ค่ายกู้ภัยร่วมใจสู่ชุมชน : อีกหนึ่งความสำเร็จเล็กๆ ของงานค่าย "เรียนรู้คู่บริการ" ร่วมกับภาคีชุมชน


การบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการจัดทำรั้วรอบบริเวณศาลปู่ตา (ดอนปู่ตา) อันเป็นพื้นที่สาธารณะของชาวบ้าน ช่วยให้นิสิตได้รับรู้ถึงความเป็น "ป่าชุมชน" สัมผัสถึงกลวิธีการอนุรักษ์ป่าผ่านภูมิปัญญาดั้งเดิมบนความเป็น "ปู่ตา-ผีบรรพบุรุษ" หรือกระทั่ง "ทวยเทพทวา" ที่ปกปักษ์รักษาต้นไม้และสารทุกข์สุขดิบของชาวบ้าน

โครงการกู้ภัยร่วมใจสู่ชุมชน ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๖-๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ ชุมชนบ้านผือ ต.พันดอน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี โดยชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สื่อให้เห็นถึงการกระบวนการบ่มเพาะและขัดเกลาให้นิสิตมีอัตลักษณ์ของการเป็น "ผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน"

หรือปรัชญามหาวิทยาลัยมหาสารคาม "ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน" ซึ่งดำเนินการบนฐานคิด "นิสิตโดยนิสิต" กล่าวคือ ไม่ใช่กิจกรรมที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยฯ แต่เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยนิสิตเพื่อนิสิต

โครงการดังกล่าวมีความน่าสนใจหลายประการ เป็นต้นว่า การนำเอาศักยภาพขององค์กรตนเองไปสู่การบริการสังคม ผสมผสานการเรียนรู้คู่บริการผ่านเครือข่ายในท้องถิ่น รวมถึงการไม่ละทิ้งความสำคัญของการเรียนรู้บริบทชุมชน และการขับเคลื่อนกิจกรรมในแบบสหกิจกรรม มิใช่จัดกิจกรรมเชิงเดี่ยว/ดุ่มเดี่ยว แต่บูรณาการกิจกรรมหลากรูปแบบ ซึ่งมีทั้งที่จัดเองโดยนิสิต และที่นิสิตต้องผนึกกำลังเครือข่ายในชุมชนมาช่วยเสริมหนุน



บูรณาการกิจกรรมในแบบ "บันเทิงเริงปัญญา

โครงการกู้ภัยร่วมใจสู่ชุมชน ครั้งที่ ๒ ประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลาย มุ่งเน้นการขับเคลื่อนในแบบบูรณาการ หรือ "สหกิจกรรม" เพื่อก่อให้เกิดการ "เรียนรู้คู่บริการ" ที่หลากเรื่องราว ด้วยการจัดกิจกรรมบริการชุมชนบนฐาน "ความต้องการของชุมชน" ที่หลากหลาย เช่น

  • กิจกรรมการจัดทำรั้วบริเวณศาลปู่ตา (ป่าชุมชน)
  • การจัดทำแนวป้องกันไฟป่า (ภูฝอยลม-วนอุทยานน้ำตกคอยนาง )
  • การถ่ายทอดความรู้เรื่องการแจ้งเหตุฉุกเฉิน
  • การถ่ายทอดความรู้เรื่องการ "กู้ชีพ-กู้ภัย" เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การดับเพลิง

    ................ รวมถึงกิจกรรมหนุนเสริมการเรียนรู้คู่บริการอื่นๆ อาทิ
  • กิจกรรมการทัศนศึกษาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน (ทะเลบัวแดง –หนองหาน)
  • กิจกรรมการเรียนรู้วิถีชุมชนผ่านการฝากตัวเป็นลูกฮักในชุมชนบ้านผือ



กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ระหว่างนิสิตกับนักเรียน


ิจกรรมเรียนรู้เชิงปฏิบัติการด้านการกู้ชีพ-กู้ภัย ร่วมกับ มูลนิธิประชาธรรมพัฒนากุมภวาปี


ในบรรดากิจกรรมที่จัดขึ้นนั้นมีจุดเด่นที่น่าสนใจคือมุ่งสร้างบรรยากาศการเรียนรู้คู่บริการอย่างมีชีวิตชีวาในแบบ "บันเทิงเริงปัญญา" ผ่านกิจกรรมที่สนุกสนาน เน้นการมีส่วนร่วม มิใช่การหลับหูหลับตาถ่ายทอดในแบบ "บรรยายวิชาการ" หรือการสื่อสารทางเดียว หากแต่มุ่งสร้างสรรค์การเรียนรู้ร่วมกันผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น

  • กิจกรรมละคร
  • กิจกรรมการจำลองสถานการณ์จริง
  • การฝึกปฏิบัติการในแบบกลุ่ม
  • กิจกรรมรอบกองไฟกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์

    ซึ่งในแต่ละกิจกรรมจะมีการวิเคราะห์ว่ากิจกรรมในลักษณะใดเหมาะกับกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อให้กลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรม หรือ "กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย" ได้รับประโยชน์สูงสุด อันหมายถึงได้ทั้งความรู้และความบันเทิง หรือได้ทั้งความรู้และความสุข นั่นเอง


กิจกรรมการทำแนวป้องกันไฟป่า ร่วมกับเจ้าหน้าที่วนอุทยานน้ำตกคอยนาง -อุทยานภูฝอยลม

กิจกรรมรอบกองไฟเพื่อการผ่อนคลายความเหนื่อยล้าและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน



บูรณาการศักยภาพนิสิตกับชุมชนและเครือข่าย

โครงการกู้ภัยร่วมใจสู่ชุมชน ครั้งที่ ๒ มีจุดเด่นที่ควรค่าต่อการกล่าวชมเป็นที่สุด โดยเฉพาะในประเด็นการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการ "กู้ชีพ-กู้ภัย"ต่อชุมชน เพราะนั่นคือเอกลักษณ์-อัตลักษณ์ หรือศักยภาพขององค์กร/ชมรมโดยแท้จริง ยิ่งในกระบวนการขับเคลื่อนมิได้ขับเคลื่อนเชิงเดี่ยวแต่เฉพาะตัวนิสิตเอง หากแต่ได้มีการประสานความร่วมมือเครือข่ายในชุมชนเข้ามาร่วมเป็น "วิทยากร" อย่างแน่นหนัก เช่น มูลนิธิประชาธรรมพัฒนากุมภวาปี เทศบาลตำบลกงพานพันดอน สถานีควบคุมไฟป่าอุดรธานี วนอุทยานน้ำตกคอยนาง จนก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนิสิตกับเครือข่ายชุมชนอย่างมีพลัง -



ิจกรรมเรียนรู้เรื่องการดับเพลิง โดยภาคีเครือข่ายท้องถิ่น


โดยส่วนตัวผมมองว่า การผนึกกำลังเครือข่ายทั้งที่เป็นภาครัฐและเอกชนมาร่วมขับเคลื่อนเช่นนี้ ส่วนหนึ่งผมเข้าใจว่านิสิต (องค์กรนิสิต) อาจหยั่งรู้ตนเองว่ายังมีข้อจำกัดในเรื่ององค์ความรู้ หรือประสบการณ์ในเรื่องการกู้ชีพ-กู้ภัย จึงจำต้องใช้ "องค์กร" หรือ "ผู้จัดเจน" ในเรื่องเหล่านี้มาร่วมเป็นฟันเฟืองบริการชุมชนร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน หรือกระทั่งนิสิตเองก็ย่อมได้รับประโยชน์ไม่แพ้ชุมชน เพราะเป็นการเรียนรู้โดยตรงจาก "ผู้รู้" (ผู้จัดเจน) ไปอย่างเสร็จสรรพ

นอกจากนี้แล้ว ผมยังมองว่าการที่นิสิตสามารถประสานความร่วมมือเครือข่ายในชุมชนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรมที่จัดขึ้น ยังเป็นเสมือนกุศโลบายแห่งการช่วยกระตุกให้ชุมชนได้รับรู้ว่าในวิถีดังกล่าว "ชาวบ้าน" ก็มีสิทธิได้รับการคุ้มครองในเรื่องเหล่านี้เสมอเหมือน "ผู้คนในชุมชนเมือง"



ในทำนองเดียวกันกิจกรรมดังกล่าวยังเป็นเสมือนเครื่องมือของการช่วยกระตุ้นเตือนหน่วยงานในท้องถิ่นให้ตระหนักถึงหน้าที่ของการที่จะต้องดูแลและให้บริการเรื่องอุบัติภัยต่อชุมชนของตนเองไป รวมถึงการกระตุกเตือนให้หน่วยงานในท้องถิ่นได้ทบทวนสภาวะของการ "พัฒนาระบบงาน" (พัฒนาคน พัฒนาองค์กร) ในการให้บริการชุมชนของตนเองให้มากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมถือว่านิสิตได้บรรลุเป้าประสงค์นั้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้เป็นหน้าที่ "ชุมชน" (องค์กร-หน่วยงาน-ชาวบ้าน) ต้องชัดเจนว่าจะให้ความสำคัญ "ต่อยอด" มากน้อยแค่ไหน

ทั้งปวงของการพยายามประสานภาคีชุมชนออกมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการงานในครั้งนี้ คือสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงระบบและกลไกความเข้มแข็งที่จะก่อเกิดกับชุมชน และสื่อให้เห็นถึงมิติจิตอาสา และจิตสาธารณะอย่างปฏิเสธไม่ได้




เรียนรู้คู่บริการ : ชุมชนคือคลังความรู้

โครงการกู้ภัยร่วมใจสู่ชุมชน ครั้งที่ ๒ เป็นอีกค่ายที่สะท้อนให้เห็นหลักคิดว่า "ชุมชนคือคลังความรู้" หรือ "ชุมชนคือห้องเรียน" หรือกระทั่งความเชื่อที่ว่าชุมชนมีศักยภาพในการจัดการความรู้ด้วยตนเอง เพราะไม่เช่นนั้นชุมชนย่อมจะไม่สามารถดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

แต่ในมิติของค่ายอาสาพัฒนาตามหลักคิด "เรียนรู้คู่บริการ" นิสิตจะไม่สามารถจัดกิจกรรมแค่กิจกรรมเดียวด้วยการไปเรียนรู้บริบทชุมชน แต่ต้องมีกิจกรรมอย่างอื่นไปแลกเปลี่ยนกับชาวบ้าน เพื่อก่อให้เกิดการแบ่งปัน ตลอดจนก่อให้เกิดการเรียนรู้กันและกันในสถานะของการเป็น "ผู้ให้และผู้รับ" สลับผลัดเปลี่ยนกันไปตามบทบาทและหน้าที่ของแต่ละฝ่าย



โดยส่วนตัวแล้ว ผมให้ความสำคัญกับกิจกรรมหลักๆ ๒ กิจกรรมในค่ายนี้ กล่าวคือกิจกรรมการบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการจัดทำรั้วรอบบริเวณศาลปู่ตา (ดอนปู่ตา) อันเป็นพื้นที่สาธารณะของชาวบ้าน ช่วยให้นิสิตได้รับรู้ถึงความเป็น "ป่าชุมชน" สัมผัสถึงกลวิธีการอนุรักษ์ป่าผ่านภูมิปัญญาดั้งเดิมบนความเป็น "ปู่ตา-ผีบรรพบุรุษ" หรือกระทั่ง "ทวยเทพทวา" ที่ปกปักษ์รักษาต้นไม้และสารทุกข์สุขดิบของชาวบ้าน

กิจกรรมดังกล่าวยังช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้ระบบการบริหารจัดการป่าแบบมีส่วนร่วมของชุมชน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเพณีพิธีกรรมอันเป็น "ฮีตฮอย" ที่ว่าด้วยปู่ตาอย่างกลมกลืนไปกับกิจกรรมหลักที่ต้องบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน


กิจกรรมจัดทำรั้วรอบบริเวณศาลปู่ตา


อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่ากิจกรรมนี้จะไม่ใช่กิจกรรมหลักที่นิสิตได้ปักหมุดการเรียนรู้คู่บริการตั้งแต่แรก ต่อเมื่อเป็นความต้องการของชุมชน นิสิตจึงผนวกกิจกรรมนี้เข้าไปอีกหนึ่งกิจกรรม ชุมชนรับผิดชอบวัสดุอุปกรณ์บางส่วน นิสิตจัดหางบเล็กน้อยเข้าไปหนุนเสริมและลงแรงร่วมกับชาวบ้านในการจัดทำรั้วขึ้นมา ซึ่งเป็นการสร้างรั้วทางเข้าดอนปู่ตาในระยะเริ่มต้น ที่เหลือชุมชนยืนยันขันแข็งว่าจะต่อยอดด้วยกันเอง




เช่นเดียวกับกิจกรรม "พ่อฮักแม่ฮัก" ที่นิสิตได้เข้าไปพักอาศัย (ฝังตัว) ใช้ชีวิตอยู่ในแต่ละครัวเรือนนั้น ผมก็รู้สึกชื่นชอบเป็นพิเศษ เพราะช่วยให้นิสิตได้สัมผัสจริงอย่างลึกซึ้งในวิถีชีวิตของชุมชน ตั้งแต่ตื่นนอนไปสู่กิจกรรมเลี้ยงชีพและวกกลับเข้าสู่การเข้านอนอันเป็นวิถีวัฒนธรรมของผู้คนในชุมชน ซึ่งร้อยรัดอยู่กับการกินอยู่ อาชีพ การศึกษา ความเชื่อ ความศรัทธา ประเพณี ฯลฯ

กิจกรรมดังกล่าว สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่การประหยัดงบประมาณ จึงจำต้องเข้าพักอาศัยและอยู่กินกับชาวบ้าน หากแต่เป็นการ "ออกแบบการเรียนรู้ความเป็นชุมชนผ่านวิถีพ่อฮักแม่ฮัก" จากนั้นจึงให้นิสิตแต่ละคนมาบอกเล่าสู่กันฟังว่านิสิตได้ใช้ชีวิตร่วมกับพ่อฮักแม่ฮักอย่างไร พร้อมๆ กับการช่วยกันประมวล หรือสรุปให้เห็นถึงองค์รวมของชุมชน โดยไม่จำเป็นต้องสร้างแบบสอบถามชาวบ้าน หรือจัดแบ่งเวลาออกจากงานหลักเพื่อเก็บข้อมูลชุมชนโดยตรง


ผมเชื่อเหลือเกินว่า กิจกรรมดังกล่าว ไม่ได้ก่อเกิดมรรคผลแค่การเรียนรู้ชุมชนเท่านั้น หากแต่มีพลังมหาศาลต่อการเยียวยาภาวะบางอย่างของชาวบ้านที่ขณะหนึ่งอาจ "เปลี่ยวเหงา" เพราะลูกหลานไม่ค่อยได้อยู่บ้าน เนื่องจากต้องสัญจรไปทำงานต่างถิ่น การเข้าไปของนิสิต จึงเหมือนการเข้าไปเยียวยาและเสริมพลังสภาวะดังกล่าว รวมถึงนิสิตเองก็คงมีไม่น้อยที่จะถูกกระตุกเตือนให้ทบทวนตัวเอง ทบทวนความเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองไปพร้อมๆ กัน




เสียงจากนิสิต


...ค่ายครั้งนี้ทำให้สมาชิกชมรมสนิทสนมกันมากขึ้น เพราะก่อนออกค่ายถึงแม้จะทำงานด้วยกันมาเยอะ แต่ก็ไม่สนิทกันมากเท่าใดนัก พอมาออกค่ายก็รักและเข้าใจกันมากขึ้น

...เป็นค่ายที่เน้นการเรียนรู้คู่บริการ เราไม่ได้ไปเป็นฝ่ายให้ หรือฝึกความเป็นจิตอาสาของนิสิตเพียงฝ่ายเดียว แต่เน้นการมีส่วนร่วม เน้นการทำงานร่วมกับชาวบ้าน ชาวบ้านเองก็ช่วยนิสิตหลายเรื่อง ทั้งการกินอยู่ ที่พัก ให้ความรู้เรื่องต่างๆ รับผิดชอบงบประมาณในบางส่วน เช่น เสา อุปกรณ์ ฯลฯ

...เสียดายที่เราไปทุ่มเวลาและงบบางส่วนลงไปในเรื่องพิธีการมากไป หากเอาเวลาและเงินส่วนนั้นมาทำอย่างอื่น น่าจะทำให้ชุมชนได้ประโยชน์มากขึ้น (นายกรวิทย์ คำภักดี : ประธานชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์)


กิจกรรมสรุปบทเรียนประจำวัน เปิดใจ และละครสอนใจเรื่องอุบัติภัยในชุมชน


...การไปเป็นลูกฮักกินนอนกับชาวบ้าน ทำให้ได้ประสบการณ์ใหม่ ไม่เคยอาบน้ำบาดาลก็ต้องอาบ ได้เห็นการกินอยู่ในแต่ละวันของพ่อฮักแม่ฮัก ซึ่งเราก็ต้องปรับตัวไปด้วย เป็นการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เหมือนเข้าเมืองตาลิ่วต้องลิ่วตาตาม แต่เป็นการทำตามอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่ทำตามในสิ่งไม่ดี

...ผูกพันกับพ่อฮักแม่ฮัก ไปเที่ยวมาก็ซื้อของมาฝากท่าน พอจะกลับท่านก็เอาของฝากมาให้ ท่านห่อข้าวมาให้กินบนรถ เพราะกลัวเราจะหิว ทุกวันนี้ยังติดต่อกันอยู่นะ ล่าสุดทางชมรมก็พากันกลับไปทอดผ้าป่าที่บ้านผือ เป็นการไปเยี่ยมพ่อฮักแม่ฮักด้วย (นางสาวสุปรียา น้อยฤทธิ์ : ปี ๑ คณะมนุษยศาสตร์)



ภาพโดย : ชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 589091เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2015 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 18:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นกิจกรรมดี ๆ ที่มีคุณค่ามากจ้ะอาจารย์

ครับ คุณมะเดื่อ

โดยส่วนตัวผมฝากข้อเสนอแนะกับนิสิตว่า ครั้งหน้าให้บูรณาการกับหน่วยงานในท้องถิ่นให้มากขึ้น เช่น รพ สต. สสจ. โรงพยาบาลอำเภอ เพื่อจัดบริการตรวจสุขภาพให้ชุมชนไปด้วย รวมถึงชวนนิสิต และทำความร่วมมือกับสาขาที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ หรือสิ่งแวดล้อม หรือกฎหมายไปด้วย จะได้ให้บริการต่อชุมชนได้ครอบคลุมมากขึ้น

เป็นงานค่ายอาสาพัฒนาเล็กๆ ภายในวันเวลาอันจำกัดเพียงไม่กี่วัน เพราะทำขึ้นในช่วงที่ไม่ปิดภาคเรียน - แต่ผมก็คิดว่า เป็นทางเลือกที่ดีของการทำกิจกรรมนอกชั้นเรียนในฤดูที่ยังไม่ปิดเรียน ครับ



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท