660. เรียนรู้การทำ OD Consulting ผ่านหนังดีเรื่อง Big Game เกมส์ล่าประธานาธิบดี


OD Consulting

เมื่อวันก่อนไปดูหนังเรื่อง Big Game หรือเกมส์ล่าประธานาธิบดี เป็นหนังผจญภัยที่ผมก็อยากแนะนำให้ดูครับ สนุก น่ารักดี เป็นเรื่องราวของการก่อการร้าย ที่โจรวางแผนจับประธานาธิบดี ระหว่างเดินทางโดยเครื่องบินไปฟินน์แลนด์ ท่านประธานาธิบดีสหรัฐสามารถจะออกจากเครื่องบินได้ทัน แต่ท่านก็ต้องตกอยู่ท่ามกลางป่าลึกในฟินแลนด์อยู่คนเดียว พวกโจรก็พยายามตามมาจับ โดยได้ใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าชนิดกองทัพสหรัฐถูกตัดขาด ไม่สามารถตามหาท่านได้ แต่เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น คือบังเอิญช่วงนั้นมีเด็กอายุ 13 ปี คนหนึ่งเข้าไปล่าสัตว์ ซึ่งเป็นการล่ากวางครั้งแรกในชีวิต

ทำไมต้องไปคนเดียว คุณอาจถาม คือเป็นอย่างนี้ครับคนฟินน์แลนด์มีประเพณีอย่างหนึ่ง คือเมื่อเด็กเริ่มเป็นหนุ่ม คืออายุ 13 ปี คนฟินน์แลนด์ จะมีประเพณีพาลูกไปทิ้งไว้ในป่าคนเดียว จะออกมาก็ต่อเมื่อเด็กคนนั้นสามารถล่ากวางได้ ซึ่งเขาจะได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เด็กคนนี้ขณะที่อยู่ในป่าได้ไปเจอกับท่านประธานาธิบดีโดยบังเอิญ ที่กำลังถูกโจรตามล่า ตอนแรกก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่เฝ้ามองท่านถูกทำร้าย แต่ที่สุดก็ตัดสินใจใช้พลังที่มีอยู่เข้าแทรกแซง ด้วบความสามารถที่มีอยู่อย่างเดียวคือ "ยิงธนู" และความที่เคยมาล่าสัตว์กับพ่อตั้งแต่เด็ก ก็พาท่านประธานาธิบดีฝ่าฟันจนที่สุดก็เอาชนะโจรได้ เรื่องนี้เรียกว่าโหดมันฮามากๆ แต่ขณะเดียวกันก็ให้ข้อคิดบางเรื่อง


เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงอาชีพของผมเลยครับคือการเป็นที่ปรึกษาการพัฒนาองค์กร (Organisation Development Consultant หรือเรียกสั้นๆ คือ OD Consultant) โดยเฉพาะการวางแผนและการทำการพัฒนาองค์จริงๆ เรียกว่าครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบเลย ทำอย่างไรล่ะ ลองดูภาพประกอบข้างล่างแล้วพิจารณาตามผมไปทีละขั้นนะครับ

ก่อนจะเชื่อมโยงเรื่องราวต่อไป ผมขออธิบายอะไรนิดครับ ในการวางแผนการพัฒนาองค์กรนั้น เรานะมีคำสามคำมาเกี่ยวข้อง คือ Pre-ODI ODI และ Post-ODI ตัวนี้เราใช้เป็นกรอบในการวางแผนครับ Pre-ODI คือสภาพปัจจุบันก่อนที่เราจะเข้าไปแทรกแซง (Pre- Organisation Development Intervention) คนเป็น OD Consultant ต้องช่วยลูกค้าวิเคราะห์ครับว่าสภาพปัญหาปัจจุบันคืออะไรบ้าง คล้ายๆหมอวิเคราะห์คนไข้ เมื่อประเมินได้แล้ว จากนั้นเราจะประเมินกันว่าสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นหลังเราเข้าไปแทรกแซงคืออะไร (Post-ODI หรือ Post Organisation Development Intervention) ถ้าเป็นหมอก็คืออยากเห็นคนไข้หายจากโรคอะไรนั่นเอง

เมื่อทราบข้อมูลแล้ว OD Consultant ก็จะมาออกแบบหาวิธีการ "แทรกแซง (Organisation Development Intervention)" คือเลือกเครื่องมือที่จะเอามาใช้ในพัฒนาองค์กร ขั้นตอนนี้ถ้าเป็นหมอก็คือช่วงวางแผนการรักษา รวมทั้งต้องช่วยให้ลูกค้าแทรกแซง ช่วยในที่นี้คือลูกค้าต้องทำเองครัง แน่นอนให้ยาแล้ว คนที่จะกินคือคนไข้ ไม่ใช่หมอครับ ระหว่างนั้นก็ต้องช่วยให้คำแนะนำลูกค้า ปรับเปลี่ยน แนะนำไปเรื่อยๆ จนลูกค้าประสบความสำเร็จ ถ้าเป็นหมอก็ต้องคอยดูว่ายาที่ให้ การรักษาที่ทำไปได้ผลมากน้อยไหม ผู้ป่วยแพ้ยาไหม ต้องคอยสังเกต คนเป็น OD Consultant จะทำหน้าที่นี้จนลูกค้าประสบความสำเร็จ โดยเครื่องมือที่เลือกก็มีหลายเครื่องมือ ส่วนใหญ่ OD Consultant จะใช้เครื่องมือที่ตัวเองถนัด ถ้าไม่พอก็อาจเชิญคนที่ถนัดเครื่องมืออื่นๆ มาร่วมทีมด้วย ทำได้หลายอย่างเช่น Appreciative Inquiry (AI),KM, Dalogue หรือ Coaching เป็นต้น แต่ในกรณีนี้ผมมองแล้วใน Big Game เครื่องมือที่ตัวละครใช้ ดูเหมือนจะคล้ายๆ SOAR Analysis ซึ่งเป็นเครื่องมือในการทำกลยุทธ์ หนังเรื่องนี้เป็นกลยุทธ์ครับ เรียกว่าถ้าเป็นมืออาชีพด้าน OD Consulting ละก็ ถือว่าฝีมือทีเดียว

SOAR Analysis คือการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้วยการตั้งคำถาม เป็น AI แบบหนึ่งนั่นเอง แต่ใช้กับการวางแผนกลยุทธ์ SOAR เป็นคำย่อของ Strengths (จุดแข็ง Opportunities (โอกาส) Aspiration (ความฝัน + การกระทำ) และ Results ผลที่คิดว่าจะเกิดขึ้น... ถ้าเป็นอะไรที่ต้องสู้ด้วยกลยุทธ์ OD Consultant จะช่วยลูกค้าวิเคราะห์ SOAR Analysis โดยให้หาจุดแข็ง โอกาส ความฝัน และผลที่เกิดจากการกระทำ โดยเอาข้อมูลทั้งหมดไปขยายผล จนได้ผลตามที่ต้องการ

เอาหล่ะมาดูที่หนังกันเลยดูภาพข้างบน หัวใจของหนังเรื่องนี้อยู่ที่การเข้าไปแทรกแซงของเด็กอายุ 13 เริ่มจากในหนังคุณจะเห็นว่าช่วงแรกๆ ที่เด็กเห็นประธานาธิบดีถูกตามทำร้าย เขาได้แต่เฝ้ามองว่าทำอะไรไม่ได้ ก่อนที่เขาคิดจะแทรกแซงทำอะไร เขาเห็นเลยว่าประธานาธิบดีถูกตามล่า เสียเปรียบ ไม่มีอาวุธ อยู่ตัวคนเดียว ในป่าลึก แรกๆ เขาไม่แทรกแซง แต่ก็เริ่มเห็นความโหดของคนร้ายมากขึ้น และเริ่มคิดว่าถ้าไม่ทำอะไรท่านตายแน่ ก็เลยเกิดความคิดครับ ว่าอยากเห็นท่านมีชีวิตรอด (Post-ODI) ซึ่งดูมาสักพักจะเห็นภาพนี้ครับ

เจ้าเด็กน้อยเลยเริ่มเช้ามาแทรกแซง (ODI) ด้วย SOAR Analysis ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้ว S ของเธอมีอย่างเดียวจริงๆ คือการยิงธนู O ตอนแรกๆแทบไม่มี แต่เมื่อนานไป คุณจะเห็นว่าศัตรูมีช่องว่างในบางเรื่อง A ของเธอคืออยากช่วยให้ท่านรอด R ท่านรอดกลับบ้าน คุณจะเห็นชัดว่าเด็กคนนี้ถือธนูตลอด แม้กำลังไม่มาก แต่สบโอกาส (O) เมื่อไหร่ยิงทันที ที่สุดก็ช่วยประธานาธิบดีให้รอดกลับมาได้

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีครับ การออกแบบโครงการพัฒนาองค์กร จนถึงการลงมือพัฒนาเราทำอย่างนี้เลย คือเราประเมินก่อน (Pre-ODI) ว่ามีปัญหาอะไร จากนั้นเราก็เสนอวิธีการพัฒนา (ODI) จากนั้นมาคาดหมายกันว่าจะเกิดอะไรดีๆขึ้นบ้าง (Post-ODI) จากนั้นเราก็ลงมือทำ ในกรณีที่เป็นกยุทธ์ เราใช้ SOAR Analysis ครับ ซึ่งจากตัวอย่างจะเห็นว่าเรามีจุดแข็ง เราก็จำไว้ครับ เมื่อเจอโอกาสเราก็เอาจุดแข็งเราไปคว้าโอกาสเลย ความฝัน ของเราก็จะเป็นจริงขึ้น เรียกว่าเรื่องนี้ถ้าดูในมุมมองการพัฒนาองค์กร คุณจะเห็นภาพจนครบวงจรเลยครับ

วันนี้พอเท่านี้เพียงเล่าให้ฟัง ลองเอาไปพิจาณาดูนะครับ

บทความโดยดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์ www.aithailand.org

หมายเหตุ

อาจารย์อัลม่อนแห่ง ABC CLUB ได้จัดโครงการสร้าง Professional OD Consultant ที่เรียกว่าดีมากๆ เรียกว่าคุณจะทำ OD เป็นเลย ด้วยเป็นโครงการที่เน้นปฏิบัติได้เรียน ODI หลายตัวทั้ง AI, Dialogue, Coaching และ Performance Management ลองดูรายละเอียดที่ข้างล่างนะครับ

หมายเลขบันทึก: 589430เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2015 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2015 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท