ชีวิตที่พอเพียง : ๒๓๗๖. จากดัชนีความก้าวหน้าของชาติ สู่การขับเคลื่อนสังคมด้วยวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล สู่พันธกิจสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยกับสังคม



บันทึก ชุดนี้ ของผม บอกชัดเจนว่า แผนงานขับเคลื่อนสังคมด้วยวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล ของ สสส. เดินทางมาไกลมากในเวลา ๔ ปี และมูลนิธินโยบายสุขภาวะ (มนส.) ผู้ดำเนินการแผนงานนี้ ก็ก้าวหน้าไปมาก ในฐานะที่ผมเกี่ยวข้องมาตั้งแต่ต้น จึงมีความสุขมาก ที่ได้เป็นความก้าวหน้านี้

ตอนเริ่มโครงการเมื่อ ๔ ปีมาแล้ว คิดกันว่าจะพัฒนาดัชนีบอกความก้าวหน้าของชาติที่ครอบคลุมกว่า GDP แต่ทำไประยะหนึ่งก็พบว่า หากต้องการให้พื้นที่/ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ ก็จะไม่ใช่ดัชนีแบบ จีดีพี ที่เป็นตัวเลขตัวเดียว แต่เป็นดัชนีหลายด้าน มองหลายมุม และต้องเปิดช่องให้แต่ละพื้นที่เก็บข้อมูลของตนเอง และวิเคราะห์ทำความรู้จักตัวเอง คือใช้ข้อมูลเป็นกระจกส่องตัวเอง โดยใช้ข้อมูลที่ซับซ้อน

ขอแนะนำหนังสือที่โครงการผลิตออกมา ให้ดาวน์โหลดได้ฟรี ที่นี่

มีตัวเลขกลุ่มดัชนีก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์ จึงต้องมีกระบวนการขับเคลื่อนสังคม โดยมีเป้าหมายระดับสร้างวิถีชีวิต ที่เรียกว่าวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล

มนส. ดำเนินการโครงการขับเคลื่อนสังคมฯ ด้วยข้อมูลภาพใหญ่ ภาพเชิงเปรียบเทียบ ด้วยข้อมูลทุติยภูมิ เอามาจากสถิติ และรายงานต่างๆ เช่น รายงานการพัฒนาคน ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข้อมูลของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและ การเกษตร (องค์การมหาชน) ข้อมูลของสำนักงานสิ่งแวดล้อม ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ข้อมูลของกรมพัฒนาพลังงาน ทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ข้อมูลสถิติป่าไม้ รายงานสำมะโนประชากร ข้อมูลของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่าง ประเทศ ข้อมูลประชากร กรมการปกครอง แผนพัฒนาจังหวัด...

ในการประชุม ปฏิบัติการชวนคิดชวนคุย : วัฒนธรรมการใช้ข้อมูลเพื่อการเปลี่ยนผ่านสังคมไทย ที่โรงแรมอะมารี แอร์พอร์ต เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ผมหยิบเอกสารเล่มเล็ก (ที่เขาให้หยิบและบริจาคค่าพิมพ์) มาหลายเล่ม เอามาอ่านเล่มที่ชื่อ "เมืองกาญจน์ แดนตะวันตก...ในแง่มุมใด" "ขอนแก่น ในทศวรรษหน้า" "เล่าเรื่องเมืองปราจีน ข้อมูลชวนคิด…ก่อนวาดผังชีวิตคนปราจีน" แล้วเข้าใจยุทธศาสตร์การทำงานของทีม ดร. เดชรัต สุขกำเนิด

ว่าทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลภาพใหญ่ระดับประเทศ เอามาย่อยหาความหมายระดับพื้นที่ ซึ่งเน้นพื้นที่ระดับจังหวัด เป็นกลไกให้ "มี" และ "ใช้" ข้อมูลในระดับพื้นที่ ซึ่งผมคิดว่า มหาวิทยาลัยในพื้นที่ต้อง (ไม่ใช่ควร) รับผิดชอบพัฒนาข้อมูล ระดับพื้นที่ สำหรับเอาไว้ใช้เป็นกลไกหนึ่งของ Social Engagement คือมหาวิทยาลัยต้องมีข้อมูล/สารสนเทศ เพื่อใช้ในการทำพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม

หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือทำให้คนในพื้นที่รู้จักตัวเอง

ตัวอย่างที่น่าตื่นตาตื่นใจมาจากเอกสาร เล่าเรื่องเมืองปราจีน ที่หน้า ๑๓ - ๑๖ เรื่องผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด เทียบกับหน้า ๑๗ - ๑๙ เรื่องเศรษฐกิจภาคครัวเรือน เมื่อมองระดับจังหวัด รายได้ต่อหัวประชากร เท่ากับ ๓๖๙,๐๐๖ บาท/ปี แต่เมื่อมองระดับครัวเรือน รายได้ครัวเรือนเท่ากับ ๒๑,๐๓๖ บาท/เดือน เปรียบเทียบกับจังหวัดนครนายก ที่รายได้ต่อหัวประชากรเพียง ๘๖,๗๘๖ บาท/ปี แต่รายได้ต่อครัวเรือนกลับสูงกว่า คือเท่ากับ ๒๓,๓๙๐ บาท/เดือน โดยที่นครนายกมีรายจ่ายต่อครัวเรือนต่ำกว่าด้วย (๑๗,๖๙๗ เทียบกับปราจีน ๑๘,๓๑๕)

นครนายก มีความสมดุลด้านเศรษฐกิจ ไม่เทไปด้านหนึ่งด้านใดมากเกินไป ในขณะที่ปราจีนบุรี รายได้ของจังหวัดร้อยละ ๗๘ มาจากอุตสาหกรรม

มหาวิทยาลัยต้องทำหน้าที่ขับเคลื่อนสังคม ด้วยวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล/ใช้ความรู้/ใช้การเรียนรู้ และวิธีการที่ มนส./ดร. เดชรัต ทำงานค้นพบ น่าจะแพร่กระจายสู่มหาวิทยาลัย เป็นเครื่องมือที่มหาวิทยาลัยใช้ในการทำพันธกิจมหาวิทยาลัยกับสังคม

จึงขอเสนอต่อ สสส. และ มนส. ให้จัดการประชุมปฏิบัติการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น ว่าแต่ละสถาบันดำเนินการขับเคลื่อนสังคมด้วยวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลอย่างไรบ้าง ใช้วิธีการใด ใช้ข้อมูลอะไร โดย มนส. อาจจัดร่วมกับสถาบันคลังสมองของชาติ และ Engagement Thailand เพื่อเกื้อหนุนให้สถาบันอุดมศึกษาทำพันธกิจสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยกับสังคม ได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น


วิจารณ์ พานิช

๒๓ ก.พ. ๕๘




หมายเลขบันทึก: 587910เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2015 17:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2015 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วสนใจเรื่องนี้เลยครับ

เอามาอ่านเล่มที่ชื่อ "เมืองกาญจน์ แดนตะวันตก...ในแง่มุมใด" ..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/587910

ไปหาอ่านได้ที่ไหนครับ


ขอบคุณมากๆครับ

ขอบคุณครับ อาจารย์วิจารณ์ พานิช ขออนุญาตินำไปเผยแพร่ต่อครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท