ความคาดหวังในอนาคตของการปฏิรูปท้องถิ่นไทย


ความคาดหวังในอนาคตของการปฏิรูปท้องถิ่นไทย

19 มีนาคม 2558

สรณะเทพเนาว์สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ [1]

ในความคาดหวังของสังคมไทยอันเป็นที่ปรารถนาของคนไทยทุกคน รวมถึงสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติทุกคนด้วยล้วนหวังให้สังคมไทยเปี่ยมไปด้วยความสุข ความเจริญกันทั้งนั้น

ได้มีการถกประเด็นกันถึงวิสัยทัศน์ประเทศไทย หรือที่หลายคนเข้าใจว่าก็คือสังคมไทยในอนาคตที่ทุกคนอยากให้เป็นไปในระยะ 10 ปี 20 ปีข้างหน้า ในการสัมมนาระดมความเห็น (Vision Workshop) ของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 19-20 มกราคม 2558 [2] ได้สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายการปฏิรูปประเทศไทย (ในรอบ 17 ปีข้างหน้า) ปี พ.ศ. 2575 (ปี 2032) ที่ต้องการเห็น คือ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี ร่วมกันสร้างสถาบันหลักและสังคมให้มีความเสมอภาคบนพื้นฐานของความปรองดอง การเมืองโปร่งใสน่าเชื่อถือ มีเสถียรภาพ ยั่งยืน ขณะที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ จะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง แบ่งปัน และต้องแข่งขันได้ โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ (1) สร้างคนไทยยุคใหม่ (2) คืนความน่าอยู่ให้กับสังคมไทย (3) สร้างพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุดใหม่ (4) สร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

นอกจากนี้ในเวทีการสัมมนา ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์และออกแบบประเทศไทย ได้สรุปทิ้งท้ายว่า "สิ่งที่พวกเราจะต้องทำคือ มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปประเทศไทย มีกระบวนการปรับเปลี่ยนอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์ที่วางไว้ ต้องฝันไปข้างหน้าในฐานะผู้ขับเคลื่อนการปฏิรูปว่าจะกำหนดวาระการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร"

ในสายขององค์กรด้าน "ประชาสังคม" เมื่อ 18 มกราคม 2558 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกว่า 20 องค์กร กว่า 100 เครือข่าย ได้เปิด "โครงการปลุกพลัง เปลี่ยนไทย" (Inspiring Thailand) [3] สร้างสรรค์ประเทศไทย ให้น่าอยู่ โดยมีเครือข่ายที่ทำงานภาคสังคมรวมกันอยู่ประมาณ 1.5 หมื่นองค์กร มีโครงการประมาณ 3 พันโครงการต่อปี เพื่อร่วมสร้างวิสัยทัศน์ชาติ 2575 ฉบับประชาชนประกาศต่อสาธารณะในเดือนมิถุนายน 2558 นี้ ได้แก่ (1) การระดมความคิดของคนไทยทั้งสังคมเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ในการพัฒนาประเทศ ผ่านเวทีวิสัยทัศน์ 77 จังหวัด (2) การลงมือปฏิบัติการเปลี่ยนประเทศไทย หรือ "ร้อยโครงการเปลี่ยนประเทศ" (3) การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ในการพัฒนาประเทศ จากทุกภาคส่วนของสังคมหรือ "โครงการเครือข่ายผู้นำแห่งอนาคต" และ (4) การสร้างค่านิยมคนไทยรุ่นใหม่ที่เป็นคนตื่นตัวและลงมือทำเพื่อส่วนรวมหรือ "โครงการสื่อสารและโครงการสร้าง Active Citizen"

เมธา สุวรรณสาร ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบภายในด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (2553) เห็นว่า วิสัยทัศน์ของประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ในปี 2563 (ในอีก 10 ปีข้างหน้า) [4]

ต่อมา เมธา สุวรรณสาร (2556) [5] เห็นว่า "ภายใน ปี 2575 ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว" เสนอว่าประเทศไทยควรจะกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นธงหลักของประเทศในการกำหนดทิศทาง กระบวนการบริหารและการจัดการที่ดี และเป็นไปตามหลักสากล เพื่อจะให้ประชาชนคนไทยมีรายได้โดยเฉลี่ย ไม่ต่ำกว่า 15,000 USD ตามที่กำหนดเอาไว้เป็นข้อ 1 ในหลายข้อของการพิจารณาว่าประเทศไทยที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country) อย่างประเทศมาเลเซียเพื่อนบ้านของเรา ก็กำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่า "ในปี ค.ศ. 2020 ประเทศมาเลเซีย จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว" เป็นต้น

โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ นักเศรษฐศาสตร์ อดีตรองเลขาธิการ สศช. (2558) เห็นว่าการเปลี่ยนโครงสร้างประชากร "เกิดน้อย ตายยาก ย้ายถิ่นนั้นทำให้ประเทศเราต้องเปลี่ยนแปลง" [6] กล่าวคือ สังคมไทยจะเป็น "สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์" โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 14 ของประชากรในปี 2021 (พ.ศ.2564) และเป็น "สังคมสูงวัยระดับสุดยอด" โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากรในปี 2032 (พ.ศ.2575) [7] แนวโน้มโครงสร้างประชากรที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) สศช. คาดประมาณประชากรตลอด 30 ปีข้างหน้า ประชากรไทยกำลังอยู่ในสภาพ "คงตัว" จำนวนประชากรจะไม่เพิ่มขึ้นไปจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน [8] ล่าสุดตามประกาศสำนักทะเบียนกลางลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2558 ยืนยันจำนวนราษฎรไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 จำนวน 65,124,716 คน [9] และแรงงานกลุ่มประเทศ CLMV (Cambodia-Lao PDR-Myanmar-Viet Nam) จะได้เปรียบแรงงานไทยในอาเซียน [10] เพราะอุตสาหกรรมจะไม่สามารถพึ่งพาแรงงานเป็นหลักได้อีก [11]

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาเรื่อง ความท้าทายของนโยบายการเงิน กับการก้าวข้ามพัฒนาการเศรษฐกิจไทย ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2558 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ สรุปสาระสำคัญสัมมนา ว่า [12]

เศรษฐกิจไทยมีสภาพเหมือน "คนป่วย" ที่มีอาการซ้ำซ้อนในหลายด้าน ทั้งการบริโภค การลงทุนและการส่งออกที่อ่อนแรง เศรษฐกิจไทยป่วยจากการเผชิญกับโรค 3 ชนิด โรคแรก คือ ไข้หวัดใหญ่ จากเศรษฐกิจไทยที่ติดโรคมาจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าไทยมีไม่มากและตลาดเงินโลกผันผวน ซึ่งไทยย่อมได้รับผลกระทบอย่างปฏิเสธไม่ได้ อย่างกลุ่ม CLMV ย่อมได้เปรียบมากกว่าโดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตหลัก โรคที่สอง คือ โรคข้อเข่าเสื่อม จนทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปด้วยความลำบากหรือแทบไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ซึ่งได้แก่การขาดแคลนการลงทุนหรือพัฒนาเทคโนโลยีให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ทำให้ไทยติด "กับดักรายได้ปานกลาง" (Middle Income Trap) โรคสุดท้าย คือ โรคขาดความมั่นใจ ที่ซ้ำเติมทำให้โรคข้อเข่าเสื่อมไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง เพราะผู้ประกอบการไม่มั่นใจ

นอกจากนี้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันต่าง ๆ ที่แทรกซึมไปในทุกวงการทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่บั่นทอนและสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง ถือเป็นมะเร็งร้ายที่กัดกินสังคมไทยให้ตกต่ำลงจากสังคมในสายตาของนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะ "การทุจริตเชิงนโยบาย" (Policy Corruption) โดยการใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและพรรคพวกเพื่อนฝูง ซึ่งถือเป็นการทุจริตรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด เพราะเป็นการทุจริตที่ทำได้ทุกรูปแบบภายใต้สถานการณ์ที่ขาดคุณธรรมและจริยธรรม มีการประมาณกันว่า การทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทย คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณในการพัฒนาประเทศ ตามข้อมูลล่าสุดจาก ป.ป.ช. (2557) [13] พบว่า แค่ 2 ปีพบมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 357,807.841 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 14.17 ของงบประมาณรายจ่ายแผ่นดินปี 2557) [14]

สรุปพิจารณาจากสภาพข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ของสังคมไทย ประเทศไทยมีปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข รวมสามปัญหาหลัก ดังนี้

(1) ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น และ ความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ

(2) ปัญหาการก้าวย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ซึ่งมีผลกระทบถึงปัญหาการใช้แรงงานในอนาคตด้วย รวมทั้งปัญหาความขาดแคลนหรือบกพร่องต่าง ๆ ในปัจจัยการบริหาร (4 M)

(3) ปัญหาความเสื่อมประสิทธิภาพในการใช้กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย

ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า จากปัญหาดังกล่าวทั้งสามประการจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ ที่เป็นภาระหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกันขบคิด หาแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคดังกล่าว และรวมพลังช่วยกันขับเคลื่อนองค์กรประเทศไทยให้ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายตามความคาดหวังที่วาดฝันไว้ว่าสังคมไทยในปี พ.ศ. 2475 ต้อง "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ได้สมใจตามที่มุ่งหวัง



[1] หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม 2558 ปีที่ 65 <คอลัมน์การเมืองท้องถิ่น> #บทความพิเศษ หน้า 10

[2] สปช.วางวิสัยทัศน์ไทยปี 2575 "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" , ASTVผู้จัดการออนไลน์, 20 มกราคม 2558, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9580000007345 & สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์,20 มกราคม 2558, http://thainews.prd.go.th&"วาระการปฏิรูปที่สำคัญและแนวทางการบริหารจัดการของสปช.", 20 กุมภาพันธ์ 2558, http://www.reform.or.th/2014/wp-content/uploads/วาระการปฏิรูปของสปช-master.pdf

การเปลี่ยนผ่านจากยุคอุตสาหกรรมสู่ยุคดิจิตอล

คลื่นลูกที่หนึ่ง Industrial Revolution 1789-1815

คลื่นลูกที่สอง The Great railroad expansion ปลาย 1840-ต้น 1870

คลื่นลูกที่สาม Basic technology growth of telephony and electrification 1890-1920s

คลื่นลูกที่สี่ Massive industrialization and economic reconstruction หลัง WWII-1993

คลื่นลูกที่ห้า Communication Technology and globalization 1993-2020

Source : Roger Cass

[3] `ปลุกพลัง เปลี่ยนไทย` สู่วิสัยทัศน์ชาติ 2575, หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย arphawan sopontammarak, 26 มกราคม 2558, http://www.thaihealth.or.th/Content/27223-'ปลุกพลัง เปลี่ยนไทย' สู่วิสัยทัศน์ชาติ 2575.html &พลเรือโทสุธน หิญชีระนันท์, ปลุกพลังเปลี่ยนไทย โครงการ 17 ปี!!! , 2 กุมภาพันธ์ 2558, http://www.oknation.net/blog/utopiathai/2015/02/02/entry-1

[4] เมธา สุวรรณสาร, วิสัยทัศน์ของประเทศไทย คือ ประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2563 และเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างมั่นคง กับ GRC ในมุมมองระดับประเทศ, 14 มกราคม 2553, https://itgthailand.wordpress.com/2010/01/14/วิสัยทัศน์ของประเทศไทย/

[5] เมธา สุวรรณสาร, 100 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กับ 100 ปี แห่งการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว / 100 years of rule changes to the 100 years of the developed countries, 24 มิถุนายน 2556, https://itgthailand.wordpress.com/tag/วิสัยทัศน์ของประเทศไทย/

[6] "โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์" ชี้อาการ "เกิดน้อย ตายยาก ย้ายถิ่น" ถ้าไม่ทำอะไร ประเทศจะเดินไปสู่ความลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ – ถึงเวลาต้องสื่อสาร "ชุดข้อมูล ชุดความคิดใหม่", 10 กุมภาพันธ์ 2558, http://thaipublica.org/2015/02/kosit-vdo/

[7] เด็กเกิดน้อย-คนสูงวัยเพิ่ม!, แนวหน้า, 1 สิงหาคม 2556, http://www.naewna.com/scoop/62308 & โครงสร้างประชากร 30 ปีข้างหน้า, http://thaipublica.org/investigations/population-structure/

[8] โครงสร้างประชากร 30 ปีข้างหน้า (1) : สิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักในวันนี้ คนไทยเข้าสู่สังคมคนแก่เร็วกว่าใครในอาเซี่ยน 20 ปี, 22 กรกฎาคม 2556, http://thaipublica.org/2013/07/population-structure-1/

[9] สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, http://stat.bora.dopa.go.th/stat/y_stat57.html

[10]ผู้ว่าฯธปท. ชี้ปัญหาไทยกำลังเผชิญ "โรคทางเศรษฐกิจ 3 โรค" รอรัฐบาลช่วยเร่งฟื้นไข้, 13 มีนาคม 2558, http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1426240476

[11] โครงสร้างประชากร 30 ปีข้างหน้า (3) : เสี่ยงขาดแคลนแรงงานทั้งปริมาณและคุณภาพ, 14 กันยายน 2556, http://thaipublica.org/2013/09/population-structure-3/

[12]ผู้ว่าฯธปท. ชี้ปัญหาไทยกำลังเผชิญ "โรคทางเศรษฐกิจ 3 โรค" รอรัฐบาลช่วยเร่งฟื้นไข้, 13 มีนาคม 2558, http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1426240476

[13] โครงสร้างประชากร 30 ปีข้างหน้า (3) : เสี่ยงขาดแคลนแรงงานทั้งปริมาณและคุณภาพ, 14 กันยายน 2556, http://thaipublica.org/2013/09/population-structure-3/

[14] ยอดงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 จำนวน 2,525,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จำนวน 2,575,000 ล้านบาท

หมายเลขบันทึก: 587711เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2015 17:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2015 00:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท