ความในใจ Peaceful Mind สายธารทางจิตวิญญาณ


คุณก้อย(สรินยา)โทรหาในช่วงเย็นวันหยุด ช่วงอยู่ในวัดไม่ได้รับสายพอออกจากวัดข้อความโทรศัพท์ก็ขึ้นโชว์ จึงได้ติดต่อกลับไป

แม้ว่าสัญญาณอาจไม่ชัดเจน ก็พอจับใจความได้ว่า …ในงาน R2R Forum ปี 58 ที่จัดขึ้นตรงกับวันที่ 22-24 กรกฎาคม พ.ศ.2558 มีช่วงเวลาในวันที่ 23 กค ที่คุณก้อยเชิญชวนให้นำเรื่องราวและการเชื่อมโยง R2R บูรณาการเข้าไปในงาน "หมอครอบครัว" … ซึ่งข้าพเจ้ามีความคิดความเชื่อว่า "R2R" เป็นเครื่องมือที่ช่วยตอบโจทย์การทำงานในพื้นที่ และสามารถช่วยให้สายธารแห่งการงานเกิดคุณค่าและความหมาย

แต่เมื่อมาวิเคราะห์กระบวนการทำงาน พบว่า ความเป็นจริงในการทำงานของหมอครอบครัวยังมีปัญหาและอุปสรรค หรือ GAP อีกหลายประเด็น และบางประเด็นสามารถนำไปสู่การตั้งคำถามการวิจัยเพื่อนำไปสู่คำตอบแห่งการคลี่คลายปัญหานั้น

การปฏิบัติที่พบ … การส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลแม่ข่ายและชุมชน ดูเหมือนง่าย

แต่ในทางปฏิบัติ พื้นที่หลายแห่ง ผู้ป่วย ครอบครัว หมอครอบครัว และชุมชนต่างช่วยเหลือกันตามยถากรรมเนื่องด้วยมีข้อจำกัด

ทำไปท้อแท้ เหนื่อยหน่าย และมองเห็นสิ่งที่กำลังทำเป็นทุกข์หนัก

เมื่อวิเคราะห์พบว่า … รอยต่อนั้นมีสิ่งที่มาขวางกั้น

***ประเด็นแรกเลยที่สำคัญ คือ การเชื่อมต่อข้อมูลในการดูแลผู้ป่วยและการมีที่ปรึกษาที่สามารถเข้าถึงกันได้

ข้าพเจ้าลองมานิยามคำว่า "เข้าถึง" … หากเป็นการเข้าถึงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นกัลยาณมิตร จะทำให้การพูดคุย เกื้อกูลและช่วยเหลือลื่นไหล เป็นดั่งสายธาร จึงได้ทดลองตั้งกลุ่ม "Peaceful Mind Healing" ขึ้น โดยมีจิตอาสาที่มีทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัช นักสาธารณสุข และกัลยาณมิตรที่หลากหลาย ที่ไม่ใช่มาจากสังกัดเดียวกันหรือหน่วยงานเดียวกัน หากแต่เป็นชักชวนกันแบบบอกต่อๆ กันจากหลายมุมในประเทศไทยและที่สำคัญมีใจที่จะแบ่งปันเป็นวิทยาทาน

มีเครื่องมือที่ใช้สื่อสาร กันเช่น ไลน์กลุ่ม เฟสบุ๊ค อีเมล์ และการพบปะกัน

หลังจากใช้แนวคิดนี้ในการขับเคลื่อน กระบวนการช่วยเหลืออื่นๆ ก็เกิดขึ้น ที่เพิ่มเติมจากการให้คำปรึกษา เช่น การชวนกันมองปัญหา วิเคราะห์ปัญหา การลงมือช่วยเหลือคนไข้ร่วมกัน และการส่งต่อแบบเรียนรู้ร่วมกัน

ปรากฏการณ์ "คนไข้เข้าถึงระบบบริการ" และการช่วยเหลือตรงจุดตรงเป้าปัญหา มองเห็นภาพชัด มิติทางจิตใจได้รับเต็มเปี่ยม พลังใจในการทำงานของทีมหมอครอบครัวเกิดพลังอย่างมหาศาล

ในทัศนะข้าพเจ้ามองว่า มันช่างเยี่ยมยอดมาก จึงลองสกัดภาพออกเป็นโมเดล

ใครมีประเด็น ก็จะนำมาสื่อสารในกลุ่ม

ใครเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในเรื่องไหน ก็มาปรึกษาหารือร่วมกัน

การให้กำลังใจ การชื่นชม และเกื้อกูลกัน เป็นผลลัพธ์ที่ทำให้เกิดผลการทำงานของ "ทีมหมอครอบครัว" สามารถดำเนินไปได้อย่างไร้รอยต่อและไม่สะดุดติดขัด

"จิตสาธารณะ" … "จิตอาสา" … "จิตที่มีการให้เป็นนิจ" …"จิตที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาและกรุณา"...

หรืออะไรก็แล้วแต่ ต่างเป็นพลังแห่งดวงจิตด้านบวกที่เปี่ยมด้วยปัญญาและเมตตา มาเกื้อกูล เกื้อหนุน และช่วยเหลือกัน

ในงานมหกรรม R2R …ตามที่คุณก้อยเชิญ

ข้าพเจ้าจึงได้ค้นหาทีมวิทยากรที่มีประสบการณ์ เรื่องราว และมุมมองที่งดงามมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

ท่านแรก …หมอหัวใจพระ นพ.สุพัฒน์ ใจงาม ผอ.รพ.ปางมะผ้า หมอชาวดอยที่เต็มไปด้วยโพธิจิต ในการช่วยเหลือผู้ป่วย ประวัติ และวิถีแห่งการงานของหมอท่านเต็มไปด้วยความน่าทึ่งและประทับใจในความมุ่งมั่น

ท่านที่สอง... ผู้รับผิดชอบและเป็นกำลังสำคัญในเครือข่ายหมอครอบครัว รองสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธร หญิงสาวตัวเล็กๆ …แต่ใจใหญ่ลึกซึ้งและนุ่มนวล นำพาทีมหมอครอบครัวลุยงานอย่างไม่ย่อท้อและขยับไปเป็นภาพรวมของอำเภอและเชิงระบบอย่างชัดเจน

ท่านที่สาม...อ.ชลิยา วามะลุน รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี ผู้ขับเคี่ยวกับงาน Palliative Care มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และยังเป็นผู้ร่วมผลักดันนำ R2R เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการทำงาน Palliative Care

ทั้งสามท่านต่างมีการนำ R2R มาบูรณาการร่วมการทำงานมาหลายปี

และอีกท่านหนึ่งที่มีความหมาย อ.จตุพร วิศิษฎ์โชติอังกูร...Facilitator และ Coaching รวมทั้งความเป็นนักถอดบทเรียนอันดับต้นๆ ในวงการ KM อีกท่านหนึ่งที่จะมาร่วมให้คุณค่าและความหมายของ "Peaceful Mind สายธารทางจิตวิญญาณสู่การทำงานของหมอครอบครัว" โดยมี R2R มาใช้เป็นเครื่องมือร่วมด้วย


หมายเลขบันทึก: 591122เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2015 21:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2015 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจมากนะคะ คนดังและดีมาพบกันค่ะ

จะรออ่านนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท