การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต วิชากฎหมายอาญา (ข้อที่ 5 ) สมัยที่ 56-60​​


คำถาม 10 ข้อ ให้เวลาตอบ 4 ชั่วโมง (14.00 น. ถึง 18.00 น.) ให้ยกเหตุผลประกอบ

สมัยที่ 56 ปีการศึกษา 2546

ข้อ 5. ระหว่างที่นายกบกับนายเขียดเดินเล่นอยู่ในสวนจตุจักร (1) นายกบเหลือบไปเห็นนายปลาทำนาฬิกาหล่นจึงรีบเดินเข้าไปเก็บ (2) โดยนายเขียดไม่คาดคิดมาก่อนว่านายกบจะทำเช่นนั้น (3) ส่วนนายปลาเมื่อเดินไปได้ไม่ไกลทราบว่านาฬิกาหล่นหายไปจึงเดินกลับมายังจุดที่นายกบและนายเขียดยืนอยู่ (4) เมื่อนายกบเห็นนายปลาเดินกลับมาจึงได้ส่งนาฬิกาให้นายเขียดนำออกไปจากบริเวณนั้น (5) เมื่อนายปลาเดินมาถึงสอบถามว่านายกบเห็นนาฬิกาหรือไม่ (6) นายกบตอบว่าไม่เห็น แล้วมองตามหลังนายเขียดไป (7) นายปลาเชื่อว่านายเขียดเอานาฬิกาไป จึงวิ่งตามไปร้องตะโกนว่า "ขโมย ๆ" (8) นายเขียดจึงชกปากนายปลาอย่างแรงแล้วหนีไป ปรากฏว่านายปลาปากแตก ฟันหักสี่ซี่

ให้วินิจฉัยว่า นายกบและนายเขียดมีความผิดฐานใดบ้าง

จากโจทย์ วินิจฉัยกรณี (1) ลักทรัพย์ (2) รับของโจร (3) ทำร้ายร่างกาย

ประเด็นที่ต้องตอบ (1) นายกบ มีความผิดฐานใดหรือไม่ (2) นายเขียดมีความผิดฐานใดหรือไม่

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295,334,339,352 และ 357

มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท

มาตรา 339* ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองหมื่นบาท

มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิดเพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

มาตรา 357* ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียซื้อรับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำเพื่อค้ากำไรหรือได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 (10)ชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงสองหมื่นบาท

ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ การชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ทวิหรือการปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ทวิ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท

คำตอบ ข้อเท็จจริงตามปัญหา แยกพิจารณาได้ดังนี้

การที่นายปลาทำนาฬิกาหล่นหายแต่ได้ติดตามเอาทรัพย์คืนในทันที และนายกบก็ทราบดีว่านายปลากำลังติดตามหานาฬิกาอยู่ นาฬิกาจึงไม่เป็นทรัพย์สินหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง นาฬิกายังอยู่ในความครอบครองของนายปลาผู้เป็นเจ้าของ นายกบเอานาฬิกาของนายปลาไปโดยทุจริต จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
สำหรับนายเขียดไม่เป็นตัวการในความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะขณะที่นายกบเดินเข้าไปเก็บนาฬิกา นายเขียดไม่คาดคิดมาก่อนว่านายกบจะทำเช่นนั้น แต่การที่นายเขียดช่วยพาทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ออกไปจากที่เกิดเหตุ โดยได้ทราบถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของนายกบ นายเขียดจึงมีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 704/2493)
การที่นายเขียดทำร้ายนายปลา แม้จะกระทำเพื่อยึดถือเอานาฬิกานั้นไว้และเพื่อให้พ้นจากการจับกุม โดยไม่ขาดตอนจากการพานาฬิกาหลบหนีไป เป็นการรับของโจรแล้วทำร้าย มิใช่การลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 แต่เมื่อนายปลาปากแตกและฟันหักถึงสี่ซี่ถือว่านายปลาได้รับอันตรายแก่กายแล้ว ดังนั้นนายเขียดจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 อีกฐานหนึ่ง (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 745/2515)

ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น (1) นายกบมีความผิดฐานลักทรัพย์

(2) นายเขียดจึงมีความผิดฐานรับของโจรและความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย

สมัยที่ 57 ปีการศึกษา 2547

ข้อ 5. นายแสบไม่พอใจนายรวยเจ้าหนี้เงินกู้ของตน (1) จึงแอบเข้าไปลักทรัพย์ของนายรวยบริเวณแพริมน้ำซึ่งนายรวยใช้เป็นที่อยู่อาศัย ได้แหวนเพชรมาหนึ่งวง (2) ในขณะที่นายแสบจะลงจากแพได้เหลือบไปเห็นเงาคนกำลังแอบดูตนอยู่ (3) นายแสบเชื่อว่าเป็นนายรวยและจำตนได้ เพราะตรงบริเวณนั้นมีแสงสว่างจากดวงไฟ แม้จะเป็นคืนข้างแรมก็ตาม (4) เมื่อนายแสบกลับถึงบ้านแล้ว จึงทราบว่าเป็นแหวนของตนเอง ที่จำนำไว้แก่นายรวย (5) นายแสบรู้สึกโกรธและเกรงว่าจะถูกนายรวยแจ้งความ นำเจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมตน (6) จึงได้นำอาวุธปืนไปดักซุ่มยิงนายรวยจนถึงแก่ความตาย

ให้วินิจฉัยว่า นายแสบมีความผิดฐานใดหรือไม่

จากโจทย์ วินิจฉัยกรณี (1) ลักทรัพย์ (2) โกงเจ้าหนี้ (3) ฆ่า

ประเด็นที่ต้องตอบ (1) นายแสบมีความผิดฐานใดหรือไม่

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289,349,364 และ 365

มาตรา 289 ผู้ใด

(4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

(7) ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอา หรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ต้องระวางโทษประหารชีวิต

มาตรา 349 ผู้ใดเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 364 ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควรเข้าไป หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน อาคารเก็บรักษาทรัพย์ หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่นหรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้น เมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 365 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 362 มาตรา 363หรือมาตรา 364 ได้กระทำ

(3) ในเวลากลางคืน

ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

คำตอบ ข้อเท็จจริงตามปัญหา แยกพิจารณาได้ดังนี้

การกระทำของนายแสบไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 เพราะแหวนเพชรเป็นของนายแสบเอง มิได้เป็นของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะที่นายแสบเอาแหวนนั้นไป นายแสบไม่ทราบว่าทรัพย์ที่เอาไปนั้นเป็นทรัพย์อันตนได้จำนำไว้กับนายรวยเจ้าหนี้ ทั้งมิได้เอาแหวนไปโดยเจตนาเพื่อให้เจ้าหนี้ของตนได้รับความเสียหาย การกระทำของนายแสบจึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349

แต่การที่นายแสบเข้าไปเคหสถานของนายรวยในเวลากลางคืน โดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 ประกอบกับมาตรา 365 (3)

นายแสบใช้อาวุธปืนดักซุ่มยิงนายรวยในเวลาต่อมา โดยคิดทบทวนมาก่อนและเพื่อปกปิดการกระทำความผิดและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ นายแสบมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 289 (4) และ 289 (7) อีกด้วย

ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น นายแสบมีความผิดฐานบุกรุก และมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอา หรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ต้องระวางโทษประหารชีวิต

สมัยที่ 58 ปีการศึกษา 2548

ข้อ 5. นายยอดประสงค์จะเช่าซื้อรถยนต์คันหนึ่ง จากบริษัทยานยนต์ จำกัด ซึ่งตนสามารถเช่าซื้อได้ในราคาถูก (1) จึงชวนนายยิ่งให้ไปเช่าซื้อรถยนต์คนละคัน เพราะทราบมาว่านายยิ่งต้องใช้รถยนต์รับส่งลูกไปโรงเรียน (2) ขณะนั้นนายยิ่งเพิ่งเสียการพนันเป็นเงินจำนวนมาก เมื่อได้ยินเช่นนั้นจึงแกล้งตอบตกลงและไปทำสัญญา (3) โดยนายยอดไม่ทราบความในใจของนายยิ่งว่าโดยใจจริงแล้วไม่คิดจะเช่าซื้อเลย (4) ต่อมาเมื่อได้รับมอบรถยนต์ตามสัญญาแล้ว นายยิ่งก็นำรถยนต์ไปขายให้นายดำทันที (5) ส่วนนายยอดเอง เมื่อผ่อนชำระราคาเช่าซื้อได้เพียง 8 งวด ก็ไม่สามารถผ่อนส่งต่อไปได้ จึงแอบนำรถยนต์ไปขายให้นายเขียวแล้วหลบหนีไป

ให้วินิจฉัยว่า นายยอดและนายยิ่งมีความผิดฐานใดหรือไม่

จากโจทย์ วินิจฉัยกรณี (1) ฉ้อโกง (2) ยักยอก

ประเด็นที่ต้องตอบ (1) นายยอด มีความผิดฐานใดหรือไม่ (2) นายยิ่งมีความผิดฐานใดหรือไม่

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และ 352

มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิดเพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

คำตอบ ข้อเท็จจริงตามปัญหา แยกพิจารณาได้ดังนี้

นายยอดเข้าครอบครองรถยนต์ของบริษัทยานยนต์ จำกัด มิได้เกิดจากการใช้อุบายหลอกลวงแต่ประการใดเพิ่งมาคิดเบียดบังนำรถยนต์ไปขายในภายหลัง ซึ่งเป็นการกระทำโดยทุจริตแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย นายยอดจึงมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7727/2544) สำหรับนายยิ่งไม่มีเจตนาเช่าซื้อรถยนต์มาตั้งแต่ต้น การทำสัญญาเช่าซื้อเป็นเพียงอุบายเพื่อให้ได้มาซึ่งรถยนต์แล้วนำไปขายต่อ เป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งเพื่อได้ไปซึ่งทรัพย์สินของบริษัทผู้ให้เช่าซื้อ นายยิ่งจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา341 (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2529, 633/2546)

ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น (1) นายยอดจึงมีความผิดฐานยักยอก

(2) นายยิ่งจึงมีความผิดฐานฉ้อโกง

สมัยที่ 59 ปีการศึกษา 2549

ข้อ 5. นายแก่น นายกล้า และนายเขียววางแผนจะไปปล้นทรัพย์ที่บ้านนายรวย (1) โดยตกลงกันว่า ให้นายแก่นเป็นผู้เข้าไปควบคุมและทำร้ายนายรวย เพื่อความสะดวกในการปล้นทรัพย์ หากขัดขืนก็ให้ฆ่านายรวยได้ (2) คืนต่อมาทั้งสามคนได้เข้าไปในบ้านของนายรวย นายแก่นตามหานายรวยไม่พบ เพราะนายรวยแอบไปอยู่บนหลังคาบ้าน (3) เมื่อนายกล้าและนายเขียวเอาทรัพย์ไปจนเป็นที่พอใจแล้ว ขณะที่กำลังจะออกจากบริเวณบ้าน สุนัขของนายรวยเห่านายแก่นกับพวก (4) นายแก่นจึงเอาอาวุธมีดที่นำติดตัวไปด้วย ฟันสุนัขของนายรวยตาย

ให้วินิจฉัยว่า นายแก่น นายกล้า และนายเขียวมีความผิดฐานใด หรือไม่

จากโจทย์ วินิจฉัยกรณี (1) ลักทรัพย์ (2) ชิงทรัพย์ (3) ปล้นทรัพย์ (4) บุกรุก

ประเด็นที่ต้องตอบ นายแก่น นายกล้า และนายเขียวมีความผิดฐานใดหรือไม่

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,335,339,340,358,364 และ 365

มาตรา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา 335* ผู้ใดลักทรัพย์

(1) ในเวลากลางคืน

(7) โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป

(8) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้น ๆ

ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือเครื่องกล หรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสองหมื่นบาท

มาตรา 339* ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองหมื่นบาท

มาตรา 340* ผู้ใดชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท

ถ้าในการปล้นทรัพย์ ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท

ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

ถ้าการปล้นทรัพย์ได้กระทำโดยแสดงความทารุณจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิด หรือกระทำทรมาน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต

มาตรา 358 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 364 ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควรเข้าไป หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน อาคารเก็บรักษาทรัพย์ หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่นหรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้น เมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 365 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 362 มาตรา 363หรือมาตรา 364 ได้กระทำ

(2) โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ตั้งแต่สองคนขึ้นไปหรือ

(3) ในเวลากลางคืน

ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

คำตอบ ข้อเท็จจริงตามปัญหา แยกพิจารณาได้ดังนี้

แม้นายแก่น นายกล้า และนายเขียวเจตนาไปปล้นทรัพย์นายรวยก็ตาม แต่เมื่อบุคคลทั้งสามไม่ได้ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลใดในการลักทรัพย์ จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339

ดังนั้น แม้จะร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไปย่อม ไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 คงมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเคหสถานตามมาตรา 335 (1), (7), (8) วรรคสอง และมีความผิดฐานบุกรุกตามมาตรา365 (2), (3) ประกอบมาตรา 364

การที่นายแก่นใช้มีดฟันสุนัขของนายรวยจนตาย บุคคลทั้งสามย่อมมีความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358, 83 อีกด้วย (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 375/2533)

ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น นายแก่น นายกล้า และนายเขียวมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเคหสถาน มีความผิดฐานบุกรุกและมีความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์

สมัยที่ 60 ปีการศึกษา 2550

ข้อ 5. นางสวยและนางสดเดินทางกลับจากไปเที่ยวต่างจังหวัด (1) ระหว่างเดินอยู่ในซอยเปลี่ยวก่อนถึงบ้าน นายหนึ่งขับรถจักรยานยนต์ซึ่งมีนายสองและนายสามนั่งซ้อนท้ายมาจอดที่นางสวยและนางสด (2) นายสองและนายสามซึ่งไม่รู้จักกับนางสวยและนางสดลงจากรถจักรยานยนต์ โดยนายสองเดินไปที่นางสวย ส่วนนายสามเดินไปที่นางสด (3) นายสองพูดกับนางสวยว่า ขอเงินใช้หน่อย นางสวยตอบว่า ไม่มี (4) นายสองพูดในลักษณะขึงขังว่า อย่าให้ค้นเจอนะ แล้วใช้มือตบกระเป๋ากางเกงนางสวย นางสวยกลัวจึงส่งเงินให้ 100 บาท (5) ส่วนนายสามพูดกับนางสดด้วยเสียงดังว่ามีเงินไหม นางสดรีบล้วงเงินจากกระเป๋ากางเกงส่งให้นายสาม 500 บาท ด้วยความกลัว (6) จากนั้นนายสองและนายสามกลับไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์แล้วนายหนึ่งรีบขับรถออกไปทันที

ให้วินิจฉัยว่า นายหนึ่ง นายสอง และนายสามมีความผิดฐานใดหรือไม่

จากโจทย์ วินิจฉัยกรณี (1) ร่วมกันกระทำความผิด (2) ชิงทรัพย์ (3) ปล้นทรัพย์

ประเด็นที่ต้องตอบ นายหนึ่ง นายสอง และนายสามมีความผิดฐานใดหรือไม่

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,340 และ 340 ตรี

มาตรา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา 340* ผู้ใดชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท

มาตรา 340 ตรี* ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 339มาตรา 339 ทวิ มาตรา 340 หรือมาตรา 340 ทวิ โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจ หรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง

คำตอบ ข้อเท็จจริงตามปัญหา แยกพิจารณาได้ดังนี้

นายหนึ่ง นายสองและนายสามนั่งรถจักรยานยนต์มาด้วยกันแล้วนายหนึ่งขับรถตรงเข้าหานางสวยและนางสดในซอยเปลี่ยว จากนั้นนายสองและนายสามลงจากรถไปพูดขอเงินจากนางสวยและนางสดโดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อนนั้น แม้นายสองและนายสามจะไม่ได้พูดว่าหากไม่ส่งเงินให้จะทำร้ายนางสวยและนางสด แต่การแสดงออกของนายสองและนายสามเป็นการคุกคามนางสวยและนางสดให้กลัวว่าจะถูกทำร้ายหากไม่ให้เงิน การที่นายสองพูดกับนางสวยว่าอย่าให้ค้นเจอนะ แล้วใช้มือตบกระเป๋ากางเกงนางสวยนั้นเป็นการขู่เข็ญนางสวยทั้งกิริยาและวาจาโดยมีความหมายว่าถ้านางสวยไม่ให้เงินแก่นายสอง หากนายสองค้นได้นางสวยจะถูกทำร้าย

และการที่นายสามพูดด้วยเสียงอันดังทำให้นางสดต้องรีบล้วงเงินมาส่งให้ด้วยความกลัว การกระทำดังกล่าวเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้นางสวยยื่นให้ซึ่งทรัพย์เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์

และการที่นายหนึ่งขับรถจักรยานยนต์ตรงมาหานางสวยและนางสดแล้วนายสองกับนายสามลงจากรถแยกไปเอาเงินจากนางสวยและนางสด เมื่อได้เงินแล้วนายหนึ่งขับรถพานายสองและนายสามไปจากที่เกิดเหตุทันทีถือเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นการร่วมกันกระทำความผิด นายหนึ่ง นายสองและนายสามจึงมีความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคแรก, 340 ตรี , 83

ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น นายหนึ่ง นายสองและนายสามจึงมีความผิดฐานปล้นทรัพย์

หมายเลขบันทึก: 586059เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2015 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2015 15:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท