4th HTAsiaLink Pre-Conference Short Course : ใฝ่หามุมมองใหม่ๆ



ผมได้เล่าเรื่องการไปร่วมประชุม 3rd HTAsiaLink Annual Conference ที่ปักกิ่งเมื่อปีที่แล้วไว้ ที่นี่ ปีนี้คุณหมอยศชวนอีก โดยมอบหมายงานให้ด้วย ดังจะเล่าในบันทึกของการประชุมวันที่ ๒

การประชุม 4th HTAsiaLink Annual Conference จัดวันที่ ๑๓ - ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘ โดยในวันที่ ๑๒ มี Pre-Conference Short Course

Pre-Conference Short Course ประกอบด้วย ๓ ส่วน คือ (1) การเรียนรู้ ๒ ห้องพร้อมกัน เกี่ยวกับเครื่องมีทำ HTA – Health Intervention and Technology Assessment คือ (1.1) Systematic Review & Meta-Analysis, (1.2) Economic Evaluation (2) Overview of the Use of HTA in Health Policy : Asian Experiences (3) การเรียนรู้ ๒ ห้องพร้อมกัน (3.1) Journal Publication : Writing and Dealing with Journal Editors and Reviewers (3.2) Meeting Industry : Communication between HTA Agency and Industry

ผมเข้าร่วมส่วนที่ ๑ และ ๒ โดยช่วงแรกผมเข้า 1.1 และได้เรียนรู้ว่า Systematic Review อาจมี Meta-Analysis เป็นส่วนหนึ่งหรือไม่ก็ได้ โดยผมตีความหมายของ Systematic Review ว่าเป็นการหาทาง เข้าใกล้ “ความจริง” จากความซับซ้อนมองได้หลายแง่หลายมุมหลายชั้น

“เข้าใกล้” เท่านั้น นะครับ ไม่ใช่ทำ SR แล้วอ้างว่าผลที่ได้คือ “ความจริง” แท้

ผมได้เรียนรู้ Evidence Synthesis in the HTA Pathway ที่ผมค้นในอินเทอร์เน็ตไม่พบ จึงถ่ายรูป สไลด์ PowerPoint ที่วิทยากรแจกมาให้ดู (ดูรูปที่ ๑) ว่าประกอบด้วย SR เป็นตัวหลัก และจะมี Meta-Analysis และ Primary Research เสริมด้วยหรือไม่ ก็ได้ คือถ้าหลักฐานจากงานวิจัยที่มีอยู่แล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะตอบคำถาม ก็ต้องทำวิจัยเพิ่มเติม

Meta-Analysis ก็คือวิธีการทางสถิติ ที่เอาข้อมูลจากผลงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์ไว้แล้วมาผ่านกระบวนการ ทางสถิติที่เรียกว่า Meta-Analysis เพื่อตอบคำถามที่ตั้งไว้

จะเห็นว่า HTA เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจเชิงนโยบาย เป็นเครื่องมือสังเคราะห์ evidence สำหรับส่งต่อให้แก่ผู้ตัดสินใจ ในรูปแบบที่มีความชัดเจนต่อผู้ตัดสินใจ

จุดเริ่มต้นอยู่ที่ “การตั้งคำถาม” ที่ชัดเจน ตรงเป้า ตามมาด้วยการหาคำตอบที่ปลอดอคติ (bias) ที่สุดเท่าที่จะทำได้

นักวิชาการด้าน HTA จึงต้องเรียนรู้และฝึกฝนศาสตร์ว่าด้วยการจัดการอคติ โดยเฉพาะอคติ (bias) ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ในการวิจัยแบบต่างๆ ที่เรียกว่า systemic bias คือเป็นอคติที่เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยนั้น ในการวิจัยนั้นไม่ถือเป็นอคติ แต่เมื่อเอามาทำ SR มันเป็นอคติที่จะต้องมีการจัดการ

มีคนถามว่า SR ที่ดีเป็นอย่างไร วิทยากร (Prof. Olivia Wu, U of Glasgow) ตอบว่า Relevance & Quality จะเห็นว่าตรงโจทย์ (relevance) มาก่อนคุณภาพ (quality) ขั้นตอนกำหนดโจทย์ให้ชัด จึงสำคัญที่สุด ซึ่งหมายความว่า ต้องถามผู้ใช้ผลงานเป็นหลัก และในการทำงานของ HITAP ของไทย ผู้ใช้ผลงาน เป็นหลายฝ่ายในสังคม ไม่ใช่แค่ผู้มีอำนาจทางการเมืองและผู้บริหาร

เครื่องมือที่นักวิชาการช่วยกันทำให้ SR มีคุณภาพ และไม่ทำ SR แบบไม่จำเป็น คือ Registry ของ SR โดยเมื่อเขียน protocol ของ SR ก็ส่งไปลงทะเบียนกับ Registry ก่อนลงมือทำงาน ในบางกรณีทาง Registry อาจตอบมาว่า มีคนทำไว้แล้ว เอาผลงานนั้นไปใช้เลยไม่ดีกว่าหรือ เพราะ SR ในเรื่องสำคัญๆ อาจใช้เวลา ๑ - ๒ ปี และลงแรงและทรัพยากรไม่น้อย เหตุผลที่ใช้ผลงานเดิมไม่ได้ ที่เป็นเหตุผลหลักคือ “บริบท” (context) ที่ตรงกับสถานการณ์จริง ของการตัดสินใจเชิงนโยบาย

ผมได้เรียนรู้ว่า SR มีองค์ประกอบ ๖ ตัวคือ (1) Research Question, (2) Eligible Criteria, (3) Extensive Literature Search, (4) Selection Studies, (5) Critical Appraisal – quality assessment, (6) Data Extraction – evidence tables ในแต่ละองค์ประกอบมีรายละเอียดของเทคนิคมากมาย

ช่วงที่ ๒ คือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของการนำผล HTA ไปใช้ทำนโยบายสาธารณสุข เป็นช่วงที่สนุกและได้ความรู้มาก ด้วยความสามารถทั้งด้านการเป็น moderator และด้านความรู้ ของคุณหมอสุวิทย์ ผู้ทำหน้าที่ moderator กำหนดให้ผู้บริหารจาก ๔ ประเทศ ประเทศละคน (เกาหลี จีน มาเลเซีย และไต้หวัน) มาเล่า success story หนึ่งเรื่อง และ failure หนึ่งเรื่อง ให้ใช้ PowerPoint ได้เพียง ๓ สไลด์ ให้เวลาพูดคนละไม่เกิน ๕ นาที แจกกระดาษคำถามให้ผู้ฟังทุกคน ให้เขียนคำถาม แล้วหลัง ๔ คนพูดจบ ให้อ่านคำถามนั้น แล้วเก็บกระดาษคำถามมาให้กรรมการให้คะแนน ๑ - ๕ ใน ๓ ประเด็นคือ (๑) คำถามตรงประเด็น (๒) ก่อให้เกิดการถกเถียงได้มาก (๓) ก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี กรรมการมีสองคน คือคนทำงานที่ WHO อินโดนีเซียกับผม

เห็นได้ชัดเจนว่า ในเรื่องการตัดสินใจนโยบายบริการสุขภาพ ประเด็นทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ เป็นหลัก วิชาการ/วิจัย เป็นตัวสนอง evidence เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัจจัยที่นำมาใช้ตัดสินใจ เราได้เห็นว่า ด้านลบของวิชาชีพ เป็นปัญหาที่ต้องการ HTA เป็น evidence ประกอบการโต้เถียง

เป็นโอกาสดีจริงๆ ที่คนแก่ตกยุคอย่างผมได้มีโอกาสไปฟังแบบรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง

สถานที่ประชุมชื่อ Chientan Youth Activity Center (CYAC) ที่กว้างขวางใหญ่โตมาก การได้เห็นสถานที่นี้ ทำให้ผมคิดว่าทางประเทศไต้หวันเขาให้ความสำคัญต่อเยาวชน มีการลงทุนสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เยาวชน ได้มีสถานที่จัดกิจกรรมร่วมกัน และมีความสัมพันธ์กับเยาวชนของ ต่างประเทศ ถือเป็นการลงทุนระยะยาว เพื่อสร้างชาติ



Evidence Synthesis in the HTA Pathway


นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กำลังดำเนินรายการ ผลของการดำเนินงาน HTA ใน ๔ ประเทศ


อาคารประชุมใน CYAC


อาคารที่พัก ใน CYAC ทีม HITAP พักที่นี่


ข้ามทางม้าลายไปก็ถึงทางเข้า CYAC


วิจารณ์ พานิช

๑๓ พ.ค. ๕๘

ห้อง ๑๐๒ โรงแรม Star Beauty Hotel, Taipei


หมายเลขบันทึก: 590988เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2015 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2015 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท