KM วันละคำ : 640. ใช้ KM ใน International Conference


วิธีการนี้ ทำให้ panelist ปลดปล่อย "ความรู้ปฏิบัติ" ที่ไม่มีในตำรา ไม่มีในวารสาร ออกมา และพบว่า คำถามจากผู้ฟัง ช่วยกระตุ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นได้ลึกมาก ช่วยให้ panelist ทำ critical reflection เปิดเผยการสะท้อนคิดแก่ที่ประชุม

KM วันละคำ : 640. ใช้ KM ใน International Conference

ในการประชุม the 4th HTAsiaLink Annual Conference ที่นครไทเป ไต้หวัน เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘ มีรายการ Experiences and Difficulties in Developing HTA ที่มีเป้าหมายให้ผู้บริหารองค์กร HTA (Health Technology Assessment) ของประเทศสมาชิกแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการองค์กร HTA แบบที่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงลึก สามารถพูดสิ่งที่ค่อนข้างเป็นความลับ หรืออ่อนไหวต่อความรู้สึก ของบางฝ่ายได้

เราจึงออกแบบใช้ KM เพื่อเน้น ลปรร. จากประสบการณ์จริง เรื่องราวจริง ไม่ใช่พูดทฤษฎี

Dr. Ryan Li และผมทำหน้าที่ moderator ร่วมกัน โดยเราได้หารือออกแบบกิจกรรมใช้เวลา ๑๑๕ นาที ให้ panelist 4 คน ตอบคำถามรอบละ ๑ คำถาม โดยให้ตอบแบบเล่าเรื่องจริงจากประสบการณ์ของตน (storytelling) ตามด้วยการสะท้อนคิด (reflection) หรือตีความ ว่าทำไมการดำเนินการอย่างนั้นจึงให้ผลเช่นนั้น ใช้เวลาตอบคนละไม่เกิน ๒ นาทีต่อรอบ รวมมี ๔ คำถาม โดย Dr. Ryan Li เป็นผู้ร่าง

Panelist ไม่รู้คำถามมาก่อน รู้แต่ว่าจะคุยกันเรื่องการจัดการหน่วยงาน HTA มาฟังคำถามและตอบ เดี๋ยวนั้น เพื่อให้คำตอบมาจากใจ ไม่ใช่มาจากการคิด ให้คำตอบมาจากเรื่องจริง ไม่ใช่มาจากทฤษฎี

ในระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่จะแจกกระดาษคำถามแก่ผู้ฟังคนละแผ่น ในกระดาษมีส่วนให้เขียนคำถาม และส่วนล่างเป็นตารางการให้คะแนน โดยกรรมการ ๒ คน ตามระดับ ๑ - ๕ ใน ๓ เกณฑ์ตัดสินคือ (๑) คำถามสอดคล้องกับประเด็นที่กำลังพูดกัน (๒) คำถามนำไปสู่การอภิปรายกว้างขวาง (๓) คำถามช่วยให้เกิด การเรียนรู้ ผู้ต้องการถามต้องเขียนคำถามลงบน กระดาษ แล้วอ่านคำถามจากกระดาษนั้น โดยการอ่านคำถาม ต้องใช้เวลาไม่เกิน ๓๐ วินาที

คำถามอาจมีลักษณะได้ ๒ แบบ (๑) เป็นคำถาม (๒) เป็นการสะท้อนคิดจากเรื่องเล่าเหตุการณ์ที่ panelist เล่า และสะท้อนคิดแล้ว แต่ผู้ถามมีการสะท้อนคิดที่แตกต่างจากการสะท้อนคิดของ panelist เจ้าของเรื่อง

หลังจาก panelist 4 คนตอบคำถามแรกจบแล้ว ก็ให้ผู้เข้าร่วมประชุมที่ต้องการถามอ่านคำถาม แล้ว panelist ตอบ ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ไปเก็บกระดาษคำถามที่ถามแล้ว เอาไปให้กรรมการให้คะแนน

ทำเช่นนี้จนครบคำถามของ Dr. Ryan Li และของผู้เข้าร่วมประชุม เจ้าหน้าที่ก็ประกาศผู้ได้รับ คะแนนคำถามสูงสุด ๓ คน และมอบรางวัล ซึ่งเป็นของเล็กๆ น้อยๆ และรางวัลที่ ๑, ๒, ๓ อาจเหมือนกันก็ได้ แต่ประกาศว่าใครได้อันดับ ๓, ๒, ๑

วิธีการนี้ ทำให้ panelist ปลดปล่อย "ความรู้ปฏิบัติ" ที่ไม่มีในตำรา ไม่มีในวารสาร ออกมา และพบว่า คำถามจากผู้ฟัง ช่วยกระตุ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นได้ลึกมาก ช่วยให้ panelist ทำ critical reflection เปิดเผยการสะท้อนคิดแก่ที่ประชุม

เพื่อให้ทุกคนสบายใจที่จะเล่าเรื่อง จึงมีข้อตกลงล่วงหน้าว่า ขอใช้ Chatham House Rule ว่า ผู้ร่วมประชุมสามารถนำข้อมูลจากที่ประชุมไปใช้ต่อได้โดยอิสระ แต่ต้องไม่บอกว่าใครเป็นผู้พูดเรื่องนั้น คือต้องไม่อ้างอิงตัวบุคคล ข้อตกลงนี้เพื่อให้ผู้พูดสามารถพูดข้อความที่ล่อแหลมได้อย่างสบายใจ

วิจารณ์ พานิช

๑๔ พ.ค. ๕๘

ห้อง ๑๐๒ โรงแรม Star Beauty, Taipei

หมายเลขบันทึก: 590232เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2015 04:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2015 04:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เช้าวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘ นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์ แกนนำคนสำคัญของ HTAsiaLink บอกผมว่า ผู้เข้าร่วมประชุมชอบการประชุม session นี้ และใน 5th HTAsiaLink Annual Conference ที่สิงคโปร์ในปีหน้า ขอให้จัดอีก ผมแนะนำว่า สามารถจัดให้การ ลปรร. ลงลึกยิ่งกว่านี้ได้ โดยปรับวิธีตั้งคำถาม ให้ถามว่า "ในเรื่อง ก มีเหตุการณ์ใดที่คิดว่าสำคัญ ก่อให้เกิดความเข้มแข็งด้าน ก ขอให้เล่าเหตุการณ์ แล้วสะท้อนคิดว่า ทำไมการตัดสินใจดำเนินการตามเรื่องราวจึงนำไปสู่ความสำเร็จ/ไม่สำเร็จ ของหน่วยงาน HTA"

วิจารณ์ พานิช

๑๕ พ.ค. ๕๘

ห้อง ๑๐๒ โรงแรม Star Beauty Hotel, Taipei

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท