จากอำเภอคุณธรรมสู่จังหวัดคุณธรรม (2) อัตลักษณ์


อัตลักษณ์นี้ออกมาจากภายใน Inside out​ ไม่ใช่การครอบคุณธรรมเข้าไปในตัวคน Outside In​ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในการเปลี่ยนวิธีคิดในการพัฒนาคุณธรรมโดยทั่วไปที่มักจะตั้งต้นจากการที่สังคมพยายามตั้งกฏเกณฑ์ให้ผู้คนปฏิบัติตาม(Outside In​)เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องดี แต่ในที่สุดก็ล้มเหลวในระยะยาวเนื่องจากขัดกับตัวตนมากจนเกินไป ทำให้ไม่ยั่งยืน

.........ก่อนขยายความเรื่องอัตลักษณ์ คงต้องย้อนกลับไปที่ "เมล็ดพันธ์ความดี" บางมูลนากโมเดลกันก่อน เพื่อให้เข้าใจภาพรวมของแนวคิดการขับเคลื่อนอำเภอคุณธรรม ที่มีอัตลักษณ์เป็นเสมือนเข็มทิศในการเริ่มต้นกระบวนการคุณธรรมให้ออกดอกออกผล

.........5 "เมล็ดพันธ์ความดี" นี้มาได้อย่างไร ? ทำข้อใดข้อหนี่งได้ไหม ?

ตอบคำถามที่ 2 ง่ายกว่าคือทำข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ครับเพราะทั้ง 5 เมล็ดนี้เมื่องอกแล้วจะเกื้อกูลซึ่งกันและกันทำให้เกิดการเจริญเติบโตของคุณธรรมอย่างยั่งยืน แต่ไม่จำเป็นต้องเติบโตเท่า ๆ กัน แล้วแต่ต้นทุนของแต่ละองค์กรและหน่วยงานที่จะนำไปขับเคลื่อน (เปรียบเสมือนดิน ถ้าดินดี เมล็ดพันธ์ก็จะงอกได้ดี) ส่วนคำถามแรกคงต้องตอบกันยาวหน่อยครับ

.

.........ขอเริ่มต้นจากภาพนี้ก่อนครับ ภาพนี้เป็นภาพเก้าอี้การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เป็นเก้าอี้ 3 ขา ที่ช่วยทำให้เก้าอี้ทรงตัวอยู่ได้ขาดขาใดขาหนึ่งก็จะล้ม(เหมือนองค์ประกอบของเมล็ดพันธ์ความดี) และมีองค์ประกอบย่อย ทั้งหมด 5 องค์ประกอบ ที่เรียกว่า The fifth disciplines ของ Peter Senge ต้นตำรับ "องค์กรการเรียนรู้" ที่ได้อธิบายว่าคนเราเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง และสังคม อย่างยั่งยืนได้อย่างไร การที่ใครสักคนจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีคุณธรรมก็ประยุกต์ใช้องค์ประกอบทั้ง 5 นี้ได้เช่นเดียวกันผมได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ก่อนหน้าที่จะเริ่มโครงการโรงพยาบาลคุณธรรมเพราะมีแนวคิดจะนำเรื่ององค์กรการเรียนรู้มาใช้ในองค์กรเพื่อการพัฒนาคุณภาพที่ยั่งยืน แต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอะไรมากนัก จนเมื่อได้ฟังอาจารย์ปกาศิตเล่าเรื่องการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมทำให้ผมได้เห็นว่า The fifth disciplines (วินัย 5 ประการ) มันเกิดขึ้นได้จริงเป็นรูปธรรม สามารถการพัฒนาให้เห็นการเป็นองค์กรการเรียนรู้ให้ผมเห็นอยู่ข้างหน้าผมแล้ว และที่สำคัญทำให้ คุณธรรมกลับมาอีกครั้งในโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม

.........ขาแรกนั้นคือ Aspiration หรือความปราถนานั่นเอง ขานี้ประกอบไปด้วย Personal mastery หรือการเป็นนายแห่งตนและ Share vision อธิบายอย่างง่าย ๆ คือ เราไม่สามารถบังคับให้ใครเรียนรู้หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือมีคุณธรรมได้นอกจากเจ้าตัวเขาจะมีความปราถนาด้วยตัวเอง แต่อย่างไรก็ด็ความปราถนานี้สามารถรวมตัวกันเป็นความปราถนาร่วม ทำให้ความปราถนานั้นแรงขึ้นจนอาจเหนี่ยวนำคนที่อยู่ในกลุ่ม ในองค์กรไปด้วยกันหรือที่เรียกว่า วิสัยทัศน์ร่วม นั่นเอง

.........Aspiration มีบทบาทlสำคัญในส่วนของเมล็ดพันธ์ความดีเมล็ดแรก นั่นคือ "อัตลักษณ์" โดยความหมายเมล็ดพันธ์แรกนี้จะหมายถึงลักษณะที่บ่งบอกความเป็นตัวตนที่แตกต่างจากคนอื่น หรือต้องการให้เกิดความเด่นชัดขึ้น ในความหมายที่เฉพาะในการเมล็ดพันธ์ความดีจึงเป็นความหมายของคุณธรรมที่สะท้อนความเป็นตัวตนของแต่ละคนที่มีความเด่นชัดแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลหรือชุมชน เช่น ซื่อสัตย์เป็นอัตตลักษณ์ของกวนอู ยิ้ม/เมตตา เป็นอัตลักษณ์ของคนไทย ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ พอเพียงเป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม เป็นต้น อัตลักษณ์นี้ออกมาจากภายใน Inside out ไม่ใช่การครอบคุณธรรมเข้าไปในตัวคน Outside In จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในการเปลี่ยนวิธีคิดในการพัฒนาคุณธรรมโดยทั่วไปที่มักจะตั้งต้นจากการที่สังคมพยายามตั้งกฏเกณฑ์ให้ผู้คนปฏิบัติตาม(Outside In)เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องดี แต่ในที่สุดก็ล้มเหลวในระยะยาวเนื่องจากขัดกับตัวตนมากจนเกินไป ทำให้ไม่ยั่งยืน ในระยะแรกของการพัฒนานั้น โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคมได้ใช้อัตลักษณ์ในลักษณะ Outside In คือตั้งพฤติกรรมที่อยากให้ปฏิบัติแล้วให้ทุกคนปฏิบัติตาม ในที่สุดก็ไม่สำเร็จ จนต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการใหม่ ให้นักเรียน ครู และผู้เกี่ยวข้องมากร่วมกันกำหนด และกำหนดให้กลุ่มของตัวเอง นักเรียน กำหนดให้นักเรียน ครูกำหนดให้ครู ผู้บริหารกำหนดให้ผู้บริหาร นอกจากนี้การประเมินในระยะแรกของการพัฒนานั้นเป็นการประเมินตนเองยังไม่รับการประเมินจากภายนอก เนื่องจากต้องการให้เกิดความรู้สึก Inside out ไม่ใช้ Outside In

.........เป้าหมายของอัตลักษณ์ต้องการให้คนมีคุณธรรมโดยการตระหนักถึงคุณธรรมที่จะช่วยให้บุคคลหรือองค์กรเกิดความสุข เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเมื่อมีคุณธรรมยึดเหนี่ยวแล้วก็รู้ว่าจะต้องปฏิบัติหรือมีพฤติกรรมอะไรที่ควรกระทำเพื่อสะท้อนตัวตนออกไป และมีการปรับความเข้าใจกันภายในสังคมถึงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันยอมรับเป็นพฤติกรรมบ่งชี้ร่วมกัน ไม่ใช่มีไว้เพื่อให้ผู้อื่นมาประเมิน แต่ถ้าบุคคลหรือองค์กรมั่นใจจะให้บุคคลภายนอกประเมินก็ไม่เป็นปัญหา ซึ่งโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคมก็ได้ท้าทายคณะกรรมการที่มาประเมินสถานศึกษาให้ประเมินอัตลักษณ์ตามพฤติกรรมบ่งชี้ที่โรงเรียนร่วมกันกำหนดขึ้น

.........ข้อนี้ถือเป็นผลผลิตสำคัญหากขาดความตระหนักถึงคุณธรรมที่มีในตน ในองค์กร ในชุมชน คงไม่อาจเรียกตัวเองได้ว่าเป็นองค์กรคุณธรรม แต่การได้มาซึ่งอัตลักษณ์นั้นในการนำมาขับเคลื่อนอำเภอคุณธรรมนั้นไม่จำกัดรูปแบบ ที่โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคมได้มาจากการตระหนักถึงปัญหาและวิเคราะห์คุณธรรมที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหา โรงพยาบาลบางมูลนากใช้วิธีเรื่องเล่าคุณธรรมประจำดัวก่อนจะสรุปเป็นคุณธรรมร่วมของหน่วยงานและขององค์กร เครือข่ายอำเภอบางมูลนากใช้การจัดเสวนากลุ่มเรื่องเล่าความดีที่เกิดขึ้นในชุมชน นอกจากนี้ยังพบว่ามีรูปแบบการใช้บัตรคำหรือแบบสอบถาม ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ แกนนำองค์กรเครือข่ายคุณธรรมและหรือศูนย์คุณธรรมควรถอดบทเรียนไว้ว่ามีกระบวนการใดบ้างที่ใช้ และสร้าง Aspiration ได้เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้เครือข่ายระยะขยายผลได้เลือกใช้และมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ (แต่สุดท้ายไม่ควรเป็นวิธีการภาคบังคับ)

.........ผลผลิตที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ พฤติกรรมบ่งชี้ ซึ่งจะเป็นแปรนามธรรม(คุณธรรม)ให้เป็นรูปธรรมหรือการปฏิบัติในชิวิตประจำวันให้สัมผัสได้ นำมากำหนดเป็น พฤติกรรมบ่งชี้ร่วม(Share vision) เพื่อเหนี่ยวนำแต่ไม่บังคับ ไม่ Outside In แต่เป็น Inside Out ด้วยความเด็มใจ โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลลัพธ์ร่วม คือการประเมินตนเอง(ภายในกลุ่ม/องค์กร)ด้วยพฤติกรรมบ่งชี้ที่กำหนด เพื่อเรียนรู้ว่าเราเห็นตรงกันหรือมีการพัฒนาพฤติกรรมร่วมกันมากน้อยเพียงใด มีการกระทำที่สะท้อนพฤติกรรมบ่งชี้มากหรือน้อยเพียงใด ทำได้อย่างไร ประชาชนทั่วไปสัมผัสได้หรือไม่ว่าเป็นเช่่นนั้นจริงตามประกาศพฤติกรรมบุ่งชี้ อยากทำอะไรเพิ่มเติม นำข้อมูลผลลัพธ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เล่าสู่กันฟัง ถึงรูปแบบการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันต่อไป แกนนำและหรือศูนย์คุณธรรมสามารถสรุปคุณธรรมหรือพฤติกรรมบ่งชี้ที่มีผลการประเมินดีขึ้นเพื่อรวมเป็นความสำเร็จของเครือข่าย และให้หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจมาศึกษาต่อไป หากองค์กรที่พร้อมอาจขอให้มีหน่วยงานภายนอกมาประเมินเพื่อยืนยันความสำเร็จได้

.........การนำทั้งผลผลิตผลลัพธ์กระบวนการจัดทำอัตลักษณ์และพฤติกรรมบ่งชี้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาตั้งคำถาม(Inquiry) เป็นขาที่ 2 ของเก้าอี้การเรียนรู้ ที่ประกอบไปด้วย Team Learning และเมื่อมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็จะทำให้เราเข้าใจเหตุแลผลของการแสดงพฤติกรรมต่าง ๆว่ามีรูปแบบความคิดอย่างไรหรือที่เรียกว่า Mental Model ไม่เพียงแต่เราจะเข้าใจคนอื่นดีขึ้นแต่ยังจะเข้าใจตัวเองดีขึ้นด้วย อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างยั่งยืน เกิดปัญญาจาการปฏิบัติและนำมาเรียนรู้นั่นเอง โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคมมีการตั้งคำถามชวนให้นักเรียนสรุปการเรียนรู้หลังทำโครงงานคุณธรรมทุกครั้ง เพื่อสำรวจว่าความคิด ผลงาน หลังจากทำโครงการเป็นอย่างไร ได้สำรวจจิตใจเป็นระยะ นอกจากนี้เมื่อครบปี โรงเรียนก็จัดให้มีการทบทวนอัตลักษณ์และพฤติกรรมบ่งชี้ทุกปีเช่นกัน

.........ในที่สุดเมื่อเข้าใจเหตุและผลของการเกิดขึ้นของคุณธรรม ขาที่ 3 ของเก้าอี้การเรียนรู้ คือ ๊Understanding Complexity" เห็นถึงความเกี่ยวข้องของผู้คนในสังคมที่มีผลกระทบต่อคุณธรรมก็เกิดขึ้น เกิดความเข้าใจการเชื่อมสังคมมาเกื้อหนุน "คุณธรรม" ในองค์กรไม่ว่าจะเป็น ศิษย์เก่า เครือข่ายผู้ปกครอง ชุมชน เครือข่ายโรงเรียน และรวมถึงโรงพยาบาลบางมูลนากเองก็เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเกื้อหนุนโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคมให้เป็นโรงเรียนคุณธรรมที่ยั่งยืนต่อไป นักเรียนที่เป็นผลผลิตของโรงเรียนก็ได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่กลับไปร่วมสร้างสังคมคุณธรรม "ตลาดนัดความดี"จะเป็นเครื่องมือในการทำให้เราเข้าใจความซับซ้อนเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น จากการที่ทุกหน่วยได้มาร่วมแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้ การเห็นมุมมองที่หลากหลายเป็นรูปธรรมทำให้การเชื่อมโยงเรื่องราวอย่างง่ายดาย เมื่อคนดีมารวมตัวกัน เปิดโอกาสให้จับมือกันทำความดี ความดีจึงมีโอกาสแผ่ขยายไปอย่างมั่นคง

.........เราอยู่ในระหว่างการไปถอดบทเรียนร่วมกับเครือข่ายอำเภอคุณธรรม นำมาสู่ความรู้ในการร่วมสร้าง "จังหวัดคุณธรรม" หว่าน "เมล็ดพันธ์ความดี"ค่อย ๆ งอกงามไปตามลำดับ เมื่อมองย้อนกลับไปความซับซ้อนที่เกิดขึ้นเหมือนจะทำได้ยาก แต่ที่จริงมันค่อย ๆ ถักทอกันไปเรื่อย ตาม Aspiration , Inquiry และ Understanding Complexity ที่เกิดขึ้นมาก่อนนั่นเอง ความรู้ที่ได้จึงมีลักษณะอธิบายได้แต่ไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัวที่จะไปลอกเรียนแบบกันได้ หากต้องถอดบทเรียนมากขึ้นมากขึ้น ไว้เป็นต้นทุนให้คนรุ่นหลังต่อไป





หมายเลขบันทึก: 590661เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2015 01:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2015 12:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท