แนวคิดการบริหารงานวิชาการ


แนวคิดการบริหารงานวิชาการ

ดร.ปาณเดชา ทองเลิศ[1]

บทนำ

การบริหารงานวิชาการ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษา และมีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติงานทางวิชาการ เพื่อการนำไปสู่การจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน ชุมชน สังคม ครู และผู้บริหารสถานศึกษา ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จะต้องร่วมกันจัดการอาชีวศึกษาและฝึกอบวิชาชีพให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน ตามที่สังคมและประเทศชาติต้องการ

เป้าประสงค์

ผู้เรียนที่สำเร็จการอาชีวศึกษา สามารถประกอบอาชีพได้ เป็นผู้ประกอบการใหม่ และสามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

พันธกิจ

การบริหารงานวิชาการ ต้องดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อการผลิตกำลังคนระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี ให้เป็นผู้มีความรู้ (Knowledge) มีทักษะ (Skill) และเป็นผู้มีคุณลักษณะ ที่พึงประสงค์ (Attribute) เพื่อการประกอบอาชีพและทำงานได้ นั้นคือ สมรรถนะ (Competence) ที่สถานประกอบการต้องการ ให้เป็นผู้คิดเป็น สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และก้าวไกลสู่สากล ในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่ต้องอาศัยเครือข่าย(Network) และเทคโนโลยี (Technology) ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (Information System) ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวกับประชาคม เศรษฐกิจ อาเซียน (AEC: Asean Economic Community) ได้อย่างมีความสุขและสันติสุขร่วมกันในสังคมโลก

กรอบความคิด (Framework)

การปฏิบัติงานของฝ่ายวิชาการในสถานศึกษา ตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษา ว่าด้วยการบริหารสถานศึกษา พ.ศ. 2552 ประกอบด้วย งานแผนกวิชา งานพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน งานวัดผลและประเมินผล งานอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี งานศูนย์วิทยบริการและห้องสมุด และงานสื่อการเรียนการสอน

การปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น มุ่งให้การส่งเสริมสนับสนุน การจัดการเรียนรู้ของครู สู่ผู้เรียน เป้าประสงค์ (Goal)ให้เป็นคนดี คนเก่งและมีความสุข ด้วยการบูรณาการจัดการสิ่งต่างๆ ให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ ฝึกทักษะวิชาชีพ มีทักษะชีวิต สามารถพึ่งตนเองได้ ช่วยเหลือสังคม ด้วยการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ความดีงามทั้งหลาย ค่านิยม 12 ประการ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ผู้เรียนสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในครอบครัว สังคม และประเทศชาติ

กฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบต่างๆ

การบริหารงานวิชาการ มีกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545, พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551, พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547, พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546, จรรยาบรรณของวิชาชีพทางการศึกษา พ.ศ.2556 และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของชาติที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องศึกษาเรียนรู้ และปฏิบัติได้ตามวัตถุประสงค์แห่งกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบต่างๆ ได้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์

งานพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน

การจัดการเรียนการสอนมีความเกี่ยวข้องกับ หลักสูตรการเรียนการสอน จัดเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency Based Curriculum) ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนนักศึกษามีความรู้ มีทักษะความสามารถในการทำงานประกอบอาชีพ รวมทั้งเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยมีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบการ สมาคมวิชาชีพ สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ รวมทั้งการทำความร่วมมือ ข้อตกลงระหว่างประเทศ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้านเนื้อหา การฝึกทักษะ รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ และฝึกอาชีพ ตลอดจนมีการพัฒนาบุคลากรทางวิชาชีพร่วมกัน ให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning) , การเรียนรู้โดยตั้งปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning : PBL) , การจัดการเรียนรู้รูปแบบของ MIAP (Motivate , Information , Assessment , Progress) ซึ่งขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อหา กิจกรรมการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ที่ให้เน้น การคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ และการสร้างสรรค์ผลงาน อันนำไปสู่สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา อาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง

งานวัดผลและประเมินผล

การวัดผลและประเมินผล เป็นส่วนถึงของกระบวนการจัดการเรียนรู้ เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนนักศึกษา และกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู ซึ่งต้องมีกระบวนการวัดผลและประเมินผลที่ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นธรรม มีมาตรฐานในลักษณะของการประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) ที่พิจารณาตรวจสอบพัฒนาการของนักเรียนนักศึกษาเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ มีความต่อเนื่องตลอดเวลาที่เรียน โดยให้สามารถอธิบาย จำแนกแยกแยะคะแนนที่ให้ในแต่ละส่วนได้อย่างละเอียดที่เรียกว่า Analytic Scoring Rubric หรืออาจให้คะแนนในภาพรวมของผลงานความสำเร็จที่นักเรียนนักศึกษา ได้คิดสร้างสรรค์ขึ้นที่เรียกว่า Holistic Scoring Rubric

ที่สำคัญเครื่องมือและวิธีการ ในการวัดผลและประเมินผลมีมากมายหลายวิธีที่ครูต้องสรรค์สร้าง เลือกใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อหา กิจกรรม แบบฝึก ใบงาน ตรงตามจุดประสงค์วิชา มาตรฐาน สมรรถนะวิชาชีพที่ต้องการ และให้ครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ พุทธิพิสัย (Cognitive Domain) ทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) และจิตพิสัย (Affective Domain) ซึ่งมีความสอดคล้องกับ สมรรถนะในเชิงวิชาชีพ (Competency) ได้แก่ ด้านความรู้ (Knowledge) ด้านทักษะ (Skill) และด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ (Attribute) มุ่งปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยม ความคิดที่ดีงาม จรรยาบรรณวิชาชีพ

สิ่งดังกล่าว ครูต้องมีการวางแผน จัดระบบกระบวนการวัดผลและประเมินผล ให้เป็นไปตามหลักวิชาการ โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ทำงานได้ คิดเป็น สร้างสรรค์ผลงานในอาชีพ ให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่ การงานอย่างมีประสิทธิภาพ

งานอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี (Dual Vocational Education : DVE ) ถือเป็นการจัดการอาชีวศึกษาและฝึกวิชาชีพที่มีบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน การวัดผลและประเมินผล โดยผู้เรียนใช้เวลาเรียนส่วนหนึ่งในสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันและเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 มาตรา 8 (3) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ที่สถานศึกษาต้องมุ่งเน้นเป็นสำคัญ ให้ทำร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศด้วย ที่เป็นประเทศอุตสาหกรรม เช่น ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อิสราเอล เยอรมัน สวีเดน เดนมาร์ก เป็นต้น

อันเป็นการมีส่วนร่วมขององค์กรต่างๆ ที่ร่วมกันจัดอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี ในแต่ละภูมิภาคโดยเฉพาะองค์กรระหว่างประเทศในแถบอาเซียน

กอปรกับเป็นการพัฒนา ยกระดับ ขีดความสามารถ ทักษะฝีมือแรงงานร่วมกันให้มีคุณภาพมาตรฐาน ตามความต้องการของนานาประเทศ อันเป็นภารกิจสำคัญยิ่ง ที่ต้องตระหนัก พยายาม อันนำไปสู่นโยบาย และการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในสถานศึกษา

งานสื่อการเรียนการสอน

สื่อการเรียนการสอน เป็นเครื่องมือส่งเสริมสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ ให้มีความน่าสนใจ เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ทุกสถานการณ์ สามารถสืบค้น ศึกษาด้วยตนเอง ปฏิสัมพันธ์กับครูได้ตามความต้องการ โดยอาศัยเทคโนโลยีต่างๆ ในรูปแบบ Social Network เช่น e-mail , face book , Internet ,Edmodo Moodle โปรแกรมนำเสนองานต่างๆ เช่น PowerPoint , Adobe Captivate เป็นต้น

สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏมีมากมายหลายชนิดที่ครู ต้องใฝ่หา เรียนรู้ ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพของการเรียนการสอน ที่น่าสนใจ ท้าทายทันการเปลี่ยนแปลง ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดส่งผลต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในทุกรูปแบบ ที่มีครูเป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนแปลง ในการพัฒนานักเรียนนักศึกษาด้านสติปัญญา ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม รวมทั้งมีทักษะชีวิตในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

งานศูนย์วิทยบริการและห้องสมุด

ในสถานศึกษา ศูนย์วิทยบริการและห้องสมุด เป็นหัวใจสำคัญในการเป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า เรียนรู้ สร้างนิสัยรักการอ่าน สืบค้นข้อมูลที่มีความทันสมัย เกี่ยวกับ 3 ดี คือ บรรณารักษ์ดี สถานที่ดี และหนังสือดี ที่ต้องเลือกสรร ให้นักเรียนนักศึกษา ได้เรียนรู้ศึกษาเพิ่มเติมจากที่เรียนในห้องเรียน หรือห้องฝึกปฏิบัติการมาแล้ว ได้อย่างเพลิดเพลิน น่าสนใจ เสมือนจริง ตามหลักการของ การศึกษาเพื่อทุกคน (Education for All) หรือ การศึกษาตลอดชีวิต (Long life Learning) ศูนย์วิทยบริการและห้องสมุด ต้องสามารถจัดการ สิ่งเหล่านี้ให้เกิดเป็นจริงได้ เพื่อพัฒนานักเรียนนักศึกษา ให้มีความรู้เพิ่มพูน พัฒนาการทางสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ อันนำพาไปสู่ความสำเร็จในการประกอบอาชีพ หรือการมีงานทำในอนาคต

บทสรุป

การบริหารงานวิชาการ ซึ่งประกอบไปด้วยงานต่างๆดังกล่าวข้างต้น ทุกงานจะต้องบูรณาการร่วมกัน ตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ว่าด้วยการบริหารสถานศึกษา พ.ศ.2552 ที่หัวหน้างานต้องรับผิดชอบตามที่ได้รับมอบหมาย นำไปสู่ การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตามพันธกิจ ที่ต้องผลิตกำลังคน ระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี ให้เป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข ภาคภูมิใจในความเป็นไทย และก้าวไกลสู่สากล

นักเรียนนักศึกษา ในสายวิชาชีพต้องได้รับการขัดเกลา การอบรม การบ่มเพาะนิสัย ตลอดจนฝึกทักษะฝีมือ ให้มีความชำนาญในเชิงช่างออกสู่ตลาดแรงงาน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ประเทศชาติ อันมีครู ผู้ปกครอง ผู้บริหาร สังคม ชุมชน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกำหนด (Collaborative) ในบริบทของการอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อฝึกและพัฒนานักเรียนนักศึกษา ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล ให้ประสบความสำเร็จ สามารถปฏิบัติงานได้ และก้าวไปสู่การเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพของประเทศต่อไป


[1] ปร.ด. การบริหารการศึกษา

หมายเลขบันทึก: 590165เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2015 10:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2015 10:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท