงสัยแกมความประทับใจว่า ทรงทำได้อย่างไร เปลี่ยนจากผืนทรายให้กลายเป็นสีเขียว ท่านทรงทำสิ่งใดก่อน ทำสิ่งใดตามมา คือลำดับขั้นตอนในการพัฒนา จึงทำให้ดินทรายกลายมาสมบูรณ์แบบนี้

สะท้อนการเรียนรู้จากการดูงานครั้งแรก

สิ่งที่ได้เรียนรู้มีมาก แต่หากสังเกตว่าอันไหนคือความรู้ใหม่ อันไหนคือความประทับใจที่สุด สำหรับผมแล้วมีดังนี้ครับ

  • ผมไม่เคยไป เมื่อมาจึงได้เห็น เมื่อได้เห็นจึงหมดคำถามว่า "อยู่ที่ไหน เดินทางมาได้อย่างไร มัลักษณะอย่างไร ฯลฯ"
    • ... ซึ่งคนที่ไม่เคยไป คงไม่สามารถเข้าใจได้จากการอ่านและดูภาพ ... ดังนั้น วิธีเดียวที่จะทำให้นักเรียน ได้เข้าถึงความเข้าใจเหล่านี้ คือ ครูหรือผู้ปกครองต้องพาไปครับ
    • ... เมื่อเขียนถึงตรงนี้ ความคิดก็ผุดธรรมะของหลวงพ่อชา ท่านว่า "... ใครที่มวัดหนองป่าพงในวันนี้ ก็หมดคำถาม ไม่ต้องถามอีกว่า วัดหนองป่าพงอยู่ที่ไหน มีลักษณะเป็นอย่างไร เพราะได้เห็นด้วยตนเองแล้ว....
  • หลังจากศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบดีแล้ว ในหลวงทรงเริ่มจาก "น้ำ" ทรงให้ขุดอ่างห้วยเจ็คขึ้นเพื่อเก็บน้ำไว้ โดยจัดให้เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของที่ดินที่ได้รับถวายมา ... ตรงนี้ผมตีความว่า ท่านทรงคิดไกลไปถึงว่า ขนาดของอ่างคงต้องใหญ่เพียงพอที่จะเก็บน้ำไว้ได้ตลอดปีให้เหมาะสมกับปริมาณฝนที่มี และคงมีแผนที่จะขยายพื้นที่ออกไปอีกและรวมเอาสวนสมุนไพรรุกขชาติเข้าด้วย และตอนหลังท่านทรงใช้ทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ขยายเพิ่มเติมอีก
  • สิ่งที่สองที่ต้องทำหากจะนำเอาตัวอย่างเขาหินซ้อนไปใช้คือ "ปลูกต้นไม้" ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นสวนป่า มีนานาพันธุ์พืชอยู่เต็มพื้นที่ เรียกว่า "สวนป่า" ไม้ ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง
  • ผมตั้งคำถามในใจด้วยว่า หากไม่มี "ศูนย์รวมใจ" เหมือนในหลวง หน่วยงานต่างๆ จากหลายกระทรวง จะมาร่วมใจ ทำงานประสานกันได้อย่างนี้หรือไม่ ... หากทุกหน่วยงานของราชการไทย นำเอาตัวอย่าง "ศาสตร์พระราชา" ข้อนี้ว่า "One Stop Service" นี้ไปใช้ คงจะเจริญจากความสามัคคีได้แน่

อ่างห้วยเจ็ค

หมายเลขบันทึก: 591192เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2015 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2018 10:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท