นั่งอิงพิงพนัก ด้วย อปัสเสนธรรม


ตื่นขึ้นมาในแต่ละวัน มีใครบ้างคะ ที่ไม่ต้องวุ่นวายกับการตัดสินใจว่า เช้าวันนี้จะทานอะไร จะใส่เสื้อผ้าชุดไหนไปทำงาน การเดินทางไปทำงานของเราจะเป็นอย่างไร หากไม่เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ พาหนะของเราพร้อมใช้หรือไม่

มื้อกลางวันจะทานที่ไหน ทานอาหารบุฟเฟ่ดีมั๊ย บุฟเฟ่มีอาหารหลากหลายชนิดให้เลือก จ่ายมากหน่อยแต่เลือกอร่อยได้ไม่อั้น

ถ้าเกิดเจ็บป่วยจะซื้อยาหรือหาหมอที่ไหน อาการปวดหัวเป็นไข้เล็กๆน้อยจะทานยาอะไร

ฯลฯ

เรื่องของอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค หรือ ปัจจัย ๔ รวมไปถึงการเดินทางไปมาด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆเช่นเพื่อเสาะหาอาหารเป็นต้น ต้องเป็นเรื่องสำคัญที่เราขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน และเพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราหนีไม่พ้น เราจึงควรมีการวางใจให้ปฏิบัติต่อปัจจัยที่จำเป็นเหล่านี้อย่างถูกต้อง เพื่อจะได้ไม่ล้มซวนเซยามที่ไม่ได้อย่างใจ หรือ ไม่ระเริงกระโดดโลดเต้นจนอาจพลาดล้มฟาดไปในยามที่ได้เพียงพอหรือมากเกิน

ถ้าเรานั่งเก้าอี้สักตัว การมีพนักให้หลังได้พักอิงสักด้านก็ช่วยให้ความมั่นใจ ให้ความสบายแก่เราได้พอสมควรนะคะ หากมีมากกว่าหนึ่งด้าน ก็ยิ่งดีใหญ่

พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมดุจหลักให้เราพิงหลังถึงสี่ด้านด้วยกัน ซึ่งก็คือหลักในการพิจารณาหาความเหมาะสมก่อนจะเสพสิ่งต่างๆเพื่อให้การเสพเป็นไปตามความจำเป็น ไม่นำทุกข์มาให้ภายหลังนั่นเองค่ะ

โดยตรัสให้เราควรพิจารณาก่อนแล้วค่อย เสพ ข่ม เว้น หรือ บรรเทา

เช่น

ก่อนจะทานอาหาร ควรพิจารณาว่าเราทานเพื่ออะไร ได้ประโยชน์อะไร อาหารที่ซื้อหามามีคุณค่าสมราคาหรือไม่ (พิจารณาแล้วเสพ)

ทานเพียงเพื่อสนุกสนานเฮฮาหรือไม่ เกิดโทษต่อร่างกายหรือไม่ ( พิจารณาแล้วเว้น)

แม้จะเป็นอาการที่ชอบแต่ก็ควรประมาณ ข่มความอยากเพื่อไม่ให้ทานมากเกินไป ให้อิ่มพอดีโดยที่ไม่ก่อให้เกิดอาการอึดอัด เป็นความลำบากแก่ร่างกายในภายหลัง ( พิจารณาแล้วข่ม)

หากเป็นอาหารที่ชอบ แต่ราคาแพงเกินไป หรือมีคุณค่าทางอาหารน้อย ควรพิจารณาคุณค่าแท้ คุณค่าเทียมให้มากก่อนการซื้อเพื่อจะได้ค่อยๆคลายความอยากเสพสิ่งที่ได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า ( พิจารณาแล้วบรรเทา)

ซึ่งเราควรใช้หลักทั้ง ๔ นี้ในการเสพปัจจัย ๔ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความเหมาะสมของเสื้อผ้า การตกแต่งบ้าน การใช้ยารักษาโรคเพื่อการเป็นอยู่อย่างสุขสบาย เหมาะสมกับฐานะความเป็นอยู่ ไม่สร้างความทะยานอยากให้เกินพอดี

เนื่องจากเราอยู่ในสังคม ต้องสื่อสาร มีความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างที่อาจเกิดผลคือการกระทบกระทั่งกัน หรือการได้ความรู้ ได้ความสัมพันธ์ที่ดี ดังนั้นเราจึงควรบ่มเพาะเมตตาในใจเพื่อให้พูด คิด กระทำต่อเขาอย่างเป็นมิตร เกิดความสมานสามัคคี ( พิจารณาแล้วเสพ คือ เสพเมตตา เสพสัมมาวาจา เป็นต้น)

หากมีปัญหาจากความสัมพันธ์ ก็ควรคิดถึงผลที่จะตามมา โดยคิดด้วยเมตตาว่าเขาอาจเสียใจหากเราแสดงอาการที่ไม่ดีด้วย จึงข่มกลั้นไว้ ไม่แสดงความรู้สึกออกไป พิจารณาให้เห็นโทษของการล่วงละเมิด เพื่อพยายามไม่ล่วงละเมิดเขาทางกาย ทางวาจา เช่น ทำให้เราระเบิดอารมณ์ได้ง่ายขึ้น ทำให้การแก้ไขปัญหาทวีความยุ่งยากมากขึ้น เป็นต้น ( พิจารณาแล้วข่ม)

และหากเห็นว่าการกระทำใดที่อาจเป็นที่ยั่วยุ เป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิด เราก็ควรละเว้นการกระทำหรือคำพูดนั้นๆ ( พิจารณาแล้วเว้น)

แต่ในขณะที่เราทั้งเสพทั้งข่มทั้งเว้นนี้ จิตใจเราย่อมอึดอัดขัดข้อง ก็ต้องพยายามหาเหตุผลอันเป็นต้นเหตุที่จะทำให้เข้าใจเขา เข้าใจตัวเรา เข้าใจสถานการณ์ เพื่อพยายามลดความขัดข้องในใจ ลดความความขัดแย้ง อันเป็นการบรรเทาธรรมอันเป็นอกุศล ( พิจารณาแล้วบรรเทา)

หรือหากเราโกรธใครจนอยากทำร้ายเขา เนื่องจากรู้ว่าการโกรธ การผูกโกรธ การพยาบาท เป็นอกุศลธรรม เราอยากจะนำออกจากใจ จึงต้องแสวงหาหลายๆปัจจัยมา เสพหรือมาประกอบการพิจารณาเพื่อให้คลาย เช่น การฟังธรรมที่ช่วยน้อมนำจิตให้อ่อนโยนลง การมีกัลยาณมิตรเพื่อช่วยให้ข้อคิด ช่วยให้คำปรึกษาหาแง่มุมที่หลากหลายเพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้น การอบรมเมตตา การใช้โยนิโสมนสิการเพื่อหาเหตุผลในแง่ต่างๆ เช่น การพยายามหาความดีของเขา การโจทย์ตัวเองว่าเราทำ หรือ ไม่ทำอะไร จึงกลายเป็นปัญหาขึ้นมาได้ สถานการณ์โดยรอบเป็นอย่างไร เป็นต้น รวมไปถึงการ ข่ม เว้น บรรเทา ไปพร้อมๆกัน

ซึ่งการพิจารณาแล้วข่มกลั้นความรู้สึก ไม่แสดงออกนี้ก็คือขันติในระดับต้น (อธิวาสนขันติ) ที่ต้องคู่กับโสรัจจะ หรือก็คือการพิจารณาให้ใจผ่องแผ้ว อันนำไปสู่เป็นขันติในระดับสูง (ตีติกขาขันติ) คือทนทานได้โดยไม่ต้องกลั้นอีกต่อไปเพราะรู้เท่าทันทั่วถึงแล้ว ใจผ่องแผ้วแล้ว สมดังที่ตรัสว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ขันติคือความทนทานเป็นธรรมเผากิเลสอย่างยิ่ง

การพิจารณาแล้ว เสพ ข่ม เว้น บรรเทา นี้ เป็นองค์ประกอบของหลักธรรมที่เป็นดุจพนักอิง หรือ อปัสเสนธรรม (อะ-ปัด-เส-นะ-ทำ) ซึ่งมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า อุปนิสัย ๔ (ธรรมเป็นที่พึ่งพิง หรือ ธรรมเป็นที่อุดหนุน) เป็นธรรมที่หากเราได้ " น้อมเข้ามาในตน " นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน จะช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท เสพบริโภคสิ่งของด้วยคุณค่าแท้ไม่ใช่ด้วยคุณค่าเทียม ทำให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงการพัฒนาตนให้ยิ่งๆขึ้นไป รวมไปถึงการสนับสนุนการมีสติสัมปชัญญะ อินทรีย์สังวร การทำให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ให้งอกงาม ทำอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้คงไม่เกิด และที่เกิดขึ้นแล้วให้บรรเทาเบาบางจนถึงกับสิ้นไป

ท่านมักแสดงอุปนิสัย ๔ ด้วยการเสพจีวร บิณฑบาต เสนาสนะบ้าง คิลานเภสัช (ยาสำหรับภิกษุผู้ป่วยไข้)บ้าง เว้นสถานที่อันไม่ควรไปหรือที่เป็นอโคจรบ้าง เว้นคนพาลบ้าง เลยชวนให้เข้าใจว่าหลักธรรมนี้เป็นเรื่องของพระ แต่อันที่จริง เป็นหลักที่ใช้ได้ทั้งฆราวาสทั้งพระ และใช้ได้ทั้งเพื่อประโยชน์ที่จะได้ในปัจจุบัน จนถึงขั้นเพื่อการหมดสิ้นอาสวะเลยค่ะ

การข่มเรื่องราวภายในใจตนรวมไปถึงการข่มอาการเจ็บป่วยทางกายนี้ จัดเป็น การข่มภายใน ส่วนการข่มความรู้สึกต่ออากาศร้อน เย็น ฝน หนาว จัดเป็น การข่มภายนอก

อย่างอากาศร้อน เราก็ต้องเป็นอยู่กับอากาศร้อนด้วยหลักอปัสเสนธรรมเหมือนกันค่ะ เช่น เสพเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ใช้ผาเนื้อบาง หลีกเลี่ยงผ้าเนื้อหนาเช่นผ้ากำมะหยี่ หรือผ้าสีเข้มที่ดูดความร้อนได้มากกว่าผ้าสีอ่อน บรรเทาความร้อนด้วยการใช้พัดบ้าง อาบน้ำบ้าง แป้งเย็นบ้าง

แต่การข่มสภาวะภายนอก เราคงไปข่มอากาศไม่ให้ร้อนไม่ได้

คงต้อง ข่มที่ใจ ไม่ให้ร้อนตามอากาศ อย่างเดียวเลยค่ะ

หมายเลขบันทึก: 590663เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2015 08:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2015 09:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ที่ยากยิ่ง..คือการ..ข่มใจ..เจ้าค่ะ...

วันวิสาขบูชา..

ได้สุตะ จากบทความนี้ ...ได้จินตะ จากได้ใคร่ครวญพิจารณาธรรม

จากที่ได้ทำปฏิบัติมา ล้มเหลวบ้าง... สำเร็จบ้าง

เมื่อได้แนวแห่ง " อปัสเสนธรรม" อุปนิสย 4 นี้แล้ว กำหนดให้แยบยลเข้าปฎิบัติได้จริง ครับ

พิจารณา แล้ว เสพ- ข่ม -เว้น ..............บรรเทา

ตรงนี้มีค่ามากๆครับ

" แต่ในขณะที่เราทั้งเสพทั้งข่มทั้งเว้นนี้ จิตใจเราย่อมอึดอัดขัดข้อง ก็ต้องพยายามหาเหตุผลอันเป็นต้นเหตุที่จะทำให้เข้าใจเขา เข้าใจตัวเรา เข้าใจสถานการณ์ เพื่อพยายามลดความขัดข้องในใจ ลดความความขัดแย้ง อันเป็นการบรรเทาธรรมอันเป็นอกุศล ( พิจารณาแล้วบรรเทา).

การพิจารณาแล้วข่มกลั้นความรู้สึก ไม่แสดงออกนี้ก็คือขันติในระดับต้น (อธิวาสนขันติ) ที่ต้องคู่กับโสรัจจะ หรือก็คือการพิจารณาให้ใจผ่องแผ้ว อันนำไปสู่เป็นขันติในระดับสูง (ตีติกขาขันติ) คือทนทานได้โดยไม่ต้องกลั้นอีกต่อไปเพราะรู้เท่าทันทั่วถึงแล้ว ใจผ่องแผ้วแล้ว สมดังที่ตรัสว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ขันติคือความทนทานเป็นธรรมเผากิเลสอย่างยิ่ง..... "

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท