ลำเจียก
อาจารย์ ลำเจียก กำธร (อ.น้อง)

Valentine's Day กับกิจกรรม "การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น" 14 กพ.58


Valentine's Day กับกิจกรรม "การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น"

วันนี้ผู้เขียนได้มีโอกาส ร่วมกิจกรรม "การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น" กับน้องๆ นักเรียนที่โรงเรียนวัดกะพังสุรินทร์ อ.เมือง จ.ตรัง น้องๆ น่ารักมากทั้งๆ ที่วันนี้เป็นวันเสาร์และเป็นวันวาเสนไทม์ ที่วัยรุ่นส่วนใหญ่จะพากันไปดูหนัง เดินห้าง หรือ สวีทกันตามประสา แต่เด็กๆกลุ่มนี้กลับมาร่วมกิจกรรม เพื่อติดอาวุธทางปัญญาที่จะนำไปดูแลตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและปกป้องตัวเองเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์คับขันหรือไม่พร้อม.....มาติดตามภาพกิจกรรมกันนะค่ะ

ไหนๆ ก็มาแล้ว ดิฉันขอถือโอกาสนำข้อมูลการท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นมาเล่าสู่กันฟังพอสังเขปนะค่ะ ประเทศไทย มีวัยรุ่นอายุ ๑๐ - ๑๙ ปี ประมาณ ๑๐ ล้านคน เป็นชายหญิงในสัดส่วนที่เท่ากัน และเป็นวัยรุ่น ที่อยู่นอกระบบการศึกษาประมาณสองล้านคนสถิติสาธารณสุขพบว่า การคลอดของวัยรุ่นในปี ๒๕๕๒ มีจำนวนมากถึง ๑๒๒,๗๓๖ คน (ร้อยละ ๑๖.๐ ของการคลอดทั้งหมด) นั่นคือ ประมาณ ๓๓๖ คนต่อวัน และพบว่าอัตราการเจริญพันธุ์ของวัยรุ่นหญิงเพิ่มขึ้น จาก ๓๑.๑ ในปี ๒๕๔๓ เป็น ๕๐.๑ รายต่อประชากรหญิง ๑,๐๐๐ คน ในปี ๒๕๕๒ ข้อมูลจากงานวิจัยหลายแห่งได้บ่งชี้ถึงปัจจัยหลายประการที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพของเด็กที่คลอดจากแม่วัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัวที่น้อยกว่าปกติอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนในการคลอด ตลอดจน ถึงการเลี้ยงดูทารกให้สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและสติปัญญา ซึ่งจะด้อยกว่าการคลอดในแม่ที่มีอายุสูงกว่าการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจำนวนมาก เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่ตั้งใจ ซึ่งเป็นผลจากการไม่ได้ป้องกัน โดยพบว่า เยาวชน จำนวน ๑ ใน ๓ ไม่ได้ป้องกันการตั้งครรภ์เมื่อมีเพศสัมพันธ์ และมีประมาณครึ่งหนึ่งที่ใช้ถุงยางอนามัย และเพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้นที่ใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (อนามัยโพล, ๒๕๕๔) เมื่อตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยจึงตัดสินใจทำแท้งแต่เนื่องจากการทำแท้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญาผู้หญิงที่ทำแท้งจะอับอาย และปกปิด ดังนั้นจึงไม่ทราบจำนวนการทำแท้งที่แท้จริง

นอกจากนี้ วัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย และมีคู่หลายคน จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม จากรายงานของกรมควบคุมโรค เกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเยาวชน พบว่า เยาวชนมีแนวโน้มการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นจาก ๒๓.๔ ต่อแสนประชากรเป็น ๓๔.๘ ต่อแสนประชากร (สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค,๒๕๕๓)ส่วนโรคเอดส์นั้น พบว่าใน ช่วงที่ผ่านมา (ปี พ.ศ.๒๕๒๗ - ๒๕๕๒) อัตราป่วยโรคเอดส์ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง ในกลุ่มอายุ ๑๐ - ๑๙ ปี ผู้ชายและผู้หญิงเป็นโรคเอดส์ในสัดส่วนที่พอๆ กันหญิงตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า ๒๐ ปี ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ ๐.๕ มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น (สำนักระบาดวิทยา, ๒๕๕๓) และพบว่าผู้ป่วยโรคเอดส์ร้อยละ ๘๔ ได้รับเชื้อเอชไอวีมาจากการมีเพศสัมพันธ์

หมายเลขบันทึก: 586054เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2015 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2015 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท