ซ้อมๆ น้อมใส่ตน


ในนบทสวดธัมมานุสสติมีบทหนึ่งที่ว่า โอปนยิโก เป็นสิ่งที่พึงน้อมเข้ามาในตน แม้เราจะสวดบทสวดธัมมานุสสตินี้จนคุ้นเคย แต่ก็อาจจะเคยสงสัยว่า ที่ว่าเป็นสิ่งที่พึงน้อมเข้ามาในตน อะไรเป็นที่เราทั้งหลายพึงน้อมเข้า คือ ทรงจำไว้ ขบคิดจนเข้าใจ แล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยธรรมที่น้อมเข้ามาในตนนี้

การน้อมนำธรรมที่ควรน้อมเข้ามา เป็นพื้นฐานของการฝึกอบรมกาย วาจา ใจ ในพุทธศาสนา หากไม่มีการน้อมนำธรรมต่างๆเข้ามาสู่การปฏิบัติในชีวิตจริง แม้จะปฏิบัติตามธรรมที่ตรัสว่าเป็นทางสายเอกคือสติปัฏฐาน ก็อาจไม่บรรลุผลการปฏิบัติได้ เพราะบันไดการปฏิบัติขาดเสียตั้งแต่ต้นนั่นเอง ดังที่สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ตรัสว่า ปฏิบัติข้ามขั้น บรรลุนิพพานไม่ได้

ทั้งนี้เพราะใจยังไม่มีการเตรียม ยังไม่เริ่มต้นจากสิ่งที่ทำได้ง่ายๆไปสู่สิ่งที่ทำได้ยาก อยู่ดีๆจะให้ทำสิ่งยาก ให้ปล่อยวางทุกสิ่งเลยเสียทีเดียว ย่อมทำไม่สำเร็จ

ธรรมที่เราควรน้อมเข้ามา จึงมีตั้งแต่การสอนตนที่ยังหนาแน่นด้วยกิเลส ไม่ให้กิเลสก้าวล่วงออกมาจากใจไปกระทบผู้อื่นในยามที่ตา หู เป็นต้น ได้อารมณ์ที่ไม่น่ายินดี, เพื่อดับความต้องการอันเป็นตัณหา, เพื่อฝึกการละ การควบคุมตน อันเป็นเหตุให้คลายอกุศลธรรม เพิ่มพูนธรรมที่เป็นกุศล หรือ เพื่อการอบรมปัญญาเพื่อให้เห็นตรงสภาวะที่เป็นเพียงธาตุ เข้าถึงความไม่เป็นตน เหล่านี้เป็นต้น

คำสอนที่เราควรน้อมมามีหลายเรื่องค่ะ

หนึ่งในธรรมที่ควรเริ่มน้อมเข้ามานั้น คือ โทษของกาม*เพราะชีวิตเราจะดำรงอยู่ได้ จิตต้องได้อาหารคือปีติ สุข สุขที่เราหาได้ง่ายที่สุดก็คือกามสุข แต่กามสุขนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากบริหารจัดการกามสุขได้ดี ก็จะได้รับผลดีคือ สร้างคุณประโยชน์แก่ชีวิตและขยายการเกื้อกูลไปยังสังคมให้อยู่กันอย่างร่มเย็นและสนับสนุนการพัฒนาตนให้ได้พบความสุขที่สูงขึ้นไป แต่ถ้าหลงใหลในกามสุข ก็จะก่อทุกข์ภัยและขยายผลร้ายออกไปสู่สังคมอย่างที่เราเองก็แทบจะประมาณโทษของมันไม่ได้**

โดยอาจเริ่มจากน้อมมาร่วมพิจารณากับสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน เพื่อนอกจากจะเห็นคุณคือความรื่นรมย์ที่ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้ว ยังเห็นโทษของการได้สิ่งเหล่านั้นพร้อมกันไปด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อรู้จักเสพ ใช้ ด้วย คุณค่าแท้ ของสิ่งนั้น ไม่ใช่ด้วย คุณค่าเทียม ด้วยความมัวเมา ด้วยความสนุกสนาน จนค่อยๆลดการพึ่งพิงสิ่งนอกกาย

จนจากที่ "ต้องมีจึงจะใช้ได้"

ไปสู่ "มีก็ดี ไม่มีก็ได้"

กระทั่ง "มีก็ได้ ไม่มีก็ดี" ในที่สุด

คุณตุ๊กเพิ่งได้บัตรเชิญไปงานแต่งงานจากเพื่อน ก็นึกเสื้อผ้าที่จะใส่ไปงาน จึงอยากได้เสื้อผ้าแบรนด์เนมสักชุดเพื่อที่เวลาสวมใส่แล้วคงรู้สึกสัมผัสของเนื้อผ้าที่นุ่มสบาย คงภูมิใจเมื่อเห็นสายตาผู้อื่นมองตนหรือเมื่อได้ยินใครๆเอ่ยชม แต่ความสุขที่ได้ อย่างไรก็ต้องมีทุกข์พ่วงมาด้วย (สหคตทุกข์) ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อ ก็อาจน้อมเอาโทษทั้งสิบของกาม เข้ามาในตน เช่น

เสื้อผ้าที่เหมาะกับการใส่ไปงานกลางคืน ไม่สามารถใส่ได้ในชีวิตประจำวัน อาจไม่คุ้มกับจำนวนเงิน ที่จ่ายไปเพื่อเสพความภูมิใจที่นานๆครั้งจะได้เสพ ต้องเสพกี่ครั้งจึงจะรู้สึกว่าอิ่ม (กามเปรียบเหมือนร่างกระดูก ที่ติดเนื้อเพียงเล็กน้อย สุนัขหิวโหยแทะอย่างไรก็อิ่มได้ไม่เต็มที่)

ต้องลดรายจ่ายด้านอื่นๆลง เช่น ค่าอาหาร ค่าสันทนาการ จนอาจทำให้วิถีชีวิตไม่เป็นปกติสุข เพื่อชดเชยกับเงินที่หายไปกับเสื้อแบรนด์เนมชุดใหม่ และอาจมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการดูแลรักษาทุกครั้งหลังการสวมใส่ (กามเปรียบด้วยหอกและหลาวที่คอยทิ่มแทงเราอยู่ตลอดเวลา)

หากเพื่อนๆที่ทราบฐานะการเงินของเธอเห็น เขาอาจไม่ร่วมยินดี แต่อาจนึกสมเพชเธอก็ได้ เธอจะรู้สึกอย่างไรหากได้ยินคำกล่าวกระทบกระเทียบ (กามเปรียบเหมือนการจับงูที่หาง หากไม่ระวังหรือวางใจไม่ได้ ก็ต้องถูกแว้งกัดให้บาดเจ็บ)

และหากไม่มีใครเอ่ยชม เธอจะทำอย่างไรกับสิ่งที่ตนบังคับไม่ได้ จะรู้สึกผิดหวัง เสียดายเงินพร้อมๆกับที่ต้องเสียดายสิ่งดีๆที่ต้องลดทอนไปเพราะการจ่ายเงินครั้งนี้หรือไม่ (กามเปรียบเหมือนของที่ยืมเขามา เขาไม่ให้ก็ไม่ได้ หรือเมื่อได้ ใช้อยู่ไม่นานก็ต้องคืนเขาไป ไม่มีสิทธิขาดในตัวเอง)

เสื้อผ้าที่ใช้งาน วันหนึ่งก็ต้องเก่า ไม่มีอะไรคงอยู่ในสภาพเดิมได้ เสื้อที่ได้มาด้วยเงินจำนวนมาก เธอคงอยากให้ดูใหม่ ดูน่าสวมใส่อยู่ตลอดเวลาหากเสื้อเก่าลง เธอจะทนดูเสื้อที่อยากให้คงสภาพเดิมเพื่อทำใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ไหม (กามเปรียบเหมือนความฝันที่ตื่นก็พลันหาย ไม่หวนกลับมาอีก หากวิ่งไล่ไขว่คว้าก็มีแต่ต้องทนทุกข์)

หรือหากได้รับคำชมมากๆเข้า เธออาจยินดีจนอยากใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนมตัวใหม่ เธอจะหารายได้เพิ่มจากไหน เธอจะร้อนใจกับการไม่ได้ในสิ่งที่อยากได้หรือไม่(กามเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ที่แม้เราจะอยากหลีกเพราะความร้อน แต่ก็เหมือนมีมือที่แข็งแรงลากเราไปสู่หลุมนั้นเสมอ)

เมื่อเห็นทั้งคุณและโทษที่มากกว่าคุณอย่างนี้แล้วอาจทำให้เธอเปลี่ยนความคิดที่จะซื้อเสื้อแบรนด์เนมมาเป็นการหาเสื้อผ้าชุดใหม่ตามกำลังทรัพย์ของตนหรือไม่ ก็เพียงแต่ดัดแปลงเสื้อชุดเก่าให้เหมาะกับงานก็ได้(เคยเห็นพี่สาวท่านหนึ่ง เธอมีชุดราตรียาวที่ใส่ไม่กี่ครั้ง ต่อมาเธอตัดชายกระโปรงออก ดัดแปลงเป็นราตรีสั้นเพื่อใส่ในงานต่อๆไป)

การน้อมโทษของกามเมื่อจะเสพสิ่งของเข้ามาในตน อันทำให้เรื่องอาหารการกิน เรื่องสิ่งของใช้สอย เหมาะสมกับฐานะนี้ มีผลดีหลายอย่างเชียวค่ะ เช่น บ่มเพาะความสันโดษ (พอใจในสิ่งที่ตนได้แล้ว พอใจตามกำลังตน), เคยชินกับการใช้โยนิโสมนสิการ (การคิดอย่างแยบคาย ) ดังที่เธอคิดถึงเหตุที่มาคือการอยากได้เสื้อแบรนด์เนมและผลที่ไปคือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นหลังการได้ และนอกจากนี้ ยังเป็นการเริ่มต้นการมีดำริที่จะลดการได้ความสุขจากการเสพทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อันจะเกิดได้ด้วยการพึ่งพิงสิ่งภายนอก มาเพิ่มพูนการเสพสุขจากการมองเห็นตรงสภาวะ สุขจากการดับของตัณหา อันเกิดขึ้นภายในใจ อันเป็นสุขที่ไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งเสพบริโภคแต่อย่างใด หรือก็คือได้มีดำริที่จะก้าวออกจากกาม (เนกขัมมวิตก) อีกด้วย

เคยได้ยินท่านหนึ่งพูดว่า พรุ่งนี้จึงจะจะปฏิบัติสติปัฏฐาน ให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นแต่เพียงธาตุ แต่วันนี้ขอเว้นเพราะไม่อย่างนั้นจะเห็นแม่เป็นเพียงธาตุแล้วจะดูแลท่านไม่ได้ นี่เป็นความคิดที่ไม่เห็นด้วยค่ะ เพราะเป็นความเห็นผิด และทำให้ธรรมแยกออกจากชีวิต

เราไม่สามารถแยกได้ค่ะว่า ธรรมก็ส่วนหนึ่ง ชีวิตก็อีกส่วนหนึ่ง อันที่จริง การน้อมธรรมเข้ามาในตนก็เป็นการเริ่มต้นฝึกสติปัฏฐานแล้ว โดยเริ่มตั้งสติตามจับที่ธรรมคือความอยาก ย้อนไปสู่จิตยินดีในอะไร หรือมีอะไรมาประกอบกับจิตจึงทำให้เกิดความอยาก เมื่อความอยากดับจึงได้รู้ถึงการดับของความร้อนใจ กลายเป็นความสงบ เมื่อจิตสงบ กายก็ไม่กระสับการะส่าย หายใจตามปกติ หรือ ไม่มีอาการเครียดทางใจที่จะปรากฏออกมาทางกาย กลายเป็นโรคต่างๆ เช่น แผลในปาก โรคกระเพาะอาหาร อาการนอนไม่หลับ อาการปวดหัว เป็นต้น

อีกทั้งเราไม่สามารถ "หวังผล" คือการเห็นว่าเป็นเพียงธาตุได้เพราะความที่ธรรมทั้งปวงไม่ขึ้นกับความปรารถนา แต่การจะเห็นอย่างนั้นได้ "เป็นผล"ที่มาจากการปฏิบัติที่เริ่มจากการน้อมธรรมเข้ามาในตน หรือ โอปนยิโก

โอปนยิโกจึงให้ธรรมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต หากได้น้อมไปสู่การเสพสิ่งอื่นๆด้วยไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ หรือ สิ่งที่จับต้องไม่ได้ ผลก็คือการคลายของกามตัณหาในแต่ละเรื่องลงไปได้เรื่อยๆ

โดยที่เราไม่ต้องเดือดร้อนว่าทำอย่างไรจึงจะก้าวออกจากกามได้ ทำอย่างไรตัณหาจึงจะคลาย

………………………………………………………………………………….

* ตรัสกับคหบดีชื่อ โปตลิยะ ใน โปตลิยสูตร ม.ม. (แปล) ๑๓/๔๒-๔๘/๔๕-๔๗ท ; พระเทพวิสุทธิกวี บทอบรมกรรมฐาน หน้า 116-117

**พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พุทธธรรมฉบับปรับขยาย หน้า 1039 – 1040

หมายเลขบันทึก: 590238เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2015 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2017 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีแสงเงา

ใน ความเป็นไป..เปลี่ยนไป..ในธรรมชาติ..มาฝากเจ้าค่ะ..

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท