มีสิ่งของ มีผู้รับที่น่าเลื่อมใส มีศรัทธาแล้วให้ เป็นการทำทานที่ได้ประโยชน์สูงสุด


"ในวันอื่นๆ เมื่อเราได้พบพระพระพุทธเจ้า ของที่จะถวายก็ไม่มี แต่เมื่อพอเรามีของจะถวาย เราก็ไม่พบท่าน ก็วันนี้ ของที่จะถวายก็มี ทั้งพระพุทธเจ้าก็อยู่ต่อหน้าเรา ถ้าท่านไม่ทรงคิดว่า ทานของเราเศร้าหมองหรือประณีต แล้วพึงรับไซร้, เราพึงถวายขนมรำข้าวนี้"

วันหนึ่งนางปุณณาหญิงชาวบ้านยากจน ซ้อมข้าวเปลือกทั้งวันจนค่ำแล้วก็ยังไม่เสร็จ จึงจุดไฟให้สว่างแล้วซ้อมข้าวไปเรื่อยๆ เมื่อเหนื่อยก็หยุดพักยืนตากลม พอให้มีแรงก็จะซ้อมต่อ ครั้งนั้นพระทัพพมัลบุตรรับหน้าที่เป็นผู้จัดที่พักให้พระภิกษุที่เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านเป็นผู้ชำนาญในกสิณ ท่านได้ทำนิ้วมือของท่านให้สว่างเพื่อนำทางภิกษุไปสู่ที่พัก

ขณะนั้นนางปุณณามองขึ้นไปบนภูเขา แลเห็นแสงไฟขึ้นลง ขึ้นลงอยู่ตลอดเวลาจึงคิดว่า "ตัวเรานี้ถูกความทุกข์เบียดเบียน จึงไม่ได้หลับนอน ส่วนท่านเหล่านั้น ดึกดื่นป่านนี้แล้ว ทำไมจึงยังไม่หลับนอนอีก หรือว่าอาจจะเกิดเหตุร้ายกับท่าน หรือว่างูกัดท่าน อะไรสักอย่าง" นางคิดแค่นี้แล้วก็ซ้อมข้าวต่อไปจนเสร็จ

รุ่งเช้านางเอารำข้าวชุบน้ำ แล้วย่างไฟ ห่อไว้ที่เอว กะว่าจะไว้กินกลางทาง นางถือหม้อเดินไปที่ท่าน้ำ ในขณะนั้นพระพุทธเจ้าก็เสด็จไปทางนั้นเหมือนกัน เมื่อนางเห็น จึงคิดว่า "ในวันอื่นๆ เมื่อเราได้พบพระพระพุทธเจ้า ของที่จะถวายก็ไม่มี แต่เมื่อพอเรามีของจะถวาย เราก็ไม่พบท่าน ก็วันนี้ ของที่จะถวายก็มี ทั้งพระพุทธเจ้าก็อยู่ต่อหน้าเรา ถ้าท่านไม่ทรงคิดว่า ทานของเราเศร้าหมองหรือประณีต แล้วพึงรับไซร้, เราพึงถวายขนมรำข้าวนี้"

นางคิดดังนี้แล้วจึงวางหม้อลงที่พื้น หยิบขนมออกมาจากเอวแล้วกราบทูลว่า "ขอพระองค์จงทรงรับทานอันเศร้าหมองนี้ เพื่อสงเคราะห์แก่หม่อมฉันเถิดพระเจ้าข้า" พระพุทธเจ้าทรงน้อมบาตรรับขนมนั้น

นางปุณณาเมื่อวางขนมรำข้าวในบาตรของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ก้มกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ กราบทูลว่า "ขอธรรมที่พระองค์ทรงเห็นแล้ว จงสำเร็จแก่หม่อมฉันเถิด พระเจ้าข้า" พระพุทธเจ้าประทับยืนอยู่ ทรงกระทำอนุโมทนาว่า "จงสำเร็จอย่างนั้นเถิด"

หลังจากรับพรแล้วนางก็คิดต่อไปว่า " พระพุทธเจ้าทำการสงเคราะห์เราด้วยการรับขนมของเราก็จริง แต่พระองค์คงไม่เสวยขนมนั้น คงจะโยนให้นกให้กาหรือสุนัขข้างหน้า แล้วก็จะเสด็จไปยังเรือนของเศรษฐี หรือพระราชวัง เสวยโภชนะอันประณีตแน่แท้" แม้พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบวาระจิตของนาง จึงทรงแลดูพระอานนท์ที่ตามเสด็จมา ทรงแสดงอาการว่าจะประทับนั่ง เมื่อพระอานนท์ได้ปูลาดอาสนะในที่อันสมควรแล้ว พระพุทธเจ้าได้ประทับนั่ง ทรงฉันภัตตาหารขนมรำข้าวที่นางปุณณาถวายนั้นเอง

ส่วนนางปุณณาได้ยืนแลดูมีปีติอิ่มเอิบใจอยู่ (ประเพณีของชาวอินเดียสมัยนั้น ผู้ที่ยืนถือว่าเป็นการแสดงความเคารพผู้ที่นั่งอยู่) เมื่อทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว ตรัสเรียกนางมาแล้วมีพระดำรัสว่า

พระพุทธเจ้า "ดูก่อนปุณณา เพราะเหตุไร เจ้าจึงดูหมิ่นสาวกทั้งหลายของเรา?"

ปุณณา "หม่อมฉันมิได้ดูหมิ่น พระเจ้าข้า"

พระพุทธเจ้า "เมื่อคืนนี้ เจ้าแลดูสาวกของเรา แล้วเจ้าคิดอย่างไร?"

ปุณณา "หม่อมฉันคิดเท่านี้ว่า ตัวหม่อมฉันนี้ถูกความทุกข์เบียดเบียน จึงไม่ได้หลับนอน เหตุไฉนท่านผู้เจริญทั้งหลายจึงไม่พากันหลับนอน หรือว่าอาจจะเกิดเหตุร้ายกับท่านหรือว่างูกัดท่าน อะไรสักอย่าง พระเจ้าข้า"

พระพุทธทรงตรัสว่า "ปุณณา เจ้าไม่หลับเพราะอันตรายคือทุกข์ของตัวเจ้าที่ทำแล้วในก่อน ส่วนสาวกทั้งหลายของเราไม่หลับเพราะความเป็นผู้ประกอบเนืองๆซึ่งธรรมเครื่องตื่นอยู่ทุกเมื่อ"ดังนี้

แล้วตรัสพระคาถาว่า " อาสวะทั้งหลาย ของผู้ตื่นอยู่ทุกเมื่อ มีปรกติตามศึกษาทั้งกลางวันกลางคืน น้อมไปแล้วสู่นิพพาน ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ "

เมื่อฟังพระธรรมเทศนาจบลง นางปุณณาได้ดวงตาเห็นธรรมขณะนั้นเอง

เรื่องของนางปุณณานี้พอเป็นตัวอย่างได้ว่า การให้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือให้ด้วยศรัทธา ให้ในสิ่งที่ผู้รับต้องการ ให้ตอนที่เขากำลังมีความจำเป็นต้องใช้สิ่งนั้น และเรามีวัตถุสิ่งของที่จะให้อยู่พอดี คือในหลายๆเรื่องคล้ายๆกันกับเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าไม่ทรงเคยตำหนิที่วัตถุทานว่ามีค่าน้อย หรือเป็นของไม่มีราคา แต่ให้ความสำคัญที่ใจของผู้ให้มากกว่า

คุณสมบัติของผู้รับก็มีความสำคัญมากเหมือนกัน ผู้รับที่ดีเมื่อได้รับแล้วย่อมสามารถที่จะส่งเสริมคุณธรรมของผู้ให้ทั้ง ศรัทธาและปัญญาของผู้ให้ ให้แข็งแรงและเพิ่มพูนมากขึ้นกว่าเดิม

อีกอย่างหนึ่งก็คือบางครั้งเราอยากให้แต่คนที่อยากจะให้(เช่นลูก)ไม่อยากรับหรือยังไม่ถึงเวลาที่เขาต้องการ การให้ในเวลานั้นก็ยังไม่เหมาะสมคือให้แล้วเสียของและเสียเวลาของผู้ให้ เช่นใครเคยอาจได้ยินข่าวเมื่อประมาณสองปีที่แล้วที่จ.ราชบุรี มีคนไปพบเงินสดแบงค์พันที่มีรอยตัดฉีกขาดจำนวนมากอยู่ในถังขยะ ตอนแรกก็คิดว่าเป็นเงินที่อาจมีผูัร้ายนำมาซุกซ่อนหรือหวังอำพรางคดี ตำรวจสืบไปสืบไปสืบมาก็ได้ความว่าเจ้าของเงินนี้เป็นลูกชายของผู้มีฐานะคนหนึ่ง ที่เกิดน้อยอกน้อยใจพ่อที่แบ่งสมบัติให้ตัวเองน้อยเกินไป เลยทำเหตุการณ์ดังกล่าวเพื่อเป็นการประชดพ่อนั่นเอง อย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่ผู้ให้อยากให้แต่ผู้รับยังไม่สมควรรับ เมื่อให้แล้วก็เกิดเรื่องทำนองนี้ คือไม่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แถมสมบัติก็พินาศไปด้วย

หมายเลขบันทึก: 589480เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2015 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2015 04:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

I have been hearing about a buddhists' saying: "a gift is valued by the receiver -- not the giver" (can't remmember wht it says in Pali ;-).

In this story, a gift was used to teach dhamma.

คือการให้นี้ย่อมมีผลมากด้วยเหตุดังนี้คือ 1.ผู้ให้(giver)มีศรัทธาที่แรงกล้าแค่ไหน ถ้ามีศรัทธามาก อานิสงส์ย่อมมากตามไปด้วย หรือคิดว่าให้เพื่อขัดเกลาตนเองก็มีผลมากเช่นกัน 2.วัตถุ(objects)ที่ให้นั้นเป็นของผู้ให้โดยชอบธรรม(ไม่ได้ไปขโมยเขามา) และ3.ผู้รับ(receiver)มีความบริสุทธิ์มากแค่ไหน ผู้รับที่เป็นพระอรหันต์ย่อมเกิดผลมากกว่าผู้รับที่เป็นปุถุชน

พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีทำนองนี้เสมอคือใช้การให้เป็นการเปิดใจให้พร้อมที่จะรับฟังธรรมะ เพื่อให้เขาพัฒนาปัญญานำไปสู่การพ้นทุกข์ได้

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท