การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนในท้องถิ่น


การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนในท้องถิ่น

11 มิถุนายน 2558

สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ [1]

ปัญหาเรื่อง “สิทธิชุมชน” ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้ “พลเมืองเป็นใหญ่” ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรมองไปที่ท้องถิ่น ในประเด็นปัญหาภาคเกษตรกรรมที่สำคัญปัญหาหนึ่ง ก็คือ ปัญหาการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินของกลุ่มเกษตรกรที่มีจํานวน 1 ใน 3 ของประชากรรวมทั้งประเทศ เป็นชาวไร่ชาวนาผู้ประกอบการ “รายย่อย” เกษตรกรไม่มีที่ดินถือครอง ต้องเช่า หรือต้องบุกรุกป่า หรือที่ดินของรัฐ ซึ่งจะทำให้ “พลเมือง” และ “ชุมชน” ไม่เข้มแข็ง ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีกลไกสำคัญ คือ “สิทธิชุมชน” [2] และ “โฉนดชุมชน” [3] ซึ่งหลักการสำคัญสองประการนี้เป็นสิ่งใหม่ที่ได้บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 287 (1) (4) และ มาตรา 293 (2)

ข้อมูลปี 2548 แบ่งกลุ่มประเภทผู้ครอบครองที่ดินเป็น 3 กลุ่ม [4]

(1) กลุ่มผู้ได้รับการจัดสรรแบบถูกกฎหมาย กล่าวคือ เป็นราษฎรที่มีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรอย่างแท้จริง มีที่ดินในความดูแลไม่เกิน 50 ไร่ และใช้พื้นที่ทำการเกษตรกรรม มีการแจกเอกสารสิทธิไปแล้ว 25 ล้านไร่ ผู้ได้รับจัดสรรสิทธิ 1.6 ล้านคน

(2) กลุ่มผู้ครอบครองที่ดินแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวคือ เป็นราษฎรที่มีจำนวนที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ และใช้พื้นที่ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ไม่ได้เป็นเกษตรกรอย่างแท้จริงแต่ประกอบอาชีพอย่างอื่น อาทิ เป็นภารโรง อาจารย์ เจ้าของกิจการทั่วไป และ

(3) กลุ่มผู้ครอบครองที่ดินแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างชัดเจน กล่าวคือ ไม่ได้เป็นเกษตรกร มีที่ดินในความครอบครองเกิน 50 ไร่ และไม่ได้ใช้พื้นที่ทำประโยชน์ด้านเกษตรกรรมมีหลายล้านไร่

ข้อมูลพื้นที่การถือครองที่ดินที่น่าสนใจ [5]

(1) ข้อมูลด้านพื้นที่ (2552) ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 130 ล้านไร่ (40.62 %) เป็นพื้นที่ป่าประมาณ 100 ล้านไร่ (31.25 %) ข้อมูลกรมป่าไม้ล่าสุด (2558) ชื่นใจหน่อย ประเทศไทยมีป่าอยู่ 37 % อยู่ในภาคเหนือสูงสุด 56 % อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือน้อยที่สุด 16 %

ข้อมูลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(2551) พบว่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า) มีราษฎรทำกินและอยู่อาศัย 14,298 ชุมชน รวมพื้นที่ 8.50 ล้านไร่ มีประชาชนอาศัยอยู่ ไม่น้อยกว่า 750,000 ราย

ข้อมูลปี 2554 มีประชาชนกว่า 1.15 ล้านรายที่อาศัยและทำกินในพื้นที่ของรัฐ 21 ล้านไร่

(2) ข้อมูลด้านการถือครอง ข้อมูลปี 2547 มีประชาชน (รวมนิติบุคคล) ไม่ถึง 73,000 ราย ที่ถือครองที่ดินมากกว่า 50 ไร่ในประเทศไทย ในปี 2547 การขึ้นทะเบียนคนจนทั่วประเทศของศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ(ศตจ.) มีคนจนและเกษตรกรรายย่อยยืนยันต้องการความช่วยเหลือ 2,217,546 ราย จำแนกเป็น ไม่มีที่ดินทำกิน จำนวน 889,022 ราย มีที่ดินทำกินแต่ไม่เพียงพอ จำนวน 517,263 ราย มีที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ 811,279 ราย

พบว่า (2552) ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศประมาณ 90 % มีที่ดินถือครองแค่ไม่ถึง 1 ไร่ ในขณะที่ประชาชนกลุ่มเล็กที่เหลือ 10 % มีที่ดินถือครองคนละ มากกว่า 100 ไร่ นอกจากนี้ยังพบว่า มีเกษตรกรและคนไร้ที่ดิน (ทะเบียนคนจนมหาดไทย) จำนวนไม่น้อยกว่า 3.2 ล้านครอบครัว หรือประมาณ 9.6 ล้านคน

ข้อมูลปี 2558 พบว่า ปัญหาเรื่องที่ดินมีประชาชน 811,892 ครอบครัวที่ไม่มีที่ดินและอีก 1.5 ล้านครอบครัวที่ต้องเช่าที่ดินเพื่อการทำกิน

ข้อมูลโดยสรุปพบว่า มีเกษตรกรประมาณ 2 ล้านครอบครัวหรือ 10 ล้านคน ไม่มี “ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน”

ปัญหาข้อเท็จจริงในท้องถิ่น

ปัญหาการทำกินในที่ดินของชุมชนเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานปัญหาหนึ่งที่สำคัญก็คือ หมู่บ้านชุมชนตั้งมานาน จนกระทั่งป่าสงวนหมดสภาพแล้ว ทั้งกรณีก่อน/หลังประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 หรือ กรณีที่มีปัญหาว่าทางราชการได้ตราเขตป่าไม้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตอุทยาน ครอบที่ดินของหมู่บ้านชุมชนที่มีมาแต่เดิม

แต่ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 [6] กำหนดให้ใช้เกณฑ์การพิสูจน์สิทธิว่าชาวบ้านอยู่ก่อนหรือหลังปีที่มีการประกาศเขตป่า (ทั้งป่าสงวนฯ และป่าอนุรักษ์) และให้ชะลอการจับกุม เพื่อรอการพิสูจน์สิทธิ แต่ก็มิได้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น ปัญหา จนท.รัฐไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้, ภาครัฐไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง, ราษฎรไม่สามารถหาพยานหลักฐานใดมาหักล้างว่าได้อยู่ทำกินในที่ดินมาก่อนปี พ.ศ. 2507, ปัญหาการเรียกเก็บค่าภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) ทำให้ราษฎรเข้าใจผิดว่าเป็นเอกสารสิทธิ์ และมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกัน ทำให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ฯลฯ เป็นต้นนอกจากนี้ยังมีการซื้อขายเปลี่ยนมือเอกสาร สปก. 4-01 เอกสาร สทก. (หนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ และอยู่อาศัยภายในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ) ในเขตพื้นที่ป่าที่มีการมอบเอกสารให้แก่ประชาชนโดยนายทุนนักธุรกิจโดยทั่วไปแม้จะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่ก็ถือกันเป็นเรื่องปกติ ที่รัฐไม่มีมาตรการใด ๆ ในการห้ามปราม หรือจำกัดสิทธิ์แต่อย่างใด [7]

การแก้ไขปัญหาปัจจุบันของรัฐบาล คสช.

หลักการสำคัญของการกระจายการถือครองที่ดิน ถือว่าที่ดินคือสวัสดิการสังคม [8] ที่รัฐต้องจัดให้เกษตรกรทุกคน บนพื้นฐานความเป็นธรรมที่ว่า ที่ดินไม่ใช่สินค้า หากคือทรัพยากรเพื่อการผลิตอาหารที่สำคัญของสังคม สังคมจึงต้องมีการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม ให้คนจนและเกษตรกรรายย่อยมีที่ดินเป็นของตนเอง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงในที่อยู่อาศัยให้กับคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ

ฉะนั้น นโยบายการปฏิรูปที่ดินโดยจัดระบบที่ดินของรัฐเสียใหม่ การสำรวจตรวจสอบเรียกคืนที่ดินของรัฐที่สูญเสียไปด้วยเหตุการทำหลักฐานเอกสารสิทธิ์โดยทุจริต การสกัดกั้นผู้บุกรุกรายใหม่ และการจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ป่าสงวนที่เหลืออยู่ รวมพื้นที่ป่าสงวนที่ถูกบุกรุกใหม่ หรือพื้นที่ป่าสงวนที่เป็นป่าเสื่อมโทรม ทั้งพื้นที่อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และ ป่าชุมชน รวมทั้งการวางมาตรการการปลูกป่า จึงมีความจำเป็น

นโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ [9] ส่งผลให้ที่ดินทำกินที่ถูกบุกรุกทำลายจำนวนมากถูกเจ้าหน้าที่รัฐยึดกลับคืนมา ซึ่งมุ่งดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก ยึดถือครอบครอง ทำลาย หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่า โดยมอบหมายให้กระทรวงกลาโหม/กระทรวงมหาดไทย/สำนักงานตำรวจแห่งชาติ/กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม/กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย/กองกำลังป้องกันชายแดนของกองทัพบก/และกองทัพเรือ/ตลอดจนหน่วยงานที่มีภารกิจและอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้

กรณีตัวอย่างตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน [10] อาจมีผลกระทบต่อผู้ประสบปัญหาที่ดินทำกินเพื่อยังชีพ เช่น กลุ่มชาวเขา (กลุ่มผู้ด้อยโอกาส) [11] กลุ่มผู้ยากไร้ กลุ่มคนจน ดังรายละเอียดตัวอย่างในคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกรณีชาวเขา (กลุ่มผู้ด้อยโอกาส) ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า ในข้อ 2 กล่าวคือ

“2. ให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ยึดถือนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ดังนี้

2.1 การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

2.2 การดำเนินการเร่งด่วนในปัจจุบัน คือ การป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด

2.3 การดำเนินการแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมาตั้งแต่เดิมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณากำหนดมาตรการและวิธีดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพื่อเสนอขออนุมัติจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยด่วน

ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินโดย “สิทธิชุมชน”

ในระยะยาว การดำเนินการตามนโยบาย คสช. ตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ คำสั่งที่ 66/2557 จึงอาจมิใช่การแก้ไขปัญหาอย่างถาวรยั่งยืนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดระบบที่ทำกินแก่เกษตรกรเสียใหม่ และปฏิรูปการถือครองที่ดิน โดยการจัดสรรที่ดินในรูปของการนำที่ดินของรัฐทุกประเภทเพื่อมาจัดสรรให้เกษตรในรูปของ “กรรมสิทธิ์ชุมชน” หรือ “กรรมสิทธิ์รวม” ซึ่งถือเป็น “กรรมสิทธิ์เชิงซ้อน” โดยมอบหมายให้ “ชุมชน” ดำเนินการจัดการเพื่อมิให้ที่ดินตกไปอยู่ในมือของนายทุน และในขณะเดียวกันก็ต้องหาวิธีให้ที่ดินนั้นสามารถนำมาเป็น “สินทรัพย์” เพื่อการประกอบการหรือลงทุนรายย่อยได้ด้วย ในรูปของ “โฉนดชุมชน”

ปัจจุบันมีกฎหมายรองรับการดำเนินการคือ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553” [12] ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนพิเศษ 73 ง วันที่ 11 มิถุนายน 2553 ซึ่งต่อไปเห็นสมควรตราเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ คือ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน พ.ศ. …” หรือ “ร่างพระราชบัญญัติสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน พ.ศ. ...[13]

ด้วยเหตุผลประการสำคัญคือ การให้เกษตรที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ที่มีจำนวนมาก แต่การถือครองที่ดินมีน้อย หรือ ส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินถือครอง ทำให้เกิดปัญหาในการ “ผลิต” ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตการดำรงชีพของกลุ่มเกษตรกรประชาชนส่วนใหญ่เหล่านั้น

มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงที่จะต้องได้รับการผลักดันร่างกฎหมายนี้ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้กฎหมาย “โฉนดชุมชน” มีประสิทธิภาพคือ

1. ร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน พ.ศ. ... [14] เพื่อเป็นการสนับสนุนที่ดินจัดที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน และ สามารถใช้ที่ดินนั้นเป็นหลักทรัพย์นำไปค้ำประกันสินเชื่อจากธนาคารที่ดินได้

2. ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า พ.ศ. ... หรือร่างพระราชบัญญัติจัดเก็บภาษีที่ดิน โดยผ่านธนาคารที่ดิน เป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรและคนยากจนสามารถเข้าถึงที่ดินทำกินและที่ดินสำหรับอยู่อาศัย และสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นในอีกทางหนึ่ง

3. ร่างพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. .... ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ยากไร้ในการต่อสู้คดีเกี่ยวกับที่ดินและป่าไม้ในกระบวนการยุติธรรม

ผู้เขียนขอชื่นชม และหวังเป็นอย่างยิ่งให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ปฏิบัติการได้เป็นผลสำเร็จ ในสิ่งอันเป็นปัจจัยพื้นฐานการผลิต “ของเกษตรกร” ซึ่งเป็นคนรากหญ้าและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ลืมตาอ้าปาก มีสิทธิ์ในที่ดินเพื่อการทำมาหากินไปตลอดรุ่นชั่วลูกชั่วหลาน อีกทั้งการเรียกกลับคืนที่ดินของรัฐ โดยเฉพาะการคืนที่ป่าคืนจากบรรดามิจฉาชีพที่ทุจริตโกงกินชาติบ้านเมืองไป ได้กลับคืนมาทั้งหมด รวมทั้งการลงโทษบุคคลผู้ทุจริตดังกล่าวนั้นด้วย ขอเชิญชวนให้พี่น้องทุกคนได้เป็นกำลังใจ



[1] สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน 2558 ปีที่ 65 ฉบับที่ 22690 หน้า 10 <การเมืองท้องถิ่น> & #‎สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์‬ ปีที่ 62 ฉบับที่ 39 วันศุกร์ที่ 12 - วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558 < หน้า 80 > ‪#‎เจาะประเด็นร้อนอปท‬. : ‪#‎การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนในท้องถิ่น‬

[2] “สิทธิชุมชน หรือ Community Rights” หมายถึง หมู่ชน กลุ่มคนที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม มีขอบเขตเป็นชุมชนใดชุมชนหนึ่งหรือหลายชุมชนหรือหลายกลุ่มชาติพันธุ์ โดยไม่จํากัดเฉพาะกลุ่มคนในชนบทเท่านั้น แต่จะรวมถึงกลุ่มคนในเมืองด้วยกลุ่มคนเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์ทางสังคม มีวัฒนธรรมร่วมกัน มีการจัดสรรการใช้ทรัพยากรและมีผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งกลุ่มคนนั้นมีอํานาจอันชอบธรรมถูกต้องตามกฎเกณฑ์ ประเพณีหรือข้อตกลงที่บุคคลในสังคมยึดถือร่วมกันดูใน จุลสารเรื่อง “สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ”, จัดทําโดยกลุ่มงานผลิตเอกสารสํานักประชาสัมพันธ์ สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2555, หน้า 17, http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/download/article/article_20120829143243.pdf

[3] ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 ข้อ 3 “โฉนดชุมชน” หมายความว่า หนังสืออนุญาตให้ชุมชนร่วมกันบริหารจัดการ การครอบครองที่ดินและใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐเพื่อสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของชุมชน ซึ่งชุมชนมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยกฎหมาย และระเบียบนี้

[4] “ปัญหาที่ดินที่ ส.ป.ก.ได้รับมอบมาจากกรมป่าไม้เพื่อนำมาจัดสรร (ส.ป.ก.4-01)”, มติชนรายวัน 9 กุมภาพันธ์ 2548

[5] ดูข้อมูล นริศรา เพชรพนาภรณ์, เรื่องการปฏิรูปที่ดิน, งานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ คณะอนุกรรมการฝ่ายข้อมูล สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ออกอากาศรายการร้อยเรื่องเมืองไทย สถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภาเมื่อ 7 มีนาคม 2558, http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nrcinf/nrc2557-r070358.pdf & “การถือครองที่ดินในประเทศไทย” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนพิเศษ 68 ง หน้า 57 วันที่ 31 พฤษภาคม 2553& สกลฤทธิ์ จันทร์พุ่ม, “โฉนดชุมชน”, ชุดหนังสือ การสำรวจองค์ความรู้เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย, 2556, http://www.4laws.info/?ddownload=69 & ปิยาพร อรุณพงษ์, คู่มือการปฏิรูปที่ดิน, สำนักงานปฏิรูป (สปร.), 2555, http://www.lrct.go.th/th/?wpfb_dl=369 & คปท.เสนอ “ยิ่งลักษณ์” ปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดิน, ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ), 9 สิงหาคม 2554, http://www.prachatai.com/journal/2011/08/36420 & ข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ( คปท.) ต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, 9 มกราคม 2552,http://www.oknation.net/blog/landreformnetwork/2009/01/09/entry-1

& ดู ต่างชาติเขมือบ ฮุบ100ล.ไร่ ห่วงไร้แผ่นดินอยู่, ไทยรัฐออนไลน์, 12 มีนาคม 2555, http://www.thairath.co.th/content/244863

... วันที่ 12 มี.ค. 2555 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา จัดสัมมนาเรื่องนิติกรรมอำพราง : ต่างชาติกับการถือครองที่ดิน โดยนายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ปัญหาความมั่นคงของประเทศไทยมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ 1. ความมั่นคงทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหายาเสพติด เพราะกำลังบั่นทอนบุคลากรของประเทศในระยะยาว 2. ที่ดิน โดยมีปัญหาว่าเราส่งต่อให้รุ่นลูกหลานอย่างไร เนื่องจากตอนนี้ที่ดินกว่า 1 ใน 3 ของประเทศไทย หรือคิดเป็นประมาณ 100 ล้านไร่ อยู่ในมือของต่างชาติ แสดงให้เห็นว่าเป็นการแย่งดินแดน โดยใช้ระบบเศรษฐกิจและช่องโหว่ของกฎหมาย ปัญหานี้มีมานานแล้วตั้งแต่อดีต เพราะเราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติ ช่วงปี 2540 ได้เปิดช่องให้ชาวต่างชาติมีเงินเพียง 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้ามาถือครองที่ดินได้เป็นกรณีพิเศษ ทำให้ ณ วันนี้ มีที่ดิน 1 ใน 3 ของประเทศถูกถือครองอำพรางโดยต่างด้าว คิดเป็นประมาณ 100 ล้านไร่ ตัวเลขนี้มาจากการทำงานวิจัยของสถาบันการศึกษา ที่น่ากลัวที่สุดคือ ที่ดินแถบชายทะเล เช่น หาดบ้านเพ จ.ระยอง พบว่าเป็นของต่างชาติกว่า 90% เช่นเดียวกับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พัทยา จ.ชลบุรี น่าจะอยู่ในมือต่างชาติประมาณ 30% ส่วนภูเก็ต เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ไม่ต้องพูดถึง

[6] กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพืชพันธุ์, มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการลุ่มน้ำ, มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ให้ความเห็นชอบกับ “มาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ และให้ดำเนินการต่อไป” สำหรับมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้, วันที่ค้นข้อมูล 9 มิถุนายน 2558 เข้าถึงได้จาก : http://www.dnp.go.th/watershed/gov2.htm

[7] ตัวอย่างกรณีศึกษา (1) กรณีศึกษาการจัดการที่ดินทำกินของบุคคลไม่มีสัญชาติไทย ดูใน ศิวนุช สร้อยทอง, “กรณีศึกษา “สิทธิในการจัดการที่ดินทำกิน” ของผู้มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมาย : น้องเนาะดา นางสาวพรชนก ไม่มีนามสกุลและครอบครัว คนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงไร้สัญชาติ ซึ่งทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน มาตรา 23 ณ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก”, 7 มิถุนายน 2558, https://drive.google.com/file/d/0BykmbcfPzlSmcjN2NmhVdWxlZWM/view?usp=sharing (2) ข่าวกรณีพิพาทที่ดิน สปก. และการออกโฉนดชุมชนของชุมชนคลองไทรพัฒนาต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ดูใน “ติดตามคดีสังหารสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ปมปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.”, สำนักข่าวพลเมือง โดย c-editor, 2 มิถุนายน 2558, http://www.citizenthaipbs.net/node/5509 (3) ข่าวการต่อต้าน คสช. ในนโยบายขับไล่ชาวบ้านที่ยากจนออกจากที่ดินที่พวกเขาทำมาหากิน ดูใน “แถลงการณ์ร่วมภาคประชาสังคม ประเทศไทย ต่อคณะกรรมการสิทธิเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม”, อ่านโดย นางสาวณัฐาศิริ เบริก์แมน และนางอังคณา นีละไพจิตร ณ นครเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์, 1 มิถุนายน 2558, http://prachatham.com/article_detail.php?id=298 (4) ข่าว “ประชาชนมากกว่า 2 ล้าน 7 แสนคน ไม่มีเอกสารสิทธิ” ดูใน “กสม.ชี้นโยบาย คสช.แก้ปัญหาที่ทำกินไร้ผล”, เดลินิวส์, 21 พฤษภาคม 2558, http://www.dailynews.co.th/politics/322724 (5) ข่าวกรณีการบุกรุกทำลายป่าเพื่อปลูกข้าวโพดป้อนบริษัทนายทุน ดูใน “ข้าวโพดมาป่าหมด” 6 เรื่องราวเกี่ยวกับข้าวโพดที่(คาดว่า)คุณอาจยังไม่รู้ ?, ในเวบกฎหมาย 4 ฉบับเพื่อคนไทยเท่ากัน, 1 ธันวาคม 2557, http://4laws.info/2014/12/01/755/ (6) กรณีหมู่บ้านกลายเป็นอุทยานแห่งชาติ ดูใน ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, “ชุมชนที่ย่อยยับบ้านวังใหม่ และความรับผิดชอบที่ต้องทวงถาม”, มติชน 13 พฤศจิกายน 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10109, http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=224&d_id=224

[8] เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย, “ข้อเสนอทางนโยบายการกระจายการถือครองที่ดิน”, วันที่ค้นข้อมูล 9 มิถุนายน 2558 เข้าถึงได้จาก : http://www.thaingo.org/thaingo/node/1428

[9] คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64 / 2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 115 ง วันที่ 20 มิถุนายน 2557 หน้า 3,

http://ilab.dopa.go.th/data/download/download-2-16-1424231068.pdf

[10] คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66 / 2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 120 ง วันที่ 27 มิถุนายน 2557 หน้า 1, http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-order66-2557.pdf

[11] ผู้ด้อยโอกาส (Disadvantaged) มี 5 กลุ่มคือ (1) คนยากจน ( 2) บุคคลเร่ร่อน (3) ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร (4) ผู้ติดเชื้อ HIV / ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ครอบครัว ชุมชน (5) ผู้พ้นโทษ ดูใน “ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาส 4 ปี (พ.ศ. 2556 – 2559)”, www.opp.go.th/yuttasart.doc

[12] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนพิเศษ 73 ง วันที่ 11 มิถุนายน 2553 หน้า 1-4, http://www.nfe5110.com/acc/a2300193opm01.pdf &

http://www.thai-ips.org/Documents/Comm_Land_Regulation.pdf และ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอนพิเศษ 88 ง วันที่ 1 มิถุนายน 2555 หน้า 1-2, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2555/E/088/1.PDF

[13] “สปช.ผ่านหลักการร่าง พ.ร.บ.โฉนดชุมชน เตรียมชงเข้า ครม.ใน 7 วัน”, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 8 มิถุนายน 2558, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9580000064945

[14] “สปช.ชงตั้งธนาคารที่ดินช่วยคนจน”, เดลินิวส์ออนไลน์, 7 มิถุนายน 2558, http://www.dailynews.co.th/politics/326488

หมายเลขบันทึก: 590990เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2015 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มกราคม 2016 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท