ทางแห่งความสำเร็จและความเสื่อมในตัวเรา


อบายมุขมีหกข้อคือ ดื่มน้ำเมา เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่น คบคนชั่วเป็นมิตร และเกียจคร้าน อบายมุขนี้ท่านแปลว่าปากทางแห่งความเสื่อม หมายความว่า คนที่เข้าข่ายอยู่ในอบายมุขนั้นปัจจุบันอาจจะยังไม่เป็นไร ยังมีความสุขดีอยู่ แต่ต่อๆไปชีวิตจะแย่ลงๆ เพราะเป็นการกระทำที่บ่มเพาะนิสัยในทางเสื่อม เมื่อมีการบ่มเพาะก็จะมีการเจริญเติบโต การกระทำบ่อยๆย่อมสร้างนิสัยความเคยชินนั้นขึ้นมา

มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือว่า แต่ละข้อนั้นมีที่มาจากสิ่งเร้าภายนอก แต่มีอยู่ข้อหนึ่งมาจากสิ่งเร้าภายในและดูไม่น่าจะเป็นอบายมุขไปได้ คือความเกียจคร้าน

ความเกียจคร้านตรงข้ามกับความเพียรหรือความขยัน หากมีนักเรียนคนหนึ่งสอบได้เกรด3.50 กับอีกคนสอบได้ 2.00 ทั้งสองคนนี้เราจะเอาอะไรมาวัดว่าใครจะประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงานกว่ากัน ข้อมูลเท่านี้เราวัดไม่ได้ แต่หากเป็นกรณีว่าคนที่ได้ 3.50 หัวดีมากดูหนังสือรอบเดียวจำได้ดีเข้าใจหมดเลย เวลาที่เหลือไปเที่ยว ส่วนคนที่ได้ 2.00 หัวไม่ดี ต้องใช้ความพยายามดูหลายเที่ยวกว่าจะเข้าใจและจำได้ คือเด็กสองคนนี้ใช้ความเพียรในการดูหนังสือไม่เท่ากัน

ดังนั้นหากว่าความเพียรซึ่งเป็นสิ่งตรงข้ามกับความขี้เกียจและเป็นปัจจัยหนึ่งแห่งความเจริญ คนที่ได้เกรด 2.00 ก็อาจประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าคนที่ได้ 3.50 เพราะแม้จะหัวไม่ดีแต่มีความเพียรมากกว่า

แล้วความเกียจคร้านเป็นอบายมุขอย่างไร ความเกียจคร้านมักจะมาคู่กับความสบายและความง่วงเหงาหาวนอน ความง่วงเป็นอุปสรรคของปัญญาและการลงมือทำงาน คนขี้ง่วงจะไม่สนุกกับการทำงาน แต่พอใจอยู่กับความสนุกเพลิดเพลินเพราะกระตุ้นให้จิตตื่นได้ชั่วคราว ความเกียจคร้านเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่งที่หากมีบ่อยๆจะกลายเป็นนิสัยได้โดยไม่รู้ตัว

เมื่อนิสัยแห่งความพากเพียรหมดไป นิสัยแห่งความเกียจคร้านเข้ามาแทนที่ ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาตนเอง และสติปัญญาในการหาทรัพย์สินก็หมดไปด้วย สมบัติที่มีก็จะรักษาไม่ได้ ต่อไปก็ขายจนหมด สมบัติเหล่านี้ก็จะตกไปอยู่ในความครอบครองของคนอื่นที่มีความเพียรมากกว่า แต่ถึงแม้ว่าจะรักษาสมบัติเก่าเป็นทุนเดิมไว้ได้ ก็ได้แค่รักษา ไม่สามารถทำให้สมบัตินั้นงอกงามเพิ่มพูนขึ้นมาได้

หมายเลขบันทึก: 588786เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2015 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2015 04:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท