​สภาวิทยาเขตปัตตานี



มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทดลองตั้งสภาวิทยาเขต เพื่อแบ่งเบาภาระงานของสภามหาวิทยาลัย และเพื่อให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้เข้าไปช่วยขับเคื่อนนโยบายของสภามหาวิทยาลัยให้ก่อผลในทางปฏิบัติยิ่งขึ้น ทำมาแล้ว ๑ ปี กำลังประเมินผล โดยมี ศ. นพ. อาวุธ ศรีสุกรี เป็นประธานคณะกรรมการประเมิน

ผมเกี่ยวข้องกับ ๒ สภาวิทยาเขต คือเป็นประธานสภาวิทยาเขตหาดใหญ่ กับเป็นกรรมการสภา วิทยาเขตปัตตานี ที่ ศ. ดร. สนิท อักษรแก้ว เป็นประธาน

จึงขอนำประสบการณ์การทำหน้าที่สภาวิทยาเขต ม ลปรร. โดยยึดเอาสภาพของการประชุมสภา วิทยาเขตปัตตานีเมื่อวันเสาร์ที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๘ เป็นข้อมูลหลัก

หน้าที่หลักของสภาวิทยาเขต (ตามการตีความของผม) คือดูแลเรื่องวิชาการ กับเรื่องความผูกพัน กับสังคม ผมจึงพยายามทำหน้าที่ตั้งคำถาม (วิธีทำหน้าที่กำกับดูแล - governance - เน้นทำโดยตั้งคำถาม) เพื่อให้ฝ่ายบริหาร (และฝ่ายปฏิบัติ) คิด หวังว่า จะนำไปสู่การดำเนินการที่มีคุณภาพ บรรลุเป้าหมาย และเกิดระบบงานที่ดียิ่งขึ้น

ผมชื่นชมท่านประธานสภาวิทยาเขตปัตตานีมาก ที่ตั้งใจหาทางขับเคลื่อน (เข็น) ให้วิทยาเขตปัตตานี ทำประโยชน์แก่บ้านเมือง โดยเฉพาะ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดียิ่งขึ้น

ที่จริงวิทยาเขตปัตตานี ก็เหมือนเป็นหนึ่งมหาวิทยาลัย และเป็นมหาวิทยาลัยในเขตที่มีความขัดแย้ง ทางการเมือง มีความไม่ปลอดภัยสูง เป็นวิกฤติทางสังคม ผมจึงพยายามมองวิกฤติเป็นโอกาส พยายาม ตั้งคำถามชักชวนให้มีการดำเนินการเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยเข้ากับสังคม (social engagement) ผ่านภารกิจหลัก ของมหาวิทยาลัย คือผ่านการเรียนการสอน การวิจัย บริการวิชาการ และการทำนุบำรุงความดีงามในสังคม

การเรียนการสอนแบบ active learning ตามด้วย reflection ในหลากหลายรูปแบบ ที่นักศึกษาเรียนรู้ โดยเข้าไปทำกิจกรรมในสังคม น่าจะเป็นเครื่องมือเยียวยาความขัดแย้ง ลดความตึงเครียดได้

คือ ตัวนักศึกษานั่นเองที่น่าจะกลายเป็น "ผู้กระทำ" หรือ "ผู้สร้างสรรค์" เพื่อ การเรียนรู้ สู่การเปลี่ยนแปลง ของตนเอง นำไปสู่การได้รับปริญญา

วันที่ ๕ - ๖ เมษายน ๒๕๕๘ ผมไปเยี่ยมชื่นชมผลงานของโครงการพัฒนานักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเยาวชนในท้องถิ่น เห็นผลงานแล้วทำให้หวนคิดถึงการพัฒนา นักถักทอชุมชน ในพื้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ ที่กรมพัฒนาองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นน่าจะดำเนินการ


วิจารณ์ พานิช

๙ เม.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 590237เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2015 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2015 10:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท