Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

การแปลงสัญชาติเป็นเยอรมันตามคู่สมรสเยอรมัน จะทำให้คนสัญชาติไทยเสียสัญชาติไทยนี้หรือไม่ ? เพราะเหตใด ? เมื่อใด ?


กรณีศึกษานายสมชาย

: การถือสัญชาติของรัฐต่างประเทศจะทำให้คนสัญชาติไทยเสียสัญชาติไทยหรือไม่ ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10153308719113834

---------------

ข้อเท็จจริง[1]

---------------

นายสมชาย เกิดที่จังหวัดเชียงราย เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ จากนายสมศักดิ์ และนางสมศรี บุคคลทั้งสามมีชื่อในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนสัญชาติไทย นายสมชายเรียนจบนิติศาสตร์บัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓

ต่อมา เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๔ นายสมชายเดินทางไปเรียนต่อในประเทศเยอรมัน และได้พบรับกับนายสตีเฟน ซึ่งทำงานเป็นทนายความและเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยเยอรมัน ซึ่งนายสมชายศึกษาอยู่

เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ นายสมชายได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายเยอรมันกับนายสตีเฟน และเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗ เขาได้รับอนุญาตให้ถือสัญชาติเยอรมันโดยการแปลงสัญชาติ และเขาจึงได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติเยอรมันในทะเบียนราษฎรเยอรมันในเวลาต่อมา ซึ่งในทะเบียนราษฎรดังกล่าว สมชายใช้ชื่อสกุลของคู่สมรสเยอรมัน นอกจากนั้น กระทรวงการต่างประเทศเยอรมันได้ออกหนังสือเดินทางให้แก่เขาอีกด้วย และหนังสือเดินทางนี้ระบุว่า เขามีสัญชาติเยอรมัน

ในปัจจุบัน นายสมชายและนายสตีเฟนตั้งบ้านเรือนอาศัยถาวรในประเทศเยอรมัน และทำงานเป็นทนายความที่ปรึกษาในสำนักงานกฎหมายที่มีชื่อเสียงระดับโลก

นายสมชายมีทรัพย์สินทั้งที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย

ด้วยว่า นายสมชายมีความกังวลใจว่า ความหลายรัฐหลายสัญชาติของตนเองจะส่งผลกระทบด้านลบทางกฎหมายต่อตัวเข้าและทรัพย์สินของเขา เขาจึงมาขอคำปรึกษาทางกฎหมายจากโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังต่อไปนี้

--------

คำถาม

--------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า การถือสัญชาติเยอรมันจะทำให้นายสมชายเสียสัญชาติไทยหรือไม่ เพราะเหตุใด เมื่อใด[2]

---------------

แนวคำตอบ

----------------

ประเด็นสิทธิในสัญชาติเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชน ซึ่งโดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เป็นเรื่องที่ตกอยู่ภายใต้กฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณี เว้นแต่จะกำหนดเป็นอย่างอื่น ดังนั้น เมื่อคำถามตามข้อเท็จจริง เป็นเรื่องสิทธิในสัญชาติไทย จึงต้องพิจารณาสิทธิดังกล่าวภายใต้กฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยที่มีผลในการพิจารณาสิทธิ เมื่อเป็นการพิจารณาสิทธิในปัจจุบัน ก็จะต้องใช้กฎหมายสัญชาติไทยที่มีผลในปัจจุบัน ซึ่งก็ได้แก่ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒ และ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕ รวมถึง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ และ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕

โดยหลักกฎหมายสัญชาติไทย การเสียสิทธิในสัญชาติไทยเกิดขึ้นได้ใน ๒ สถานการณ์ กล่าวคือ

สถานการณ์แรก ก็คือ การเสียสิทธิในสัญชาติไทยโดยเจตนาของบุคคลที่เป็นเจ้าของสิทธิเอง หรือที่เรียกกันว่า "การสละสัญชาติไทย" ซึ่งจะมีผลเมื่อบุคคลดังกล่าวแสดงเจตนาสละสัญชาติไทย (เป็นไปตามมาตรา ๑๓ - ๑๕ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งรักษาการตามกฎหมายสัญชาติ ประกาศการสละสัญชาตินี้ในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน)

สถานการณ์ที่สอง ก็คือ การเสียสิทธิในสัญชาติไทยโดยเจตนาของรัฐไทยซึ่งเป็นเจ้าของสัญชาติ ซึ่งเกิดขึ้นได้ใน ๓ สถานการณ์ย่อย กล่าวคือ

(๑) การเสียสิทธิในสัญชาติไทยโดยเจตนาถอนสัญชาติไทยโดยฝ่ายบริหารของรัฐ ซึ่งแสดงเจตนาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นไปตามมาตรา ๑๖, ๑๗(๑), ๑๗(๒), ๑๘ และ ๑๙ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แต่จะเห็นว่า กรณีตามข้อเท็จจริงไม่ปรากฏมีคำสั่งถอนสิทธิในสัญชาติโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงยังกล่าวไม่ได้ว่า นายสมชายเสียสิทธิในสัญชาติไทยเพราะคำสั่งถอนสิทธินี้โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

(๒) การเสียสิทธิในสัญชาติไทยโดยเจตนาของฝ่ายตุลาการของรัฐ ซึ่งแสดงเจตนาโดยศาลปกครอง ทั้งนี้ เพราะเรื่องสัญชาติเป็นเรื่องของกฎหมายปกครองและเป็นเรื่องระหว่างรัฐและเอกชน การถอนสิทธิในสัญชาติในสถานการณ์นี้เป็นไปตามมาตรา ๑๗ (๓) และ ๑๗ (๔) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แต่จะเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ปรากฏคำสั่งดังกล่าว จึงยังกล่าวไม่ได้ว่า นายสมชายเสียสิทธิในสัญชาติไทยเพราะคำสั่งถอนสิทธิในสัญชาติที่มีอยู่โดยศาลปกครอง

(๓) การเสียสิทธิในสัญชาติไทยโดยเจตนาของฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐ ซึ่งอาจเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติไทยในสถานการณ์ทั่วไป หรือในสถานการณ์พิเศษ ซึ่งการเสียสัญชาติไทยโดยเจตนาของฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐในสถานการณ์ทั่วไปย่อมเกิดขึ้นได้ใน ๒ กรณี กล่าวคือ (๑) กรณีตาม มาตรา ๒๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งกำหนดให้ "ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวและอาจถือสัญชาติของบิดาหรือมารดาได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดาหรือมารดา ถ้าได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวแล้ว ให้เสียสัญชาติไทย" และ (๒) กรณีตามมาตรา ๒๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งซึ่งกำหนดให้ "ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยและได้แปลงสัญชาติเป็นคนต่างด้าว หรือสละสัญชาติไทยหรือถูกถอนสัญชาติไทย ย่อมเสียสัญชาติไทย"

แต่อย่างไรก็ตาม การสิ้นสุดของสิทธิในสัญชาติไทยในทั้งสามสถานการณ์ย่อย จะมีผลในวันที่มีการประกาศการเสียสัญชาตินี้ในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา ๕[3] แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ประกอบกับแนวความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา[4])

ดังนั้น เมื่อกลับมาพิจารณาข้อเท็จจริงของนายสมชาย เราจะพบว่า แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายสมชายได้แปลงสัญชาติเป็นเยอรมันแล้ว แต่เมื่อยังไม่การประกาศการเสียสิทธิในสัญชาติไทยนี้โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษา ก็ยังสรุปไม่ได้ว่า สิทธิในสัญชาติไทยของนายสมชายสิ้นสุดลงแล้ว นายสมชายจึงยังมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทย จนกว่าจะมีการประกาศการเสียสิทธินี้ในราชกิจจานุเบกษา


[1] ข้อเท็จจริงนี้เรียบเรียงโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร โดยนำข้อมูลมาจากคำถามจริงที่หารือมาที่โครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๔

[2] การสอบความรู้วิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ชั้นปริญญาตรี ภาคปกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง การสอบภาคที่ ๒ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๗วิชาบังคับ ชั้นปีที่ ๔ วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘

[3] ซึ่งบัญญัติว่า "การได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๙ มาตรา ๑๒ หรือมาตรา ๑๒/๑ การเสียสัญชาติไทยตามหมวด ๒ หรือการกลับคืนสัญชาติไทยตามหมวด ๓ ให้มีผลต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้มีผลเฉพาะตัว"

[4] ซึ่งมีความเห็นที่สำคัญ ๒ ฉบับ กล่าวคือ (๑) ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาตามเรื่องเสร็จที่ ๖๑/๒๕๒๖ (กรณีนายเสถียร และเด็กชายมาร์ค หล่อศิริไพบูลย์) และ (๒) ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาตามเรื่องเสร็จที่ ๑๑๓/๒๕๔๐ (กรณีนายเศรษฐพันธ์ ธรรมจรีย์ และนางสายสุนีย์ Edman (วงศ์ทะเล))


หมายเลขบันทึก: 590532เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2015 22:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2015 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you.

This is useful and confirms our understanding about multi-nationalities.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท