บทเรียน "สวนบำบัด" ใช้ธรรมชาติสร้างทักษะผู้บกพร่อง


เรื่องการใช้ธรรมชาติบำบัดรักษาโรคไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อีกต่อไป เพราะแนวคิดที่ว่ากำลังถูกใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบันอย่างเช่นข้อมูลที่ นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ ผู้จัดการโครงการ "สวนบำบัด" ซึ่งมูลนิธิเด็กพิการ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อยู่ระหว่างขับเคลื่อนงานร่วมกันเคยอธิบายว่า ในต่างประเทศจะเน้นการใช้ธรรมชาติบำบัดกับกลุ่มที่มีความบกพร่องในเรื่องจิตใจอย่างทหารที่ผ่านสงคราม ผู้ที่มีปัญหาทางจิต หรือกลุ่มเด็กพิการ

"แต่การทำสวนบำบัดจะแตกต่างกับการปลูกต้นไม้แบบธรรมดา นั่นเพราะการปลูกต้นไม้คือการบำบัดเฉพาะผู้ปลูกเท่านั้น แต่การทำสวนบำบัดคือการสร้างพื้นที่เรียนรู้ ใช้ สี กลิ่น ผิวสัมผัสของธรรมชาติที่มีความแตกต่างกันสร้างจุดดึงดูดให้กลุ่มที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กที่บกพร่องทางสมองหรือร่างกาย กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการอยู่ในสภาพแวดล้อที่ผ่อนคลาย ซึ่งเมื่อกลุ่มเข้ารับการรักษาผ่อนคลายแล้ว ย่อมนำไปสู่การพัฒนาอื่นที่ไม่ยากนัก"นพ.ประพจน์กล่าว ตัวอย่างจากเนื้อหาบางส่วนในเวที "ถอดบทเรียนองค์ความรู้ด้านสวนบำบัด" ที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ได้จัดขึ้น เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คืออีกตัวอย่างประสบการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่างานสวนบำบัดสามารถประยุกต์ใช้ได้แบบไม่ยากนักไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ของผู้ใช้แนวคิดสวนบัดกับกลุ่มผู้ป่วยที่บกพร่องทางจิต ซึ่ง กรรณิกา ไชยชนะ กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เล่าว่า บริเวณสถาบันได้แบ่งพื้นทำการเกษตรสำหรับผู้ป่วยประมาณ5-10คน ที่เข้ารับการบำบัด โดยกิจกรรมสวนบำบัดจะเปิดกว้างให้ผู้เข้ารับการบำบัดได้เลือกว่าอยากปลูกพืชชนิดใดบ้าง มีการดูแลอย่างไร เพื่อนำไปสู่การจำหน่ายช่องทางไหน หลังจากนั้นผู้ป่วยจะดำเนินการเองทั้งหมดโดยมีพี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด ส่งเสริมให้มีความต่อเนื่อง และเมื่อผลสำเร็จดี ผู้ป่วยที่เคยท้อแท้ จะมีกำลังใจสามารถกลับไปดำเนินชีวิตสู่ภายนอกได้เช่นเดิม

"เริ่มแรกเราจะให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดเลือกก่อนว่าจะปลูกอะไร ไม่ว่าจะเป็นผักกาดขาว คะน้า พริก ต้นหอม หรือผักสวนครัวอื่นๆที่เอาไปขายได้จริง สามารถเห็นผลเร็ว เพราะการทำแล้วเห็นผลคือกำลังใจที่ผู้ป่วยอยากจะเข้าร่วมต่อ การปลูกผักคือเครื่องมือที่จะทำให้เขาร่วมกระบวนการอ่านๆที่จะทำให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติได้ เพราะเขาต้องทำเองทุกอย่างทั้งการเตรียมดิน การรดน้ำ ไปจนถึงการวางขายในตลาดกระบวนการเหล่านี้มันช่วยให้ผู้ป่วยได้บำบัดตัวเอง ได้พูดคุยกับคนรอบข้าง มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมปกติ เป็นการฝึกทักษะทางสังคมโดยมีการเกษตรเป็นเครื่องมือ" กรรณิกา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผู้ป่วยบางรายมีลักษะก้าวร้าว บางรายอาจซึมเศร้า ไม่สามารถใช้ชีวิตกับสังคมภายนอกได้ การรักษาด้วยวิธีการแพทย์ที่เหมาะสมพร้อมไปกับการฝึกทักษะทางสังคม จึงทำให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น หรือเวลากลับไปเยี่ยมบ้านพวกเขาก็จะเอาผักที่ปลูกกลับไปด้วย บางคนเอากลับไปขาย ทั้งหมดได้สร้างความภูมิใจกับตัวเขาเอง และคนในครอบครัว แปลงปลูกผักเล็กๆจึงห้องเรียนที่สร้างทักษะทางด้านสังคมให้ผู้บกพร่องทางจิตสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ

"อาจจะไม่ถึงกลับไปทำเกษตรเป็นอาชีพ แต่ประสบการณ์ที่ผู้ป่วยได้รับ ความสำเร็จจากงานที่ทำ การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ คือพัฒนาการทางด้านอารมณ์ จิตใจที่มีแนวโน้มดีขึ้น" เธออธิบายเสริม ขณะที่ผู้มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยากับกลุ่มเด็ก อย่าง รวิสรา อิสสรากุล จากบ้านเด็กคามิลเลียน ถ่ายทอดประสบการณ์ว่า ได้ใช้กิจกรรมสวนบำบัดกับกลุ่มเด็กออทิสติก มาประมาณ 1ปี ซึ่งได้เห็นพัฒนาการของเด็กว่ามีความกระตือรือร้นที่จะออกไปเล่นข้างนอกมากขึ้น แทนจากเดิมที่ค่อนข้างเก็บตัวขณะที่ด้านร่างกายเมื่อมาออกแรงด้านร่างกายได้ลงมือทำสวน ได้ใช้มือ ใช้ขา การพรวนดิน การทรงตัวและหยิบจอบ ได้สร้างความแข็งแรงให้กับเด็ก

"การจัดสวนจึงต้องออกแบบให้เหมาะสม อย่างน้อยๆ ทางเดินต้องโล่ง ให้รถเข็นผ่านได้ การปลูกพืชที่เน้นไม้พุ่มขนาดเล็ก การใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กที่ให้เด็กสามารถทำได้จริงๆ ให้รู้สึกว่าพวกเขาสามารถลงมือปฏิบัติได้จริงๆ" ส่วนผลที่ได้หลังผ่านกิจกรรมสวนบำบัดเธอว่า ยังไม่สามารถยกตัวอย่างได้ชัดเจน เพราะอาการของเด็กล้วนมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่ออาการ แต่อย่างน้อยๆการทำกิจกรรมสวนบำบัดได้ทำให้เด็กใช้เวลาอยู่กับกิจกรรมได้นานขึ้น ให้ความร่วมมือกับผู้นำกิจกรรมได้ดี มีบุคลิกที่กระฉับกระเฉงมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดคือสัญญาณการเรียนรู้ที่เป็นบวก สวนบำบัดจึงเปรียบเสมือนเครื่องมือที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กที่บกพร่องได้อีกทางหนึ่ง

ติดตามผลงานได้ที่ https://www.facebook.com/krajaisukteam

หมายเลขบันทึก: 590357เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2015 10:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2015 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การทำสวน เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของกิจกรรมบำบัด ที่น่าสนใจมากๆ ครับ

น่าสนใจมาก

ปกติทำสวนให้โรงเรียนครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท