วัฒนธรรม "บ้าใบ"


สุดท้ายเมื่อวิเคราะห์ไวยากรณ์ออกมาแล้ว การศึกษาในระบบก็คือ คือกระบวนการพิธีกรรม
และอำนาจของรัฐ ในการรับรองบุคคลว่ามีความรู้ ด้วยการลงนามของตัวแทนอำนาจรัฐ
พิธีกรรมเหล่านั้นคือ การนำเอาอำนาจและความรู้ในหลักสูตรที่มีเป้าหมายกำหนดให้คน
เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ด้วยวิธีการใด วิธีการหนึ่ง ตามแล้วควบคุมด้วยการสอบด้วยเนื้อหา
แม้จะเปลี่ยนวิธีสอน และเปลี่ยนรูปแบบ แต่สุดท้ายแล้วก็หมายถึงพิธีกรรมหรือสัญลักษณ์
ของการกระทำที่ยินยอมต่ออำนาจของรัฐ พิธีกรรมเช่นนี้ไม่ได้มุ่งต่อสติปัญญาของปัจเจกชน
อย่างอิสระ แต่มุ่งต่อการควบคุมสติปัญญาที่สนองต่ออำนาจและโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม
ที่ดำรงอยู่ไม่ว่าจะดำรงอยู่ในลักษณะไหนก็ตาม ให้ดำรงอยู่ต่อไป

แต่เดิมมายังไม่มีอำนาจแห่งทุนและการบริโภคเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก การรับรองจึงขึ้นอยู่
รัฐแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต่อมาการศึกษาได้กลายเป็น "สินค้า" อันมีค่าอยู่ไม่ไกล และ
กลายเป็นธุรกิจที่ต้องการขายใบรับรอง เหมือนสมัยกลางที่ใช้เงิน ซื้อใบไถ่บาป อย่างใด
อย่างนั้น ตลอดจนถึงระบบ delivery การขายใบรับรองถึงบ้าน ถึงใกล้บ้าน การทำใบรับรอง
ให้เป็นสินค้า เมื่อทุนนิยมถึงที่สุดแล้ว ระบบธุรกิจเอกชนนิยม ที่ต้องการขายใบรับรอง
จึงมีโปรโมชั่นในสาขาวิชายอดนิยมยอดฮิต ลำพังเป้าหมายสุดท้ายของการทำธุรกิจที่หวังกำไร
ขาดทุน จึงมีเป้าจริง เป้าหลอก เป้าจริงที่หวังก็คือเงินเยอะ ๆ แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา
ส่วนเป้าหลอกคือ กระบวนการจัดการทั้งหมดที่นำไปสู่การรับรอง ที่ทำให้เสมือนว่ามีคุณภาพ
เช่น นำเอาป้ายของสำนักงานแห่งหนึ่งที่มีหน้าที่รับรองไปติด แต่สาระสุดท้ายแล้วก็คือจ่ายแล้ว
ได้ใบรับรองที่มีลายเซ็นต์ เพื่อเข้าสู่ระบบงานในระบบทุนนิยมเท่านั้นเอง

ลำพังใบรับรองที่มีลายเซ็นต์ยังดูไม่มีคลาสเท่าไรนัก พิธีกรรมรับปริญญาบัตร ที่มีชุดครุยอยู่
จึงคล้ายเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในโลกตะวันตกแต่เดิมมีต้นกำหนดมาจากประเทศกลุ่ม
คอมมอนเวลท์ และ อเมริกา ซึ่งตัวพิธีกรรมก็คือ การจัดตำแหน่งแห่งที่ทางอำนาจ การประสาท
ปริญญาครั้งแรกเมื่อปี 1432 [1]โดยมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ซึ่งอังกฤษนั้นมีพิธีกรรมในโบสถ์ที่
ค่อนข้างอลังการ ซึ่งบุคคลที่ได้รับใบประกาศตอนนั้นสัณนิษฐานว่าก็คือพระที่เรียนจบเทววิทยา
นั่นเอง ชุดพระจึงเป็นต้นแบบแห่งชุดครุยในปัจจุบัน ไม่ใช่ชุดช่างทาสี อย่างที่บางคนเข้าใจ
Hood จึงเป็นหมวกที่ติดหลังเวลาพระจะต้องออกจากอารามไปจึงคลุมหัวออกไป

พระเป็นสัญลักษณ์แห่งชนชั้นสูงทีมีอำนาจและฐานันดรศักดิ์ เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดพระเจ้าดังนั้น
ความสำเร็จในยุคจึงมีความหมายโดยนัยถึงการเข้าถึงพระเจ้า เข้าถึงพระวรสาร ของพระผู้เป็น
เจ้า จากการศึกษาของArnold van Gennep (1909)[2] ได้สรุปไว้ว่าพิธีกรรมเหล่านี้เป็น
การเปลี่ยนผ่านเพื่อที่จะออกไปสู่สังคมภายนอกในฐานะใหม่ โดยมีการปลูกฝังเรื่องการเปลี่ยนผ่าน
ฐานะว่า ควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ดังนั้นจุดมุ่งหมายแต่เดิมจึงไม่ใช่การวัดความสำเร็จ แต่เป็นพิธีกรรมการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งพิธีกรรมใน
โลกนี้เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านช่วงวัยของชีวิต มีเกือบทุกสังคม แต่ต่อมาเมื่อสังคมเข้าสู่ยุคทุนนิยม
จึงมีการวัดความสำเร็จแบบนี้ผูกติดไว้กับการแบ่งแยกงานเบากับงานหนักในยุคแห่งอุตสาหกรรมทุน
และสุดท้ายเมื่อถึงยุคปัจจุบัน การบริโภค "ความสำเร็จ" ในความรู้ที่เป็นนามธรรม จึงออกมาเป็น
การบริโภค "กระดาษรับรอง" และ "ชุดในพิธีการรับกระดาษรับรอง" เป็นพิธีกรรมแห่งระบบทุนนิยมที่
หลีกเลี่ยงไม่ได้ และอีกประการหนึ่งญาณวิทยาแบบไทย ๆ ความรู้ประหนึ่งดังว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เกิด
จากสิ่งภายนอกตัวนอกตน ปัญญาชนไทยที่ไปรับฐานคติจากเมืองนอกมา ความรู้จึงเป็นสิ่งที่ท่องจำ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์จากตะวันตกมา รวมทั้งพิธีกรรมทั้งหลายเกี่ยวกับการศึกษาจึงสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา
แทนความสำเร็จ ที่ตัวเองได้รับผลประโยชน์ในโครงสร้างอำนาจนั้น

จึงไม่แปลกกับคำวิพากษ์ที่ว่า "บ้าใบ" ทั้งระบบ นอกจากบ้าใบแล้วยังมีสิ่งที่เรียกว่าพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
ที่ทำกันผูกขาดสืบทอดไว้เฉพาะพวกและกลุ่มของตนได้เท่านั้น หากมีใครทำพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์
สวมชุดในพิธีกรรมเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ผิดพลาดรับไม่ได้ เป็นระบบคิดที่ผิดพลาด ทั้งที่พิธีกรรมแต่เดิม
เป็นแค่พิธีการที่เปลี่ยนผ่านสถานะไปสู่สถานะใหม่แค่นั้นเอง ผมเองยกย่องมหาวิทยาลัยเกียวโตที่ให้
เสรีภาพในการรับใบรับรอง โดยสามารถสวมชุดคอสเพลย์ ชุดที่ต้องการสวมใส่เป็นไอ้มดแดงหรือเซล่ามูน
ซึ่งเป็นระบบคิดแห่งเสรีนิยม เห็นความสำคัญของตัวบัณฑิตและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเมื่อสายตาแห่ง
การอนุรักษ์นิยม เมื่อมองดูแล้วก็อาจไม่ชอบใจ เพราะได้ทำลายมายาคติแห่งรูปแบบนิยม ซึ่งที่สร้างรูปแบบ
กันอยู่ ก็ไม่ใช่สาระทางการศึกษาเช่นเดียวกัน สาระทางการศึกษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวสถาบันที่รับรองหรือรัฐ
รับรอง แต่อยู่ที่รอยหยักของสมอง สมรรถภาพการคิด ความสร้างสรรค์ในการทำ ด้วยความเป็นตัวของตัวเอง
นั่นคือสาระที่นักการศึกษาแบบกลไกนิยม ไม่อาจเข้าใจได้ คิดว่าฟิสิกส์แบบกลไกอย่างนิวตั้นและลัทธิ
พฤติกรรมนิยมยุคสงครามเย็นยังเป็นกระบวนทรรศน์หลักในการมอง นอกจากนั้นมีมหาวิทยาลัยอีกหลาย
มหาวิทยาลัยไม่บ้าพิธีกรรม เช่นมหาวิทยาลัยของเยอรมัน มหาวิทยาลัย Jawaharal Neru University ของ
ประเทศอินเดีย ก็ไม่ประสาทปริญญา ไม่มีครุย ใครจบก็เซ็นเอาใบรับรองที่ห้องภาคได้เลย อันนี้เป็นความแน่จริง
และเด็ดเดี่ยวที่มองเห็นว่า พิธีกรรมมันไร้สาระ ถ้าคิดว่าแน่จริงก็นำเสนอให้มหาวิทยาลัยนั้น ๆ ไม่ต้องประสาท
ปริญญาบัตร เช่นเดียวกับที่ไม่ต้องการเห็นพิธีกรรมและค่านิยมใด ๆ และเชื่อขนมกินได้เลยว่า ไม่นานมหาวิทยาลัย
ยิ่งเป็นเอกชนล้มละลายภายในปีเดียว เพราะคนในระบบทุนนิยม บริโภคสัญญะ "กระดาษรับรอง" และ"ชุดครุย"
กันเป็นวัฒนธรรมแบบติดยาเสพติด การไม่แบ่งปันกันบริโภค"สัญญะ" สมัยใหม่ไปยังระดับล่าง ๆ เสียบ้าง
นับว่า ใจคอคับแคบ มาก ๆ เพราะพิธีกรรมแต่เดิมเป็นพิธีกรรมธรรมดา การเปลี่ยนผ่านของชีวิตระดับใด ก็
สามารถจะทำได้ ถ้าทำให้มีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตให้รู้สึกมีคุณค่าและความหมาย

ส่วนปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ ช่วยล้างสมองพวกความคิดที่ยังอยู่ในศตวรรษที่ 19 ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า
"ความคิดสร้างสรรค์" อันเป็นมูลค่าเพิ่มของยุคศตวรรษที่ 21 เสียบ้าง และลดความบ้าใบ "ทุกระดับ"
ลงเท่าเทียมกัน งดประสาทปริญญาบัตร ชุดครุย เพื่อท้าทาย "ความบ้าใบ" ทั้งระบบลงเสียบ้าง แทนการ
เรียกร้องเปลี่ยนแปลงกับชนชั้นทางสังคมที่ด้อยกว่า ลดพิธีกรรมระดับศักดินาทางวิชาการและชนชั้นสูงทาง
การศึกษา ให้เท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ ที่สามารถวิพากษ์ และถูกวิพากษ์ ไปพร้อมกันอย่างเท่าเทียมได้



[1]http://www.brownielocks.com/graduation.html
[2]http://en.wikipedia.org/wiki/Arnold_van_Gennep


คำสำคัญ (Tags): #วัฒนธรรม
หมายเลขบันทึก: 589317เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2015 01:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2015 01:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านบทความนี้แล้วสะท้อนการศึกษาของเราที่เน้นภาพลักษณ์"บ้าใบ"และชุดครุยอย่างหลง เพราะเห้นเริ่มปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กอนุบาลแล้ว แต่ผลการศึกษาเรายังรั้งบีวยในอาเซียนอยู่เลย

ขอบคุณบันทึกดีๆที่นักการศึกษาควรอ่านครับ

พ.แจ่มจำรัส เข้าใจอะไรผิดรึเปล่าครับ อ่านตรงท่อนนี้ให้ดีๆ "เพราะคนในระบบทุนนิยม บริโภคสัญญะ "กระดาษรับรอง" และ"ชุดครุย"กันเป็นวัฒนธรรมแบบติดยาเสพติด การไม่แบ่งปันกันบริโภค"สัญญะ" สมัยใหม่ไปยังระดับล่าง ๆ เสียบ้าง

นับว่า ใจคอคับแคบ มาก ๆ เพราะพิธีกรรมแต่เดิมเป็นพิธีกรรมธรรมดา การเปลี่ยนผ่านของชีวิตระดับใด ก็
สามารถจะทำได้ ถ้าทำให้มีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตให้รู้สึกมีคุณค่าและความหมาย
" หมายความว่าช่วงวัยไหนก็สามารถใส่ชุดแบบนั้นได้ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท