Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บริษัทตามกฎหมายอินโดนีเซีย ซึ่งสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และทุนมาจากไทย+อินโดนีเซีย จะมีสัญชาติของรัฐใด ?


กรณีศึกษาบริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด : มีสัญชาติของบริษัทตามกฎหมายอินโดนีเซีย ซึ่งสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และทุนมาจากทั้งในประเทศไทย และประเทศอินโดนีเซีย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10153309015063834

---------------

ข้อเท็จจริง[1]

---------------

บริษัท สมุทรสาครห้องเย็น จำกัด เป็นบริษัทจดทะเบียนตามกฎหมายไทย โดยมีผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นคนสัญชาติไทย และมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร นอกจากนั้น บริษัทนี้ยังมีบริษัทลูกซึ่งตั้งตามกฎหมายของประเทศมาเลเซีย โดยใช้ชื่อว่า "บริษัท สมุทรสาครห้องเย็น (มาเลเซีย) จำกัด" ในปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทลูกนี้ก็คือ บริษัท สมุทรสาครห้องเย็น จำกัด ดังนั้น สำนักงานแห่งใหญ่ที่แท้จริงของบริษัท สมุทรสาครห้องเย็น (มาเลเซีย) จำกัด จึงตั้งอยู่ในประเทศไทยเช่นกัน ในขณะที่สำนักงานตามตราสารจัดตั้งย่อมตั้งอยู่ในประเทศมาเลเซีย

ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๐ บริษัทสมุทรสาครห้องเย็น (มาเลเซีย) จำกัด ได้เข้าร่วมทุนกับ บริษัท Deep Sea Fishing จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตามกฎหมายอินโดนีเซีย และมีผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นบุคคลสัญชาติอินโดนีเซีย จึงมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซีย สัญญาร่วมทุนระหว่างบริษัททั้งสองทำในประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญเพื่อตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมา ๑ บริษัทตามกฎหมายอินโดนีเซียเพื่อเข้ารับสัมปทานการจับปลาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศอินโดนีเซีย บริษัทนี้ถูกจดทะเบียนก่อตั้งใน พ.ศ.๒๕๕๑ โดยให้ชื่อว่า "บริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด"

ขอให้ตระหนักว่า ในปัจจุบัน หุ้นร้อยละ ๖๐ ของบริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด เป็นของ บริษัทสมุทรสาคร (มาเลเซีย) จำกัด ส่วนอีกร้อยละ ๔๐ เป็นของบริษัท Deep Sea Fishing จำกัด ดังนั้น สำนักงานแห่งใหญ่จึงตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร ประเทศไทย สำนักงานตามตราสารจัดตั้งตั้งอยู่บนเกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย

บริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการประมงน้ำลึกในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศอินโดนีเซีย และส่งปลาขายต่อที่ตลาดปลาใหญ่หลายแห่งของประเทศไทย บริษัทนี้มีเรือประมงน้ำลึกหลายลำซึ่งบางลำจดทะเบียนเรือตามกฎหมายไทย แต่บางลำจดทะเบียนเรือตามกฎหมายอินโดนีเซีย

ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๓ ผู้จัดการบริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด ได้ว่าจ้างบุคคล ๓ คน มาทำงานในเรือประมงน้ำลึกที่มีชื่อว่า "มารีน่าหนึ่ง" ซึ่งจดทะเบียนเรือตามกฎหมายไทย โดยมีบริษัท สมุทรสาคร จำกัด เป็นเจ้าของเรือ อันได้แก่

(๑) นายสม ซึ่งมีชื่อในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวรประเภท ท.ร.๑๔ ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติไทย เขาจึงมีเลขประจำตัวประชาชนไทย ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๒

(๒) นายอาโละ ซึ่งมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราวประเภท ท.ร.๑๓ ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติอาข่า ทั้งที่ประเทศอาข่าก็ไม่มีอยู่จริงบนโลกนี้ อีกทั้งเขาไม่ได้รับการยอมรับในสถานะคนสัญชาติของประเทศใดเลยบนโลก เขามีเลขประจำตัวประชาชนไทย ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๗ ทั้งนี้ เพราะเขาเกิดที่โรงพยาบาลแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ จากบิดาและมารดาที่อพยพหนีภัยความไม่สงบจากประเทศเมียนมาร์เข้ามาในประเทศไทยในราว พ.ศ.๒๕๓๐

(๓) นายสัมริน ซึ่งมีชื่อในทะเบียนประวัติประเภท ท.ร.๓๘/๑ ตามกฎหมายทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติกัมพูชา แต่ยังไม่มีการรับรองสถานะของนายสัมรินในทะเบียนราษฎรของรัฐกัมพูชาแต่อย่างใด เขาเกิดในประเทศกัมพูชาเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ จากบิดาและมารดาซึ่งเกิดในประเทศกัมพูชาเช่นกัน แต่เป็นการเกิดนอกโรงพยาบาล เขาไม่เคยได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐกัมพูชา ทั้งที่บิดาและมารดาได้รับการบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐกัมพูชาแล้ว โดยผ่านการพิสูจน์สัญชาติภายใต้ MOU ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาใน พ.ศ.๒๕๕๕ แต่ด้วยนายสัมรินไปทำงานในเรือมารีน่าหนึ่งในน่านน้ำอินโดนีเซีย เขาจึงไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนแรงงานพร้อมกับบิดาและมารดา จึงไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกัมพูชาพร้อมกับบิดาและมารดา

ใน พ.ศ.๒๕๕๕ ลูกเรือทั้งสาม ก็คือ (๑) นายสม (๒) นายอาโละ และ (๓) นายสัมรินได้หลบหนีลงจากเรือมารีน่าหนึ่งในขณะที่เรือนี้เข้ามาส่งปลาที่เกาะอัมบน เนื่องจากรู้สึกกดดันที่ต้องอาศัยอยู่และทำงานหนักบนเรือมาตลอดเวลาเกือบ ๓ ปี บุคคลทั้งสามมาดำรงชีวิตบนเกาะอัมบนอย่างยากลำบาก อาศัยนอนข้างถนน และรับจ้างทำงานรายวันไปเรื่อยๆ บางวันก็มีเงินซื้ออาหารประทังชีพ บางวันก็ไม่มี เขาไม่มีเอกสารรับรองตัวบุคคลใดๆ เลย ทั้งนี้ เพราะเอกสารรับรองตัวบุคคลที่มีอยู่นั้นถูกเรียกเก็บไว้กับ "ไต้ก๋งเรือ" ตั้งแต่ในช่วงแรกที่ลงมาทำงานในเรือ

ชาวอัมบนจึงเรียกบุคคลในสถานการณ์นี้ว่า "คนตกเรือ" เพราะพวกเขามาจากเรือประมงน้ำลึกที่เข้ามาจอดที่ท่าเรือเพียงชั่วเวลาสั้น แล้วก็จะออกเดินทางไปทำงานในน่านน้ำลึกต่อไป หรือบางที พวกเขาก็จะถูกเรียกว่า "คนผี" เพราะพวกเขาไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ ว่าชื่ออะไร อายุเท่าไหร่ เป็นใครมาจากไหน

ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ คุณสมพงษ์ สระแก้ว แห่ง มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Rights Promotion Network Foundation) หรือเรียกกันสั้นๆว่า "LPN" ได้พบบุคคลทั้งสาม ในระหว่างที่ไปติดตามหาแรงงานจากประเทศไทยที่ตกเป็นคนตกเรือและคนผีบนเกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย ตามคำร้องทุกข์ของบุคคลในสถานการณ์นี้คนหนึ่งที่เขียนจดหมายถึง LPN และคุณสมพงษ์ก็ได้พยายามประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลทั้งสาม

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำถามให้ผู้เข้าสอบวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลได้พิจารณาและให้คำตอบดังต่อไปนี้

--------

คำถาม

--------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า บริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด มีสัญชาติของรัฐใดบ้าง เพราะเหตุใด[2]

---------------

แนวคำตอบ

----------------

ประเด็นคำถามเป็นเรื่องของการกำหนดสัญชาติของนิติบุคคลที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศ กล่าวคือ ระหว่างประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย ทั้งนี้ เพราะบริษัทตามคำถามเป็นบริษัทที่ก่อตั้งสถานะบุคคลตามกฎหมายอินโดนีเซีย โดยมีผู้ถือหุ้นข้างมากที่ครอบงำบริษัทเป็นบุคคลสัญชาติไทย ในขณะที่หุ้นข้างน้อยเป็นบุคคลสัญชาติอินโดนีเซีย และโดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ในขณะที่สำนักงานตามตราสารจัดตั้งและสถานประกอบการตั้งอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล สัญชาติของนิติบุคคลย่อมจะเป็นไปตามกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติของนิติบุคคล ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ เพราะเรื่องของสัญชาติของบุคคลย่อมเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชน การกำหนดสิทธิและสถานะในสัญชาติ ย่อมเป็นไปตามกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติ

ในการวิเคราะห์สัญชาติของบริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัดนั้น เราอาจจะมีข้อสรุปที่เกี่ยวกับประเทศไทยได้เป็น ๕ สถานการณ์ กล่าวคือ

สถานการณ์แรก อันเป็นสถานการณ์ทั่วไป บริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด ย่อมมีสัญชาติอินโดนีเซีย ทั้งนี้ เพราะนิติบุคคลย่อมมีสัญชาติของรัฐเจ้าของกฎหมายที่รับก่อตั้งสภาพบุคคลของนิติบุคคลนั้นๆ ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice or ICJ) เคยยืนยันในคดีที่มีชื่อว่า Barcelona Traction ใน ค.ศ.๑๙๗๐/พ.ศ.๒๕๑๓ ระหว่างเบลเยี่ยมและสเปน

สถานการณ์ที่สอง อันเป็นสถานการณ์พิเศษอันเกี่ยวกับการกำหนดสัญชาติในการขัดกันแห่งกฎหมายที่มีผลต่อนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชน บริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด ย่อมมีสัญชาติไทย ทั้งนี้ เพราะบริษัทนี้ตกอยู่ในความขัดกันในเรื่องสัญชาติ อันทำให้ถูกถือว่า มีสัญชาติตามสำนักงานแห่งใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๗ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่มีการขัดกันในเรื่องสัญชาติของนิติบุคคล สัญชาติของนิติบุคคลนั้นได้แก่สัญชาติแห่งประเทศซึ่งนิติบุคคลนั้นมีถิ่นที่สำนักงานแห่งใหญ่หรือที่ตั้งทำการแห่งใหญ่"

สถานการณ์ที่สาม อันเป็นสถานการณ์พิเศษอันเกี่ยวกับการกำหนดสัญชาติเพื่อกำหนดสิทธิในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว บริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด ย่อมถูกถือเป็น "คนต่างด้าว" ทั้งนี้ เพราะมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒ กำหนดว่า นิติบุคคลก่อตั้งตามกฎหมายต่างประเทศย่อมถูกถือเป็นคนต่างด้าว อันทำให้ถูกจำกัดเสรีภาพในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย แม้จะการครอบงำบริษัทตามบุคคลสัญชาติไทยก็ตาม

สถานการณ์ที่สี่ อันเป็นสถานการณ์พิเศษอันเกี่ยวกับการกำหนดสัญชาติในภาวะที่ประเทศไทยตกอยู่ในความไม่สงบ บริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด ย่อม "ไม่" ถูกถือเป็น "คนต่างด้าว" ทั้งนี้ เพราะ อำนาจการควบคุมหรือประโยชน์ของบริษัทดังกล่าวเป็นของบุคคลสัญชาติไทย จึงย่อมไม่มีสถานะเป็นคนต่างด้าวแต่อย่างใดภายใต้ (๑) มาตรา ๖ แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมและจัดการกิจการหรือทรัพย์สินของคนต่างด้าวบางจำพวกในภาวะคับขัน พ.ศ.๒๔๘๔ (๒) มาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยชนศัตรูและทรัพย์สินของชนศัตรู พ.ศ.๒๔๘๕ และ (๓) มาตรา ๓ วรรคที่ ๒ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกักคุมตัวและการควบคุมจัดกิจการหรือ ทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ พ.ศ.๒๔๘๘ แต่หากในวินาทีใดที่บริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด ถูกควบคุมและจัดการกิจการหรือทรัพย์สิน โดยคนต่างด้าว บริษัทนี้ก็จะถูกถือเป็นบุคคลต่างด้าวทันที

สถานการณ์ที่ห้า ก็คือ สถานการณ์พิเศษอันเกี่ยวกับการกำหนดสัญชาติเพื่อการใช้สิทธิตามสนธิสัญญา บริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด อาจถูกถือเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยหรือต่างด้าว ก็ได้ กรณีย่อมเป็นไปตามที่กำหนดในสนธิสัญญานั้นๆ ในกรณีที่สนธิสัญญากำหนดให้ใช้ถิ่นที่จดทะเบียนก่อตั้งสภาพบุคคลเป็นตัวกำหนดสัญชาติ บริษัทนี้ก็จะมีสถานะเป็นบุคคลต่างด้าว แต่ในกรณีที่สนธิสัญญากำหนดให้ใช้สำนักงานใหญ่หรืออำนาจในการครอบงำนิติบุคคล บริษัทนี้ก็จะมีสัญชาติไทย

โดยสรุป บริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด อาจมีสถานะเป็นคนต่างด้าวหรือคนชาติ ก็ได้ ในสถานการณ์ที่ต่างกัน


[1] เป็นกรณีศึกษาที่สร้างจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ และสถานการณ์ก็ยังดำเนินการอยู่จนถึงในช่วงเวลาที่มีการสอบ ชื่อบริษัทและชื่อคนตกเรือ/คนผีเป็นชื่อสมมติ แต่ชื่อของผู้ให้ความช่วยเหลือ กล่าวคือ คุณสมพงษ์ สระแก้ว เป็นชื่อจริงของบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง คุณสมพงษ์ทำงานเป็น NGO ด้านแรงงานที่มีผลงานยาวนานในประเทศไทย และได้เคยมาแบ่งปันล่าสุดในห้องเรียนกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญาของหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘ เวลา ๑๗.๓๐ – ๒๐.๓๐ น.

[2] การสอบความรู้วิชา น.๔๙๑ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ชั้นปริญญาตรี ภาคปกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต การสอบภาคที่ ๒ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๗ วิชาบังคับ ชั้นปีที่ ๔ วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 590537เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2015 00:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2015 00:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท