เศรษฐกิจจีน


เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องภายใต้นโยบายการปฏิรูปและการเปิดประเทศ ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2521 รัฐบาลจีนมีเป้าหมายที่จะเน้นผลผลิตทางการเกษตรให้พอเพียงสำหรับการบริโภคภายในประเทศโดยการเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีระดับสูง เพื่อยกระดับการผลิตและการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมกัน

บทบาททางเศรษฐกิจของจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอิทธิพลและความสำคัญที่มีต่อภูมิภาค มูลค่า GDP ของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับร้อยละ 7-10 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจจีนกลายเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยผลักดันการเจริญเติบโต ของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก จีนได้ปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง และค่าเงินหยวนอย่างต่อเนื่องในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยนอกจากจะปรับปรุงเพื่อยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจของตนเองให้แข่งขันในโลกปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้นแล้ว ยังมีนัยทางการเมืองที่ต้องการแสดงความตั้งใจจริงของรัฐบาลจีนในการชะลอ และป้องกันภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินไปและต้องการปรับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ ซึ่งพยายามกดดันให้จีนปรับค่าเงินหยวน เพื่อลดการเสียดุลการค้า และปัญหาการว่างงาน อย่างไรก็ดี จีนตั้งเป้าอัตราเติบโต GDP ปี 2557 ไว้ที่ประมาณร้อยละ 7.5

ประเทศจีนมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว มีพลวัตรสูง และเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ (economic powerhouse) ของภูมิภาคและของโลกด้วยอัตราเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี(เฉลี่ยระหว่างปี 2521-2556) และการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดดกำลังเป็นที่จับตามองของทุกฝ่ายว่าการเติบโตนี้จะมุ่งไปในทิศทางใด

นโยบายสำคัญด้านเศรษฐกิจของจีน มีรายละเอียด ดังนี้

  • ยึดมั่นการกระตุ้นอุปสงค์ของตลาดภายในประเทศต่อไป
  • ดำเนินนโยบายการคลังในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อยึดเป็นยุทธศาสตร์ ระยะยาวของประเทศ รวมทั้งรักษาเสถียรภาพของค่าเงินหยวน โดยดำเนินนโยบายการเงินยืดหยุ่นตามความเหมาะสม
  • เร่งปรับโครงสร้างด้านการเกษตร การปฏิรูปชนบท และการเพิ่มรายได้ ให้แก่เกษตรกร
  • เร่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในเชิงยุทธศาสตร์ โดยเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ยกระดับมาตรฐานเทคโนโลยีการผลิต พัฒนาด้านการศึกษาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพบุคคล และใช้โอกาสที่จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ขยายการติดต่อและร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น
  • ปรับการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อความเป็นเอกภาพของนโยบายและความโปร่งใส ซึ่งจะยกระดับการทำงานให้สอดคล้องกับหลักสากล รวมทั้งฝึกฝนอบรมบุคลากรที่เชี่ยวชาญในกฎหมายและเศรษฐกิจ ระหว่างประเทศ
  • พัฒนาภาคตะวันตก เพื่อลดความเลื่อมล้ำระหว่างการพัฒนาและมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนทางภาคตะวันออกและตะวันตกของประเทศ
  • พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมไฮเทค เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และเพิ่มมูลค่าของสินค้า
  • จีนมีนโยบายเปิดกว้างด้านตลาดหลักทรัพย์ โดยนักลงทุนต่างชาติที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสามารถยื่นขอใบอนุญาต Qualified Foreign Institutional Investor: QFII จากคณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลัดทรัพย์จีน (China Securities Regulatory Commission: CSRC) โดยนโยบายดังกล่าว เริ่มใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2545

ในปัจจุบันตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรจีนมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 43.14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ(ปี 2556) ซึ่งเดิมสงวนไว้สำหรับนักธุรกิจจีนเท่านั้น การเปิดตลาดจึงเปรียบเสมือนการเปิดโอกาสในการลงทุนทีมีมูลค่าสูงให้แก่นักลง ทุนต่างชาติ ขณะเดียวกัน จะช่วยระดมทุน และสร้างความชำนาญให้แก่ตลาดหลักทรัพย์จีน และกระตุ้นให้เกิดแรงซื้อขายในตลาดหุ้น

ตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญ

สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้

ตลาดนำเข้าสินค้าที่สำคัญ

สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้

สินค้าออกที่สำคัญ

ชิ้นส่วนและวัสดุอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า รองเท้า ชิ้นส่วนกระเป๋าเดินทาง เฟอร์นิเจอร์ และส่วนประกอบ

สินค้าเข้าที่สำคัญ

แผงวงจรไฟฟ้า น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันดิบ ชิ้นส่วนและวัสดุอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สินแร่ เครื่องจักรฯ


แหล่งข้อมูล

http://www.thaiembbeij.org/thaiembbeij/th/republic...

คำสำคัญ (Tags): #.
หมายเลขบันทึก: 589086เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2015 14:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2015 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท