“น้ำหม่อน” เครื่องดื่มสมุนไพร ดังไกลถึงชายแดนใต้


“น้ำหม่อน” เครื่องดื่มสมุนไพร

วิโรจน์ แก้วเรือง

"ผลหม่อน" หรือ "ลูกหม่อน" ผลไม้ขนาดจิ๋ว แต่คุณภาพแจ่มแจ๋ว มีแววว่าเริ่มโด่งดังมากยิ่งขึ้นในอนาคต นางวีณา พงศ์พัฒนานนท์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กรมหม่อนไหมมีการค้นคว้าวิจัย ประโยชน์และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลหม่อนมาอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 ทำให้ผลิตภัณฑ์จากผลหม่อน เริ่มเป็นที่รู้จักของนักบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อีกทั้งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กระแสผลไม้กลุ่มเบอร์รี่เป็นที่นิยมของคนไทยทุกเพศ ทุกวัย จึงทำให้ผลหม่อนซึ่งเป็นเบอร์รี่ชนิดหนึ่งนามว่า "มัลเบอร์รี่" จึงมีที่ยืนในตลาดเคียงบ่าเคียงไหล่กับเบอร์รี่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น บลูเบอร์รี่ ราสพ์เบอร์รี่ แบล็คเบอร์รี่ เป็นต้น จนในปีนี้ น้ำหม่อนหรือน้ำมัลเบอร์รี่ (mulberry juice)ของไทย ทำให้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย และชาวไทยในจังหวัดสงขลา หันมาบริโภคเครื่องดื่มจากลูกหม่อนกันอย่างมาก ด้วยติดใจในรสชาติ และทราบสรรพคุณและการได้มาซึ่งวัตถุดิบที่ไร้สารเคมีอันตรายในการผลิต ขอให้ท่านผู้อ่านลองติดตามดูว่าเกษตรกรที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เขารู้จักลูกหม่อนและต้นหม่อนได้อย่างไร

ต้นหม่อน เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่เช่นเดียวกับต้นโพธิ์ ต้นขนุน ฯลฯ ซึ่งเป็นพืชอยู่ในวงศ์ มอราซิอี้( Moraceae) เช่นเดียวกัน เราทราบกันดีว่าชาวอีสานนำใบหม่อนมาเลี้ยงตัวหนอนไหม เมื่อหนอนไหมโตเต็มที่ก็จะชักใยหุ้มตัวเองเป็นรังไหม ก่อนจะนำรังไหมมาต้ม เพื่อดึงเส้นใยที่เรียกว่าเส้นไหมออก นำไปทอเป็นผืนผ้า อาภรณ์ราคาแพง

ต่อมามีการนำต้นหม่อนพันธุ์ที่มีผลดกมาปลูกเป็นไม้ผลริมรั้วในภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ซึ่งน่าจะเป็นชาวเขาที่อพยพมาจากจีนตอนใต้ ที่นำต้นหม่อนพันธุ์นี้มาด้วย บางกระแสก็บอกว่ามิชชันนารีที่มาเผยแพร่ศาสนาคริสต์แก่ชาวไทยภูเขา นำหม่อนพันธุ์นี้มาให้ด้วย ต่อมาสถาบันหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ(กรมหม่อนไหม ในปัจจุบัน) ได้เสนอเป็นพันธุ์แนะนำจากกรมวิชาการเกษตรได้ชื่อว่า " หม่อนผลสดพันธุ์เชียงใหม่" เมื่อ พ.ศ. 2549 แต่แท้ที่จริงแล้ว เราไม่ค่อยได้รับประทานผลสดเหมือนชื่อหรอก เพราะเป็นผลไม้ที่ผิวบอบบาง เน่าเสียง่าย ส่วนใหญ่จึงนำไปแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ ไวน์ แยม ฯลฯ แล้วทำไมจึงได้ชื่อว่า "หม่อนผลสด" เดิมเราเรียกว่า "หม่อนรับประทานผลสด" หรือ "หม่อนกินลูก" แต่สุภาพสตรีที่ตั้งครรภ์ไม่กล้ารับประทาน เพราะชื่อมันน่ากลัว เขากลัวว่าจะไปกินลูกในท้อง เกิดแท้งขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ ผมและคณะผู้ร่วมวิจัยจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "หม่อนผลสด" และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

หม่อนผลสดพันธุ์เชียงใหม่ เป็นพันธุ์ที่ผ่านการทดสอบเปรียบเทียบกับหม่อนพันธุ์อื่นอีกหลายพันธุ์ ที่มีผลขนาดใหญ่ใกล้เคียงกัน พบว่ามีผลดกกว่าพันธุ์อื่นๆ ให้ผลผลิตสูงประมาณ 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี หลังการปลูกไปแล้ว 3 ปี อย่างไรก็ดีมีพันธุ์หม่อนผลสดอีกหลายพันธุ์ที่ท่านอาจรู้จัก เช่น พันธุ์กำแพงแสน 42 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน และพันธุ์ที่ภาคเอกชนนำเข้ามาจากต่างประเทศบ้าง นำพันธุ์ของเราไปแล้วเปลี่ยนชื่อใหม่บ้าง จนปัจจุบันมีประมาณ 10 พันธุ์ จนเกิดความสับสนให้กับผู้ปลูกและผู้บริโภค

ในปี 2556 เราสำรวจพบว่ามีเกษตรกรปลูกหม่อนผลสดทั่วประเทศ 929 ราย ในพื้นที่ปลูก 979 ไร่ ทั้งที่ให้ผลผลิตแล้ว และยังไม่ให้ผลผลิต มีผลผลิตผลหม่อนรวม 256.5 ตัน คิดเป็นมูลค่าผลหม่อนสด 12,825,000 บาท (ราคาขายส่ง 50 บาทต่อกิโลกรัม) เมื่อนำไปแปรรูปจะมีมูลค่าเพิ่มอีกอย่างน้อยประมาณ 5 เท่า คิดเป็นมูลค่าผลิตภัณฑ์แปรรูป 64,125,000 ล้านบาท เมื่อต้นหม่อนเหล่านี้ถึงระยะให้ผลผลิตเต็มที่จะมีผลหม่อนราว 937 ตัน หรือประมาณ 1,000 ตัน

ในปี พ.ศ. 2557 มีการส่งเสริมการปลูกอีกจำนวนมาก คาดว่าในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยจะมี ผลหม่อนราว 1,500 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 75 ล้านบาท แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่า 375 ล้านบาท สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการได้มากทีเดียว นอกจากการเลี้ยงไหมเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนผลสดจะอยู่ในเขตภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ มีมากถึง 514 ราย จำนวนพื้นที่ 642 ไร่ รองลงมาได้แก่ภาคอีสาน มีเกษตรกร 139 ราย พื้นที่ปลูก 138 ไร่

มีการแปรรูปผลหม่อนเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิน้ำผลไม้ ไวน์ แยม ผลหม่อนอบแห้ง เป็นส่วนผสมของอาหารและเครื่องดื่มอีกหลายชนิด เช่น เบเกอรี่ ไอศกรีม เป็นต้น มีภาคเอกชนผลิตเชิงพาณิชย์แล้วหลายบริษัท วางจำหน่ายอยู่ทั่วไป เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด อ.ต.ก. ร้านของมูลนิธิศิลปาชีพ ร้านภูฟ้า และร้านโครงการหลวง ว่างๆ ก็อยากจะเชิญชวนท่านให้ลองไปหาซื้อมาบริโภคกันบ้างนะครับ

บริโภคแล้วจะได้อะไร ได้มีการวิจัยถึงประโยชน์ของผลหม่อนกันอย่างแพร่หลายทั้งผมและคณะ อีกทั้งในต่างประเทศก็มีกันอย่างแพร่หลาย ปัจจุบันนี้พบว่า ผลหม่อน หรือ มัลเบอร์รี่ เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ทั้งกลุ่มแอนโทไซยานิดิน โพลีฟีนอล ทั้งเควอซิติน และรูติน อีกทั้งยังมีกรด โฟลิกหรือโฟเลทที่ช่วยบำรุงเซลล์ประสาท ลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคความจำเสื่อม ลดการตายของเซลล์ประสาทจากพิษสุราเรื้อรัง อีกทั้งยังช่วยบำรุงสายตา ลดความเสี่ยงการเกิดโรคต้อกระจกตา จากภาวะโรคเบาหวาน

เอ... แล้วน้ำหม่อนไปดังอยู่แถวชายแดนใต้จังหวัดสงขลาได้อย่างไร นี่เลย ต้องยกความดีความชอบให้นายมนูญ แสงจันทร์ศิริ เป็นเกษตรกรผู้ดูแลศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวดสงขลา ผู้ให้ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่ และจัดให้ศูนย์ฯแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรเช่น การเลี้ยงแพะ กบคอนโด และเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ อีกทั้งยังมีคนมาเลเซียเชื้อสายไทยในประเทศมาเลเซีย มาศึกษาดูงานวิชาของพ่อ (เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง) เป็นประจำ ครั้นในปี พ.ศ. 2555 นายมนูญ ได้เข้ารับฟังการบรรยายการปลูกหม่อนเพื่อผลิตชาเขียวใบหม่อน ในระดับครัวเรือน จากเจ้าหน้าที่ของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นราธิวาส นำโดยนายอดิษฐ์ อินทร์สุวรรณ ร่วมกับทหารผ่านศึกของอำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา ทำให้ได้รับทราบถึงประโยชน์ของต้นหม่อนในด้านต่างๆ จึงเกิดแนวความคิดที่จะนำต้นหม่อนมาปลูกเพื่อใช้ในการเลี้ยงแพะ

ขณะเดียวกันยังทราบอีกว่ายังมีต้นหม่อนอีกพันธุ์หนึ่งที่ให้ผลดก สามารถรับประทานผลและแปรรูปได้หลายชนิดอีกด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2556 ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นราธิวาส ได้จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี การเกษตร การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม นายมนูญ เกิดแนวความคิดที่จะทำน้ำลูกหม่อนพร้อมดื่ม นำไปให้บุคลากรขององค์การบริหารส่วนตำบลพะตงดื่ม ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ท่านนายกอบต. ได้สั่งให้เปลี่ยนเครื่องดื่มในงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลพะตง เป็นน้ำลูกหม่อนแทนเครื่องดื่มเดิม หลังจากวันนั้น นายมนูญ ได้ตัดสินใจขอสนับสนุนต้นพันธุ์หม่อนจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นราธิวาส จำนวน 200 ต้น เพื่อมาปลูกในพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ และได้เชิญชวนผู้สนใจในพื้นที่จังหวัดสงขลา อำเภอละ 1 คน เข้าร่วมกันเป็นเครือข่ายปลูกหม่อนผลสดเพื่อแปรรูป ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 5 อำเภอในจังหวัดสงขลา โดยนายมนูญ ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานแปรรูปผลหม่อนตามแบบแปลนของ อย. อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงประมาณปี พ.ศ.2557 และกำลังขยายสมาชิกออกไปอีก 5 อำเภอของจังหวัดสงขลา รับซื้อผลผลิตโดยประกันราคาที่ กิโลละ 50 บาท ปัจจุบันคุณมนูญใช้แรงงานในการผลิตน้ำหม่อนในครัวเรือน สามารถจำหน่ายผลผลิตได้สัปดาห์ละประมาณ 1,000 ขวดๆละ 200 ซีซี ราคาขายส่งขวดละ 10 บาท รวมมีรายได้ 10,000 บาทต่อสัปดาห์

ตลาดน้ำลูกหม่อนของนายมนูญ และสมาชิก จะเป็นร้านอาหารในตลาดทุ่งลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนด่านนอกปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย ระยะทาง 38 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย เมื่อผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองมาแล้ว ขับรถมาอีก 30 นาที ส่วนใหญ่จะต้องแวะรับประทานข้าวมันไก่ที่ใครๆ ก็เอ่ยปากชมว่าอร๊อย อร่อย พร้อมถามหาน้ำลูกหม่อน ขอบอกก่อน การทำฉลากน้ำลูกหม่อน แม้เป็นภาษาไทยก็ควรใช้คำว่า "น้ำมัลเบอร์รี่" แม้จะมีรสชาติเดียวกันกับขวดที่ติดฉลากว่า "น้ำหม่อน" จะขายดีได้ราคาต่างกัน เคยขายน้ำหม่อนขวดละ 10 บาท ยังขายยากกว่า"น้ำมัลเบอร์รี่" ขวดละ 15 บาท ในขวดปริมาณเท่ากัน เห็นหรือยังว่าชื่อนั้นสำคัญไฉน ดังนั้นการผลิตลูกหม่อนจำหน่ายควรคิดพินิจให้ดีว่าก่อนพิมพ์ฉลากติดข้างภาชนะบรรจุ ขณะนี้พวกเราผู้นิยมบริโภคหม่อนผลสด กำลังเฝ้าจับตามองการเจริญเติบโตของตลาดเครื่องดื่มน้ำมัลเบอร์รี่ที่จังหวัดสงขลา และคาดว่าจะเป็นที่นิยมของทุกจังหวัดภาคใต้ในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 586269เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2015 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2015 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจมากๆ

หายไปนานเลยครับ

ขอเอาไปเผยแพร่แก่เกษตรกรในที่อื่นๆนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท