ขอบฟ้าใหม่ในเรื่องความรู้ : ๑. บทนำ



บันทึกชุด "ขอบฟ้าใหม่ในเรื่องความรู้" นี้ เกิดขึ้นเพราะผมต้องเตรียมตัวกลับเข้าไปรับงานบริหาร สคส. ต่อจาก ดร. ประพนธ์ จึงต้องตรวจสอบสถานภาพของการจัดการความรู้ในยุคปัจจุบัน ว่าแตกต่างจากตอนที่ ผมเริ่มทำงานด้านการจัดการความรู้ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ อย่างไรบ้าง และพบหนังสือที่น่าสนใจชื่อ The New Edge in Knowledge เขียนโดย Carla O'Dell & Cindy Hubert แห่ง APQC (American Productivity and Quality Center) ให้มุมมองต่อ KM สมัยใหม่ มีประเด็นทั้ง เชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ สอดคล้องกับยุคสมัยอย่างยิ่ง

มี เว็บไซต์ ของหนังสือเล่มนี้ที่ www.newedgeinknowledge.com

บันทึกตอนที่ ๑ นี้ เป็นอารัมภบท ส่วนสำคัญมาจากคำนำของ Larry Prusak และตัวผู้เขียนเอง

สรุปได้ว่า KM เป็นเครื่องมือที่ไม่หยุดนิ่งตายตัว ต้องมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ด้านคุณลักษณะของคนทำงาน ด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และด้านการ เปลี่ยนแปลงวิธีการบริหารงาน ให้ได้พลังนวัตกรรมจากคนทั่วทั้งองค์กร

มุมมองต่อ KM ในช่วง ๒๐ ปี เปลี่ยนแปลงไปมากมาย ในประเด็นต่อไปนี้

  • เดิมคิดว่าความรู้เป็นทรัพยากรที่รวบรวม วัด และใช้ ได้ตามเทคนิควิธีการด้านการจัดการ
  • เดิมคิดว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหลัก ในการเข้าถึงคุณค่าของทรัพยากรนี้ ยิ่งมีเทคโนโลยี ที่ดีเพียงใด ก็ยิ่งเกิดผลดีเพียงนั้น
  • เดิมคิดว่า critical unit of analysis คือปัจเจกบุคคล ยิ่งตัวปัจเจกบุคคลใช้ความรู้มาก ก็จะยิ่งมีผลผลิตมาก

แนวความคิดเก่าดังกล่าวนั้น ในเวลานี้ (Prusak เขียนคำคำนี้ในปี 2010) เปลี่ยนเป็น

  • ตีความความรู้ ว่าเป็นสิ่งที่เลื่อนไหล (flow) จะดีกว่า ความรู้เป็นสิ่งที่เลื่อนไหล ไม่เป็นเส้นตรง และยากที่จะวัดหรือจัดการ การทำงาน KM เป็นสิ่งที่จะต้อง เรียนรู้เพิ่มเติมอีกมาก
  • แม้ว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญ แต่คนสำคัญกว่า กิจกรรม KM เป็นกิจกรรมของมนุษย์ ที่จะต้องเข้าใจและจัดระเบียบมนุษย์ (human organization)
  • KM เป็นกิจกรรมทางสังคม ที่ดำเนินการได้ผลกว่า หากดำเนินการเป็นกลุ่ม เครือข่าย ชุมชน และผ่านการปฏิบัติ

หัวใจของ KM คือการสถาปนาวัฒนธรรมองค์กร ที่สมาชิกสนุกและเห็นคุณค่าของการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนความรู้ที่มีความสำคัญต่อองค์กร ที่สมาชิกทำงานและเรียนรู้เป็นทีม

KM เป็นเครื่องมือให้เกิดความร่วมมือ (collaboration) และที่สำคัญยิ่งคือ ต้องจัดให้สอดคล้องกับ ลักษณะของมนุษย์แห่งยุคสมัย ที่แตกต่างจากคนทำงานสมัยเก่า

  • ต้องจัดความรู้ให้ หรือแบ่งปันความรู้ ณ เวลาที่ต้องการใช้ (just in time)
  • ตัวความรู้ต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้ และเป็นรูปธรรม ให้มากที่สุด
  • ใช้ smart phone และ social media เป็นเครื่องมือของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้มากที่สุด คือให้ตระหนักว่า สมาชิกของทีมงานปัจจุบัน มีชีวิตอยู่ใน digital world

KM เป็นเครื่องมือที่ผู้ปฏิบัติงานเป็นผู้ใช้ "คุณอำนวย" (KM Facilitator) ทำหน้าที่ KM Scaffolding คือช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานใช้ KM ได้ง่ายขึ้น และอย่างถูกทาง


วิจารณ์ พานิช

๒๔ พ.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 590717เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2015 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2015 18:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท