ตัวชี้วัด..นวัตกรรมการบริหารที่ไม่ควรมองข้าม


นวัตกรรมการบริหารสถานศึกษา


เมื่อวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน 2552 ศูนย์เครือข่ายสำนักงาน สมศ.หรือสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) จังหวัดสงขลาได้ดำเนินการจัดสัมมนาในโครงการรวมพลังเพื่อพัฒนาคุณภาพในเขตพื้นทื่ภาคใต้ ประจำปีการศึกษา 2552 มีวัตถุประสงค์เพื่อการชี้แจงผลการประเมินรอบสองตามแนวทางในการปฏิรูปรอบแรกและข้อเสนอแนะเพื่อที่จะนำไปปรับปรุงในการประเมินคุณภาพรอบ 3 โดยรูปแบบของการประชุมส่วนหนึ่งมีการเน้นหนักไปที่ความพยายามจะทำประชาพิจารณ์เพื่อจะปรับแก้ตัวชี้วัดในด้านต่างๆที่มีปัญหา เพราะที่ผ่านมาตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนการสอนของนักเรียนทุกระดับค่อนข้างต่ำ ทำผลการสัมมนาในครั้งนั้นก่อให้เกิดแนวคิดด้านการ ปรับลด ตัวชี้วัดในมาตรฐานที่ 5 คือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้ต่ำลงไปอีกจากร้อยละ 65 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีไปเป็นเกณฑ์ที่ต่ำกว่าที่เป็นอยู่ เช่น อาจจะเป็นร้อยละ 45-50 ให้อยู่ในเกณฑ์ดีซึ่งต่ำกว่าเดิม

ในการกำหนดตัวชี้วัดถือว่าเป็นสิ่งสำคัญของการบริหารองค์กรในระดับหนึ่ง เพราะถือว่าเป็นเครื่องมือที่แสดงให้เห็นว่ากลยุทธ์นั้นๆบรรลุหรือไม่บรรลุวัตถุประสงค์หลักตามที่กำหนดไว้ การกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสมและสอดคล้องกับกลยุทธ์ เป้าหมาย นโยบาย และแผนการดำเนินงานขององค์กร ตัวชี้วัดจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจาก การกำหนดตัวชี้วัดที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่กล่าวข้างต้นอาจจะไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควรกับองค์กร เมื่อนำตัวชี้วัดเหล่านั้นมาวัดผล ยกตัวอย่าง เช่น บริษัท IT แห่งหนึ่งต้องการเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายสินค้า โดยมีนโยบายด้านการตลาด คือ เพิ่มรายได้จากการเข้าร่วมในงานแสดงสินค้า IT ระดับประเทศ และตัวชี้วัดไป 1 ตัว คือ "มีรายได้จากการขายสินค้าในงานแสดงสินค้าจำนวน 10 ล้านบาท" เพื่อให้พนักงานได้รับการถ่ายทอดเป้าหมายว่านอกจากจะมีบูธที่สวยงาม มีคนสนใจเข้าชมจำนวนมากและลูกค้าหรือผู้เข้าชมมีความพึงพอใจแล้ว จะต้องขายสินค้าให้ได้ด้วย เป็นต้น

จากตัวอย่างข้างต้นถ้ารายได้จากการขายไม่ได้ตามเป้าที่กำหนดไว้โดยอาจจะได้แค่ 1 -5 ล้านบาทบริษัทจะทำอย่างไร ตรงนี้ถือเป็นหุบเหวแห่งการยอมรับนวัตกรรมด้านตัวชี้วัดอีกรูปแบบหนึ่งเพราะถ้าผู้ดูแลตัวชี้วัดหรือผู้บริหารไม่สนใจปล่อยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปรับลดตัวชี้วัดให้ต่ำลงในปีถัดมาเพียงแค่คิดว่าบริษัทคงทำไม่ได้..การบริหารจัดการตัวชี้วัดก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ บริษัทจะอยู่กับที่เหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะคุณสมบัติตัวชี้วัดที่ดีนั้นจะต้องทำให้องค์กรพัฒนาไปข้างหน้าไม่ใช่อยู่ที่เดิม ซึ่งไม่ดีแน่ถ้าอยู่ในโลกแห่งการแข่งขันในยุคโลกาภิวัฒน์

เพราะฉะนั้นการปรับลดเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาให้ต่ำลงไปอีกจึงถือเป็นการไม่ยอมรับนวัตกรรมกระบวนการอันเกี่ยวกับตัวชี้วัดอย่างรุนแรงเพราะถ้าไม่ยอมรับตัวชี้วัด การพัฒนาองค์กรจะไม่เกิด เช่น ถ้ากำหนดตัวชี้วัดของมาตรฐานที่ 5 ให้ต่ำลงเพียงเพราะสาเหตุของการ "ไปไม่ถึง" ของโรงเรียนและเห็นว่าเป็นเรื่องดีนั้นถือว่า ผู้บริหารคิดผิด อย่าลืมว่าโรงเรียนที่ได้รับผลการประเมินมาตรฐานที่ 5 อยู่ในระดับดีมากก็มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นหน้าที่ของโรงเรียนคือพัฒนาและไปให้ถึงเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดของ สมศ. โดยใช้ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมและยุทธวิธีที่ชัดเจน ผลการประเมินหากไปไม่ถึงตัวชี้วัดที่กำหนดให้ก็ไม่เป็นไรค่อยเริ่มใหม่ เพราะสิ่งสำคัญจะอยู่ที่การพัฒนากระบวนการต่างหาก เช่น โรงเรียนจะต้องวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนที่ชัดเจนขึ้น การบริหารจัดการการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจริงๆ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ได้ผลจริงๆ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาระยะยาวและในที่สุดตัวชี้วัดที่เราวาดหวังก็จะขึ้นไปเอง ไม่ใช่ส่งเสริมให้มีการคว่ำกระดานและกำหนดตัวชี้วัดใหม่ ....แต่ต่ำกว่าเดิม

คำสำคัญ (Tags): #นวัตกรรม
หมายเลขบันทึก: 590668เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2015 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2015 09:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท