แก้ปัญหาตัวชี้วัดที่ไปไม่ถึงด้วยการรู้จักแผนยุทธศาสตร์


ในบทความที่แล้วผู้เขียนได้กล่าวถึงอันตรายจากการปรับลดเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาเพื่อความพึงพอใจของผู้บริหารและความกลัวที่จะไปไม่ถึงของสถานศึกษาต่างๆในด้านตัวชี้วัดอันเกี่ยวข้องกับผลสัมฤทธิ์ สำหรับบทความนี้จะเป็นการกล่าวถึงวิธีการแก้ไขปัญหาตัวชี้วัดที่ไปไม่ถึงฝันของผู้บริหารทั้งหลายเพื่อการตอบโจทย์ปัญหาที่ค่อนข้างยากมากสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าควรที่จะทำอย่างไรให้บรรลุตัวชี้วัดที่ตั้งไว้ ก่อนอื่นเราต้องรู้เสียก่อนว่าเมื่อโรงเรียนมี วิสัยทัศน์และ พันธกิจ เพื่อผลของการเปลี่ยนแปลงองค์การหรือโรงเรียนนั้นหรือไม่ เมื่อมี อันดับต่อไปคือเราจะต้องรู้จักพาหนะบางรูปแบบเพื่อใช้ในการสื่อวิสัยทัศน์และพันธกิจให้เป็นที่รับรู้ของบุคลากรภายในโรงเรียนหรือองค์การให้ชัดเจนเสียก่อน สำหรับพาหนะนั้นถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะจะเป็นนวัตกรรมกระบวนการที่จะชี้ให้เห็นถึงจุดที่ควรแก้ไข จุดที่ควรจะพัฒนาได้ชัดเจนและการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ตัวชี้วัดบรรลุนั้นจะถือเป็นเรื่องที่ง่ายในที่สุด

การจัดทำแผนยุทธศาสตร์(Strategic Plan) ถือเป็นพาหนะนวัตกรรมกระบวนการที่สามารถแปลงวิสัยทัศน์และพันธกิจของโรงเรียนไปสู่การปฏิบัติได้ชัดเจนและถือเป็นกิจกรรมแรกที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่สถานศึกษาต้องทำ(เสาวนิตย์ ชัยมุสิก, 2545: 24-25) เพราะแผนยุทธศาสตร์เป็นแผนงานหลักที่แสดงถึงภาระงาน แนวโน้มของความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการจัดการศึกษาของตนเองที่ชัดเจน พร้อมทั้งการจัดทำแผนยุทธศาสตร์นั้นจะต้องอาศัยหลักการมีส่วนร่วมของทุกคนทุกฝ่ายมาร่วมกันจัดทำเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ของหน่วยงานของโรงเรียน ค่านิยมร่วมของฝ่าย และเป้าหมายของฝ่ายในที่สุด ทั้งนี้การบริหารจัดการยุทธศาสตร์ถือว่าค่อนข้างมีความซับซ้อนเพราะบางครั้งยังต้องมีนวัตกรรมกระบวนการที่จำเป็นหลายๆกระบวนการเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามก่อนที่จะลงลึกถึงรายละเอียด ผู้เขียนใคร่ขออธิบายความหมายของยุทธศาสตร์เพื่อความเข้าใจของผู้อ่านให้ไปในทิศทางเดียวกัน

บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ (2550:1) กล่าวถึงยุทธศาสตร์ว่า ยุทธศาสตร์หรือ Strategy เป็นการมุ่งเน้นหรือทุ่มเททรัพยากร ไปในเรื่องใดแล้วสามารถนำพาหมู่คณะไปสู่ความสำเร็จหรือวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

เสาวนิตย์ ชัยมุสิก(2545:12) กล่าวถึงยุทธศาสตร์ว่า เป็นเอกสารของหน่วยงานที่เป็นหน่วยปฏิบัติ อาจจะเป็นกระทรวง ทบวง กรม เขตหรือพื้นที่สถานศึกษาจัดทำ ขึ้นอย่างเป็นระบบโดยมีการวิเคราะห์สภาพการณ์ทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน (SWOT Analysis) เพื่อคาดคะเนแนวโน้มของสถานการณ์ มีการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายที่แสดงให้เห็นทิศทางในการดำเนินการของหน่วยงานทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะยาว

อย่างไรก็ตาม การใช้คำว่า "ยุทธศาสตร์" ยังเป็นที่สับสนของผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการวางแผนยุทธศาสตร์ค่อนข้างเยอะเพราะจะสับสนระหว่างแผนกลยุทธ์กับแผนยุทธศาสตร์ว่าจะเหมือนหรือต่างกันหรือไม่ฉะนั้นผู้เขียนขอกล่าวถึงแผนกลยุทธ์ที่มาจากนวนิยายอันเลื่องชื่อนามว่า "สามก๊ก" เพื่อทำความเข้าใจ(QA-NEWS: 2547)

หลายคนคงได้อ่านหนังสือเล่มนี้และคงจะรู้จัก เล่าปี่ โจโฉ กวนอู อ้วนเสี้ยว เตียวหุย ขงเบ้งฯลฯ โดยพบว่า การรบของสามก๊กในระยะแรกๆนั้นเป็นการรบที่ไม่มีแบบแผนแน่นอน แต่ละฝ่ายต่างรบกันโดยไม่มีรูปแบบ หากรบแพ้ก็หนีและตีโต้กลับไปบ้างเป็นครั้งคราวซึ่งหาแก่นสารในการรบไม่ได้เลย

กล่าวถึงขงเบ้งซึ่งเป็นที่ปรึกษาของเล่าปี่ เกิดความคิดในเชิงยุทธศาสตร์ขึ้นมาประการหนึ่งว่าถ้าจะคิดก็ "อย่าคิดให้ไกลนัก" เพราะจะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝัน ในประเด็นนี้จึงเปรียบเสมือนการตั้งตัวชี้วัดไว้สูงเกินไปจึงทำให้การดำเนินการไปไม่ถึงตัวชี้วัดในระยะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด

อีกประการหนึ่งคือ การคิดเชิงยุทศาสตร์ต้องคิดให้ถูกต้อง คิดให้ตลอด แล้วค่อยลงมือปฏิบัติเช่น ขงเบ้งคิดแผนให้เล่าปี่ฟังว่าจะต้องทำให้ประเทศจีนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน และส่วนหนึ่งนั้นคือ เล่าปี่

เมื่อคิดเชิงยุทธศาสตร์แล้วการทำแผนยุทธศาสตร์ก็ไปสู่ขั้นตอนที่ 2 คือ การกำหนดวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งขงเบ้งแนะนำว่าทั้ง 3 ฝ่ายคือ โจโฉ ซุนกวนและเล่าปี คงจะหักกันไม่ลง ดังนั้นการที่เล่าปี่จะไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางได้ ขงเบ้งจึงแนะนำให้เล่าปี่เข้าไปตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ในเสฉวน แต่เป็นเป้าหมายที่ไม่ได้เป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียวในประเทศจีน แต่จะมีคนอื่นเป็นใหญ่อยู่อีก 2 คน อย่างนี้คือ คิดวิสัยทัศน์อย่างสมจริงสมจัง ซึ่งเป็นสาระสำคัญในการคิดวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ คือต้องเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจสภาพแวดล้อม ซึ่งก็คือ SWOT ในเรื่องการวางแผนยุทธศาสตร์นั่นเอง

สรุปว่า เมื่อคิดเชิงกลยุทธ์เสร็จแล้ว ก็ต้องกำหนดวิสัยทัศน์ว่าในอนาคตเท่าที่เราไปถึงนั้นเราต้องการเป็นอะไร ถ้าจะให้เป็นเชิงวิทยาศาสตร์ขึ้นอีกหน่อยก็ต้องกำหนดเป้าหมายให้เป็น "ตัวเลข" หรือตัวชี้วัดที่เรารู้จักนั่นเอง

เมื่อกำหนดวิสัยทัศน์แล้วขั้นตอนต่อไปคือการกำหนดยุทธศาสตร์ เช่น ขงเบ้งแนะนำเล่าปี่ว่าจะเข้าไปเป็นใหญ่ในเสฉวนได้นั้น ต้องยึดเอาเมืองเกงจิ๋วเป็นที่มั่นไว้ก่อนแต่เมืองนี้เป็นเมืองหน้าศึกจะรักษาไว้ยาก เมื่อเอาเป็นที่มั่นเบื้องต้นได้แล้วจึงค่อยรุกคืบเข้าไปในเสฉวน ซึ่งมีชัยภูมิดีจะสามารถรักษาเอาไว้ได้ นี่คือ ยุทธศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่อง Hardware

ยุทธศาสตร์ต่อไปเป็นเรื่อง Software ได้แก่ยุทธศาสตร์ที่ว่าให้ไปผูกมิตรกับซุนกวนไว้เพราะทั้งเล่าปี่และซุนกวนต่างเป็นก๊กเล็กจะสู้รบกับก๊กใหญ่อย่างโจโฉโดยลำพังไม่ได้ ต้องค้ำชูกัน ในขณะเดียวกันจะไว้วางให้เป็นมิตรเสียทีเดียวเลยมิได้นี่ก็คือ ยุทธศาสตร์แบบการทูต

แผนยุทธศาสตร์ที่ 3 ว่าด้วยการจัดการที่ยั่งยืน ซึ่งขงเบ้งแนะนำเล่าปี่ต่อว่าเมื่อตั้งตัวเป็นใหญ่แล้วให้ทำนุบำรุงอาณาประชาราษฎ์ให้อยู่อย่างเป็นสุข แผนยุทธศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นแผนอะไรก็ตามล้วนมีกระบวนการคิดที่เหมือนกัน นั่นคือ ต้องมีความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิมที่มีอยู่ กำหนดภาพใหม่ที่อยากให้เป็น กำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่เมื่อทำเสร็จแล้วก็จะนำเราไปสู่สภาพที่เราอยากเป็นและสุดท้ายคือการทำแผนปฏิบัติการ

การทำแผนปฏิบัติการหรือ Action Plan เป็นขั้นตอนสุดท้ายซึ่งหากไม่รู้จักการทำแผนยุทธศาสตร์แล้วก็จะข้ามมาจุดนี้เลยซึ่งเป็นการทำอย่างไม่มีแบบแผน เหมือนการยกทัพรบกันไปมาเหมือนสามก๊กยุคแรกเริ่ม นอกจากนั้นการแปลงแผนยุทธศาสตร์ไปสู่แผนปฏิบัติการยังมีความหลากหลายและครอบคลุม มีความอ่อนตัวสามารถปรับเปลี่ยนได้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน โดยการแปลงแผนยุทธศาสตร์ไปสู่แผนปฏิบัติการมี 4 ขั้นตอนคือ แผนที่คิดจากยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องและนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ซึ่งแผนนี้เท่านั้นซึ่งจะทำให้เราไปในที่ที่เราอยากเป็น แผนที่เกิดจากการคิดอย่างถูกต้องแต่นำไปปฏิบัติผิดแผน เช่นนี้เป็นได้แค่บทเรียน ใช้ไม่ได้ การแปลงแผนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติที่ผ่านการคิดมาอย่างผิดๆแต่นำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง แผนเช่นนี้นอกจากไม่นำไปสู่เป้าหมายแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาขึ้นใหม่อีก และ แผนปฏิบัติที่มาจากยุทธศาสตร์ที่ผ่านการคิดมาอย่างผิดๆและถูกนำมาใช้กันอย่างผิดๆ แผนนี้เสียเวลาเปล่า

อย่างไรก็ตามการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ไม่ได้ง่ายตามที่ยกตัวอย่างมาให้ดู สาเหตุเป็นเพราะยุทธศาสตร์มีรายละเอียดมากมายที่จะต้องคำนึงถึง อาทิเช่น วิธีการกำหนดวิสัยทัศน์ของฝ่าย วิธีการกำหนดยุทธศาสตร์ของฝ่าย การกำหนดงาน โครงการ โดยอาศัยขั้นตอนของ R&D ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงานพร้อมทั้งการสำรวจสภาพความพร้อมของสถานศึกษาโดนอาจจะเป็นวิธีการที่หลากหลายเช่น การทำ SWOT เป็นต้น เพราะฉะนั้นบทความในครั้งต่อไปจะกล่าวถึงเครื่องมือหรือนวัตกรรมกระบวนการที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

เอกสารอ้างอิง

QA-NEWS ฉบับที่ 84 2547 ข่าวประกันคุณภาพการศึกษา (ออนไลท์) จากhttp://www.qa.kmutnb.ac.th/qa_news/2544/QANEWS01_25440901.pdf [เข้าถึง 28 เมษายน 2551]

บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ. 2550. การจัดการเชิงยุทธศาสตร์สำหรับ CEO. พิมพ์ครั้งที่ 8 กรุงเทพมหานคร

เสาวนิตย์ ชัยมุสิก. 2545. การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับสถานศึกษา. กรุงเทพมหานคร : บุ๊ค พอยท์

คำสำคัญ (Tags): #แผนยุทธศาสตร์
หมายเลขบันทึก: 590667เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2015 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2015 09:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท