KPI ที่มีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน


จากบทความในเรื่องของ การแก้ปัญหาตัวชี้วัดที่ไปไม่ถึงด้วยการรู้จักแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนได้แนะนำให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับคำว่า "ยุทธศาสตร์" ส่งผลให้ผู้เขียนได้กลับมาฉุกคิดว่า ก่อนที่เราจะกล่าวถึงรูปแบบของการแก้ปัญหาตัวชี้วัดคงจะต้องทำความเข้าใจกับยุทธศาสตร์ให้ดีเสียก่อน เมื่อเราแค่รู้จักคำว่า ยุทธศาสตร์อย่างเดียวคงไม่ได้ผล เพราะคำว่ายุทธศาสตร์นั้นมีความหมายในตัวของมันเองและสามารถกระทำให้สิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวของมันเกิดการเปลี่ยนแปลงได้เช่น ถ้านำเอา ยุทธศาสตร์ไปใช้กับการเมือง ผู้ใช้จะสามารถเห็นแนวทางในการพัฒนาได้อย่างเด่นชัดขึ้นดังเช่นการชี้ทางของขงเบ้งที่มีต่อเล่าปี่อย่างนี้เป็นต้น

หรือแม้กระทั่งการนำยุทธศาสตร์ไปใช้กับวงการทางการศึกษาซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน ถึงแม้จะเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่ก็ทำให้ผู้เขียนซึ่งจบมาทางด้านยุทธศาสตร์การพัฒนามีความปลื้มใจอยู่ไม่น้อยในรายวิชาที่ตนเองจบมา

อย่างไรก็ตามเมื่อผู้เขียนเข้ามาอยู่ในวงการทางการศึกษาและได้มีโอกาสในการรับผิดชอบดูแลแผนพัฒนาสถานศึกษาทำให้พบว่า แผนยุทธศาสตร์ในชื่อปัจจุบันนั้นมีชื่ออื่นที่มีหน้าที่เหมือนกันคือ "ธรรมนูญโรงเรียน"นั่นเอง

แผนยุทธศาสตร์ของสถานศึกษามักจะกระทำกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ภายในระยะกำหนดเวลาตั้งแต่ 2 ปี 5 ปี 10 ปี เป็นต้น โดยขึ้นอยู่กับความจำเป็นของสถานศึกษาและโลกาภิวัติน์ และการจัดทำแผนยุทธศาสตร์จะกระทำกันอย่างกว้างๆ เน้นสิ่งที่ต้องการจะทำ และเน้นการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงาน โดยอาจจะเป็นลักษณะของการวางแผน 3 รูปแบบ(เสาวนิตย์ ชัยมุสิก. 2545,14) คือ

1.โดยการวางแผนแบบบนสู่ล่าง เป็นการวางแผนโดยระดับบริหารเพื่อส่งแผนให้ระดับปฏิบัติการนำไปปฏิบัติ

2. การวางแผนแบบล่างสู่บน เป็นการวางแผนโดยระดับบริหารเพื่อขออนุมัติโครงการหรืองบประมาณหรือขออนุมัติการใช้แผน

3. การวางแผนแบบผสม เป็นการวางแผนร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายปฏิบัติการและมีการดำเนินการ

สำหรับการวางแผนที่ดีนั้นผู้เขียนขอแนะนำให้ใช้รูปแบบของการวางแผนแบบผสมเพราะโดยส่วนใหญ่ผู้บริหารจะมีส่วนแค่การกำหนดนโยบายให้กับองค์กรเท่านั้น หลังจากนั้นบุคลากรในระดับปฏิบัติจะเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนยุทธศาสตร์ทั้งหมด สำหรับการวางแผนยุทธศาสตร์ในสถานศึกษานั้นอาจจะแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนคือ

การสำรวจสภาพสถานศึกษาเพื่อวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน โดยเป็นการวิเคราะห์สภาพภายในของโรงเรียนว่าอยู่ในระดับใด โรงเรียนจะต้องเสริมจุดแข็งตรงไหนบ้าง โดยนำนโยบายของผู้บริหารมาวิเคราะห์ร่วมกัน

กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ กำหนดทิศทางความมุ่งหวัง

กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงาน เพื่อการกำหนดมาตรฐานหรือมาตรการการดำเนินงานอย่างเป็นระบบขั้นตอนนี้ล่ะครับจะมีรูปแบบของ KPI ของโรงเรียนเข้ามาเกี่ยวข้อง

กำหนด Activity ของแผนยุทธศาสตร์ โดยอาจจะเป็นรูปแบบของโครงการ กิจกรรม งานประจำ

จากกรอบแนวคิดแสดงให้เห็นว่าขั้นตอนทั้ง 4 ขั้นตอน อยู่อย่างลำพังไม่ได้เพราะจะต้องอ้างอิงข้อมูลต่างๆเพื่อใช้ในการตัดสินใจเช่น เมื่อทำการสำรวจสภาพทั่วไปของสถานศึกษา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการนำเอามาตรฐานการศึกษามากำหนดน้ำหนักด้วยเช่นกันแต่มิใช่การนำมาตรฐานการศึกษาข้อต่างๆมาเรียงแล้วนำนโยบายไปจับซึ่งอย่างนั้นถือว่าผิด เพราะเป็นการทำโดยไม่ได้คำนึงถึงจุดแข็งจุดอ่อนของโรงเรียน จุดนี้ทำได้มั้ย จุดนั้นทำได้มั้ยเราต้องรู้ โดยขั้นตอนนี้อาจจะมีการนำ SWOT หรือนวัตกรรมอื่นๆ มาใช้เพื่อให้รู้ว่าในขณะเวลาดังกล่าวเราทำได้หรือไม่โดยดูจากพื้นฐานของเราเอง ส่วนการกำหนดวิสัยทัศน์ของโรงเรียนก็ต้องกลับมาดูวัตถุประสงค์ เป้าหมายและพันธะกิจของโรงเรียนด้วยเช่นกันว่ามีรายละเอียดอย่างไร

เมื่อทำความเข้าใจกับการทำยุทธศาสตร์แล้วจะเห็นว่าเป็นการให้ความสำคัญกับจุดแข็ง จุดอ่อนที่เรามีอยู่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วมันจะส่งผลให้โครงการที่เราทำขึ้นมามีประสิทธิภาพตามมาด้วย เมื่อมีประสิทธิภาพ KPI ก็ขึ้นตามมาเช่นเดียวกัน

เสาวนิตย์ ชัยมุสิก. 2545. การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับสถานศึกษา. กรุงเทพมหานคร : บุ๊ค พอยท์

หมายเลขบันทึก: 590666เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2015 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2015 09:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท