"การบริหารความเสี่ยงในชีวิต ตามหลักพุทธทัศน์"





การบริหารกิจกรรม หรือการบริหารธุรกรรมต่างๆ มักจะมุ่งเน้นที่กำไร ให้เติบโต มีความเจริญงอกงามด้านเงินทุน การบริหารจัดการจึงจำเป็นที่จะต้องลดความเสี่ยงให้ได้ แต่หากไม่สามารถลดความสุ่มเสี่ยงลง ก็อาจต้องหาผู้ร่วมเฉลี่ยความเสี่ยงมารับผิดชอบด้วย บริษัทที่ร่วมเฉลี่ยความเสี่ยงในปัจจุบันปรากฎหลายรูปแบบต่างๆ เช่น บริษัทเงินทุน สหกรณ์ ธนาคาร ประกันชีวิต ประกันภัย บริษัท องค์กรต่างๆ ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยเหลือในแง่การลงทุน รับประกับความสูญเสียให้ แต่นั่นมิได้แปลว่า จะเข้ามาช่วยเหลือแบบเสือกินเปล่า หากแต่ต้องเสียค่าประกัน ตามอัตราที่กำหนดไว้ โดยทำเป็นสัญญากัน

ทุกวันนี้มีรูปแบบการประกันหลากหลายมากมาย ซึ่งอวดอ้างโฆษณาต่างๆ นานาว่าจะช่วยเหลือ ได้เงินเบี้ยประกันเท่านั้น เท่านี้ รักษาโรคนั้น โรคนี้ให้ โดยให้จ่ายค่าเบี้ยประกันถูกๆ มันสมเหตุสมผลที่เขามักจะอ้างสรรพคุณของการทำประกันว่า ดีอย่างนั้น อย่างนี้ ได้เงิน มีผลตอบแทนงาม บวกกับผู้ทำอยากป้องกันความเสี่ยงเผื่อเกิดโรคร้าย เกิดอุบัติเหตุ ความไม่แน่นอน เพราะความไม่มั่นคงในชีวิตวันข้างหน้า นี่คือ เหตุผลหนึ่งที่เราตัดสินใจทำ จนอาจขาดความรอบคอบ และอาจเกิดความเสี่ยง กลายเป็นความเสี่ยงสองเสี่ยงซ้อนกันได้ นั่นคือ เราทำประกันเผื่อได้เงินค่ารักษา จึงเสี่ยงจ่ายเบี้ยไป เสี่ยงที่สองคือ เราอาจถูกหลอกแบบสมเหตุ สมผลที่ถูกกฎหมาย คือ รู้ไม่ทันบริษัทประกันนั้นๆ จึงสุ่มเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบได้

ในชีวิตของเราล้วนเต็มไปด้วยความเสี่ยงในชีวิตทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่การเกิด การเติบโต ไม่รู้ว่า จะรอดไหม จะโตไหม จะตายไหม เมื่อโตแล้วก็อาจเสี่ยงได้ ไม่ว่าเราจะกิน ดื่ม พูด เที่ยว ทำ ยืน เดิน นั่ง นอน ทำ ฯ มันอาจมีความผิดพลาดเสี่ยงที่จะเกิดโทษ เกิดผลร้ายแรงต่อชีวิตได้เสมอ เราคิดก็อาจเสี่ยงผิดพลาด ร่างกายอาจเกิดโรคร้ายต่างๆ มากมายเราอาจได้รับมาก็ได้ สังคมก็เต็มไปด้วยโจร ผู้ร้าย ปืน อาวุธ จี้ปล้นก็มากมี ไม่รู้จะโดนลูกหลงเมื่อไหร่ จะเกิดสงครามหรือไม่ เกิดภัยพิบัติหรือไม่ เกิดภัยธรรมชาติหรือไม่ การเดินทางจะปลอดภัย หรือจะเจออุบัติเหตุไหม ฯ ทุกช่วงเวลาของชีวิตจึงล้วนมีแต่เสี่ยงภัยทั้งนั้น

มองให้รอบคอบ รอบด้าน ชีวิตบนโลกมีแต่ภัยอันตรายทั้งหมด แม้แต่ในชีวิตเอง มันคือภัยแห่งภพด้วย นี่คือหลักการแห่งเหตุผลของการดำรงอยู่บนโลกที่เสี่ยงภัย บริษัทต่างๆ จึงอวดอ้างการรับผิดชอบร่วมเฉลี่ยการเสี่ยงภัยให้กับเรา ฟังดูดีนะ แต่เขามีเงื่อนไขเสมอ ในสังคมเมืองใหญ่ ซึ่งเต็มไปด้วยอุบัติภัยมากมาย ผู้คนจึงไม่ค่อยรู้สึกปลอดภัย การมีผู้ค้ำประกันให้ว่า จะรับผิดชอบความเสียหายให้ จึงเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ จนเดี๋ยวนี้ แทบทุกคนในเมืองจึงถูกบริษัทประกันภัย ประกันชีวิต ยื่นข้อเสนอให้หมดแล้ว จนเป็นสมาชิกของเขาไปแล้ว (ผู้เขียนด้วย) จึงต้องหาเงินรายเดือนหรือรายปีจ่ายค่าเบี้ยประกัน


สาเหตุการเกิดความเสี่ยง มี ๑๐ อย่างคือ

๑) เกิดจากธรรมชาติ เช่น แผนดินไหว ไฟไหม้ พายุ น้ำท่วม วาตภัย ภัยจากสัตว์ร้าย ภัยจากภัยแล้ง ฯ เหล่านี้คือ ความเสี่ยงตามธรรมชาติ อีกภัยที่อยู่ในตัวมนุษย์ซึ่งถือว่าเป็นภัยธรรมชาติเช่นกันคือ เกิด แก่ เจ็บ ป่วย และตาย นี่คือ เหตุผลหลักในการรับประกันความเสี่ยงภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากภัยเหล่านี้ ไม่มีอะไรชี้วัดได้ว่า จะเกิดเมื่อไหร่ จึงกลายเป็นภัยที่ไม่แน่นอนใดๆ


๒) เกิดจากเครื่องมือ เช่น เครื่องมือสื่อสาร เครื่องยนต์กลไก คอมพิวเตอร์ อาจกลายเป็นอุปสรรคในการทำงานและอาจเสี่ยงในการทำให้ข้อมูลเสียหายหรือสูญหายได้ การจัดการบริหารความเสี่ยงจึงต้องรอบคอบในการเก็บข้อมูล เอกสาร สัญญาต่างๆ ไว้ให้แน่นหนาและมั่นคง ยั่งยืน เนื่องจากมีการเก็บข้อมูล หลักฐานที่รับรองว่าทำธุรกรรมไว้


๓) เกิดจากมนุษย์ มนุษย์เป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญในการจัดการ บริหารงานทั้งหมดขององค์กรต่างๆ หากได้ผู้นำที่ขาดวิสัยทัศน์ ขาดความรอบคอบ ประมาท ไม่ละเอียดในกิจการ และมีจิตที่อ่อนไหว ขาดความมั่นคงในตัวเอง มีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ย่อมจะเป็นปัญหาต่อการบริหารองค์กรได้ นอกจากนั้น ผู้ทำงานเองก็ต้องมีความรู้ มีความพร้อมอย่างแท้จริงใจ มีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม มีจรรยาบรรณในการทำงานขององค์นั้นๆ ได้ หากผู้นำหรือผู้ทำงานเกิดการทุจริต คิดคดโกงบริษัท ความเสียหายย่อมเกิดขึ้นได้ นั่นคือ ความเสี่ยงภัยไปพร้อมกันด้วย


๔) เกิดจากนโยบาย เป็นหลักประกันที่ขับเคลื่อนกิจการนั้นๆ ให้ดำเนินไปคือ นโยบาย เช่น รัฐบาลต้องมีนโยบายในการบริหารประเทศชาติ มีธรรมนูญ มีหลักธรรมาภิบาล ที่รักษากฎเกณฑ์ต่างๆ ไว้ มีแผนการพัฒนาประเทศ เพื่อป้องกันการทุจริต ฉ้อโกงหรือการบริหารที่โปร่งใส ตามแผนการที่กำหนดไว้ หากขาดหลักการบริหาร ที่ไร้เป้าหมาย หรือไร้จุดหมาย การบริหารนั้น ย่อมขาดประสิทธิผลที่จะเป็นประโยชน์หรือเกิดกำไรต่อองค์การนั้นได้


๕) เกิดจากสังคม เนื่องจากบริบทสังคมนั้นๆ เป็นเครื่องชี้วัด ที่จะกำหนดกระแสให้เกิดการคิดวางแผนได้ว่า สังคมนั้นเป็นอย่างไร สังคมตะวันตกเป็นแบบหนึ่ง ตะวันออกเป็นแบบหนึ่ง คตินิยม ความเชื่อของสังคมนั้นเป็นอย่างไร เช่นเมืองไทยเป็นสังคมพุทธ การบริหารแบบวิถีพุทธหรือมีรากฐานในสังคมพุทธ จึงจะสอดคล้องกับสังคมเป็นต้น อย่างไรก็ตาม สังคมโลกก็มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจได้ ดังนั้น หากละเลยสังคม ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงได้


๖) เกิดจากเวลา เวลานั้นเป็นตัวกำหนดทั้งหมด ทั้งโลกจะเปลี่ยนผันไปตามตารางของวัน เดือน ปี การทำธุรกรรม จะต้องกำหนดวันเดือนปีให้ชัดเจนว่า วันไหน เวลาใด เช่น เวลาอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ความเสี่ยงภัยส่วนมาก จะเกิดในอนาคต เพราะว่า เวลาในอนาคตนั้น ไม่แน่นอน ความแน่นอน จึงเป็นปัจจัยหลักในการทำประกันชีวิตหรือประกันภัย อนึ่ง เวลาในปัจจุบัน ก็เป็นเงื่อนไขที่จะส่งผลให้เห็นง่าย เนื่องจากกิจกรรมจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ทันที และมีผลกระทบทันทีต่อชีวิต ทรัพย์สิน


๗) เกิดจากความไม่เชื่อมั่น ความไม่เชื่อมั่นในกิจกรรมใดๆ นั้น เป็นเรื่องสำคัญในการจะดำเนินงานต่อไปได้ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนั้น เกิดมาจากความไม่รอบคอบ ไม่ละเอียดของผู้นำ หรือฝ่ายบริหาร ถ้าผู้นำหรือฝ่ายบริหารขาดความเชื่อมั่น ขาดการไว้ใจองค์กรหรือขาดความเชื่อมั่นในการบริหารงาน ย่อมส่งผลต่อบริษัท จนอาจนำไปสู่ความเสียหายได้ ความเชื่อมั่น จึงเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินธุรกิจการประกันภัยความเสี่ยง เพราะธุรกิจนี้อยู่บนรากฐานความเสี่ยงอยู่แล้ว จึงต้องเสี่ยงบนความเสี่ยงแบบขาดความเชื่อมั่นไม่ได้


๘) เกิดจากความไม่รู้ การทำอะไรก็ตาม หากขาดการเรียนรู้ ขาดการศึกษาหาข้อมูลนั้นๆ ย่อมเสี่ยงในการจัดการบริหารได้ เพราะไม่มีหลักการ ไม่มีทิศทาง ไม่รู้อุบัติการณ์ใดๆ ในอดีต ไม่รู้หลัการบริหารที่แท้จริง ไม่มีประสบการณ์มาก่อน ย่อมเสี่ยงอย่างมาก บุคคลที่จะมาเป็นผู้นำในการบริหาร จัดการความเสี่ยงนั้น ต้องศึกษาวิเคราะห์ให้รอบด้าน รู้ลึก รู้ชัดเจน ไม่ใช่มือโปร ย่อมเสี่ยงในการบริหารความเสี่ยงได้


๙) เกิดจากการตัดสินใจ ผู้นำที่ดี ต้องกล้าตัดสินใจ ไม่ลังเล กล้าหาญที่จะรับผิดชอบต่อการตัดสินของตนเอง ธุรกิจการประกันความเสี่ยง จึงอยู่ที่การตัดสินใจ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะตกลงกัน การตัดสินใจแบบโลเลหรือขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นขององค์กรได้ สาเหตุที่นำไปสู่ความเสี่ยงในธุรกรรมทั้งหลายคือ การตัดสินใจนั่นเอง


๑๐) เกิดจากจิตใจ ทั้งหมดที่เป็นสาเหตุพื้นฐานของการทำธุรกรรมเสี่ยงภัยนั้น มีสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้นั่นคือ หัวใจหรือจิตใจ ระหว่างผู้บริหารองค์กร ผู้นำที่อ่อนแอ อ่อนไหว อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เอาแต่ใจ อีโก้สูง ย่อมจะขาดความเชื่อถือ ศรัทธาจากผู้ร่วมทำงานได้ จิตใจผู้บริหารที่หนักแน่น มั่นคง มีคุณธรรม มีเมตตาต่อผู้ร่วมงาน ย่อมสร้างแรกจูงใจให้ผู้ร่วมทำงานมีจิตใจร่วมด้วย


ดังนั้น เมื่อทราบสาเหตุพื้นฐานของการบริหารความเสี่ยงจากหลายๆ สาเหตุแล้ว จึงค่อยวางหลักการบริการความเสี่ยง โดยอาศัยหลักการทางศาสนาพุทธมาเป็นบรรทัดฐานในการมองทิศทางธุรกรรมเกี่ยวข้องกับชีวิต เนื่องจาก วิถีชีวิตของมนุษย์มีเส้นทางไปตามกลไกของธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งพระพุทธศาสนาได้สอนให้ชาวพุทธได้ตระหนักรู้ในความไม่แน่นอน หรือโอกาสของชีวิตที่ไม่แน่นอน ไม่ยั่งยืนใดๆ จึงสอนให้รู้จักการระวังตัวเอง สอนมิให้ประมาทในชีวิตเช่น เรื่อง การครองชีวิต การใช้ชีวิต การทำงาน การทำธุรกรรม ต่างๆ ซึ่งล้วนตกอยู่ในความไม่แน่นอนทั้งสิ้น เช่น ชีวิตเราอาจสิ้นลมเมื่อไหร่ก็ได้ อาจเจออุบัติภัยทุกเมื่อ

พระพุทธศาสนาจึงสอนให้รู้จักชีวิตทุกขณะ ทุกเวลาหายใจ สอนมิให้ประมาทในชีวิตของตน โดยให้มีสติ มีปัญญาอยู่กับตัวเองเสมอเรียกว่า มีสมาธิ กำหนดกิจ กำหนดจิตารมณ์ตนเองได้ ไม่หลงเพลิดเพลินในกิจเฉพาะหน้า การสำรวม สำรวจตนเองตลอดเวลานี่เอง คือ หลักประกันความเสี่ยงของชีวิตที่มีปัญญาเป็นเครื่องกำกับตนเอง ถือว่าเราไม่ประมาทในเวลาของชีวิตนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ต้องกำหนดหลักการกว้างๆไว้ เพื่อให้ครอบคลุมไปถึงสหมิติของการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ที่เกี่ยวข้องหลายอย่างดังนี้


หลักการบริหารความเสี่ยงบนหลักพุทธวิธี มี ๑๐ ประการคือ

๑) สัจธรรมชาติสากล ชีวิตนั้น มีทิศทาง มีเส้นทาง มีกฎสากลที่ดำเนินไปตามปกติของมัน กล่าวคือ มีการเกิดขึ้น การดำเนินไป และเสื่อมสลายลง ลักษณาการเหล่านี้คือ กฎสากลที่ทุกสรรพชีวิต จะต้องประสบพบเจอ ไม่มีชีวิตใดหลีกหนี หลีกพ้นกฎนี้เลย การบริหารความไม่แน่นอนของธุรกรรมใดๆ จึงอิงอาศัยหลักการข้อนี้เป็นสำคัญ เพราะมีกฎนี่เอง เราจึงเสี่ยงที่จะดับสิ้นเมื่อไหร่ก็ได้ การเข้าใจกฎดังกล่าวนี้ได้ ย่อมเห็นสัจธรรมของชีวิต และสามารถกำหนดเส้นทาง วางแผนและยอมรับความเสี่ยงภัยในวันใดวันหนึ่งได้อย่างรู้เท่าทัน


๒) โลกธรรมทัศน์ ในโลกวิสัย ในโลกมนุษย์ มีสิ่งสรรเสริญ สิ่งวาดหวัง สิ่งต้องการอยู่ชุดหนึ่งเรียกว่า โลกธรรม ๔ คือ ๑. มีลาภ หมายถึง ได้ทรัพย์สินเงินทอง เรือนบ้าน ไร่ นา ของใช้ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อบำรุงตนเองให้เกิดความสุข ความสะดวกในกิจกรรมใดๆ นี่คือ ความต้องการของมนุษย์โลก ๒. ได้ยศ หมายถึง ได้ตำแหน่งยศ ฐานันดร ได้เป็นใหญ่ มีอำนาจในสังคม เป็นเป้าหมายของสังคมโลกที่อยากได้อำนาจที่หอมหวานเช่นนี้ ๓. สรรเสริญ หมายถึง การได้รับคำชื่นชม ยกย่อง ยกยอ สรรเสริญ เป็นยาชูกำลังใจ ๔. สุข หมายถึง ความต้องการของจิตใจ ที่อยากได้ความสุข ความสบายใจ ความเริงร่า เจริญใจ

ทั้งสี่อย่างนี้ เป็นเป้าหมายของโลกมนุษย์ เป็นฝ่ายบวกที่เชิดชู จิตใจมนุษย์ให้แช่มชื่น รื่นใจเสมอ กระนั้น ในโลกนี้ไม่มีแต่ด้านดีๆ ด้านเดียว ยังมีด้านลบอีกนั่นคือ เสื่อมลาภ คือ เสียเงินเสียทอง เสียเครื่องใข้ จนเสียใจ เสื่อมยศ คือหมดสิ้นอำนาจวาสนา ไม่มีปารมี ไม่มีใครรู้จักมักจี่อีก นินทา คือ ไม่มีใครชื่นชมสรรเสริญอีกแล้ว มีแต่นินทาว่าร้าย และตกทุกข์ได้ยาก ลำบากตรากตรำ ไม่มีความสุขเลย ทั้งสองมิตินี้คือ การหลักการมองโลกมนุษย์ให้เห็นสองด้าน เพื่อนำมาตักเตือน นำมาสอนตน ให้เห็นสัจธรรมของชีวิตที่ไม่แน่นอน เราจะยอมเสี่ยงสุ่มในโลกมนุษย์อีกต่อไป จะไม่ยินดี ยินร้ายโลกมนุษย์ ชีวิต จิตใจ ทรัพย์สิน อะไรทั้งหมด เมื่อนำหลักนี้มาประคับ ประคองสติ ปัญญาได้ ย่อมชื่อว่า เป็นผู้รู้โลก (โลกวิทู) อย่างแท้จริง


๓) ชีวสัจทัศน์ เป็นมุมมองที่เห็นมิติในเนื้อหา สาระของชีวิตได้ เพราะชีวิตมีสัจธรรมสากลที่สอนเราได้ ในชีวิตคือ สัจธรรม ที่ดำเนินธรรมไปตามปกติ กล่าวคือ ชีวิตมีทุกข์ ทุกข์แปลว่า เปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน ไม่มั่นคง ไม่จีรัง อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อความตายอยู่ทุกเมื่อ มันจึงไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมหรือสถานะเก่าของมัน ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เหมือนกับเหตุการณ์ต่างๆ ของโลกที่ปรากฎอยู่อย่างไม่แน่นอนเช่นกัน ดังนั้น กฎสากลเหล่านี้ จึงสอดคล้อง สัมพันธ์กันอยู่

ดังนั้น การเห็นชีวิตในแก่นนั้น ย่อมเห็นความจริงที่เราเป็นอยู่ทุกวัน ที่มันไม่มีความมั่นคงเสียเลย กระนั้น เราทุกนั้น ก็ไม่อยากยอมรับ ในโอกาสที่จะเผชิญกับสิ่งที่ไม่แน่นอน บางทีเราก็ปลอบใจตนเองว่า "อะไรจะเกิดย่อมเกิด" นี่คือ หลักการยอมรับการเสี่ยงภัยของชีวิตแบบนี้ คือ หลักประกันความมั่นคงทางจิตใจ ที่ยอมรับกับสิ่งที่จะเกิดแน่นอนกับตัวเอง โดยไม่ต้องไปโวยวาย เรียกร้องหาความยุติธรรมจากพระเจ้าองค์ใด ยอมรับ น้อมรับกับการเกิดมาของชีวิตและรู้เท่าทันมันก็พอ


๔) เหตุ-ปัจจัย องค์ประกอบของสรรพชีวิตนั้น มีหลายอย่าง ในอภิธรรมกล่าวไว้ ๒๔ ประการ เช่น มีเหตุ เป็นปัจจัย มีอารมณ์ เป็นปัจจัย มีอาหาร มีกรรม เป็นปัจจัย เป็นต้น ในครั้งพุทธกาลเจ้าลัทธิต่างๆ ถกเถียงกันว่า ชีวิตมีเหตุ บ้างก็ว่าไม่มีเหตุ ในศาสนาอื่นว่า มีพระเจ้า พระพรหมคือปฐมเหตุ มีสรรพสิ่งเป็นผล หลักการที่ว่านี้ สามารถนำมาสอดสานกับการบริหารความเสี่ยงในฐานนี้ได้ว่า สิ่งใดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ล้วนมีเหตุปัจจัยจากเหตุหรือต้นเหตุนั้น จึงจะมีผลลัพธ์แน่นอน ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ เหมือนคำที่ว่า "สิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี"

ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบ และยอมรับผลที่จะเกิดขี้นนั้น ถือว่า มีเหตุ มีผลที่พิจารณาตรองตามได้ มิใช่เกิดขึ้นเองลอยๆ เหมือนอุบัติเหตุ ย่อมมีเหตุ จึงมีผลให้เกิดความเสียหาย สำหรับชีวิต เหตุคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ผลคือ ทุกข์ กรรม วิบาก ผลจะดี จะร้ายอย่างไรก็อยู่ที่ต้นเหตุ ต้นเจตนาของกรรมมนุษย์นั่นเอง


๕) อัตตทัศน์ ในทัศนะต่างๆ ของผู้คนในยุคต่างๆ ย่อมมีอัตตลักษณ์ของตัวเอง ของแต่ละยุค ในพุทธกาลก็เช่นกัน ผู้คนก็มีทัศนะไปตามคตินิยม ตามลัทธินิยมของตนเอง ปัจจุบันเราถือเอาปัจเจกบุคคลเป็นทัศนะที่ยืนยันได้ เนื่องจากว่า โลกมีหลายทัศนะ มีหลายคตินิยม การที่จะเหมาเอาคติเหล่านั้น มาไว้ในตัวเองหมด ก็อาจลำบากในการกรองทัศนะ ทางที่พอเป็นไปได้คือ ถือเอาอัตลักษณ์ของตนไว้ก่อน ยืนยันในฐานตนเองก่อน เพราะอัตทัศน์นั้น จะสอดคล้องหรือลงรอยกับตัวเรามากที่สุด และเป็นสิทธิในเบื้องต้นของตนเองด้วย

แต่มิได้แปลว่า จะถือตนเองเป็นใหญ่ ในกรณีที่เราหาข้อยุติไม่ได้ มันก็เป็นสิทธิที่เราจะถือเอาฐานตนเองไว้ก่อน เช่นเดียวกัน การบริหารจัดการความเสี่ยง ย่อมมีผลต่อตนเองเป็นสิ่งแรก ผลได้ ผลเสียอยู่ที่ตนเอง การตัดสิน การแยกแยะ การวิเคราะห์ การประเมินจึงขึ้นอยู่กับตัวเองเป็นหลัก ถ้าเราปล่อยให้คนอื่นจัดการ บริหารแทนเราหมด เราก็อาจเสียหายได้


๖) สติ ปัญญา จากข้อข้างบน จะมีฐานรองรับสำหรับการวิเคราะห์หรือหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเหตุผลด้วยตนเองคือ สติ ปัญญานี่เอง ในชีวิตของเรา คุณสมบัติที่มีประสิทธิภาพคือ สติและปัญญา เพราะคุณธรรมข้อนี้ จะช่วยสนับสนุนให้การคิด พิจารณารอบคอบขึ้น การบริหารความเสี่ยงในชีวิต ต้องอาศัยมุมมองของสติ ปัญญานี้ เป็นวิสัยทัศน์ของตนเอง โดยเฉพาะปัญญา ที่แปลว่า รอบรู้ รู้รอบ ในกรอบของชีวิตตนเอง

ความไม่แน่นอน คือความแน่นอนของสัจธรรม ความเป็นไปได้ของชีวิตในวันข้างหน้า ไม่เกินความสามารถของสติ ปัญญาของเรา ที่จะอนุมานได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นบ้างในอนาคต การวางแผน การจัดการ การไม่ประมาท จึงเป็นการรับประกันได้ว่า ปลอดภัยและยอมรับได้ในสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพราะนี่คือ ปัญญาขั้นสามัญของมนุษย์เอง มิใช่มาจากเทพเจ้า


๗) วิปัสสนาทัศน์ คำว่า วิปัสสนา แปลว่า การรู้แจ้ง การเข้าใจชัด การเห็นกระจ่าง เมื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยง หมายถึง การมองเห็นและกำหนดได้ว่า อะไรคือ เหตุ อะไรคือ ผล อะไรคือต้นจิต อะไรคือปลายผล การกำหนดรู้เท่าทัน สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะจิต จะเป็นบทแม่แบบที่จะกำหนดเห็นผลในอนาคตของการปรากฎการณ์ได้ ซึ่งสอดคล้องตามหลักการบริหารความเสี่ยงมี ๕ R คือ


๑) เตรียมพร้อมดูต้นเหตุ กำหนดให้มั่น (Readiness) ๒) การตอบสนอง การติดตาม การจับได้ การครอบครองได้ การรู้เท่าทัน จึงแก้ปัญญหาทัน (Response) ๓) การล้อมกรอบ การปกป้อง การรักษา การช่วยพยุง มิให้เสียศูนย์ (Rescue) ๔) การปรับตัว ปรับจิตให้อยู่ในภาวะปกติเสมอ มีสติ มีการรู้ตัว อย่างมั่นคง เมื่อจัดการอุปสรรคได้แล้ว (Rehabilitation) ๕) การฟื้นคืนจิต การรักษาจิตอยู่ในภาวะปกติที่จะจัดการปัญหา อุปสรรคได้เสมอ (Resumption)


๘) สามัญสำนึก จิตที่สะสมประสบการณ์ ความรู้ ตลอดชั่วชีวิตมา เมื่อมีส่วนผสมที่ลงตัว จิตนั้นย่อมย่อย แล้วถ่ายเทให้กลายเป็นคุณสมบัติที่ดีได้ จิตนี้จึงสำนึก แล้วสำรอกความเห็นแก่ตัวลง แล้วกลายเป็นจิตสำนึกต่อสาธารณชน ต่อคนอื่น ต่อส่วนรวมได้ จึงไม่คิดเอาประโยชน์ตนเอง มองเห็นแต่ส่วนรวม การบริหารความเสี่ยงก็เช่นนั้น จึงเกิดการจัดระบบให้เกิดผลต่อองค์รวม โดยมิได้เอาตัวเองเป็นหลัก

การมีจิตสำนึกในตนเอง เป็นการลดความเสี่ยงภัยไปด้วย ตรงกันข้ามหากบุคคลใด เห็นแต่ประโยชน์ตนเป็นใหญ่ มีความอยากเป็นที่ตั้ง มีใจแคบ ใจกระด้าง ย่อมจะสร้างความเชื่อมั่นจากผู้ร่วมงานได้ยาก หรือยากที่ผู้ทำธุรกรรมจะเชื่อถือหรือไว้ใจ การเป็นคนใจกว้าง ใจหนักแน่น คือ คุณสมบัติแท้ของนักบริหารความเสี่ยง


๙) จิตสาธารณ์ นอกจากมีจิตสากลแล้ว ผู้บริหารต้องมีจิตสาธารณ์คือ มีจิตใจกว้าง ไม่แคบ ช่วยเหลือส่วนรวมและสังคมอย่างเต็มที่ การมองเห็นสังคม สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติได้ชัดแจ้ง นั่นคือ โอกาสที่จะมองเห็นประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน เพราะทุกสิ่งย่อมมีสายใยเกื้อกูลกัน การบริหารแบบเชิงเดี่ยว ไม่อาจประสบผลสำเร็จได้

การมองสังคม โลกมนุษย์เป็น อยู่ที่ตาใจที่ไม่บอด คือมีตาใน มีตาที่สามารถมองทะลุกาลเวลา มองทะลุผู้คนได้ จึงจะคาดคะเนผลที่จะเกิดขึ้นแล้วจัดการไปตามนั้น ส่วนจิตแคบๆ ที่เห็นแก่ตัว ย่อมเป็นจิตที่นำพาองค์กร ไปสู่ความเสี่ยงมากขึ้น เพราะขาดสายตาที่ไม่มีวิสัย เรียกว่า องค์กรตนก็รอด ประชาชนก็รอดด้วย


๑๐) อัตตากุศล จากสองฐานข้างบน คือมาจากฐานในตัวตนที่เปี่ยมล้นไปด้วยบุญ คุณธรรม ที่สนับสนุนจิตใจ การสร้างสังคมหรือบริหารจัดการองค์กรได้ดี ที่สำคัญคือ จิตของบุคคลนั้นๆ ต้องมีภูมิคุ้มกัน มีรากฐานธรรมที่ดี และมั่นคง เนื่องจาก การบริหารองค์กร เป็นการบริหารตนเองให้เกิดภาพพจน์ที่ดีต่อผู้ร่วมงาน นี้ยังถือว่า เป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดช่องว่างระหว่างผู้น้อยกับผู้บริหารได้

คุณธรรมที่ฝังอยู่ในใจ จะสร้างสรรค์และหล่อหลอมหัวใจคนนั้น ให้มีจิตที่ดีงาม มีสายตาธรรม มีหัวใจธรรมเป็นวิหารธรรม การจะทำอะไรก็ตามจึงต้องมีธรรมนำพา นำทางเสมอ นี่คือ คุณสมบัติการบริหารความเสี่ยงแบบเชิงพุทธ ที่ไม่ใช่บริหารแบบหากำไรท่าเดียว หรือปฏิเสธเรื่อง การบริจาค ให้เปล่าแก่บุคคลหรือองค์การใดๆ


นี่คือ การบริหารความเสี่ยงแบบพุทธ ที่อาศัยจิต อาศัยปัญญา อาศัยบุญ เป็นตัวประสาน มิใช่เอากำไรเป็นหลัก เพราะผลกำไรนั้นเป็นแค่ทรัพย์สิน ที่เสี่ยงต่อการสูญหายได้ แต่คุณธรรมประจำจิต ที่ฝังติดในใจคน จะเป็นฐานในการบริหารตนเอง บริหารคน บริหารหลักการและบริหารทรัพย์สินได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนได้

--------------๑๕/๓/๕๘-------------------

หมายเลขบันทึก: 587435เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2015 00:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2015 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

Two thoughts:

1) "๖) สติ ปัญญา... ๗) วิปัสสนาทัศน์..." we can develop. according to the Buddha's teaching. We can learn to do วิปัสสนา and when we have gain competency in วิปัสสนา we gain both สติ and ปัญญา

2) I would suggest using the Buddha's Magga (มรรค ๘) in this uncertain, unsatisfactory and un-owned (anicca, dukkha, anatta) world. Because, magga also leads to 'nibbaana' -- the ultimate 'human goal'.


Thanks for idea share of sr. I agree with you on Magga ๘ as you suggested- human goal.

ชอบใจการประยุกต์ใช้เรื่องศีลธรรมมาประยุกต์กับสังคมครับอาจารย์เงาะ

ขอบพระคุณมากครับ

สอนให้รู้จักการระวังตัวเอง สอนมิให้ประมาทในชีวิต.. .... ชอบจังเลย ค่ะ ..... ความเสียงเกิดได้ตลอดเวลานะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท