๒๕. Participatory Synthesis Evaluation เพื่อมุ่งพัฒนาการเรียนการสอนและสร้างคนเพื่อสังคมที่พึงประสงค์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้


Participatory Synthesis Evaluation
เพื่อสร้างพลังการเรียนรู้และเสริมพลังปัญญาระดับกลุ่มสหวิทยาการ
กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในโครงการก้าวใหม่..สายวิชาการ

....................................

คืนวันสุดท้ายของการไปศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าใน ๓ พื้นที่ดำเนินการ ได้แก่ บางมด ราชบุรี และบางขุนเทียน ผมในฐานะประธานเฉพาะกิจ กับอาจารย์ปุ้ม ลักขณา ชาปู่ จากคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ และอาจารย์พรรณ หรืออาจารย์วรวุฒิ งามพิบูลเวท จากสาขาวิชาเกษตรป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่ ที่ทางกลุ่มคณาจารย์ผู้ผ่านโครงการอบรมก้าวใหม่สายวิชาการของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ๒ รุ่น แล้วได้มาเข้าร่วมหลักสูตรด้านการพัฒนาการเรียนการสอนด้วยกันในครั้งนี้ มอบหมายให้เป็นตัวแทนกลุ่มเพื่อร่วมประสานงานกับทีมวิทยากรและอื่นๆตามความจำเป็น ก็ได้รับมอบหมายจากท่านอาจารย์ ดร.ทิพย์สุดา ตั้งตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและเป็นคณะกรรมการจัดทำหลักสูตร และทีมวิทยากรท่านอื่นๆ ซึ่งเป็นคณะกรรมการจัดทำหลักสูตรที่ไปร่วมโครงการครั้งนี้ ให้หาวิธีสรุปผลการศึกษาดูงานและการได้ผ่านกระบวนการอบรมมานับแต่เริ่มโครงการเมื่อประมาณกลางปี ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา พร้อมกับสร้างแนวทางที่จะนำเอาสิ่งต่างๆที่ได้กลับไปพัฒนาการทำงานและร่วมกันเป็นกำลังในการพัฒนามหาวิทยาลัยแม่โจ้กันต่อไปโ โดยในอีกครึ่งวันเสาร์เช้าของวันรุ่งขึ้นก่อนเดินทางกลับในช่วงบ่าย จะเป็นการนำเสนอและร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการกับทีมผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รวมทั้งมีทีมรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าที่ดูแลงานเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของ มทจ อีก ๓ ท่าน และท่าน ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร มาร่วมเวทีด้วย

การที่จะจัดกระบวนการประมวลผลและสรุปความมีประสบการณ์ร่วมกันและข้อมูลต่างๆ ทั้งจากโครงการอบรมที่ดำเนินกิจกรรมต่างๆมาแล้วอย่างต่อเนื่องเกือบ ๑ ปี ของกลุ่มคณาจารย์ และสิ่งที่ได้จากการศึกษาดูงานจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศ จาก ๓ แหล่งดำเนินการ เพื่อนำเสนอ สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้ทุกคนได้เห็นแนวทางเพื่อนำกลับไปพัฒนาตนเองและพัฒนาการเรียนการสอน ตลอดจนมีส่วนร่วมในการพัฒนามหาวิทยาลัยแม่โจ้ต่อไปนั้น ก็มีความยากในตัวเองอยู่แล้ว แต่การที่จะต้องทำให้เหมาะสมในครั้งนี้ กลับยิ่งยากมากเข้าไปอีกด้วยปัจจัยเงื่อนไขหลายประการ

ณ เวลานั้น คณะของเราเพิ่งจะเดินทางกลับมาจาก มทจ ราชบุรีและมาดูงานต่อที่ มทจ บางขุนเทียน เมื่อเสร็จแล้วก็มืดค่ำจึงแวะกินข้าวมื้อเย็น กว่าจะเดินทางกลับถึงที่พักใน มทจ บางมด ก็เป็นเวลาเกือบ ๓ ทุ่ม จึงนัดกันเพื่อเริ่มประชุมและทำงานกัน ๔ ทุ่ม หลังจากอาบน้ำและเก็บข้าวของไว้ในห้องพักเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกัน อาคารที่พักก็เพิ่งปรับปรุงเสร็จและสร้างขึ้นใหม่ให้มีที่พัก ซึ่งคณะของเราเป็นกลุ่มเข้าใช้ครั้งแรกและเป็นกลุ่มแรก สิ่งของเครื่องใช้สำหรับการประชุมจึงยังไม่มี ห้องประชุมไม่มี มีแต่โถงโล่งบนชั้นเดียวกับห้องพัก ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีสื่อ เครื่องฉาย และโสตทัศนูปกรณ์สำหรับอำนวยความสะดวกการประชุม เสียงก็ก้องสะท้อนรอบด้าน

กระนั้น หากเวทีสรุปครึ่งวันในวันสุดท้าย ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ประเด็นการเรียนรู้เพื่อนำกลับไปพัฒนาการเรียนการสอน อีกทั้งไม่มีข้อมูลการเรียนรู้และขาดความมีวาระสำคัญร่วมกัน ในอันที่จะได้สัมมนาและอภิปรายเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ด้วยกันอย่างเข้มข้น ก็จะนับว่าเสียโอกาสที่ดีไปหลายประการ ผมจึงยินดีที่จะรับมอบหมายดำเนินการและบริหารจัดการโอกาสที่เหลือ ๑ คืนอีกครึ่งวันดังกล่าวนี้ ในสภาพที่จะต้องแก้ปัญหาไปด้วยหลายประการ ในอันที่จะทำให้ผลสรุปและกระบวนการต่างๆที่จะดำเนินการในลำดับสุดท้ายนี้ สามารถบรรลุผลได้เป็นอย่างดีที่สุด กล่าวคือ กลุ่มคณาจารย์เดินทางและร่วมกิจกรรมต่างๆอย่างหนานแน่นมาทั้งวัน อีกทั้งกลับถึงที่พักก็ดึกและทุกคนอยู่ในสภาพอ่อนล้า ห้องประชุมและวัสดุอุปกรณ์สำหรับการประชุมก็ไม่มี อากาศก็อบอ้าว เสียงก้อง ฯ

แต่เมื่อเริ่มหารือและหาแนวดำเนินการกับอาจารย์ปุ้ม ลักขณา ชาปู่ อาจารย์นิ่ม ศมลวรรณ วรกาญจน์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ อาจารย์ปอย ดวงหทัย ลือดัง จากคณะศิลปะศาสตร์ และอาจารย์ ดร.อิง ดร.พิมพ์ชนก สังข์แก้ว จากคณะเศรษฐศาสตร์ ก็เกิดสิ่งที่ท่าน ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกรท่านเรียกว่ากลุ่มเงา (Shadow) เพื่อคอยเรียนรู้และคอยรับส่งลูกกันหลากหลายรุ่นและหลากหลายกลุ่มในองค์กร ที่จะลุกขึ้นมาสานต่อสิ่งที่ท่านอาจารย์ ดร.ทิพย์สุดา ตั้งตระกูลและทีมวิทยากร กำลังทำให้กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้และอยากหยิบยื่นโอกาสให้กลุ่มคณาจารย์ที่เข้ามาใหม่ในโครงการนี้ ได้ลองดำเนินการสิ่งที่กำลังต้องการนี้เอง

ภายใต้ข้อจำกัดทุกด้าน รวมไปจนถึงการไม่มีเวลามากนักที่จะหารือและประสานงานกันให้ได้มาก อาจารย์ปุ้ม อาจารย์นิ่ม อาจารย์ปอย อาจารย์อิง และผม หลังจากประชุมกันเสียเลยบนรถขณะเดินทางกลับที่พัก ก็ประชุมและแบ่งกันทำหน้าที่เป็นกลุ่มวิทยากรกระบวนการ ตั้งโจทย์ ระบุวัตถุประสงค์และสิ่งที่คาดว่าจะได้ ซักซ้อมการทำหน้าที่ดำเนินการประชุมไปให้ถึงจุดหมาย โดยมีหลักคิดในภาพรวมแล้วต่างก็เผชิญปัญหาในสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยตนเองและดำเนินการต่างๆให้ออกมาให้ดีที่สุด

ผมอออกแบบกระบวนการ ๑ คืนและอีกครึ่งวันที่เหลือ เป็น ๓ กระบวนการย่อย เพื่อครอบคลุมสิ่งที่คาดหวังจะให้เกิดให้ได้อย่างครบถ้วนและส่งเสริมเกื้อหนุนกันอยู่ในตัวเอง คือ ...

(๑) Collective Learning : กระบวนการกลุ่ม เพื่อวิเคราะห์ รวบรวมข้อมูล และสร้างบทเรียนจากประสบการณ์

(๒) Lesson Learned Presentation and Sharing : การเตรียมสื่อและกระบวนการนำเสนอ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับสัมมนาและอภิปรายอย่างกว้างขวาง

(๓) Sharing and Developing Commons : การนำเสนอ อภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันมองไปข้างหน้า เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาการเรียนการสอน การร่วมกันเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยผ่านการพัฒนาตนเองและภารกิจต่างๆที่อยู่ในบทบาทหน้าที่ของคณาจารย์

จากนั้น ก็แบ่งดำเนินการด้วยเวลาที่มีอยู่ไปตามที่ออกแบบไว้ โดยให้กลางคืนเป็นการวิเคราะห์และสรุปบทเรียน พร้อมกับเตรียมสื่อและการนำเสนอ และในอีกครึ่งวันเสาร์ที่เหลือในวันรุ่งขึ้นก่อนเดินทางกลับ ก็เป็นการนำเสนอ ทั้งต่อผู้บริหารของมหาวิทยาลัยแม่โจ้และต่อกลุ่มคณาจารย์ผู้เข้าร่วมเวที จากนั้นก็ร่วมกันสะท้อนการเรียนรู้ อภิปราย สัมมนา และแลกเปลี่ยนทรรศนะกันอย่างกว้างขวาง

การประชุมกลุ่มเพื่อนำเอาสิ่งต่างๆที่ได้รับผ่านการเข้าร่วมโครงการก้าวใหม่..สายวิชาการ และการได้มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเป็นกรณีตัวอย่าง เพื่อเรียนรู้และนำกลับไปพัฒนาการเรียนการสอนของกลุ่มคณาจารย์ที่เข้ามาใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในครั้งนี้ มาศึกษาทบทวน พร้อมกับจะต้องสามารถสรุปและสร้างแนวทางการทำงานต่างๆต่อไปในอนาคตนั้น ผมนำเอาหลักการประเมินผลแบบเสริมพลังมาออกแบบกระบวนการประชุม ให้เป็นกระบวนการ Participatory Synthesis Evaluation เพื่อสังเคราะห์และประมวลผลมวลประสบการณ์ ให้ออกมาเป็นบทเรียนและภุมิปัญญาปฏิบัติ เพื่อสะท้อนกลับสู่วงจรการปฏิบัติ โดยมุ่งให้เป็นทั้งการสรุปและบรรลุความคาดหวังได้อย่างบูรณาการ คือ

  • Empowerment and Development Evaluation … ทำให้เห็นผลที่เกิดขึ้นหลายมิติ และได้นำเอามาวิเคราะห์ ทบทวน สามารถใช้ประกอบการอธิบายผลของการดำเนินงานสิ่งต่างๆมาก่อนหน้านั้น เชื่อมโยงมาถึงสภาพปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
  • Commons Context-Based Knowledge and Intellectual ... ทำให้ได้รวบรวมบทเรียน เรื่องราว ตลอดจนสารสนเทศของความรู้ แนวคิด ทรรศนะ เพื่อสื่อสารขยายผลและบันทึกรวบรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง
  • Reflexive and Generative Learning … ทำให้ได้ประเด็น หัวข้อ และโครงสร้างทางปัญญา ตลอดจนการสร้างวาระการเรียนรู้ สนทนาพูดคุย ต่อปรากฏการณ์และเรื่องราวต่างๆ ที่เชื่อมโยงและอ้างอิงไปด้วยกันได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นจำเพาะกลุ่มและจำเพาะเหตุการณ์ครั้งนี้
  • System Thinking , Setting of Commons Agenda and Strategic Minded Planning .. ทำให้เกิดกระบวนการพูดคุย สนทนา รับฟัง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในบรรยากาศของคนทำงานและคนมหาวิทยาลัยแม่โจ้ด้วยกัน ได้พัฒนาการมีวาระความสนใจร่วมกัน และเห็นแนวโน้มการมุ่งสู่อนาคต

ทีมอาจารย์ที่ลุกขึ้นมาช่วยกันทำกระบวนการ ทำให้ข้อจำกัดต่างๆ ไม่เป็นอุปสรรคปัญหาอีกต่อไป การพูดคุยและนั่งสนทนาเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางกระทั่งถึงเที่ยงคืนจึงสรุปและมอบให้ผู้แทนกลุ่มที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำเสนอนำข้อมูลที่ได้ไปทำสื่อและเตรียมการนำเสนอต่อไป

ผมขอให้อาจารย์พรรณ หรืออาจารย์วรวุฒิ งามพิบูลเวท จากสาขาวิชาเกษตรป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่ ได้ช่วยเป็นผู้นำเสนอให้กับกลุ่ม ซึ่งท่านก็ยินดีและรับไปทำสื่อ พร้อมกับเตรียมตัวต่างๆหลังกลุ่มเลิกประชุมแล้วจนตี ๓ และเมื่อนำเสนอ ก็สามารถสรุปให้เห็นภาพรวม นำไปสู่การได้ประเด็นสำหรับอภิปรายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างกว้างขวางอย่างที่ต้องการเป็นอย่างดียิ่ง.

หมายเลขบันทึก: 587807เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2015 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2015 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

เป็นการพัฒนาที่ active มากเลยครับ

ผมเลยได้เรียนรู้ไปด้วย

ขอบคุณมากๆครับ

ในเวที หากมีอาจารย์ด้วยละก็จะยิ่งสนุก เข้มข้น และได้อะไรอีกมากมายเลยละผมว่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท